• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผึ้งต่อย ต่อต้อย

นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
ผึ้งต่อยต่อต่อย

ผึ้ง ต่อ เป็นแมลงในกลุ่มเดียวกัน ที่มีพิษแบบเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด มีเหล็กในที่ส่วนปลาย ของลำตัว ใช้ต่อยเหยื่อแล้วปล่อยพิษออกมาทำร้ายเหยื่อ
ต่อจะมีพิษสงร้ายกว่าผึ้งตรงที่ต่อตัวหนึ่งสามารถต่อยเหยื่อได้หลายครั้ง ขณะที่ผึ้งจะต่อยเหยื่อได้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งเหล็กในฝังไว้บนตัวเหยื่อ

ผู้ที่ถูกผึ้งหรือต่อต่อยมักจะถูกต่อยเพียงครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง จะเกิดแผลปวด บวมเฉพาะที่ แล้วจะหายได้โดยไม่มีอันตรายร้ายแรง
ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเกิดอาการรุนแรง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งถ้าถูกรุมต่อยทั้งรังก็อาจจะทำให้เสียชีวิตในเวลาสั้นๆ ได้ ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยๆ ว่า เด็กตายจากการถูกต่อรุมต่อยเพราะไปแหย่รังต่อ
      
ชื่อภาษาไทย  ผึ้งต่อย ต่อต่อย
ชื่อภาษาอังกฤษ  Bee stings, Wasp stings

สาเหตุ
การถูกผึ้งหรือต่อต่อย มักเกิดขึ้นจากการเดินผ่านเข้าไปใกล้แมลงพวกนี้ บางครั้งอาจถูกต่อยในช่องปากขณะกลืนอาหารที่แมลงปะปนอยู่โดยบังเอิญ
       กรณีถูกผึ้งหรือต่อรุมต่อยทั้งรัง มักเกิดจากการตั้งใจเข้าไปทำลายรัง โดยไม่รู้จักวิธีป้องกัน หรือเด็กๆ เล่นซนไปแหย่หรือทำลายรังผึ้งรังต่อด้วยความคะนอง
อาการ
ส่วนมากจะมีอาการเพียงเล็กน้อย คือบริเวณที่ถูกต่อยมีอาการปวด บวม แดง คัน แสบร้อน ซึ่งอาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง ถ้าเป็นมาก จะมีอาการบวมซึ่งจะค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นจนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า ๕-๑๐ เซนติเมตร อาการมักเกิดขึ้นภายใน ๑๒-๓๖ ชั่วโมงหลังถูกต่อย และจะเป็นอยู่นานหลายวัน
ถ้าถูกต่อยที่ลิ้นหรือในช่องปาก อาจทำให้ลิ้นและเยื่อเมือกในช่องปากบวม จนอุดกั้นทางเดินหายใจ ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งมักจะพบในเด็ก
ถ้าถูกต่อยที่กระจกตา (ตาดำ) อาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตา ทำให้สายตาพิการได้
ถ้าถูกต่อยที่บริเวณใกล้เส้นประสาท ก็อาจทำให้เกิดรอยบวมกดทับเส้นประสาท เกิดอาการชาได้

บางรายพิษอาจซึมเข้ากระแสเลือด เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ หรืออาการเป็นพิษต่ออวัยวะทั่วร่างกาย ทำให้มีอาการริมฝีปากบวม หนังตาบวมคัน ผิวหนังออกร้อนแดง มีลมพิษขึ้นทั่วตัว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน เจ็บแน่นหน้าอก

ถ้าเกิดการแพ้อย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจ ลำบาก หรือหายใจหอบ เนื่องจากกล่องเสียงบวม หรือหดเกร็ง หรือหลอดลมตีบตัว (ทำให้มีเสียงหายใจดังวี้ด)
บางรายอาจเกิดภาวะช็อก คือมีอาการเป็นลม ชีพจรเต้นเบาและเร็ว ความดันเลือดต่ำ และอาจเสียชีวิตภายใน ๑๕-๓๐ นาทีถึง ๔ ชั่วโมง
 อาการแพ้รุนแรงอาจเกิดขึ้นภายใน ๒-๓ นาทีหลังถูกต่อย หรืออาจเกิดหลังถูกต่อยแล้ว ๒๔ ชั่วโมงก็ได้

อาการแพ้อาจเกิดจากการถูกต่อยเพียงครั้งเดียวในผู้ที่เคยมีอาการแพ้ง่ายหรือเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แต่เดิม เคยถูกแมลงพวกนี้ต่อยมาก่อน หรือเคยมีอาการแพ้แมลงพวกนี้มาก่อน ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

บางรายปฏิกิริยาภูมิแพ้อาจเกิดขึ้นช้า ประมาณ ๑-๒ สัปดาห์หลังถูกต่อย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวด    ศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ข้อบวม   เจ็บ ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว บางรายอาจเกิดไตอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ เลือดจางจากเม็ดเลือดแดงแตก เกล็ดเลือดต่ำ (เลือดออกง่าย มีจ้ำเขียวตามตัว) ประสาทตาอักเสบ (ตามัว ไขสันหลังอักเสบ เป็นต้น)

รายที่ถูกผึ้งหรือต่อรุมต่อยจำนวนมาก เช่น ถูกต่อยมากกว่า ๓๐-๔๐ แผล (เด็กถูกต่อยมากกว่า ๕-๑๐ แผล) พิษจะซึมเข้ากระแสเลือดจำนวนมากทันที ทำให้เกิดภาวะพิษต่อร่างกายโดยตรง (โดยไม่ใช่เป็นปฏิกิริยา ภูมิแพ้) อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกได้แบบเดียวกับการเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งสามารถ เกิดขึ้นในการถูกผึ้งหรือต่อต่อยครั้งแรกในชีวิต

นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภาวะพิษในลักษณะอื่น เช่น เม็ดเลือดแดงแตก (ซีดเหลือง) กล้ามเนื้อถูกทำลาย (มีอาการปวดเมื่อย และปัสสาวะสีเข้ม) ไตวายเฉียบพลัน (ปัสสาวะออกน้อย หรือไม่ออกเลย) เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายใน ๔๘ ชั่วโมงหลังถูกต่อย ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้บ่อยในคนที่ถูกต่อรุมต่อย

การแยกโรค
อาการปวด บวม แดง คัน เฉพาะที่ อาจเกิดจากแมลงชนิดอื่น (เช่น มด) กัด ต่อย
อาการแผลบวมขนาดใหญ่ ก็อาจต้องแยกออกจากการติดเชื้ออักเสบของผิวหนัง
อาการลมพิษขึ้นทั่วตัว หายใจลำบาก หรือช็อก อาจเกิดจากการแพ้อาหาร แพ้ยา หรือสารเคมีอื่นๆ 
      
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากอาการแสดง ร่วมกับประวัติการถูกผึ้งหรือต่อต่อย
      
การดูแลตนเอง
๑. ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อยเฉพาะที่ โดยไม่มี    อาการอื่นๆ ร่วมด้วย ให้ทำการปฐมพยาบาล ดังนี้
ถ้าพบว่ามีเหล็กในฝังอยู่ ให้รีบเอาเหล็กในออกทันที โดยใช้สันมีด หรือขอบบัตรพลาสติก (เช่น บัตรเติมเงินโทรศัพท์) ขูดออก หรือใช้เทปเหนียวอย่างใส (สกอตเทป) ปิดทาบบริเวณที่ถูกต่อย แล้วดึงออก หลังจากนั้นทำความสะอาดบาดแผลด้วย น้ำกับสบู่
ใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบบริเวณที่ถูกต่อย นาน ๒๐ นาที จะช่วยลดอาการปวดและบวมได้ ควรทำซ้ำทุกชั่วโมงจนกว่าจะทุเลา
ถ้าปวดมาก กินยาพาราเซตามอลบรรเทา
ถ้ามีอาการคัน ให้กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟ-    นิรามีน ครั้งละครึ่งถึง ๑ เม็ด ทุก ๖-๘ ชั่วโมง และทาครีมสตีรอยด์

๒. ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
อาการปวด บวม แดง คัน ไม่ยุบภายใน ๖ ชั่วโมง
แผลบวมขึ้นเรื่อยๆ หรือมีอาการปวดมาก
เป็นลมพิษทั่วตัว หรือริมฝีปากบวม หนังตาบวม
มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน หรือเจ็บแน่นหน้าอก
หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังวี้ด หรือมีอาการเป็นลม
ถูกต่อยที่ลิ้น หรือภายในช่องปาก หรือที่ตา
ถูกผึ้งหรือต่อรุมต่อยจำนวนมาก
เคยมีประวัติถูกผึ้งหรือต่อต่อยมาก่อน เคยมีอาการแพ้แมลงพวกนี้มาก่อน หรือเป็นคนที่แพ้อะไรง่าย
มีอาการผิดปกติ (เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดข้อ ตามัว ซีด จ้ำเขียวตามตัว เป็นต้น) เกิดขึ้นภายใน ๒ สัปดาห์หลังถูกต่อย
มีความวิตกกังวล หรือไม่แน่ใจที่จะดูแลตนเอง

การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาตามลักษณะความรุนแรง ถ้ามีเพียงบาดแผลเฉพาะที่ ก็จะให้การดูแลรักษา แบบเดียวกับหัวข้อ "การดูแลตนเอง"
แต่ถ้ามีอาการแพ้ทั่วตัว หรือแพ้รุนแรง ก็จะฉีดยา อะดรีนาลิน และยาแก้แพ้ ถ้ามีเสียงหายใจดังวี้ด ก็จะให้สูดยาขยายหลอดลม (แบบเดียวกับที่ใช้รักษาโรคหืด)
รายที่มีอาการหายใจลำยาก อาจใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเจาะคอช่วยหายใจ

รายที่ถูกผึ้งหรือต่อต่อยจำนวนมาก จำเป็นต้องรับ ตัวผู้ป่วยไว้เฝ้าดูอาการและให้การรักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อย ๔๘ ชั่วโมง แพทย์จะทำการตรวจเลือด และปัสสาวะเพื่อดูภาวะพิษอื่นๆ (เช่น ไตวาย) และให้การรักษาตามอาการที่พบ เช่น ให้น้ำเกลือและให้ยารักษาภาวะช็อก ทำการฟอกล้างของเสีย (ฟอกไต) ในรายที่มีภาวะไตวายเฉียบพลัน เป็นต้น 
      
ภาวะแทรกซ้อน
พิษผึ้งและต่ออาจทำให้เกิดพิษต่ออวัยวะทั่วร่างกาย (ดังที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อ อาการŽ) ที่สำคัญคือ ภาวะช็อก และไตวายเฉียบพลัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
      
การดำเนินโรค
ถ้าถูกต่อยเพียงครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง และมีอาการที่บาดแผลเฉพาะที่ที่ถูกต่อย ก็มักจะหายได้ภายในไม่นาน
แต่ถ้ามีปฏิกิริยาภูมิแพ้หรือเป็นพิษรุนแรงก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในเวลาไม่นาน
บางรายปฏิกิริยาภูมิแพ้อาจเกิดหลังถูกต่อย ๑-๒ สัปดาห์
รายที่มีภาวะช็อกจากการแพ้ หลังให้ยารักษาครั้งแรก อาการจะทุเลาไปได้ แต่หลังหยุดยาอาจเกิดภาวะช็อกกำเริบซ้ำได้ จึงต้องรับตัวไว้รักษาในโรง-พยาบาลจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัยแน่นอนแล้ว
      
การป้องกัน
๑. กำจัดขยะและเศษอาหารบริเวณบ้าน เพื่อไม่ให้มีแมลงพวกนี้มาตอม
๒. กรณีที่ต้องเดินทางเข้าไปในที่ที่มีแมลงพวกนี้ชุกชุม หรือออกไปกลางแจ้ง ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด ลายดอกไม้ หรือใส่น้ำหอม ซึ่งล่อให้ผึ้งหรือต่อมาต่อย   ได้
๓. อย่าแหย่หรือทำลายรังผึ้ง และเตือนเด็กๆ อย่าไปแหย่รังผึ้งหรือรังต่อด้วยความคะนอง
๔. ถ้ามีรังผึ้งหรือรังต่อ ภายในบริเวณบ้าน ควรตาม   ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมากำจัดรังแทน
๕. สำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกผึ้งหรือต่อต่อย (เช่น พนักงานป่าไม้ นักเดินป่า ลูกเสือเวลาออก  ค่าย เป็นต้น) ควรมีชุดปฐมพยาบาล (เช่น ยาฉีดอะดรีนาลิน ยาแก้แพ้ ครีมสตีรอยด์ เป็นต้น) ไว้ปฐมพยาบาลเมื่อถูกผึ้งหรือต่อต่อย
๖. ถ้าถูกผึ้งหรือต่อต่อย ควรวิ่งหนีโดยเร็วที่สุด ให้    ห่างจากรังเกิน ๗ เมตรขึ้นไป และควรใช้ผ้าคลุมศีรษะป้องกันไม่ให้ตัวต่อติดอยู่ในผมซึ่งจะต่อย    ซ้ำๆ ได้  i

 


 

ข้อมูลสื่อ

342-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 342
ตุลาคม 2550
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ