โรคพาร์กินสัน
ท่านผู้อ่านคงเคยพบเห็นผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นคนในครอบครัว หรือคนที่เราพบเห็นในที่สาธารณะ หรืออาจเป็นตัวท่านเอง แขนและมือมีอาการสั่นข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจ ๒ ข้าง ซึ่งมักสั่นในท่าพักไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร มีอาการเคลื่อนไหวเชื่องช้า มีอาการทรงตัวผิดปกติ
บางครั้งเจ้าตัวก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร
ลองติดตามอ่านเรื่องนี้ ท่านจะได้พิจารณาว่า บุคคลที่ท่านพบเห็นหรือตัวท่านนั้น เป็นโรคพาร์กินสันหรือไม่ เพื่อจะได้เข้าทำการรักษากับแพทย์ได้ทันท่วงที
โรคพาร์กินสัน (Parkinson ’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท โดยเฉพาะส่วนที่ผลิตสารควบคุมการเคลื่อนไหว หรือที่เรียกว่า สารโดพามีน (Dopamine) ชื่อโรคพาร์กินสัน ได้มาจากชื่อของแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ นายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ซึ่งเป็นแพทย์คนแรกที่ได้พูดถึงอาการของโรคนี้ในปี พ.ศ.๒๓๖๐
โรคพาร์กินสันมักพบในผู้ป่วยสูงอายุ โดยมากจะพบตั้งแต่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป โดยพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชายเพียงเล็กน้อย
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน มีอาการอย่างไร
อาการของโรคพาร์กินสัน มีอาการสำคัญ คือ
• อาการสั่น โดยเฉพาะแขนและมือ โดยมักมีอาการข้างใดข้างหนึ่งนำมาก่อน โดยต่อมาอาจมีการสั่นเกิดขึ้นทั้ง ๒ ข้างได้ แต่มักมีความรุนแรงของการสั่นไม่เท่ากัน อาการสั่นมักจะเป็นในช่วงที่ผู้ป่วยอยู่ในท่าพักไม่มีกิจกรรมใดๆ (resting tremor)
• อาการเคลื่อนไหวเชื่องช้า การเคลื่อนไหวต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น การเดิน การแต่งตัว การทำกิจวัตรต่างๆ เป็นต้น จะช้าลงอย่างชัดเจน ไม่กระฉับกระเฉงว่องไวเหมือนเดิม
• อาการแข็ง เกร็ง ของกล้ามเนื้อ โดยส่วนมากจะเกิดในข้างเดียวกับที่มีอาการสั่น
• การทรงตัวผิดปกติ อาการนี้มักพบในผู้ป่วยที่ป่วยมาสักระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ผู้ป่วยล้มได้ง่าย
อาการอื่นๆ ที่มักพบร่วมกับอาการดังกล่าวข้างต้น ได้แก่ อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ อาการทางจิตประสาท เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาการสำคัญเลย เพราะอาการเหล่านี้อาจนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ถดถอยลงได้
• อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติที่ผิดปกติ เช่น อาการความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ อาการท้องผูก การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
• อาการผิดปกติทางจิตประสาท เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะอารมณ์หงุดหงิด
• การนอนหลับที่ผิดปกติ โดยอาจพบว่าผู้ป่วยมีการหลับมากในช่วงกลางวัน และไม่หลับในช่วงกลางคืน และอาจมีการเอะอะโวยวายในตอนกลางคืน
• ภาวะสมองเสื่อม มักพบในผู้ป่วยพาร์กินสันที่ป่วยมาหลายปี โดยมักมีอาการสับสน หลงลืม พฤติกรรมผิดปกติ และเมื่อเป็นมากจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
สาเหตุของโรคพาร์กินสัน
เกิดจากกลุ่มเซลล์ประสาทในสมองส่วนที่เรียกว่า ซับสเตนเชีย ไนกรา (Substantia nigra) ไม่สามารถสร้างสารโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทสั่งการของสมองในการควบคุมการเคลื่อนไหวให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยสาเหตุมักเกี่ยวข้องกับ
• ปัจจัยทางพันธุกรรม
• ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมีบางชนิดที่มีพิษทำลายสมอง
• การได้รับยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการทางจิต ยาแก้อาเจียน เวียนศีรษะ
• ความชราภาพของสมอง มักเกิดขึ้นกับผู้มีอายุตั้งแต่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป โดยพบได้บ่อยพอๆ กันทั้งเพศหญิงและเพศชาย
• ภาวะขาดวิตามินบี และโฟเลต
การวินิจฉัย
มักจะวินิจฉัยข้อมูลจากประวัติการป่วย อาการแสดงของโรค และการตรวจร่างกาย
ในรายที่สงสัยว่าเกิดจากโรคทางสมอง แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษ เช่น การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น
การรักษาผู้ป่วยพาร์กินสัน
๑. การรักษาโดยการให้ยา
การรักษาผู้ป่วยพาร์กินสัน มุ่งเน้นทั้งในการให้ยาเพื่อลดอาการทางการเคลื่อนไหวผิดปกติ รวมถึงการให้ยาที่ช่วยลดอาการอื่นๆ ที่มักพบร่วมกับอาการหลักด้วย ยาที่ใช้กันในปัจจุบัน ได้แก่
• ลิโวโดพา และโดพามีน อโกนิส เพราะตัวยาจะเปลี่ยนเป็นสารโดพามีนในเซลล์ประสาทช่วยเพิ่มปริมาณโดพามีนในสมอง ได้แก่ ยา Levodopa, Bromocriptine, Peribedil มีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด ประสาทหลอน
• ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำลายโดพามีน เพื่อไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ COMT และ MAO-B ซึ่งทำหน้าที่ทำลายสารโดพามีน ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้สารโดพามีนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยา Selegilline, Entacapone
• ยาที่มีฤทธิ์ต้านประสาทพาราซิมพาเทติก ช่วยลดอาการสั่นได้ดี ได้แก่ ยา Trihexyphenidyl มีผลข้างเคียงคือ ปากแห้ง ปัสสาวะลำบาก สับสน ประสาทหลอน
การรักษาอื่นๆ เช่น การรักษาโดยการให้ยาทางการเจาะลำไส้เล็กส่วนต้น การรักษาโดยให้ยาผ่านทางชั้นผิวหนัง อาจต้องพิจารณาผลดีผลเสียเป็นรายๆ ไป
๒. การรักษาโดยการผ่าตัด
นอกจากการรักษาโรคพาร์กินสันด้วยยา ในปัจจุบันโรคพาร์กินสันสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ดังนี้
• ผ่าตัดสมองส่วนทาลามัส (Thalamotomy)
• ผ่าตัดสมองส่วนพาลิดุส (Pallidotomy)
• ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมอง (Deep Brain Stimulation) โดยอาศัยการฝังสายเพื่อกระตุ้นทางไฟฟ้าอย่างอ่อนในสมองส่วนที่เรียกว่า Globus Pallidus หรือ Subthalamic nucleus ช่วยลดอาการสั่น อาการแข็ง เกร็งของกล้ามเนื้อ เคลื่อนไหวมากเกินปกติได้ดี ในผู้ป่วยที่ยังตอบสนองต่อโดพามีนและไม่มีภาวะสมองเสื่อม ผลข้างเคียงน้อยกว่าวิธีอื่นๆ
การดูแลตนเอง
ผู้ป่วยและญาติสามารถดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ดังนี้
๑. ติดตามรักษากับแพทย์เป็นประจำ
๒. กินยาควบคุมอาการตามที่แพทย์แนะนำให้ใช้
๓. กินอาหารจำพวกที่มีกากใยเพื่อช่วยลดอาการท้องผูก
๔. หมั่นฝึกบริหารร่างกาย โดยการเคลื่อนไหวร่างกายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่านอนหรือนั่งนิ่งๆ และการทำกิจวัตรประจำวัน
• ออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ลดเกร็งและปรับการทรงตัวให้ดีขึ้น เช่น การเดิน วิ่งเหยาะๆ รำไท้เก๊ก หรือเต้นแอโรบิก
• ฝึกเดิน ยืนยืดตัวตรง วางเท้าห่างกัน ๘-๑๐ นิ้ว นับจังหวะก้าวเท้าแกว่งแขน เหมือนเดินสวนสนามหรือเดินก้าวข้ามเส้นที่ขีดไว้ เมื่อใดที่ก้าวไม่ออกให้จังหวะกับตัวเองกระดกข้อเท้าแล้วก้าวเดิน
• ฝึกพูดโดยให้ผู้ป่วยเป็นฝ่ายพูดก่อน หายใจลึกๆ แล้วเปล่งเสียงให้ดังกว่าที่ตั้งใจไว้
๕. บริเวณทางเดินหรือในห้องน้ำควรมีราวเกาะและไม่วางของเกะกะทางเดิน
๖. การแต่งตัว ควรสวมเสื้อผ้าที่ถอดใส่ง่าย เช่น กางเกงเอวยางยืด เสื้อติดแถบกาวแทนกระดุม
๗. ญาติพี่น้อง ควรเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การเดินหกล้ม เป็นต้น
สิ่งสำคัญก็คือ คนใกล้ชิดของผู้ป่วยและญาติ ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจผู้ป่วยพาร์กินสัน
- อ่าน 15,146 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้