• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อังกาบ

อังกาบ ดอกไม้ไทยที่ไม่ค่อยคุ้นหู

หญิงไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนิยมตั้งชื่อเรียกตามชื่อดอกไม้ที่งดงาม หรือกลิ่นหอมซึ่งเป็นที่นิยมและรู้จักกันดีในขณะนั้น การสำรวจรายชื่อของดอกไม้ที่หญิงไทยนิยมนำมาตั้งชื่อในแต่ละยุคสมัยจึงเป็นเครื่องหมายชี้ให้เห็นความนิยมในดอกไม้ชนิดนั้นๆ ด้วย

ดอกไม้ไทยบางชนิดซึ่งเป็นที่นิยมในอดีต และนิยมนำมาตั้งชื่อให้หญิงไทยนั้น ปัจจุบันแทบจะไม่มีการนำมาตั้งชื่อกันอีกเลย ชื่อของดอกไม้ชนิดนั้นก็ไม่ค่อยคุ้นหูกับคนไทย ส่วนใหญ่ แสดงถึงความนิยมของผู้คนลดลงเมื่อเทียบกับอดีต ตัวอย่างหนึ่งของดอกไม้ไทยดังกล่าวก็คือ อังกาบ

อังกาบ : ชื่อของดอกไม้ไทยและเทศ
อังกาบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Barleria cristata Linn. อยู่ในวงศ์ Acanthaceae เป็นไม้พุ่มขนาดย่อมสูงราว ๑๐๐ เซนติเมตร
ใบ เป็นรูปหอก โคนและปลายใบแหลมรูปร่างคล้าย ใบพริก กว้างราว ๔ เซนติเมตร ยาวราว ๑๐ เซนติเมตร ออกเป็นคู่ ๆ ตามข้อลำต้น และกิ่งก้าน
ดอก ออกเป็นกลุ่มอยู่ปลายยอดหรือกิ่งก้าน ดอกมีรูปทรงกรวย คล้ายแตร ประกอบด้วยกลีบดอก ๕ กลีบ มีสีม่วง, ม่วงอมชมพู, ม่วงอ่อนสลับม่วงแก่ และสีขาว
อังกาบ ที่คนไทยปัจจุบันรู้จักนั้นมีทั้งพืชพื้นบ้าน ดั้งเดิมของไทยและนำเข้ามาจากต่าง-ประเทศ ดังปรากฏหลักฐานในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.๒๔๑๖ เมื่อกว่าร้อยปี มาแล้วว่า "อังกาบ เป็นชื่อต้นดอกไม้อย่างหนึ่ง มันมีดอกสีเหลืองไม่มีกลิ่น  เขาเอามาจากเมืองนอก ดอกมันสีเขียวนั้น"
จากข้อความดังกล่าวบอกให้ทราบว่า อังกาบดั้งเดิมของไทยดอกมีสีเหลือง ส่วนที่มาจากเมืองนอกนั้นดอกสีเขียว (ม่วง) ซึ่งอังกาบดอกสีเหลืองนั้นปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า อังกาบหนู (Barleria prionitis Linn.) ลำต้นมีหนามแหลม ส่วนอังกาบที่มาจากต่างประเทศนั้น ตามหลักฐานระบุว่ามาจากประเทศอินเดีย มีดอกสีม่วงหรือขาว ลำต้นไม่มีหนาม ซึ่งก็คือ อังกาบที่นิยมปลูกกัน     ในปัจจุบันนั่นเอง มีชื่อเรียกอื่นๆ คือ ทองระย้า (กทม.) คันชั่ง (ตาก) ก้านชั่ง (ภาคเหนือ)

อังกาบนอกจากมีดอกงดงามแล้วยังใช้แก้ตะขาบ แมลงป่องต่อย ขับปัสสาวะ ฟอกระดู แก้ประจำเดือนคั่งค้างได้อีกด้วย  โดยนิยมใช้รากของชนิดดอกสีม่วงมา ทำยามากกว่าสีอื่น 

 

ข้อมูลสื่อ

345-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 345
มกราคม 2551
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร