เปรียบเทียบการรักษาทางคลินิกแพทย์แผนจีน-แผนตะวันตก ตอนที่ ๑๙โรคมะเร็ง (๔)การรักษามะเร็งแบบบูรณาการแพทย์จีนกับแผนปัจจุบัน
เนื่องจากแพทย์แผนจีนมีจุดเด่นด้านการรักษามะเร็ง คือ การเปี้ยนเจิ้งลุ่นจื้อ คือการแยกแยะสภาพร่างกายและปัจจัยก่อโรคอย่างเป็นรูปธรรมที่เป็นจริง และดำเนินการรักษาปรับสมดุลด้านหนึ่งสร้างเงื่อนไขให้ร่างกายสามารถปรับกลไกธรรมชาติในการรักษาตนเอง ในอีกด้านหนึ่งทำการขจัดเสียชี่ (ปัจจัยก่อโรค) ออกจากร่างกาย โดยให้ความสำคัญกับสภาพองค์รวมเป็นหลัก
ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต่อการยับยั้งมะเร็งโดยตรงและนำไปรักษาโรคมะเร็งเฉพาะส่วน รวมทั้งการใช้ยาสมุนไพรเพื่อรักษาอาการปวดเฉพาะที่ สรุปได้ว่า
มีทั้งการเปี้ยนเจิ้ง หรือการวิเคราะห์องค์รวม เพื่อรักษาตามเจิ้ง การเปี้ยนปิ้ง หรือการวินิจฉัยโรคมะเร็งเฉพาะที่ เพื่อรักษาตามโรค และการรักษาตามอาการประสานกลมกลืนในกระบวนการรักษา
บทบาทของการรักษาแบบแผนจีน
๑. การฝังเข็ม-รมยา
การฝังเข็ม-รมยา อาศัยทฤษฎีจิงลั่ว ทฤษฎีปัญจธาตุ ทฤษฎีอวัยวะภายใน ฯลฯ มาชี้นำทำการรักษาเพื่อปรับสมดุล โดยการเสริมเจิ้งชี่และขับเสียชี่ในการต้านมะเร็งคือกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคในการต่อสู้มะเร็ง จุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมและยับยั้งการพัฒนาของเซลล์มะเร็ง
๒. การฝึกพลังลมปราณ (ชี่กง)
มีบทบาทการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค เสริมภูมิคุ้มกัน เป็นการเน้นบทบาทในการกระตุ้นศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในร่างกาย โดยการปรับกลไกพลังของร่างกาย ทำให้การไหลเวียนของพลังลมปราณในเส้นลมปราณต่างๆ ไหลเวียนคล่องตัว ไม่ติดขัด เสริมสร้างการปรับตัวเพื่อรักษาตัวเอง ยังช่วยลดภาวะความตึงเครียดทางจิตใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของภูมิคุ้มกันต่ำและการติดขัดของพลังลมปราณอีกด้วย
การต่อสู้กับมะเร็งต้องอาศัยกลไกของร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สภาพจิตใจและความคิดที่เป็นบวก และจิตใจที่สงบ ไม่ใช่ตกใจกลัว มองโลกในแง่ร้าย ชี่กงมีองค์ประกอบการเคลื่อนไหวของพลังลมปราณทางร่างกาย การหายใจ และการฝึกจิตสมาธิ เพื่อการปรับสมดุลโดยองค์รวมเพื่อต่อสู้กับโรค การกำหนดจิตเฉพาะที่ก็มีผลสำคัญทั้งในแง่การจำกัดการลุกลามของมะเร็งและการระงับความเจ็บปวดได้อีกด้วย
๓. ยาจีน-อาหาร กับการรักษามะเร็ง
ยาสมุนไพรจีน มีบทบาท ๓ ด้านคือ
► การใช้รักษาเพื่อปรับสมดุลร่างกายโดยองค์รวม โดยหลักทฤษฎีการเปี้ยนเจิ้ง เพื่อสืบค้นสาเหตุพื้นฐานของความเสียสมดุลของผู้ป่วยแต่ละราย
► การใช้ยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ขับพิษ แพทย์แผนจีนมีประสบการณ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการขับเสียชี่ที่ตกค้างในร่างกายมานาน ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยในตัวยาสมุนไพรเกี่ยวกับกลไกออกฤทธิ์ต้านมะเร็งที่ชัดเจน
► การใช้ยาจีนแก้อาการปวด หรือแก้อาการต่างๆ
การเอาชนะมะเร็งจึงต้องใช้ยาอย่างเหมาะสม ด้านหนึ่งทำลายมะเร็ง ทำลายพิษ ด้านหนึ่งปรับเสริมสมดุลของกลไกร่างกาย เพื่อการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงร่วมกับการแก้อาการลดความเจ็บปวดทรมานของผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม การรักษาแบบแผนจีน แม้จะมีข้อดีคือ ไม่ทำให้ร่างกายบาดเจ็บหรือสูญเสียพลังพื้นฐาน แต่ฤทธิ์การทำลายล้างมะเร็งค่อนข้างต่ำ ค่อยเป็นค่อยไป แนวโน้มปัจจุบันจึงยังให้ความสำคัญในการทำลายมะเร็งด้วยแผนปัจจุบันมากกว่า
แพทย์แผนปัจจุบันใช้วิธีการรักษาโดยให้ความสำคัญต่อการผ่าตัดขจัดก้อนมะเร็งออกเฉพาะที่ ใช้การฉายรังสีครอบคลุมพื้นที่รอบก้อนมะเร็งเพื่อป้องกันการกระจายและการใช้เคมีบำบัดกวาดล้างมะเร็งทั้งร่างกาย
ผลการรักษาด้วยวิธีการของแผนปัจจุบัน ได้ผลดี รวดเร็วต่อการขจัดมะเร็งเฉพาะที่ แต่ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดและการทำลายเนื้อเยื่อของเซลล์ดี จากพิษของยาและรังสีต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้เกิดตับอักเสบ ไขกระดูกถูกกด ทำให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดลดปริมาณลง และระบบภูมิคุ้มกันตก
การรักษาด้วยแพทย์แผนจีน ฤทธิ์ของยาสมุนไพรส่วนใหญ่จะใช้ในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย ทำลายเจิ้งซี่ (พลังพื้นฐานของร่างกาย) น้อย ส่วนฤทธิ์ทำลายก้อนมะเร็งไม่รุนแรง รวดเร็ว เหมือนแผนปัจจุบัน จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอ
นอกจากนี้ ถ้านำวิธีการของแพทย์แผนจีนมาบูรณาการกับแพทย์ปัจจุบัน จะทำให้ การกำจัดก้อนมะเร็งได้ดีด้วยแผนปัจจุบัน และเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันพิษแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด และการฉายแสงด้วยแพทย์แผนจีน
ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการต่อสู้กับมะเร็ง คือ ต้องทำลายมะเร็ง แต่ต้องป้องกันการสูญเสียพลังพื้นฐานของร่างกาย ต้องทำลายเฉพาะที่ และรักษาองค์รวม ต้องชนะทั้งการศึกและชนะทั้งสงคราม
แนวโน้มการรักษามะเร็ง จึงไม่โน้มเอียงไปแผนใดแผนหนึ่งด้านเดียว แต่อาศัยข้อดีของแต่ละแผนไปช่วยเสริมและลดจุดอ่อนซึ่งกันและกัน ทั้ง ๒ แผนต้องร่วมกัน ช่วยเหลือกันในการรักษามะเร็งให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
แนวทางการรักษาแบบบูรณาการ
๑. ประสานรักษาโรคโดยการเปี้ยนเจิ้งและการรักษาโรคแบบเปี้ยนปิ้ง
การแพทย์แผนปัจจุบันรักษามะเร็งโดยการแบ่งเป็น TNM ว่ามะเร็งอยู่เฉพาะที่ หรือกระจายไปบริเวณข้างเคียง หรือกระจายไปอวัยวะอื่นๆ แล้ววางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะที่ การฉายแสง การใช้เคมีบำบัด
การรักษาแบบบูรณาการ ต้องเพิ่มเติมการเปี้ยนเจิ้งเพื่อแยกภาวะต้นเหตุพื้นฐานของร่างกายที่เป็นปัจจัยเสียสมดุล ในโรคมะเร็งชนิดเดียวกันของผู้ป่วยอาจมีภาวะต่างกัน จะมีพื้นฐานของร่างกายต่างกัน เช่น บางคนมีพื้นฐานภาวะชี่และยินพร่อง บางคนมีพื้นฐานภาวะเสมหะความชื้นสะสมภายใน หรือบางคนมีพื้นฐานของร่างกายเป็นแบบ พลังม้ามพร่อง เป็นต้น การรักษาแบบแผนจีนจึงต้องปรับสมดุลต่างกัน เรียกว่า "โรคเหมือนกัน รักษาต่างกัน"
ในอีกด้านหนึ่งผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งคนละชนิด เช่น บางคนเป็นมะเร็งปอด บางคนเป็นมะเร็งตับ แต่พื้นฐานความสมดุลของร่างกายมาจากปัญหารากฐานเดียวกัน เช่น มีพลังม้ามพร่องเหมือนกัน ก็มีแนวทางการปรับสมดุลเหมือนกัน เรียกว่า "โรคต่างกัน รักษาเหมือนกัน"
๒. บูรณาการการเสริมพลังพื้นฐานเจิ้งชี่กับการทำลายมะเร็ง
การผ่าตัด ฉายแสง และเคมีบำบัด เป็นการรักษาเซลล์มะเร็งที่ได้ผลชะงัก แต่มีผลแทรกซ้อนตามมา คือ เซลล์ดีๆ ถูกทำลาย พิษตกค้าง อาการแทรกซ้อน ภูมิคุ้มกันตก การใช้ยาสมุนไพรจีน การฝังเข็ม การฝึกชี่กง ล้วนมีบทบาทในการลดผลข้างเคียงดังกล่าว และทำให้ฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็วขึ้น
๓. การรักษาองค์รวมกับการรักษาเฉพาะส่วน
ในเงื่อนไขที่ร่างกายยังแข็งแรง การทำลายมะเร็งเป็นด้านหลักของการรักษา การปรับสมดุลร่างกายโดยองค์รวมเป็นด้านรอง
ในเงื่อนไขที่ร่างกายอ่อนแอหรือมะเร็งระยะสุดท้าย การปรับสมดุลร่างกายโดยองค์รวมเป็นด้านหลักของการรักษา แต่การใช้การฉายรังสีบำบัด หรือการแก้อาการเจ็บปวด ยังมีความจำเป็นเพื่อทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทรมานมากจนเกินไป
การพิจารณาการรักษาบูรณาการทั้งแผนจีน (องค์รวม) กับแผนปัจจุบัน จึงต้องเลือกด้านหลักด้านรองให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์
๔. การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกับการรักษาควบคู่กัน
การรักษามะเร็งไม่ใช่เน้นแต่การรักษา แต่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ การกิน การนอน การสงบจิตใจ การออกกำลังกายที่พอเหมาะ เพราะวิถีแห่งการดูแลสุขภาพเป็นรากฐานของการฟื้นฟูพลังพื้นฐานของร่างกาย แพทย์จีนให้ความสำคัญในจุดนี้ ดังคำกล่าวที่ว่า "๓ ส่วนรักษา ๗ ส่วนดูแลสุขภาพโดยเฉพาะโรคที่รักษายาก" ทั้งหลายแล้ว ต้องแก้ไขวิถีชีวิตทุกด้าน เช่น อาหาร อารมณ์ การนอนหลับ การทำงาน เพศสัมพันธ์ สภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย อากาศ ซึ่งเป็นพลังชี่ ในรูปแบบหนึ่งที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของพลังและเลือดในร่างกายและมีผลต่ออวัยวะจั้งฝู่ได้อีกด้วย การฝากความหวังอยู่กับการรักษาของแพทย์อย่างเดียวถือเป็นแนวทางที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง
๕. การวางแผนระยะสั้นและการวางแผนระยะยาว
เนื่องจากแต่ละระยะของโรคมีลักษณะต่างกัน เช่น ก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัด หลังฉายแสง หลังเคมีบำบัด เป็นต้น ภาวะร่างกายก็ต่างกัน การรักษาจึงต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาอย่างเหมาะสม จุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ การกระจายตัว รวมถึงแผนการฟื้นฟูร่างกาย ไม่ควรเน้นแต่รอผลการรักษาเฉพาะหน้าเป็นครั้งๆ ไป
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด การเสริมภูมิก่อนและหลังการผ่าตัด ฉายแสง หรือเคมีบำบัด จึงต้องพิจารณาทั้งกระบวนการ ถือเป็นสงครามยืดเยื้อที่ต้องอดทนและมีแผนการ
ทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นแนวทางใหญ่ๆ ของการรักษามะเร็งในอนาคต ซึ่งต้องมีการศึกษาวินิจฉัยและพัฒนาการรักษาทางคลินิกให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต
- อ่าน 6,934 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้