• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคข้อศอกเทนนิส

ดร.คีรินท์ เมฆโหรา คณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคข้อศอกเทนนิส โรคสุดฮิตของคนใช้ ข้อมือและข้อศอกบ่อยๆ

การทำงานไม่ว่าจะเป็นงานหนักหรืองานเบา มักมีการกระดกข้อมือและเหยียดศอกอยู่เสมอ เช่น การปัดกวาดบ้าน การทาสี การตีกลอง ตลอดจนการเล่นกีฬาต่างๆ
ขณะที่ทำงานกล้ามเนื้ออาจทำงานในลักษณะเกร็ง หรือทำงานซ้ำๆ กัน ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือดำเนินชีวิตได้ อาการปวดบริเวณข้อศอกนี้จัดเป็นกลุ่มโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว
โรคข้อศอกเทนนิส หรือเอ็น กล้ามเนื้อ ข้อศอกอักเสบ ภาษาอังกฤษเรียกว่า tennis elbow  หรือศัพท์ทางการแพทย์ว่า lateral epicondylitis
      
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บบริเวณข้อศอกเมื่อมีการทำงานของกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านนอกของแขน หากเมื่อทำการยืดหรือกดกล้ามเนื้อ ก็จะมีอาการเจ็บเช่นกัน อาการเจ็บจะเป็นการเจ็บแหลมอยู่กับที่ หรือการเจ็บร้าวไปบริเวณอื่นได้ ซึ่งอาการเจ็บร้าวนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีปัญหาแบบเรื้อรัง หรือเกิดการบีบรัดเส้นประสาทหรือการตึงตัวของเส้นประสาทร่วมด้วย

อาการเจ็บอาจเป็นลักษณะเป็นๆ หายๆ หรือเจ็บตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และลักษณะการเกิดของโรค ถ้าลักษณะที่เกิดขึ้นมีสาเหตุเนื่องจากการใช้งานกล้ามเนื้อข้อศอกมากๆ หรือทันทีทันใดจะทำให้มีการฉีกขาดของเอ็นหรือกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ส่งผลให้มีการอักเสบแบบเฉียบพลัน ซึ่งจะมีอาการเจ็บ บวม และร้อนบริเวณด้านนอกของข้อศอก ขณะที่ถ้าเป็นการเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป ความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยในระยะเริ่มแรก อาการจะไม่มากนัก ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้าทำงานต่อเนื่องนานๆ อาการจะมากขึ้น และถ้าไม่มีการรักษาหรือการจัดการที่ดี อาการจะมากขึ้นจนกระทั่งไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้

สาเหตุ
กล้ามเนื้อกลุ่มนี้มีหลายมัด บางมัดทำหน้าที่กระดกข้อมือ บางมัดทำหน้าที่กระดกนิ้ว และบางมัดทำหน้าที่ร่วมกับตัวอื่นๆ ในการงอศอก  กล้ามเนื้อเหล่านี้จะมีจุดเกาะที่บริเวณปุ่มกระดูกที่อยู่ด้านนอกของข้อศอก เมื่อกล้ามเนื้อเหล่านี้ทำงานหนัก จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้หรือเอ็นบริเวณด้านนอกของข้อศอกมีการฉีกขาด นั่นหมายถึงมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น ซึ่งจะตามมาด้วยการอักเสบและกระบวนการรักษาตนเอง หากการรักษาตนเองเป็นไปได้ด้วยดีผู้ป่วยก็จะหายเป็นปกติ  อย่างไรตาม เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับผู้ที่ต้องทำงาน เพราะในการทำงานมักมีการใช้กล้ามเนื้อเหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำ จนกระทั่งเกิดการบาดเจ็บในลักษณะเรื้อรัง

อาชีพหรือกิจกรรมทำให้เกิดโรค
 กีฬาที่มีการใช้แร็กเก็ต การเหวี่ยงแขนในท่าหลังมือ (back hand) หรือต้องกระดกข้อมือบ่อยๆ
 งานสำนักงานที่มีการพิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์บ่อยๆ ซึ่งกล้ามเนื้อในการกระดกนิ้วและข้อมือจะทำงานมาก กล้ามเนื้อนี้หลายมัดมีจุดเกาะมาที่ข้อศอก 
 งานในโรงงานอุตสาหกรรมที่พนักงานต้องใช้แรงดึง เกร็งข้อมือมากๆ 
 ช่างทาสี ฉาบปูน ที่ต้องปัดข้อมือขึ้นลงตลอดเวลา
 แม่บ้านที่ทำความสะอาดบ้านด้วยการปัดกวาด

การตรวจร่างกาย
หากมีอาการปวดบริเวณด้านนอกของข้อศอก โดยอาการปวดนั้นเกิดขึ้นเมื่อกระดกและเกร็งข้อมือ หรือเหยียดศอกพร้อมกับงอข้อมือและกำมือ (กล้ามเนื้อจะถูกยืด) และหากเอามืออีกข้างกดบริเวณกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านนอกของข้อศอกแล้วมีอาการเจ็บ ให้สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า มีอาการของโรคข้อศอกเทนนิสดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมีอาการชา หรืออ่อนแรงร่วมด้วย จำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายเพิ่มขึ้น เพราะลักษณะอาการชาและอ่อนแรงเป็นตัวบ่งบอกถึงการบาดเจ็บของระบบประสาท ซึ่งอาจจะมีการกดทับเส้นประสาทบริเวณคอ หรือไหล่ได้
      
การรักษา
การรักษาจะเป็นไปตามระยะของโรค หากมีการอักเสบอยู่ ควรใช้ความเย็นประคบ (เช่น ถุงน้ำแข็งหรือแผ่นเย็นห่อผ้า) และใช้ยาภายนอกลดการอักเสบร่วม  นอกจากนั้น การพักการใช้งานเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ทางระบบกระดูกซึ่งอาจมีการรักษาทางยา การฉีดยา หรือการผ่าตัด การรักษาเมื่อเริ่มมีอาการในระยะแรกๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

หากไม่มีการอักเสบแล้ว การนวด คลึง และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่น ของกล้ามเนื้อ เป็นสิ่งที่จำเป็น และควรปรับสภาพงานให้เหมาะสม เพื่อลดภาระการทำงานของกล้ามเนื้อลง ส่งผลให้ลดการเกิดโรคซ้ำ นอกจากนี้การใช้ผ้ารัดเพื่อประคองและกระชับกล้ามเนื้อ โดยรับบริเวณใต้ต่อข้อศอกลงมาก็สามารถช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานลดลงได้

การบีบนวดกล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณที่มีปัญหา
การใช้ผ้ายืดกระชับหรือประคองกล้ามเนื้อและข้อ
    
การออกกำลังกาย
ท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับระดับอาการเจ็บด้วย การออกกำลังกายระยะแรกที่มีการอักเสบ มักเป็น การออกกำลังกายที่เบาๆ ค่อยๆ ขยับ และไม่ควรเพิ่มน้ำหนักหรือทำการยืดจนกระตุ้นอาการเจ็บ  ภายหลังจากการอักเสบลดลงแล้ว ผู้ป่วยสามารถ ออกกำลังกายโดยใช้น้ำหนักได้แต่จะค่อยๆ เพิ่มน้ำหนัก ขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้ระดับน้ำหนักที่เมื่อยกแล้วประมาณ ๑๐ ครั้งแล้วรู้สึกเมื่อยพอดี  แล้วทำการปรับน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ ทุก ๑-๒ สัปดาห์

การเพิ่มน้ำหนักที่ดีและสะดวกที่สุดคือการใช้ขวดน้ำและเพิ่มน้ำหนักโดยการเติมน้ำให้มากขึ้น   ผู้ป่วยสามารถทำการยืดกล้ามเนื้อโดยให้รู้สึกตึงเล็กน้อยบริเวณที่มีอาการเจ็บ และออกกำลังกายบ่อยๆ จำนวนน้อย (ห้ามออกกำลังครั้งละมากๆ) และให้สังเกตว่าเมื่อหยุดออกกำลังกายอาการเจ็บจะต้องไม่เพิ่มขึ้น

การปรับเปลี่ยนแก้ไขการทำงาน
การปรับเปลี่ยนแก้ไขการทำงานสามารถใช้หลักการ ทางการยศาสตร์ได้ โดยพิจารณาจากหลัก ๓ ประการคือ การแก้ไขทางด้านวิศวกรรม การแก้ไขด้านการจัดการ และการฝึกอบรม จากหลักการดังกล่าว สามารถสรุปได้วิธีดังต่อไปนี้
๑. เมื่อทำงานแล้วเริ่มมีอาการเมื่อยบริเวณด้านนอกของข้อศอก ให้พักการทำงาน โดยอาจหยุดการทำงานเลย  หรืออาจทำงานให้ช้าลง  เราอาจเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อด้านนอกข้อศอก
๒. เลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสม หรือใช้อุปกรณ์เสริม เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น นักกีฬาต้องเลือกไม้แร็กเก็ตให้เหมาะสมเฉพาะบุคคลและเกมการเล่น พนักงานทาสีอาจใช้อุปกรณ์ เช่น ลูกกลิ้งที่เปลี่ยนการทำงานในลักษณะการปัดแปลงเป็นการใช้มือดันขึ้นลง
๓. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะท่าออกกำลังกายที่แนะนำไว้ข้างบน เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและสู้กับงานได้ การออกกำลังกายอาจถูกมองว่าต้องใช้กล้ามเนื้อทำงาน ซึ่งแน่นอนสามารถทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน แต่ถ้าออกกำลังปริมาณที่เหมาะสม ตามที่กล่าวไว้ก็จะไม่ก่อให้เกิดอาการ 
 

ข้อมูลสื่อ

345-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 345
มกราคม 2551
คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา