วัณโรค
วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่สำคัญที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุข เป็นสาเหตุของการป่วยและการตายในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก สาเหตุที่ทำให้วัณโรคกลับมามีปัญหาใหม่ทั่วโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเอดส์ ความยากจน และการอพยพย้ายถิ่น และแรงงานเคลื่อนย้าย ส่งผลให้การแพร่ระบาดของวัณโรคมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น องค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 17 ในจำนวน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคมากที่สุด โดยคาดการณ์ว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ทุกประเภท ปีละ 91,000 ราย (142 ต่อแสนประชากร)
เนื่องในโอกาสที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันวัณโรคโลก (World TB Day) ในวันนี้มีความสำคัญคือ นอกจากจะเป็นการรำลึกถึงวันที่ นายแพทย์ Robert Koch ค้นพบเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็นสาเหตุของการป่วยเป็นวัณโรคและเป็นการก้าวสู่การควบคุมวัณโรคยุคใหม่ เมื่อปี ค.ศ. 1882 หรือประมาณ 126 ปีที่ผ่าน มาแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้ชาวโลกและผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ตระหนักถึงภัยอันตรายจากวัณโรคโดยเฉพาะวัณโรคดื้อยาหลายชนิด (Multidrug Resistance Tuberculosis) ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในหลายๆ ประเทศและร่วมมือร่วมใจต่อสู้กับโรคร้ายนี้โดยการสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมป้องกัน
สำหรับปีนี้ องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญในการระดมทรัพยากรและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้ป่วยและญาติให้เกิดความรู้สึกและตระหนักในบทบาทและมีส่วนร่วมในการหยุดยั้งวัณโรคดังสโลแกน เนื่องในวันวัณโรคโลก (World TB day 2008) ที่ว่า เราจะหยุดวัณโรค (I am stopping TB) นั้นคือ ในส่วนของผู้ป่วยก็มีส่วนร่วมในการหยุดยั้งวัณโรคได้โดยขยันและให้ความร่วมมือกินยาตามแพทย์สั่งให้ครบ ในขณะที่ภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการให้บริการ โดยเฉพาะทีมสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่คลินิกวัณโรค และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องตื่นตัวและตื้อรือร้นอยู่เสมอในการค้นหาผู้ป่วยจากผู้มีอาการสงสัยและพร้อมในการให้บริการตรวจวินิจฉัย และรักษาให้ได้ตามมาตรฐาน และที่สำคัญบทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาชนในการหยุดยั้งวัณโรค คือผู้นำชุมชนและประชาชนจะต้องมีความรู้และเข้าใจในเรื่องของวัณโรคมีการระดมความรู้ ทรัพยากรมาใช้ในการควบคุมป้องกันติดตามดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค
วัณโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ และเป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกายแต่โดยมากนักเป็นที่ปอด
การติดต่อ เมื่อผู้ป่วย ไอ จาม เชื้อจะออกมากับละอองเสมหะหรือน้ำลาย หาก ผู้ใกล้ชิดสูดหายใจเข้าไป เชื้อวัณโรคจะเข้า สู่ร่างกายทำให้มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ ผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ 10 -15 คน
อาการ ผู้สงสัยว่าจะป่วยเป็นวัณโรคมักมีอาการ ไอเรื้อรังติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ขึ้นไปไอเลือดออก เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มักมีไข้ตอนบ่าย
การรักษา วัณโรครักษาให้หายขาดได้ โดยต้องกินยาตามมาตรฐานการรักษา ให้ครบ 6 - 8 เดือนและมีพี่เลี้ยงกำกับดูแลช่วยเหลือ ให้กำลังใจผู้ป่วยในการกินยา
- อ่าน 9,016 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้