• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อแพลง

ข้อแพลงมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น เดินข้อพลิก ข้อบิด หรือสะดุด หกล้ม เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถให้การดูแลรักษาด้วยตนเอง ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน ๓-๔ สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูแล ๒-๓ วันแล้วไม่ทุเลา หรือมีอาการปวดรุนแรง หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น ก็ควรรีบไปปรึกษาหมอที่อยู่ใกล้บ้าน

  • ชื่อภาษาไทย         

ข้อแพลง ข้อเคล็ด

  • ชื่อภาษาอังกฤษ     

Sprains, Strains

  • สาเหตุ

เกิดจากเส้นเอ็นและ/หรือ กล้ามเนื้อที่ยึดอยู่รอบๆ ข้อต่อกระดูกมีการฉีก เนื่องจากได้รับบาดเจ็บ เช่น หกล้ม ข้อบิด ข้อพลิก ถูกกระแทก หรือยกของหนัก

  • อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บที่ข้อหลังได้รับบาดเจ็บทันที โดยจะเจ็บมากเวลาเคลื่อนไหวข้อ
ข้อจะมีลักษณะบวม และใช้นิ้วกดถูกเจ็บ อาจพบรอยเขียวคล้ำ หรือฟกช้ำ เนื่องจากหลอดเลือดฝอยแตกร่วมด้วย
อาการจะรุนแรงมากน้อยขึ้นกับปริมาณของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ฉีกขาด
ข้อแพลงมักเกิดขึ้นเพียง ๑ ข้อ ที่พบบ่อยได้แก่ ข้อเท้า (ทำให้เดินกะเผลก) นอกจากนี้ อาจเกิดที่ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อมือ หรือข้อนิ้ว

  • การแยกโรค

อาการปวดข้อ ข้อบวม ที่เกิดขึ้นฉับพลันอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่สำคัญ ได้แก่
• ข้อกระดูกแตกร้าว
มักเกิดหลังได้รับบาดเจ็บและมีอาการคล้ายข้อแพลง แต่มักมีอาการรุนแรงและหายช้ากว่าข้อแพลง ในกรณีที่คิดว่าเป็นข้อแพลง ถ้าให้การดูแล ๒-๓ วันแล้วไม่ทุเลา ก็อาจเกิดจากข้อกระดูกแตกร้าว
• เกาต์
ผู้ป่วยจะมีอาการข้ออักเสบ (ข้อปวด บวม แดง ร้อน) ฉับพลัน ส่วนใหญ่เป็นที่ข้อหัวแม่เท้าเพียง ๑ ข้อ บางรายอาจเป็นที่ข้อเท้าหรือข้ออื่นๆ มักกำเริบหลังกินเลี้ยง ดื่มเหล้า หรือกินเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ หรือพืชหน่ออ่อนปริมาณมาก บางครั้งการบาดเจ็บที่ข้อ (เช่น เดินสะดุด หกล้ม) ก็อาจทำให้โรคเกาต์กำเริบได้ ซึ่งอาจทำให้คิดว่าเป็นเพียงข้อแพลง ผู้ป่วยโรคเกาต์บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
•ไข้รูมาติก
มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี จะมีอาการข้ออักเสบรุนแรง เกิดขึ้นฉับพลันที่ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ หรือข้อศอกเพียงข้อเดียว โดยไม่มีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ข้อ บางรายอาจมีประวัติเป็นไข้ เจ็บคอ หรือทอนซิลอักเสบมาก่อนปวดข้อ ๑-๔ สัปดาห์ ผู้ป่วยมักมีไข้ร่วมด้วย
•ก้อนฝีที่ข้อ
ระยะแรกที่เริ่มมีอาการบวมแดงร้อนและปวด อาจทำให้คิดว่าเป็นข้อแพลง ต่อมาฝีจะบวมเป่งเป็นก้อนชัดเจนขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย

  • การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติได้รับบาดเจ็บกี่ข้อ (เช่น ข้อพลิก เดินสะดุด หกล้ม) แล้วเกิดอาการข้อบวมและปวด เคลื่อนไหวข้อลำบาก (เช่น ข้อเท้าพลิก ทำให้เดินไม่ถนัด หรือเดินกะเผลก)
ในรายที่สงสัยข้อกระดูกแตกร้าวหรือหักแพทย์จะทำการเอกซเรย์
ในรายที่สงสัยเป็นข้ออักเสบจากสาเหตุอื่น อาจต้องทำการตรวจเลือด หรือตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม

  • การดูแลตนเอง

๑. พักการใช้ข้อที่แพลง กล่าวคือ ให้ข้อนั้นอยู่นิ่งๆ ขยับเขยื้อนให้น้อยที่สุด

ถ้าเป็นที่ข้อเท้าแพลงก็พยายามหลีกเลี่ยงการเดิน หรือยืนด้วยเท้าข้างที่บาดเจ็บ และยกให้สูง (เวลานอนก็ใช้หมอนรองให้สูง หรือเวลานั่งควรยกเท้าวางบนโต๊ะหรือเก้าอี้อีกตัวหนึ่ง อย่าห้อยเท้าลง

ถ้าข้อมือแพลง ควรยกข้อมือให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ โดยใช้ผ้าคล้องคอ และอย่าใช้ข้อมือข้างนั้น

๒. ในกรณีที่เพิ่งได้รับบาดเจ็บในระยะ ๔๘ ชั่วโมงแรก ให้ประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็น (ถ้าเป็นที่ข้อเท้า อาจใช้เท้าแช่ในน้ำเย็น) นาน ๑๕-๓๐ นาที วันละ ๓-๔ ครั้ง เพื่อลดอาการบวมและปวด

๓. ถ้าปวดมาก ให้กินยาพาราเซตามอลบรรเทา

๔. ในระยะหลังบาดเจ็บ ๔๘ ชั่วโมงไปแล้วหรือเมื่อข้อบวมเต็มที่แล้ว ให้ประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ นาน ๑๕-๓๐ นาที วันละ ๓-๔ ครั้ง เพื่อลดอาการอักเสบ อาจใช้ขี้ผึ้ง น้ำมันระกำ ยาหม่องหรือเจลทาแก้ข้ออักเสบ ทานวด
๕. ถ้าเป็นมากจนเคลื่อนไหวข้อนั้นไม่ได้เลย หรือสงสัยกระดูกแตกร้าว หรือเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อขาด หรือดูแลตนเอง ๒-๓ วันแล้วไม่รู้สึกดีขึ้นให้รีบไปหาหมอ
    

  • การรักษา

นอกจากแนะนำให้ดูแลตนเองดังกล่าวแล้ว
บางรายแพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) และอาจใช้ผ้าพันแผลชนิดยืด (elastic bandage) พันรอบข้อที่แพลงพอแน่น เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อและลดบวม
ในรายที่พบว่ามีข้อแพลงรุนแรง อาจต้องเข้าเฝือก หรือพบว่ามีการขาดของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ ก็อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม

  • ภาวะแทรกซ้อน

มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ยกเว้นในรายที่ดูแลตนเองไม่ถูกต้อง (เช่น ไม่ค่อยได้พักข้อที่แพลง) อาจมีอาการบวมเป็นๆ หายๆ เรื้อรังได้ หรือทำให้ข้อเสื่อมเร็ว

  • การดำเนินโรค

เมื่อได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาการปวดจะทุเลาขึ้นภายใน ๒-๓ วัน และอาการปวดและบวมจะลดน้อยลงชัดเจนภายใน ๑-๒ สัปดาห์และหายขาดภายใน ๓-๔ สัปดาห์
ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง หรือยังฝืนใช้งานข้อที่แพลงต่อไป ก็อาจเรื้อรังเป็นเวลา ๒-๓ เดือนขึ้นไป

  • การป้องกัน

๑. หมั่นบริหารข้อต่างๆ ด้วยวิธียืดเหยียดข้อต่างๆ เป็นประจำ
๒. ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น อย่าเดินบนพื้นผิวขรุขระ หรือในที่มืดสลัว หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง การสวมใส่รองเท้าที่กระชับพอเหมาะ

  • ความชุก

โรคนี้พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
 

ข้อมูลสื่อ

391-026
นิตยสารหมอชาวบ้าน 391
พฤศจิกายน 2554
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ