นพ.บรรลุ ศิริพานิช
วิถีชีวิตมนุษย์
เมื่อ ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้สนใจศึกษาเรื่องราวของผู้สูงอายุค่อนข้างน้อย การศึกษาชีวิตความเป็นอยู่เชิงวิทยาศาสตร์เกือบจะไม่มีเลย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะจำนวนประชากรสูงอายุของไทยก่อนปี พ.ศ.๒๕๒๐ ยังมีไม่มาก ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุจึงไม่ค่อยปรากฏ เนื่องจากความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขส่งผลให้ประชากรไทยมีอัตราการตายลดลง และอายุยืนขึ้น จึงทำให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกปีตลอดมา
การมีจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
วิถีชีวิตของมนุษย์
สิ่งมีชีวิตไม่ว่าสัตว์หรือพืช มีวงจรชีวิตเริ่มต้นตั้งแต่เกิด เจริญเติบโตจากวัยเด็กหรือวัยอ่อนขึ้นสู่สภาพของผู้ใหญ่หรือวัยแข็งแรง จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะแก่หรือชราภาพ แล้วตายไปในที่สุด นี่เป็นธรรมชาติหรือสัจธรรมของสิ่งมีชีวิต ทางการแพทย์ยึดถืออัตราตายของทารกแรกเกิดเป็นข้อบ่งชี้ถึงความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ของประเทศนั้นๆ
อัตราตายของทารก = จำนวนการตายของทารกต่อการเกิดมีชีพ ๑,๐๐๐ คน
สมัยก่อนมนุษย์เสียชีวิตเป็นจำนวนมากตั้งแต่อายุยังน้อย คนอายุยืนยาวมีจำนวนไม่มากนัก ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องภาวะแก่ชราทางวิชาการจึงมีไม่มาก เพราะต้องต่อสู้กับความตายของวัยทารกและโรคภัยต่างๆ
ปัจจุบันวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถล่วงรู้ถึงการติดเชื้อ การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และที่สำคัญคือสามารถค้นพบยาปฏิชีวนะ ที่สามารถต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ ได้อย่างมหัศจรรย์ ทำให้อัตราการตายของ คนวัยต่างๆ ลดลงมาก และคนส่วนใหญ่อายุยืนยาวมากขึ้น อายุโดยรวมก็ยิ่งยืนยาวขึ้นด้วย
เมื่อคนแก่มีมากขึ้น มนุษย์จึงหันมาสนใจเรื่องสภาพการณ์ของผู้สูงอายุ หรือชราภาพมากขึ้น
"แล้วเราจะอายุยืนยาวได้สักเท่าไร?"
คนทั่วไปคงจะตอบว่า "ก็ยืนยาวไปจนเป็นโรคหรือเกิดอุบัติเหตุ รักษาไม่หายก็ตาย!"
คำถามที่ตามมาก็คือ "ถ้าไม่เป็นโรค ไม่เกิดอุบัติเหตุล่ะ จะตายไหม"
คำตอบ "ต้องตายอยู่ดี"
คำถาม "อ้าว ทำไมต้องตาย"
คำตอบที่ตรงและง่ายก็คงเป็นว่า "เพราะหมดสิ้นอายุขัย"
อายุขัยจึงเป็นระยะเวลาแห่งวงจรชีวิตของพืชและสัตว์แต่ละชนิดที่ยาวที่สุดตั้งแต่เกิดจนตาย
นักสรีรวิทยาทางพืชกล่าวว่า ถ้านำเมล็ดข้าวลงปลูกในดินและมีน้ำที่เหมาะสม ต้นข้าวก็จะเจริญงอกงามและออกรวงเป็นเมล็ดข้าว สุดท้ายต้นข้าวตาย เพราะต้นข้าวหมดอายุขัยนั่นเอง
มนุษย์เมื่อเกิดเป็นทารก เด็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ (กำหนดกันเองโดยใช้อายุ ๖๐ ปีเป็นเกณฑ์) เมื่อเข้าสู่อายุ ๖๐ ปีเป็นผู้สูงอายุ ช่วงชีวิตจากสูงอายุจนถึงตายหรือหมดสิ้นอายุขัยเป็นช่วงชีวิตที่มนุษย์เข้าสู่ภาวะชราภาพ บางคนมีภาวะชราภาพเร็ว บางคนก็ช้า
มีการเรียก คนนั้นคนนี้ ว่าเป็นผู้สูงอายุจาก ๓ ลักษณะคือ
๑. เรียกตามอายุที่สูงขึ้นตามปีปฏิทิน เรียกว่า ผู้สูงอายุ
องค์การสหประชาชาติได้ตกลงกันแล้วว่าผู้ที่มี อายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไปเรียกว่า ผู้สูงอายุ
๒. เรียกตามสภาวะของชีววิทยาและกายภาพของร่างกาย
ถ้าลักษณะทางกายภาพแสดงถึงความชรา เช่น หนังเหี่ยวย่น ผมหงอก หลังค่อม เป็นต้น เรียกว่า คนแก่หรือคนชรา
๓. เรียกตามสถานภาพทางสังคม เรียกว่า ผู้อาวุโส โดยมากใช้ในราชการ ว่าผู้ทำงานมาก่อนเป็นผู้อาวุโส หรือผู้มีตำแหน่งสูงกว่าเป็นผู้อาวุโส
อายุเฉลี่ยของคนไทย
ความรู้เรื่องประชากรศาสตร์สามารถคาดหมายได้ ว่าอายุของคนไทยจะเป็นเท่าใด ซึ่งแต่ละปีก็เปลี่ยนแปลง ไปเรื่อยๆ โดยจะยืดยาวออกไป จะขอยกเฉพาะตัวเลข ปี พ.ศ.๒๕๔๙ มีดังนี้
ชายไทยเกิดปี พ.ศ.๒๕๔๙ คาดหมายเฉลี่ยได้ เลยว่าจะมีอายุอยู่ได้ ๖๘ ปี
หญิงไทยเกิดปี พ.ศ.๒๕๔๙ คาดหมายเฉลี่ยได้เลยว่าจะมีอายุอยู่ได้ ๗๕ ปี
ชายไทยปีนี้อายุ ๖๐ ปี คาดหมายเฉลี่ยจะอยู่ไปได้อีก ๑๙ ปี
หญิงไทยปีนี้อายุ ๖๐ ปี คาดหมายเฉลี่ยจะอยู่ไปได้อีก ๒๑.๕ ปี
ชายไทยปีนี้อายุ ๘๐ ปี คาดหมายเฉลี่ยจะอยู่ไปได้อีก ๕.๗ ปี
หญิงไทยปีนี้อายุ ๘๐ คาดหมายเฉลี่ยจะอยู่ไปได้อีก ๖.๔ ปี
ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขคาดหมายและเฉลี่ยตามหลักทางประชากรศาสตร์ ของปี พ.ศ.๒๕๔๙ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ตัวเลขการคาดหมายก็จะเปลี่ยนไป และส่วนใหญ่จะยืดยาวกว่าเก่า คือผู้หญิงจะยืดยาวกว่าผู้ชาย
- อ่าน 16,141 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้