ถ้าอยู่ๆ รู้สึกมีอาการปวดหรือชาปลายมือ แล้วสังเกตได้ชัดเจนว่า เป็นเฉพาะที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางซีกที่อยู่ติดกับนิ้วกลาง ส่วนนิ้วก้อยและนิ้วนางซีกที่อยู่ติดกับนิ้วก้อยไม่มีอาการผิดปกติ ก็ให้คิดถึงโรคเส้นประสาทมือถูกบีบรัด
โรคนี้มีสาเหตุได้หลายอย่าง สามารถรักษาด้วยการใช้ยา และถ้าเป็นรุนแรงก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ก็จะช่วยให้หายได้
ชื่อภาษาไทย เส้นประสาทมือถูกบีบรัด, โรคคาร์พัลทูนเนล
ชื่อภาษาอังกฤษ Carpal tunnel syndrome, CTS
สาเหตุ
เส้นประสาทมือ (median nerve) ซึ่งเลี้ยงบริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางซีกที่ติดกับนิ้วกลาง เมื่อลงมาที่ข้อมือ จะวิ่งผ่านช่องเล็กๆ ระหว่างกระดูกข้อมือกับแผ่นพังผืดเหนียวที่อยู่ใต้กระดูกข้อมือ (เรียกว่า “ช่องใต้กระดูกข้อมือ” (carpal tunnel))
คำบรรยายภาพ
เส้นประสาทมือที่เลี้ยง ๓ นิ้วครึ่งจากนิ้วหัวแม่มือ (วิ่งผ่านช่องใต้กระดูกข้อมือ)
กระดูกข้อมือ
เอ็นและเยื่อหุ้มเอ็น
เส้นประสาทมือ
แผ่นพังผืดเหนียว
ช่องใต้กระดูกข้อมือ (คาร์พัลทูนเนล)
ในบางคน เส้นประสาทมือในบริเวณช่องใต้กระดูกข้อมืออาจถูกบีบรัด เนื่องจากเยื่อหุ้มเอ็นที่อยู่ในช่องใต้กระดูกข้อมือบวม หรือกระดูกข้อมือโตทำให้ช่องใต้กระดูกข้อมือแคบ หรือแผ่นพังผืดเสื่อมและหนาตัวขึ้น
ทั้งนี้อาจเกิดจากการบาดเจ็บที่ข้อมือ หรือการใช้ข้อมืออย่างผิดๆ ซ้ำซาก หรืออาจพบร่วมกับภาวะอื่นๆ (เช่น การตั้งครรภ์ ระยะก่อนมีประจำเดือน เบาหวาน ภาวะขาดไทรอยด์ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ภาวะอ้วน เป็นต้น)
บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
บางรายอาจพบว่ามีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
เมื่อเส้นประสาทถูกบีบรัด ก็จะทำให้เกิดอาการปวดหรือชาบริเวณ ๓ นิ้วครึ่ง (นับจากหัวแม่โป้ง) ดังกล่าว หากการบีบรัดเกิดขึ้นชั่วคราว (เช่น การตั้งครรภ์ ระยะก่อนมีประจำเดือน) อาการก็จะเป็นอยู่ชั่วคราว และทุเลาไปได้เองเมื่อภาวะที่เป็นต้นเหตุนั้นได้หายไป แต่ถ้าการบีบรัดนั้นเกิดขึ้นอย่างถาวร ก็อาจทำให้เกิดอาการเรื้อรังจนทำลายเส้นประสาทได้
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือรู้สึกชาเป็นพักๆ ที่มือ (โดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และซีกหนึ่งของนิ้วนางด้านที่ติดกับนิ้วกลาง) บางครั้งอาจปวดร้าวขึ้นไปที่แขนหรือหัวไหล่ อาการปวดมักจะเป็นมากตอนกลางคืนหรือตอนเช้ามืด จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่น บางรายเมื่อได้ห้อยข้อมือตรงขอบเตียงหรือสะบัดมือจะรู้สึกทุเลาได้
การทำงานโดยใช้ข้อมือ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่างอข้อมือมากๆ หรือเร็วๆ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน พิมพ์ดีด) งอข้อมือเร็วๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดหรือชาได้ ถ้าเป็นมาก อาจทำให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่นๆ ชาและอ่อนแรงได้ อาการอาจเกิดที่มือข้างเดียว หรือ ๒ ข้างก็ได้
ในรายที่เป็นระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดอาการมักจะหายไปได้เอง
การแยกโรค
อาการชาปลายมือ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
• โรคเหน็บชา ซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินบี ๑ รวมไปถึงคนยากจน คนที่ใช้แรงกายหนักและกินคาร์โบไฮเดรตมาก หรือคนที่ขาดอาหาร มักจะมีอาการชาปลายมือปลายเท้าทุกนิ้ว
• เบาหวาน ที่ปล่อยให้มีน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง (นาน ๑๐ ปีขึ้นไป) ทำให้เส้นประสาทเสื่อม มีอาการชาปลายมือปลายเท้าทุกนิ้ว
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะของโรคนี้ คือ มีอาการปวดหรือชาที่บริเวณ ๓ นิ้วครึ่ง ได้แก่ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางซีกที่ติดกับนิ้วกลาง
การกดหรือเคาะที่ข้อมือ (ตรงด้านเดียวกับฝ่ามือ) ข้างที่มีอาการ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหรือชาที่ปลายมือได้
แพทย์อาจทำการทดสอบโดยให้ผู้ป่วยวางหลังมือ ๒ ข้างชนกัน ในท่างอข้อมือให้มากที่สุด และนิ้วมือชี้ลงพื้นนาน ๖๐ วินาที ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการปวดหรือชาปลายนิ้วมือ ๓ นิ้วครึ่ง เรียกการทดสอบนี้ว่า “อาการฟาเลน (phalen’s sign)”
ภาพการทดสอบ Phanlen’s sign
บางครั้งแพทย์อาจทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography หรือ EMG)
การดูแลตนเอง
ถ้าพบว่ามีอาการปวดหรือชาปลายมือ หากกินวิตามินบีรวม หรือบี ๑ ประมาณ ๑-๒ สัปดาห์แล้วไม่ทุเลา หรือเป็นเบาหวาน หรือมีอาการชาเฉพาะ ๓ นิ้วครึ่ง (นับจากนิ้วโป้ง จนถึงซีกหนึ่งของนิ้วนาง) ก็ควรไปปรึกษาแพทย์
หากแพทย์ตรวจพบว่าเป็นเส้นประสาทมือถูกบีบรัด ก็ควรรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง
ในรายที่แพทย์ให้รักษาด้วยการผ่าตัด หลังผ่าตัดก็ควรดูแลแผลผ่าตัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จนกว่าจะหายดี
การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค
• ถ้าเป็นเล็กน้อย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพักการใช้ข้อมือ (การทำงานในท่างอข้อมือ) และใช้ความเย็น (เช่น น้ำผสมน้ำแข็ง) ประคบวันละ ๓-๔ ครั้ง อาจทุเลาได้ภายใน ๒-๓ สัปดาห์
• ถ้าไม่ทุเลาหรือมีอาการมากขึ้น แพทย์อาจให้กินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ครั้งละ ๔๐๐ มก. วันละ ๓-๔ ครั้ง และใส่เฝือกที่มือเฉพาะเวลาเข้านอน หรือบางรายแพทย์อาจฉีดยาสตีรอยด์เข้าที่ข้อมือข้างที่ปวด เพื่อลดอาการอักเสบและบวมของเนื้อเยื่อในช่องท้องใต้กระดูกข้อมือ
• ถ้ามีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ภาวะพร่องไทรอยด์ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ แพทย์ก็จะให้การรักษาโรคนี้ร่วมไปด้วย
• ถ้าการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ดังกล่าวไม่ได้ผล หรือมีอาการรุนแรง ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการตัดแผ่นพังผืดเหนียว (ที่บีบรัดเส้นประสาท) ให้คลายแรงบีบรัดลง ก็จะช่วยให้อาการทุเลาได้
ภาวะแทรกซ้อน
หากปล่อยให้เส้นประสาทมือถูกบีบรัดนานๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อมือฝ่อได้
การดำเนินโรค
ถ้าเกิดจากภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือแก้ไขได้ เช่น ระยะก่อนมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ ภาวะขาดไทรอยด์ ความอ้วน เป็นต้น อาการก็มักจะเป็นอยู่ชั่วคราว และทุเลาได้เมื่อภาวะที่เป็นต้นเหตุได้หายไป
ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยและปานกลาง การรักษาด้วยยาก็อาจทำให้ทุเลาได้
ส่วนในรายที่เป็นรุนแรง การผ่าตัดก็จะทำให้อาการทุเลาภายในเวลาไม่กี่วัน
ในรายที่เป็นรุนแรง และไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไข ปล่อยไว้เป็นแรมปี ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อมือฝ่อได้
การป้องกัน
๑. ควบคุมน้ำหนักตัว และโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน) ที่เป็น
๒. ฝึกการใช้มือให้ถูกต้อง เช่น
• ในการนั่งเขียนหนังสือนานๆ ควรใช้ปากกาด้ามใหญ่และหมึกไหลลื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้นิ้วจับ ปากกาแรงเกิน และกดกระดาษแรงๆ
• หมั่นฝึกการใช้ข้อมือ และบริหารข้อมือโดยการเหยียดขึ้น–งอลง เป็นระยะๆ
• หลีกเลี่ยงการทำงานโดยการงอข้อมือติดต่อกันนานๆ
• ในการพิมพ์แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ (คีย์บอร์ด) พยายามยกข้อมือให้อยู่ระดับข้อศอก หรือต่ำกว่าข้อศอกเล็กน้อย
ความชุก
โรคนี้พบได้ค่อนข้างบ่อย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ๓ เท่า (เนื่องจากช่องใต้กระดูกข้อมือของผู้หญิงมีลักษณะแคบกว่า)
มักพบในคนอ้วน คนที่เป็นเบาหวาน โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ขณะตั้งครรภ์หรือระยะก่อนมีประจำเดือน หรือในคนที่ใช้ข้อมืออย่างผิดๆ
- อ่าน 203,721 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้