• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สครับไทฟัส

สครับไทฟัส เป็นไทฟัส (ไข้รากสาดใหญ่) ชนิดหนึ่งซึ่งทำให้มีอาการไข้สูง อาจมีผื่นแดงและสะเก็ดแผลไหม้ เกิดจากการติดเชื้อชนิดหนึ่ง ซึ่งมีตัวไรแดง (อยู่ตามพุ่มไม้) เป็นพาหะนำโรค มักพบในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน นักล่าสัตว์ นักท่องป่า ทหาร นักวิทยาศาสตร์ และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า หากไม่ได้รับการรักษา มักมีไข้นาน ๒-๓ สัปดาห์ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

ชื่อภาษาไทย  : สครับไทฟัส, ไข้แมงแดง

ชื่อภาษาอังกฤษ  : Scrub Typhus

สาเหตุ 

เกิดจากเชื้อริกเกตเซีย ที่มีชื่อว่า โอเรียนเทียซูซูกามูชิ (Orientia tsutsugamushi ซึ่งเดิมเรียกว่า Rickettsia sutsugamushi หรือ Rickettsia orientalis) โดยมีไรอ่อน (chigger หรือ laval-stage trombiculid mites) เป็นพาหะนำโรค ระยะฟักตัว ๔-๑๘ วัน

ตัวไรแก่อาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนที่มี ๖ ขาและมีสีแดง ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์แทะ นก หรือผู้ที่เดินผ่านไปมาเพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร

ถ้าคนหรือสัตว์มีเชื้อริกเกตเซียชนิดนี้อยู่ เชื้อก็จะเข้าไปอยู่ในลำไส้และต่อมน้ำลายของไรอ่อน แล้วเจริญแบ่งตัวในขณะที่ไรอ่อนกลายเป็นตัวแก่

ตัวแก่เมื่อวางไข่ก็จะมีเชื้อโรคแพร่ติดอยู่ เมื่อฟักเป็นไรอ่อน ก็จะเป็นไรอ่อนที่มีเชื้อโรค เมื่อไปกัดคนหรือสัตว์ก็จะแพร่เชื้อให้คนหรือสัตว์นั้นต่อไป

ในบ้านเราสัตว์ที่เป็นรังโรค (มีเชื้อโรคในร่างกาย) คือ หนูเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยอาจพบในกระแต และกระจ้อน สัตว์ที่เป็นรังโรคและไรอ่อนที่เป็นพาหะนำโรค อาจอยู่ตามพื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ทุ่งหญ้าคา ไร่พริก สวนยาง พุ่มไม้เตี้ยๆ และป่าสูง ซึ่งมีอยู่แทบทุกภาคของประเทศ

อาการ

หลังถูกไรอ่อนกัด ๔-๑๘ วัน จะมีอาการปวดศีรษะที่ขมับและหน้าผาก และจับไข้หนาวสั่น ไข้สูงตลอดเวลา (ไข้อาจเป็นอยู่นาน ๒-๓ สัปดาห์) หน้าแดง ตาแดง และกลัวแสง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องผูก

บริเวณที่ถูกกัดจะเจ็บ และมีรอยไหม้ดำเหมือนถูกบุหรี่จี้ (สะเก็ดแผลไหม้) รอบๆ แผลจะมีอาการบวมแดง แต่ไม่เจ็บ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. และเป็นอยู่นาน ๑-๓ สัปดาห์ พบได้ประมาณร้อยละ ๕๐ ของผู้ป่วย มักจะพบที่รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว ก้น อวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ๆ จะโตและเจ็บด้วย

ประมาณวันที่ ๕-๗ หลังมีไข้จะมีผื่นสีแดงคล้ำ ขึ้นที่ลำตัวก่อน แล้วกระจายไปแขนขา ผื่นจะมีอยู่ ๓-๔ วันก็หายไป
ผู้ป่วยอาจมีอาการไอร่วมด้วย จากการอักเสบของเนื้อปอด

การแยกโรค
อาการไข้สูง หนาวสั่น มีไข้นาน ๒-๓ สัปดาห์ อาจเกิดจากโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่พบได้บ่อยในบ้านเรา เช่น
•    มาลาเรีย ผู้ป่วยมักมีประวัติอยู่ในเขตป่าเขา หรือเดินทางเข้าไปในป่าเขา จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะและปวดเมื่อยมาก แต่จะไม่พบสะเก็ดแผลไหม้
•    ไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตลอดเวลา นาน ๒-๓ สัปดาห์ อาจมีอาการปวดแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก (มักพบในผู้ใหญ่) หรือถ่ายเหลว (มักพบในเด็ก) ร่วมด้วย
•    เล็ปโตสไปโรซิส (ไข้ฉี่หนู) ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ตาแดง ตาเหลือง (ดีซ่าน) ปวดน่อง มักพบในกลุ่มคนที่ย่ำน้ำหรือลงแช่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ
•    ไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงอยู่ตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีจุดแดงจ้ำเขียวขึ้นตามตัว
•    หัด ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง เป็นหวัด ไอ คล้ายไข้หวัด มีผื่นแดงขึ้นวันที่ ๔ ของไข้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติอาชีพ (ชาวไร่ ชาวสวน) การเดินทางไปตั้งค่ายในป่า และตรวจพบสะเก็ดแผลไหม้ ซึ่งจะพบเพียง ๑ แห่ง มักพบที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ รอบเอว ก้น หรืออวัยวะเพศ (ใต้อัณฑะ)
หากพบสะเก็ดแผลไม้ ก็มักจะให้การวินิจฉัยได้ แต่จะพบได้เพียงร้อยละ ๕๐ ของผู้ที่เป็นโรคนี้
นอกจากนี้อาจทำการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ เอกซเรย์ และตรวจพิเศษอื่นๆ

การดูแลตนเอง

ผู้ที่เป็นไข้สูงตลอดเวลา ไข้หนาวสั่น หรือมีไข้นานเกิน ๑ สัปดาห์ และมีประวัติว่าอยู่ในถิ่นที่พบโรคนี้ หรือกลับจากการเดินทางไปตั้งค่ายในป่า หรือตรวจสะเก็ดแผลไหม้ตามผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ถ้าตรวจพบว่าเป็นสครับไทฟัส ควรจะกินยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน และไปติดตามผลการรักษาตามที่แพทย์นัด

การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น ดอกซีโซคลีน (doxycycline) หรือเตตราไซคลีน (tetracycline) นาน ๓ วัน ไรแฟมพิซิน (rifampicin) นาน ๗ วัน หรืออะซิโทรไมซิน (azithromycin) ครั้งเดียว
ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น หอบ หัวใจวาย ไตวาย ช็อก หรือหมดสติ จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

ภาวะแทรกซ้อน
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจถ่ายอุจจาระดำ เพ้อคลั่ง หมดสติ หัวใจวาย (กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ) สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) ไตวายเฉียบพลัน หรือภาวะช็อกจากโลหิตเป็นพิษ

การดำเนินโรค
โรคนี้เมื่อได้รับการรักษา ไข้มักจะลดลงภายใน ๒๔-๗๒ ชั่วโมง และจะหายขาดโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา บางรายอาจหายได้เอง โดยมีไข้อยู่นาน ๒-๓ สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกัน
๑. ถ้าจะออกไปตั้งค่ายในป่า พยายามอย่าเข้าไปในพุ่มไม้ บริเวณที่ตั้งค่ายควรถางให้โล่งเตียน ควรพ่นยาฆ่าไรบนพื้นดิน และไม่ควรนั่งหรือนอนอยู่กับที่นานๆ ควรใส่เสื้อผ้ารัดกุมและทายาป้องกัน
๒. กินยาป้องกัน โดยกินดอกซีไซคลีน ๒๐๐ มก. สัปดาห์ละครั้ง ระหว่างที่อยู่ในพื้นที่ที่มีโรคนี้อยู่ โดยให้เริ่มกินครั้งแรกก่อนเดินทาง ๓ วัน และกินต่อจนกระทั่ง ๖ สัปดาห์หลังเดินทางกลับออกมาแล้ว

ความชุก
โรคนี้พบบ่อยในพื้นที่ชนบทและป่าเขา มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้ ประมาณปีละ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ราย พบได้ทุกภาคของประเทศ
 

ข้อมูลสื่อ

383-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 383
มกราคม 2554