ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๘๑
ผู้ป่วยรายนี้เป็นชายชาวสวิส อายุ ๕๗ ปี ได้เป็นข่าวใหญ่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (และเป็นข่าวไปทั่วโลก) ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ ขณะที่เขากำลังจะตายจากการอดอาหารประท้วงรัฐบาลแห่งแคว้นวาไลส์ (Canton of Valais) ซึ่งเป็นแคว้นที่เต็มไปด้วยภูเขาทางใต้ของประเทศ สวิตเซอร์แลนด์
ผู้ป่วย นายเบอร์นาร์ด รัปพาซ (Bernard Rappaz) เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อให้กัญชาเป็นพืชที่ถูกกฎหมาย เขาปลูกและขายกัญชาด้วย เขาจึงถูกจับใน พ.ศ.๒๕๕๑ หลังต่อสู้คดีกับผู้มีอำนาจ (รัฐบาล) แห่งแคว้นนั้นอยู่นาน เขาก็ถูกศาลตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา ๕ ปี ๘ เดือนในข้อหาปลูกและขายยาเสพติดและฟอกเงิน และถูกนำตัวเข้าจำขังในคุกตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเขาก็อดอาหารประท้วงเป็นครั้งคราวเรื่อยมา เพราะเขาถือว่าเขาเป็นนักโทษการเมือง
(ไม่ทราบว่านายรัปพาซ ต้องการเลียนแบบนักโทษการเมืองในประเทศคิวบาคนหนึ่งหรือไม่ ที่ได้อดอาหารจนเสียชีวิตในคุกเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๕๓ จนรัฐบาลในประเทศตะวันตกพากันประณามรัฐบาลคิวบากันขนานใหญ่ และมีนักโทษการเมืองในคิวบาเริ่มเลียนแบบ ในที่สุด โดยการไกล่เกลี่ยของผู้นำทางศาสนาในคิวบา รัฐบาลคิวบายอมปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังหลายคน ให้ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศสเปนได้)
ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ นายรัปพาซได้อดอาหารอีกครั้ง และในกลางเดือนพฤศจิกายน น้ำหนักของเขาลดลงจาก ๙๐ กิโลกรัม เหลือ ๖๐ กิโลกรัม และสุขภาพทรุดโทรมลงมากจนใกล้จะเสียชีวิต เขาจึงถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่นายรัปพาซก็ยังยืนยันที่จะอดอาหารต่อ จนกว่ารัฐบาลจะนิรโทษกรรมให้เขา
กรณีของนายรัปพาซ กลายเป็นข่าวใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน เพราะศาลสูงสุดของสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland’s Supreme Court) ยืนยันคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นให้รัฐบาลมีอำนาจที่จะสั่งให้มีการบังคับยัดเยียดอาหารให้นายรัปพาซได้
แต่บรรดาแพทย์ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจนีวา (University of Geneva Hospital) ไม่ยอมทำตามคำสั่งนั้น เพราะเห็นว่านายรัปพาซได้ยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะไม่ยอมรับการรักษา (รวมทั้งการบังคับให้อาหารด้วยการใส่ท่อเข้าไปในกระเพาะอาหาร) ดังกล่าวด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ แล้วยังแสดงเจตนาล่วงหน้าอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการการช่วยเหลือ (การรักษา) ใดๆ จากแพทย์ แม้ว่าเขาจะหมดสติไปแล้วก็ตาม
แพทย์จึงต้องทำตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตามจรรยาแพทย์และตามกฎหมายของแคว้น ของประเทศ และของสากล เพราะการบังคับให้อาหารจำต้องมัดตรึงมือ-เท้า และอาจจะรวมทั้งแขน-ขา-ลำตัวด้วย มิฉะนั้นผู้ป่วยจะดึงท่อให้อาหารออกได้
นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่ถูกบังคับให้อาหารอาจจะขย้อน/สำรอกอาหารออกมา แล้วสำลักอาหารนั้นเข้าไปในปอด ทำให้ปอดบวมและเสียชีวิตอย่างทรมานได้ (ขณะที่การอดอาหารจะทำให้เสียชีวิตอย่างค่อนข้างสบาย)
ผู้อำนวยการสถาบันจริยธรรมทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยเจนีวา กล่าวว่า “ผู้มีอำนาจทางการเมืองและทางศาล กำลังทำให้วิชาชีพแพทย์กลายเป็นตัวประกัน (hostage) ด้วยการสั่งให้แพทย์บังคับให้อาหารแก่นักโทษที่อดอาหารประท้าง… แพทย์ไม่ใช่ ‘คนรับใช้’ เพื่อการเชิดชูเกียรติและศักดิ์ศรีของนักการเมืองและศาล…”
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ทางกฎหมายคนหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า “พวกแพทย์กำลังทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะในข้อหาละเมิดอำนาจศาล หรือเจตนาฆ่าคนเพราะไม่ปฏิบัติหน้าที่ (บังคับให้อาหาร) ของแพทย์”
แต่ในอดีต ศาลสูงสุดของสวิตเซอร์แลนด์ เคยวินิจฉัยให้หลายกรณีที่แพทย์ปล่อยให้ผู้ป่วยตายเองตามธรรมชาติโดยไม่ให้การรักษา (passive euthanasia) ไม่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงต้องดูกันต่อไปว่าถ้านายรัปพาซเสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงจริง แพทย์จะโดนข้อหาฆ่าคนให้ตายโดยเจตนาหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม เป็นเรื่องที่ชาวสวิสให้ความสำคัญมาก และระบอบการปกครองในประเทศนั้นก็ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมาก ปัญหาสำคัญต่างๆ จึงต้องผ่านการทำประชามติมากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา (เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจโดยรัฐบาล) นักการเมืองในแคว้นวาไลส์ จึงถูกชาวสวิสกดดันอย่างหนักเพื่อนิรโทษกรรมให้นายรัปพาซ โดยเฉพาะเมื่อนายรัปพาซยอมทำตามคำขอร้องให้ยื่นหนังสือขออภัยโทษขณะที่เขาป่วยหนัก
แต่พรรคประชาชนสวิส (Swiss People’s Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขวาจัด เห็นว่า “รัฐบาลต้องทำตามกฎหมาย และต้องไม่ยอมให้ใครมาข่มขู่ (blackmail) การข่มขู่ใดๆ ต้องไม่ได้รับการพิจารณา รัฐบาลจะยอมแพ้ไม่ได้”
จึงต้องรอดูกันต่อไปว่า กรณีนี้จะลงเอยอย่างไร
(คงจะยังจำกันได้ถึงตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๗๗ ในหมอชาวบ้านเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ โดยหญิงชาวนิวซีแลนด์อายุ ๖๐ ปี ที่หลอดเลือดในสมองแตกเมื่ออายุ ๔๐ ปี จนช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ และใน ๔ ปีสุดท้ายต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลตลอด ได้ขออดอาหารเพื่อให้ตนเองได้จากไป เพื่อจะไม่เป็นภาระเบียดเบียนตนเอง โรงพยาบาล และสังคมอีกต่อไป ซึ่งแพทย์ในโรงพยาบาลดังกล่าวได้ทำตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย และไม่มีความผิดตามจรรยาแพทย์ และตามกฎหมายในประเทศนั้น)
- อ่าน 2,995 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้