ประเวศ วะสี
ร่วมด้วยช่วยกันเยียวยาโลก ธรรมสัญจรสู่มูลนิธิพุทธฉือจี้
๑๒
เขียนถึงการประชุมยามเช้าที่สมณาราม ทำให้นึกถึงการประชุมที่เรียกว่า morning report ในโรงพยาบาลที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ผมเคยเป็นหัวหน้าภาควิชา
ทุกเช้า คณาจารย์และแพทย์ประจำบ้านจะมาพบกันเพื่อรับฟังรายงานว่าใน ๒๔ ชั่วโมงที่ผ่านมารับคนไข้ไว้กี่คน เป็นอะไรบ้าง ได้รับการตรวจรักษาอย่างไร ใครมีข้อคิดเห็นอย่างไร ซึ่งเป็นการติดตามงาน ทำให้เกิดการตื่นตัวของผู้ทำงาน และเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ฉันใด การประชุมตอนเช้ามืด ณ สมณารามที่มีท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนมานั่งเป็นประธานทุกเช้าก็มีความหมายเช่นเดียวกันหรือยิ่งกว่า เพราะเป็นการติดตามงานที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องตื่นตัว ทำให้งานเป็นที่รู้กันทั่วในประชาคม เป็นการให้กำลังใจคนทำดี เป็นการสร้างความรู้สึกทางใจที่ล้ำลึกที่ได้มีโอกาสเห็นท่านธรรมาจารย์ผู้ทรงธรรม
ในหน่วยงานในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเป็นอันมากที่ขาดพลังสร้างสรรค์ มีความขัดแย้งและทะเลาะเบาะแว้งกันสูง ทำให้เสียเวลาทำงานของตนเองและผู้อื่น มีอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเล่าว่าต้องเสียเวลากับเรื่องที่อาจารย์ทะเลาะกันก็หมดเวลาแล้ว ไม่ได้มีโอกาสทำงานทางวิชาการเท่าใดเลย อาจารย์มหาวิทยาลัยน่าจะต้องทบทวนดูว่าอะไรเป็นเหตุให้ทะเลาะเบาะแว้งกันสูงเกิน และการพัฒนาพลังสร้างสรรค์ขององค์กรนั้นเป็นอย่างไร
หลังจากร่วมประชุมเช้าวันนั้นแล้วคณะเราได้ชมกิจกรรมต่างๆ ในบริเวณสมณาราม เช่น การทำเทียนและการทำถุงมือขายเพื่อการยังชีพของเหล่านักบวช สตรี ดังที่กล่าวตอนต้นแล้วว่าคณะนักบวชที่นี่จะไม่ยังชีพด้วยเงินบริจาค เงินบริจาคจะนำไปช่วยเหลือผู้อื่น นักบวชถือหลักว่าถ้าไม่ทำงานก็ไม่ต้องกิน ตอนใกล้ๆ ๑๑.๐๐ น. เราได้รับเชิญเข้าห้องบรรยาย ผู้บรรยายชื่อ Steven Hwong เป็นซีอีโอของมูลนิธิพุทธฉือจี้ คุณสตีฟ หว่อง เป็นชาวจีนที่ประกอบธุรกิจอยู่ที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา พูดจาคล่องแคล่วเหมือนนักการตลาด เล่ากิจการของมูลนิธิทั่วโลกและชี้ชวนให้คนไทยจัดตั้งองค์กรอาสาสมัครแบบเดียวกับของมูลนิธิพุทธฉือจี้บ้าง
คุณสตีฟเดินทางไปโน่นมานี่ด้วยเงินของตนเอง เพราะทำงานเป็นอาสาสมัครด้วยศรัทธาในท่านธรรมาจารย์และอุดมการณ์ของมูลนิธิพุทธฉือจี้ เห็น ได้ชัดว่ามูลนิธิพุทธฉือจี้มีคนที่มีการศึกษาสูงและนักธุรกิจเข้ามาเป็นอาสาสมัครจำนวนมาก ทำให้งาน มีคุณภาพสูง มีการจัดการสูงมากเป็นจุดเด่น เราพยายามเจาะถามเรื่องความสามารถในการจัดการยังไม่เข้าใจดีว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เข้าใจว่าเป็นเพราะมีนักธุรกิจเข้ามาช่วยวางระบบและดำเนินการ คุณสตีฟ หว่อง นัดเลี้ยงอาหารเย็นเราที่สำนักงานของมูลนิธิที่ไทเปเย็นวันนั้น
ขณะที่คุณสตีฟกำลังบรรยายอยู่นั้น ก็มีเจ้าหน้าที่มาบอกให้เราเตรียมตัว ว่าท่านธรรมาจารย์ เจิ้งเหยียนมีเวลาจะมาพบคณะเราและจะมอบของที่ระลึกให้แต่ละคนด้วย ดูอาสาสมัครของมูลนิธิพุทธฉือจี้ประเทศไทยที่ไปกับคณะเราจะคอยประสานงานช่วยเหลือมีความตื่นเต้นด้วยศรัทธาในท่านธรรมาจารย์ เห็นปรึกษากันสั้นๆ ว่า เมื่อคณะเราแต่ละคนจะเข้าไปรับของที่ระลึกจากท่านธรรมาจารย์จะแสดงความเคารพต่อท่านอย่างไรดี จะก้มลงกราบหรือยกมือไหว้ ในที่สุดเห็นว่าจะขลุกขลักให้ยกมือไหว้แสดงความเคารพ ท่านเข้ามานั่งที่โต๊ะกล่าวสัมโมทนียกถาว่าเป็นหมอ เห็นใช้คำว่า "ต้าอีหวัง" สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้มาก ท่านแจกกำไลสายประคำข้อมือ ที่ทำด้วย วัสดุเรืองแสงสีเขียวอ่อน โดยสวมใส่ข้อมือให้ทุกคน และเข็มกลัดครบรอบ ๔๐ ปีของมูลนิธิด้วย
ท่านธรรมาจารย์มาร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับคณะเราด้วย ผมนั่งโต๊ะเดียวกับท่านธรรมาจารย์ นี่ก็แปลกไปจากธรรมเนียมในบ้านเราที่พระกับฆราวาสจะไม่ร่วมฉันและรับประทานในที่เดียวกัน เคยมีกรณีคราวหนึ่งเมื่อท่านสันติกโรยังดำรงภิกขุภาวะ ผู้ถวายอาหารเพลไม่ทราบธรรมเนียมจะให้ผมกินด้วยกันกับพระ
โต๊ะที่ท่านธรรมาจารย์ฉันเพลมีคนร่วมอยู่ด้วยเกือบ ๑๐ คน อาหารเป็นมังสวิรัติทั้งหมด มีจำพวกผัก ถั่ว เต้าหู้ มีข้าวโพดต้มด้วย โดยเราได้รับคำบอกเล่าเป็นข้าวโพดที่ปลูกที่ไร่ของวัด ท่านธรรมาจารย์ก็ร่วมปลูกด้วย การรับประทานอาหารเป็นไปอย่างสำรวม สุภาพและเกือบไม่มีเสียง
บ่ายวันนั้นเราอำลาฮวาเหลียน สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ขึ้นรถไฟไปไทเป ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง เราลงเสียก่อนถึงไทเปเล็กน้อย เพื่อไปเยี่ยมสำนักงานอาสาสมัครของมูลนิธิ คุณสตีฟ หว่อง ได้โทรศัพท์มาขอให้จัดอาหารเย็นเลี้ยงคณะเราที่นั่น ซึ่งคุณหว่องก็เดินทางโดยรถยนต์มาร่วมรับประทานด้วย
หลังอาหารเย็น เราเดินทางเข้าพักที่โรงแรมซานวัน ซึ่งอยู่กลางเมืองไทเปใกล้ตึก ๑๐๑ ชั้น ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก ขณะนี้กำลังมีการสร้างตึกสูงที่ดูไบ กลางทะเลทรายจะให้สูงกว่าตึก ๑๐๑ ชั้นในไทเป คืนวันนั้นบางคนอาจจะไปชมเมืองไทเปกันบ้าง ซึ่งเป็นโอกาสเดียวเท่านั้น เพราะรายการแน่นตลอดเวลาดังที่เล่ามา
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๙ เป็น วันสุดท้ายในไต้หวันของคณะเรา หลังอาหารเช้าเราไปดูงานแยกและแปรรูปขยะ มีอาสาสมัครมาทำการแยกแยะ ตั้งแต่วัยอนุบาลไปจนถึงคนชรา งานรีไซเคิลขยะเป็นงานสำคัญอย่างหนึ่งของมูลนิธิพุทธฉือจี้ เพราะถือเป็นการช่วยให้สิ่งแวดล้อมสะอาด และยังได้เงินจากการขายขยะที่แยกแล้ว เงินที่ได้ทั้งหมดบริจาคสมทบเป็นทุนดำเนินการสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย หรือสถานีโทรทัศน์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ ดังได้กล่าวแล้วแต่ตอนต้น เขาติดรูปอาสาสมัครที่มาแยกขยะเป็นแผง เพื่อยกย่องคนทำความดี
ตอนกลางวันวันนั้นเราได้รับการพาไปร้านอาหาร มังสวิรัติที่ใหญ่ที่สุดในไทเป อาจจะใหญ่ที่สุดในโลกด้วยกระมัง มีอาหารนานาชนิดถึงกว่าร้อยชนิด เป็นแบบบุฟเฟ่ต์ ล้วนอร่อยๆ ทั้งสิ้น จึงกินกันเสียพุงกาง บางคนที่ไปไต้หวันคราวนั้นจึงน้ำหนักขึ้น ทั้งๆ ที่กินอาหารมังสวิรัติทุกวัน ฉะนั้น แม้อาหารมังสวิรัติก็ประมาทไม่ได้ว่าจะไม่อ้วน
การกินอาหารจะอร่อยหรือไม่อร่อยนอกจากจะเกิดผัสสะทางต่อมรับรสที่ลิ้นแล้ว ยังผ่านเครื่องรับกลิ่นทางจมูกอีกด้วย โดยเราอาจจะไม่รู้ตัว เคยมีคนที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง แล้วไม่สามารถได้รับกลิ่น
บอกว่ากินอาหารไม่อร่อย ความอร่อยจึงมีทั้งคุณและโทษ
คุณคือทำให้เจริญอาหารและมีความรื่นรมย์ คนแก่ส่วนมากหาความรื่นรมย์อย่างอื่นไม่ได้เหลือแต่ทางการกิน บางครั้งลูกหลานไม่รู้ข้อนี้ไปห้ามคนแก่ไม่ให้กินโน่นกินนี่เลยขาดความรื่นรมย์ของชีวิตชนิดสุดท้ายไป ทำให้เกิดความซึมเศร้า ในการรักษาคนไข้สูงอายุผมจึงระมัดระวังไม่ไปห้ามเรื่องอาหารถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
มีเรื่องเล่าว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านเป็นเบาหวานและความดันเลือดสูง มีลูกศิษย์ที่เป็นหมอไปบอกแม่ครัวที่วัดว่าห้ามทำอาหารเค็ม หวาน มัน ถวาย ท่านก็ไม่ว่าอะไร แต่วันหนึ่งมีใครคนหนึ่งแอบ (โดยผู้ควบคุมไม่รู้) เอาปูหลนไปถวาย ท่านว่า "เอ๊ะ ใครนะเห็นใจเรา!" ท่านคงจะพูดล้อเล่น เพราะสิ่งที่ท่านนำมาสอนเสมอคือ
อาตาปี สัมปชาโน สติมา
วิเนยฺยโลเก อภิชฌา โทมนสฺสํ
อตาปี = ความเพียร
สัมปชาโน = การมีสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อม
สติมา = มีสติ
กล่าวคือมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติอยู่เสมอ เพื่อขจัดความพอใจ ไม่พอใจในโลกออกเสียได้
อภิชฌา ความพอใจ ความชอบใจ
โทมนัส ความไม่พอใจ ความไม่ชอบใจ
ความรู้สึก (เวทนา) ว่าพอใจหรือไม่พอใจ เป็นเหมือนตัวตั้งต้นแห่งสายธารแห่งความเป็นไปของมนุษย์ทั้งหมด ถ้าพอใจก็อยากได้ (โลภะ) ครอบครอง หึงหวง แย่งชิง ต่อสู้ รุนแรง กลายเป็นโทสะ ถ้าไม่พอใจก็ผลักไส โกรธ ทำลายซึ่งเป็นโทสะเหมือนกัน เห็นไหมครับว่าตัวความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ เป็นจุดตั้งต้นแห่งความเป็นโลกย์ หรือสายธารแห่งปัญหาของมนุษย์ทั้งหมดนั่นเทียว
ความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ เกิดเร็วมากประดุจสายฟ้าแลบ ตามปกติเราไม่มีทางรู้ทัน หลักธรรมที่สำคัญทางพุทธศาสนาที่จะจัดการตรงนี้ได้ทันคือ ความเพียร (อาตาปี) การรู้สึกตัวทั่วพร้อม (สัมปชาโน) การมีสติ (สติมา) ซึ่งเป็นการฝึกฝนอย่างยิ่งที่จะขจัดความพอใจไม่พอใจ (ความเป็นบวกเป็นลบ) ในโลกออกเสียได้ ทำให้จิตเป็นกลาง
ตรงนี้อยากจะเปรียบเทียบให้เห็นจุดต่างระหว่างวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา
เคยมีพยาบาลสูงอายุคนหนึ่งพูดกับผมว่า "ทุกวันนี้รู้สึกว่าโลกมันหมุนเร็วขึ้น" คือเดี๋ยวปีๆ เร็วกว่าเดิม นั่นคือ ความรู้สึก แต่ทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่า ความจริง โลกหมุนเร็วกว่าเดิม
เวลาเราเดินทางไปแห่งใดแห่งหนึ่ง บางครั้งเรา "รู้สึก" ว่าขากลับเร็วกว่าขาไป ทางวิทยาศาสตร์ ว่าเป็นไปไม่ได้ "ความจริง" ระยะทางขาไปกับขากลับมันต้องเท่ากัน ทำนองเดียวกันถ้าเราเดิน ไปด้วยความทุกข์ เราจะรู้สึกว่ามันถึงช้า แต่ถ้าเดินไปด้วยความสุขจะถึงเร็ว แต่ความจริงทางวิทยาศาสตร์ ว่าระยะทางเท่าไรก็เท่านั้น
ทางวิทยาศาสตร์ไม่ให้ความสำคัญกับความรู้สึก แต่ให้ความสำคัญกับความจริงนอกตัวที่จะชั่งตวงวัดได้แน่นอน ทางพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับความรู้สึก ว่าเป็นต้นตอของความเป็นไปทั้งปวงของมนุษย์และสังคม และสอนให้ฝึกตนให้รู้เท่าทันความรู้สึก เพื่อจะได้มีชีวิตและสังคมที่ดี วิทยาศาสตร์จึงเน้นไปที่ความรู้นอกตัวไม่เน้นที่การฝึกฝนควบคุมตัวเอง มนุษย์จึงใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือที่จะรุกรานเอาเปรียบคนอื่นทำให้โลกยุ่งและวิกฤติอย่างที่เป็นไป
หลังจากอาหารกลางวันมังสวิรัติอันมโหฬารดังกล่าวนั้นแล้ว คณะเราไปแวะเยี่ยมบ้านและโรงงานของคุณโหลว ซึ่งเป็นอุบาสกคนสำคัญของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ได้สนทนาธรรมทบทวนกันว่าใครเกิดความบันดาลใจอย่างไรในการมาดูงานครั้งนี้ ก่อนขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทยในเย็นวันนั้น
อาจเรียกว่าจิตขึ้นหมดทุกคนจากการได้มาสัมผัสขบวนการทางมนุษยธรรมที่อาจจะใหญ่ที่สุดในโลก ว่าท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ยังมีคนที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์อุทิศตัวทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างมากมายถึงเพียงนี้ การได้เห็นตัวอย่างของจริงก่อให้เกิดความบันดาลใจ
ความบันดาลใจก่อให้เกิดพลังมหาศาลขึ้นในตัว
มนุษย์มีพลังอันมหาศาลซ่อนอยู่ภายในตัว
จินตนาการและความบันดาลใจจะไปปลดปล่อยพลังซ่อนเร้นมหาศาลภายในตัวให้ออกไปเป็นพลังสร้างสรรค์
ถ้าท่านผู้อ่านจะย้อนไปดูรายนาม ๓๒ ชีวิตที่ธรรมสัญจรสู่มูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวันในครั้งนี้ที่บันทึกไว้ในตอนที่ ๑ ก็จะเห็นว่าแต่ละคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ทางใดทางหนึ่ง
ภายในปีเศษที่ไปดูงานกันมา ความเป็นอนิจจังก็ทำให้หลายคนปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ บางคนก็ไปเป็นเลขานุการรัฐมนตรี บางคนก็ไปเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี บางคนก็ไปเป็นรัฐมนตรี บางคนก็ไปเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม บางคนก็เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย บางคนก็กำลังจะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย บางคนก็เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางคนก็เป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
การจะเป็นอะไรๆ ถ้ามีความบันดาลใจที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อเพื่อนมนุษย์ การเป็นนั้นๆ ก็จะมีคุณค่ามหาศาล โลกกำลังป่วยอย่างรุนแรง เราต้องร่วมด้วยช่วยกันเยียวยาโลก
คณะของเราขอขอบคุณชาวมูลนิธิพุทธฉือจี้ทุกคนอันมีท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนเป็น ประธานที่อนุญาตและอนุเคราะห์ให้คณะของเราได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมและเรียนรู้สิ่งดีๆ อันเป็นประดุจประทีปจากบูรพาทิศอันควรที่จะจุดต่อๆ กันให้แสงธรรมในรูปต่างๆ อันหลากหลาย สาดสว่างทั่วโลก ยังให้เกิดศานติสุขแก่มวลมนุษย์และสรรพชีวิตทั้งปวง
อันดับต่อไปนายแพทย์อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร จะเป็นบรรณาธิการ นำเอาคำบอกเล่าและความ รู้สึกของแต่ละคนในคณะธรรมสัญจร มาบันทึกต่อ ท้ายข้อเขียนนี้ เพื่อรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มต่อไป
(ยังมีต่อ)
- อ่าน 3,885 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้