คำถาม
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ใครที่สมควรฉีด?
นับเป็นข่าวดีต่อวงการแพทย์ของโลกและส่งผลดีต่อมวลมนุษยชาติประชากรชาวโลกโดยเฉพาะเพศหญิง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นวัคซีนใหม่เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้สำเร็จ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาถึงผลดีผลเสียแล้ว จึงอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนแก่วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนี้เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ.๒๕๕๐ที่ผ่านมา หลังจากนั้นอีกเพียง ๒-๓ เดือน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้แถลงข่าวแก่สื่อมวลชน เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ว่า
"อย.จับมือองค์กรแพทย์ให้ข้อมูลเรื่องวัคซีนมะเร็งปากมดลูก" ซึ่งมีเนื้อหาระบุไว้ว่า
"กระแสโฆษณาเชิญชวน...ให้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก...มาแรง...อย.จับมือองค์กรแพทย์ร่วมแถลงข้อเท็จจริงให้หน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์ควรให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ผู้บริโภค"
และในตอนหนึ่งระบุเพิ่มเติมว่า
"วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ อย.อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาสามารถป้องกันภาวะที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๖, ๑๑, ๑๖ และ ๑๘ เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันได้เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้ว..จะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก หรือผู้ที่ไม่ฉีดจะต้องเป็นโรคนี้ทุกราย"
อ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจรู้สึกมึนๆ งงๆ เล็กๆ น้อยๆ ว่า ในตอนต้นเหมือนจะเป็นข่าวดีที่มีวัคซีนใหม่ใช้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้สำเร็จมาใช้ในวงการแพทย์ ไทย แต่ด้วยความดีใจเหมือนไก่ที่ได้พลอย ทำให้มีการโถมโฆษณาถึงสรรพคุณความดีมีประโยชน์ของวัคซีน จนอาจเกินความจริงไป เกิดการใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน ทั้งแบบถูกต้องเหมาะสมตามหลักฐานทางการแพทย์ และแบบที่ไม่เหมาะสม สิ้น-เปลือง สูญเปล่า โดยไม่จำเป็น ไม่คุ้มค่า
โอกาสนี้ จึงขอย้ำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับการใช้ยา หรือการใช้ยา...พอเพียง ที่เน้นถึงการใช้ยาตามความจำเป็น เหมาะสม และเพียงพอ เพื่อความคุ้มค่าและปลอดภัยของผู้ใช้ยา ไม่มากหรือน้อยเกินไป พอดีๆ จึงขอนำคำถามที่ว่าวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ใครที่สมควรฉีด? มาเล่าขานอธิบายกันเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
โรคมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูกนี้เป็นโรคหนึ่งที่สำคัญต่อหญิงไทย เพราะเป็นโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในหญิงไทย โดยมีโรคมะเร็งเต้านมตามมาเป็นอันดับสอง
แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกประมาณ ๖,๐๐๐ คน และในจำนวนนี้จะเสียชีวิต ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ ๓,๐๐๐ คนทุกปี
การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ต้นเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก
สาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูกคือ การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus - HPV) ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีกว่า ๑๐๐ ชนิด และจะเรียกไวรัสแต่ ละชนิดตามสายพันธุ์ด้วยหมายเลข
ตัวอย่างเช่น ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๖ ไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ ๑๑ ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๑๖ ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๑๘ ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๓๑ ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๓๓ ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๔๕ เป็นต้น จำนวนไวรัสเอชพีวีทั้งกว่า ๑๐๐ ชนิดนี้ ประมาณกว่า ๖๐ ชนิด ที่เป็นต้นเหตุก่อให้เกิดโรคหูดในคน ที่สำคัญได้แก่ ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๖ ไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ ๑๑ เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีกประมาณ ๔๐ กว่าชนิด จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปากมดลูกและลุกลามไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ตัวอย่างเช่น ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๑๖ ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๑๘ ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๓๑ ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๓๓ ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๔๕ เป็นต้น
ไวรัสชนิดนี้ติดต่อถึงกันด้วยการมีเพศสัมพันธ์
การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้ติดต่อถึงกันด้วยการสัมผัส โดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการร่วมเพศ จึงพบเชื้อ ไวรัสเอชพีวีชนิดนี้ทั้งในเพศชายและหญิง แต่ในเพศชาย มักไม่มีอาการ จะมีอาการเฉพาะในเพศหญิง ซึ่งจะได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีจากเพศชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์กัน ประมาณร้อยละ ๘๐-๙๐ ของผู้หญิงที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจะ
หายไปได้ด้วยตนเอง ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวกับ ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของผู้ที่ได้รับเชื้อที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันมาจัดการกับเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้ได้
ผู้หญิงที่ได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีอีกประมาณร้อยละ ๑๐-๒๐ ที่ยังคงพบเชื้ออยู่ในร่างกายต่อไป ซึ่งในจำนวนนี้ จะมีเชื้อไวรัสเอชพีวีหลงเหลืออยู่ และคอยโอกาสเมื่อสภาวะเหมาะสมต่อการติดเชื้อลุกลามของโรค เช่น เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ ก็จะเกิดการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๕-๑๐ ปี
พบว่าผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูก จำนวน ๑๐๐ คน ที่มีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และเกิดการติดเชื้อชนิดนี้ อย่างต่อเนื่อง จนพัฒนากลายไปเป็นมะเร็งที่ปากมดลูก นั้น จะมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๑๖ คิดเป็นจำนวน ๕๔ คน (ร้อยละ ๕๔)
รองลงมา คือไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๑๘ คิดเป็นจำนวน ๑๗ คน (ร้อยละ ๑๗)
ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๓๑ คิดเป็นจำนวน ๓ คน (ร้อยละ ๓)
ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๓๓ จำนวน ๓ คน (ร้อยละ ๓)
ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๔๕ จำนวน ๗ คน (ร้อยละ ๗)
นอกจากนี้ มีไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์อื่นๆ อีกรวมกันได้เป็น ๑๐๐ คน
ดังนั้น การสร้างวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ไม่ให้เกิดการติดเชื้อและไม่ลุกลามจนเป็นมะเร็งปากมดลูก จะได้ผลหรือมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด จึงขึ้นอยู่กับชนิดของสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเอชพีวีที่มีอยู่ในวัคซีนนั้นๆ ซึ่งวัคซีนที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันจะสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้กับเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๖, ๑๑, ๑๖ และ ๑๘ เท่านั้น
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกครอบคลุมเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคได้ร้อยละ ๗๑
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกชนิดนี้ (ซึ่งน่าจะเรียกว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี) จึงไม่ครอบคลุมเชื้อไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งหมด แต่จะครอบคลุมเฉพาะเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๑๖ และ ๑๘ ซึ่งครอบคลุมโอกาสการเกิดได้ร้อยละ ๗๑ เท่านั้น (๕๔ + ๑๗ = ๗๑)
ส่วนเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ ๖ และ ๑๑ ที่มีอยู่ในวัคซีนก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคหูดได้ แต่ไม่มีผลต่อโรคมะเร็งปากมดลูก ข้อเท็จจริงข้อนี้เป็นข้อมูลหนึ่งที่ทาง
อย. อยากให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนก่อนการตัดสินใจเข้ารับว่ารับวัคซีนชนิดนี้
"วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี"
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เริ่มใช้อายุเท่าใด?
วัคซีนชนิดนี้เป็นชนิดที่ใช้เพื่อ ป้องกัน การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี จึงจะมีประโยชน์เฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อชนิดนี้ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ เพราะเชื้อไวรัสเอชพีวีติดต่อถึงกันได้อย่างง่ายดายด้วยการสัมผัสโดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์
คำตอบสำหรับคำถามที่ว่า "วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เริ่มอายุเท่าใด?"
ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ หญิงบริสุทธิ์ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
ต่างประเทศจะให้ช่วงอายุระหว่าง ๙-๒๖ ปี (ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์) ซึ่งส่วนหนึ่งมีเหตุผลว่า เด็ก อายุ ๙ ขวบ ยังไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางเพศ
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือการศึกษาทดลองวัคซีนชนิดนี้มีการทดลองกับหญิงอายุระหว่าง ๙-๒๖ ปี เท่านั้น ส่วนหญิงในช่วงอายุอื่นๆ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ยังไม่ได้ผลสรุปออกมา
เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว...ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกอีกหรือไม่?
ตอบได้เลยว่า ปัจจุบันวัคซีนครอบคลุมได้ประมาณ ร้อยละ ๗๑ (ไม่ครบร้อย) จึงยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัสเอชพีวีชนิดอื่นๆ ได้ แต่การได้รับวัคซีนก็จะช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเอชพีวี ๑๖ และ ๑๘ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญได้ และช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกให้น้อยลงได้ แต่ไม่ทั้งหมด
ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?..เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก
การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา...ฉันใด...
นอกจากการได้รับวัคซีนซึ่งเป็นการป้องกันอย่างหนึ่งแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกด้วย ซึ่งได้แก่ การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ ประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ การมีบุตรหลายคน การสูบบุหรี่ การกินยาคุมกำเนิดมานานกว่า ๕ ปี และไม่เคยตรวจแพ็ปสเมียร์ (pap smear) เป็นต้น
มีคำกล่าวว่า "แม่ชี...จะไม่ค่อยเป็นมะเร็งปาก-มดลูก แต่จะพบได้บ่อยในหญิงโสเภณี" ดังนั้น ถ้าหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้ก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และลดโอกาสการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้อีกทอดหนึ่งด้วย
ควรตรวจแพ็ปสเมียร์เป็นประจำทุกปี
อีกด้านหนึ่งที่เป็นผลดี ก็คือ การติดตามความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการควรตรวจแพ็ปสเมียร์เป็นประจำทุกปี การตรวจแพ็ปสเมียร์จะช่วยติดตามความผิดปกติของเซลล์บุผิวปากมดลูกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เริ่มต้นมีความผิดปกติ
ผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจแพ็ปสเมียร์เป็นประจำทุกปี ปีละ ๑ ครั้ง เพื่อช่วยติดตามความผิดปกติของปากมดลูก ถ้าพบความผิดปกติในระยะเริ่มต้น จะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ในขณะที่ยังมีความผิดปกติเล็กน้อย อาการไม่มาก ซึ่งรักษาให้หายขาดได้โดยง่าย
ถ้ามีการตรวจแพ็ปสเมียร์มากขึ้น จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกลดลง เมื่อกล่าวถึงแพ็ปสเมียร์ ก็รู้สึกเห็นใจบรรดาสุภาพสตรี ที่มักมีความรู้สึก "กลัว-อาย" ไม่ต้องการ หรือไม่อยากไปตรวจแพ็ปสเมียร์ มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้หญิงไทยของสำนักโพลล์แห่งหนึ่งพบว่า ร้อยละ ๕๘ ของผู้หญิงไทย รู้จักโรคมะเร็งปากมดลูกว่าเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย
กลุ่มตัวอย่างนี้ร้อยละ ๙๐ รู้ว่าการตรวจแพ็ปสเมียร์ จะช่วยคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แต่ที่น่าผิดหวังก็คือ มีเพียงร้อยละ ๒๕ เท่านั้นที่ไปรับการตรวจแพ็ปสเมียร์ เพราะมีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันแล้วว่า ถ้ามีการตรวจแพ็ปสเมียร์มากขึ้น จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกลดลง
ดังนั้น ขอรณรงค์กุลสตรีไทยที่มีอายุตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจแพ็ปสเมียร์ทุกปี เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเสียแต่เนิ่นๆ
การสังเกตอาการผิดปกติของโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง
อีกวิธีหนึ่งที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการติดตามการลุกลามของโรคมะเร็งปากมดลูกก็คือ การสังเกตอาการผิดปกติของอวัยวะเพศหญิงที่อาจเกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูก ซึ่งได้แก่ การมีเลือดออกผิดปกติ เช่น มีเลือดออกภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ การมีเลือดออกกระปริดกระปรอย การมีเลือดออกปนมากับปัสสาวะ มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น ไม่ควรนิ่งนอนใจ ถ้ามีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น ควรไปปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อให้คำแนะนำตลอดจนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
สรุป
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกก็คือ วัคซีนป้องกัน การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่ควรใช้ในหญิงระหว่างอายุ ๙-๒๖ ปี ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ และเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว จะสามารถครอบคลุมโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไวรัสเอชพีวีได้ประมาณร้อยละ ๗๐ เท่านั้น (ปกติเมื่อได้รับเชื้อเอชพีวีแล้วมีประมาณร้อยละ ๑๐-๒๐ ที่จะลุกลามไปเป็นมะเร็งปากมดลูก)
หญิงที่อายุตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจ แพปสเมียร์ทุกปี เพื่อช่วยคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแต่เนิ่นๆ พร้อมทั้งลดปัจจัยเสี่ยงในด้านการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน และควรรักษา "สุขภาวะ" ของร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้พร้อมต่อการต่อสู้กับเชื้อโรคทุกเมื่อ i
- อ่าน 12,230 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้