เนื้อปลาปักเป้าอันตรายถึงชีวิต
เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี จับกุมผู้ลักลอบขนปลาปักเป้าเข้ากรุงเทพฯ ปริมาณมากกว่า ๗,๐๐๐ กิโลกรัม
ปลาปักเป้าเป็นปลาต้องห้ามตามประกาศกระทรวง สาธารณสุข ฉบับที่ ๒๖๔ (ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕) ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายซึ่งปลาปักเป้า
ที่ผ่านมามีคนไทยได้รับพิษจากปลาปักเป้าทั้งชนิดน้ำจืดและน้ำเค็ม ซึ่งมีรายงานทางการแพทย์ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๗๒ จนถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๐ มีผู้ป่วย ทั้งสิ้น ๑๑๕ ราย เสียชีวิต ๑๕ ราย
จังหวัดที่มีผู้ได้รับพิษจากปลาปักเป้ามากที่สุดคือชลบุรี ๔๖ ราย (เสียชีวิต ๔ ราย) รองลงมาได้แก่กรุงเทพฯ ๓๕ ราย สตูล ๑๐ ราย ขอนแก่น ๙ ราย สมุทรปราการ ๗ ราย สมุทรสงคราม ๔ ราย ชัยภูมิ ๒ ราย เชียงใหม่ ๒ ราย
อาการพิษที่เกิดขึ้นหลังกินปลาปักเป้า ประมาณ ๑๐-๔๕ นาที บางรายอาจนานถึง ๔ ชั่วโมง ขึ้นกับปริมาณพิษที่ได้รับเข้าไป อาการพิษที่พบมี ๔ ขั้นคือ
ขั้นที่ ๑ ชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ วิงเวียน อาเจียน กระสับกระส่าย
ขั้นที่ ๒ ชามากขึ้น อาเจียนมาก อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง ยืนและเดินไม่ได้
ขั้นที่ ๓ เคลื่อนไหวแขนขาไม่ได้ พูดลำบากจนถึงพูดไม่ได้ เนื่องจากสายกล่องเสียงเป็นอัมพาต ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว
ขั้นที่ ๔ กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตทั่วไป หายใจลำบาก เขียวคล้ำ หมดสติ รูม่านตาโตเต็มที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง
ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยจะหยุดหายใจหรือหัวใจล้มเหลวเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากการรักษายังไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ จึงรักษาตามอาการแบบประคับประคองด้วยการให้น้ำเกลือ เพื่อขับพิษออกทางปัสสาวะให้เร็วขึ้น และให้สตีรอยด์ลดอาการบวมของสมอง
ปัจจุบันเนื้อปลาปักเป้าได้กระจายไปทั่วประเทศและเป็นส่วนผสมหลายอย่าง เมื่อนำไปประกอบอาหารด้วยความร้อนสูงก็ยังไม่สามารถทำลายพิษปลาปักเป้าให้พ้นอันตรายได้
อาหารที่อาจมีเนื้อปลาปักเป้าผสมอยู่คือ ลูกชิ้นปลา ทอดมันปลา ห่อหมก แหล่งที่อาจเจอปลาปักเป้า คือร้านข้าวต้มปลา จิ้มจุ่ม หมูกระทะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อปลาที่แอบอ้างว่าเป็นปลาแซลมอนที่ได้จากการนำเนื้อปลาปักเป้าไปย้อมสี
สังเกตได้อย่างไรว่าเป็นเนื้อปลาปักเป้า เนื้อปลาปักเป้าเมื่อแล่แล้วจะมีลักษณะเป็นชิ้นหนา สีขาวอมชมพู มัดกล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน ด้านข้างลำตัวเมื่อลอกหนังออกจะมีพังผืดติดอยู่
- อ่าน 3,726 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้