โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์
การหายใจแบบปราณายามะแตกต่างไปจากการหายใจทั่วไป ลักษณะสำคัญมากประการหนึ่งคือ ปราณายามะเน้นใช้กะบังลมที่อุ้งเชิงกราน (pelvic diaphragm) ซึ่งดูเหมือนจะมีผลต่อปริมาตรลมหายใจที่ค้างอยู่ในปอด (residual volume)
การศึกษาของดอกเตอร์อัลลัน เฮมมิงเวย์ ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกลองบีช พบว่าผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต ครึ่งตัวซีกล่าง ผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานเป็นอัมพาต จะมีปริมาตรลมหายใจค้างในปอดมากกว่าธรรมดา มากกว่าคนปกติที่สามารถควบคุมกะบังลมที่อุ้งเชิงกรานได้
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งตัวด้านล่างจะไม่กระฉับกระเฉง อยู่กับอิริยาบถนั่งหรือนอนเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ผู้ป่วยอัมพาตกลุ่มอื่นจะตื่นตัวกว่า ซึ่งผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เกิดจากการที่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถพยุงอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้องได้อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งยังตั้งสมมุติฐานเพิ่มเติมว่า การเป็นอัมพาตครึ่งตัวด้านล่าง เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อ กะบังลมที่ใต้ซี่โครงเคลื่อนตัวต่ำลง ทำให้ลมหายใจที่ค้างอยู่ในปอดมีปริมาตรมากขึ้น กล่าวคือ "กล้ามเนื้อกะบังลมที่อุ้งเชิงกรานมีบทบาทในการสนับสนุนการทำงานของอวัยวะภายในมากกว่าที่เราคาดคิด"
การศึกษาเรื่องนี้ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งหากเป็นที่ยืนยัน ก็จะพิสูจน์ว่ากล้ามเนื้อกะบังลมที่อุ้งเชิงกรานมีบทบาทสำคัญต่อระบบหายใจด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่มีตำราสรีรวิทยาของระบบหายใจเล่มใดกล่าวถึง จริงๆ แล้ว ตำราเหล่านี้ ไม่กล่าวถึงกล้ามเนื้อกะบังลมอุ้งเชิงกรานเอาเลยด้วยซ้ำ แต่โชคไม่ดีที่ผู้เขียนไม่มีโอกาสศึกษาเรื่องนี้ต่อเนื่อง จึงยังคงต้องพิสูจน์กันต่อไปว่า กล้ามเนื้อ กะบังลมอุ้งเชิงกรานเป็นส่วนสำคัญของระบบหายใจ มีผลต่อปริมาตรลมหายใจที่ค้างอยู่ในปอด
จากข้อมูลข้างต้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้อ่านจะต้องทำความรู้จักกับมูละพันธะ (เทคนิคการเกร็งที่กล้ามเนื้อกะบังลม) ซึ่งจะได้กล่าวถึงภายหลัง
ปราณายามะประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่
1 พูรากะ ได้แก่การตั้งใจควบคุมลมหายใจเข้า ซึ่ง ตรงกันข้ามกับสภาวะที่เราหายใจเข้าไปเองโดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า สวาสะ (svasa) พูรากะโดยส่วนใหญ่เป็น การหายใจเข้าช้าๆ หน่วงเวลาให้ช้าลง ตลอดจนลดความ รู้สึกอึดอัดที่เกิดขึ้นเมื่อเราหายใจช้าลง (หายใจช้าแบบสบายๆ) อย่างไรก็ตาม ปราณายามะบางชนิดเป็นไปใน ทางตรงกันข้าม คือหายใจเข้าเร็วมาก (และหายใจออกเร็วมากด้วย) เช่น บาสตริกะ ซึ่งจะใช้เวลาเพียงครึ่ง
วินาทีใน 1 รอบการหายใจ
2 กุมภกะ ได้แก่ช่วงที่เราควบคุมการหยุดหายใจ (ในภาษาสันสกฤตนั้นไม่มีคำศัพท์ของการหยุดหายใจเอง ตามธรรมชาติ เช่น ช่วงที่เรากำลังตกตะลึงจนหยุดหายใจ ช่วงที่เรากำลังมีอารมณ์รุนแรงจนไม่หายใจ หรือช่วงที่เรากำลังทำงานใช้แรงมากๆ และไม่ได้หายใจ)
3 เรชะกะ คือการควบคุมลมหายใจออก หน่วงเวลาให้ช้าลง ซึ่งตรงกันข้ามกับการหายใจออกโดยอัตโนมัติ ที่เรียกว่า ประสวาสะ (prasvasa) โดยทั่วไป เราจะกำหนด เรชะกะไว้ที่สองเท่าของลมหายใจเข้า แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่นเดียวกับการควบคุมลมหายใจเข้า คือปราณายามะที่เรียกว่าบาสตริกะนั้น จะเป็นลมหายใจออกที่เร็วมาก
4 สุญญากะ คือการหยุดลมหายใจหลังจากหายใจ ออกไปจนสุด บางครั้งเราเรียก กุมภกะกับสุญญากะว่า พูรนะ หรืออภยันตรากุมภกะ
- อ่าน 6,665 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้