สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) องค์กรระดับโลกที่ทำหน้าที่รณรงค์ต่อสู้โรคหัวใจและอัมพาตให้แก่ชาวโลก ได้ถือเอาวันอาทิตย์สุดท้ายเดือนกันยายนของทุกปี เป็น "วันหัวใจโลก" ซึ่งได้เริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ ปีนี้จึงเป็นการครบรอบ ๑๐ ปีของการจัดงานวันหัวใจโลก
สำหรับปีนี้ "วันหัวใจโลก" ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓, World Heart Day: Sun 26th September 2010 คำขวัญวันหัวใจโลก คือ "รักษ์หัวใจ ในที่ทำงาน" "I Work with Heart" โดยมูลนิธิหัวใจฯ สมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ และชมรมฟื้นฟูหัวใจ โรงพยาบาล และเครือข่ายต่างๆ ก็ได้ร่วมจัดงานเนื่องในวันหัวใจโลกขึ้นในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยรณรงค์เรื่อง "รักษ์หัวใจ ในที่ทำงาน"
ความจริงที่ "คนไทย" ควรรู้เกี่ยวกับ "โรคหัวใจ"
๑. ทำไมต้องหมั่นดูแลรักษาหัวใจ (รักษ์หัวใจ)? เพราะ..
♦ คนไทยตายจากโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น
จาก ๗.๙ คนต่อประชากรแสนคน ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ เป็น ๒๑.๒ คนต่อแสนคน ในปี พ.ศ.๒๕๕๑
♦ คนไทยป่วยจากโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้น
จาก ๘.๑ คนต่อประชากรแสนคน ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ เป็น ๒๗๖.๘๓ คนต่อแสนคน ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ (ข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)
* คนไทย ๑,๐๐๐ คน จะมีผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอย่างน้อย ๒-๓ คน ทุกปี และจะมีคนตายจากโรคหัวใจขาดเลือด อย่างน้อย ๒ คนทุก ๑๐ ปี
♦ ปี พ.ศ.๒๕๔๘ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ ๔ ในผู้ชายไทย (ร้อยละ ๗.๓ ของการตายทั้งหมด รองจากอัมพาต เอดส์ อุบัติเหตุจราจร) และอันดับ ๒ ในผู้หญิงไทย (ร้อยละ ๘.๖ ของการตายทั้งหมดรองจากอัมพาต) (ข้อมูลโครงการพัฒนาคุณภาพสาเหตุการตายในประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๑. (SPICES): จาก The Fourth National Health Examination Survey (NHES IV) report หน้า ๑๖๘)
๒. ที่ทำงานมีผู้ป่วยหรือตายจากโรคหัวใจไหม? เพราะ...
♦ คนไทยวัยทำงาน ๑,๐๐๐ คน เกือบทุกปี จะมีคนตายจากโรคหัวใจขาดเลือด ๑ คน
♦ คนไทยวัยทำงาน ๑,๐๐๐ คน ตายจากโรคหัวใจขาดเลือด ๑๕ คนในเวลา ๑๗ ปี
♦ จากการศึกษาพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ๓,๓๑๗ คน ตายจากโรคหัวใจขาดเลือด ๕๐ คน ในเวลา ๑๗ ปี (ร้อยละ ๑๔ ของการตายทั้งหมด) (Piyamitr Sritara. Angiology 2008;58:757)
๓. ทำไมคนไทยวัยทำงาน จึงป่วยหรือตายจากโรคหัวใจ เพิ่มขึ้น? เพราะ...
♦ คนไทยเป็นเบาหวาน ความดัน (โลหิตสูง) ไขมัน (ผิดปกติ) (สูบ) บุหรี่ และอ้วนพีมีพุง เพิ่มขึ้น (ปี พ.ศ.๒๕๔๗ ชายไทยมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวตั้งแต่ ๒ ปัจจัยขึ้นไปร้อยละ ๒๘.๘ เพิ่มเป็นร้อยละ ๒๙.๔ ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ ส่วนหญิงไทย เพิ่มจากร้อยละ ๒๑.๓ เป็นร้อยละ ๒๕.๒ ในปี พ.ศ.๒๕๕๒) (จาก NHES IV หน้า ๑๖๕)
๔. ทำไมต้องใส่ใจหัวใจในที่ทำงาน รอให้เป็นโรค (หัวใจ) ก่อน แล้วค่อยรักษาไม่ดีกว่าหรือ?
♦ ไม่ดีแน่ เพราะ "ป้องกัน ดีกว่าแก้ ป่วยแล้วแก้ไม่ทัน" : ร้อยละ ๓๐-๕๐ ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน "ตาย" ก่อนถึงโรงพยาบาล (Curr Opin Cardiol 2003;)
♦ คนไทยที่รอดตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันไปถึงโรงพยาบาล ร้อยละ ๑๗ ไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล (ตายในโรงพยาบาล) (Suphot Srimahachota.J Med Assoc Thai 2007; 90 (Suppl 1):1-11)
♦ การลดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ (ก่อนป่วย) ช่วยยืดชีวิตคนอังกฤษ ได้มากกว่า การรักษาโรคหัวใจ (เมื่อป่วยแล้ว) ทุกอย่าง ประมาณ ๔ เท่า (Unal B. BMJ 2005;331:614-20)
♦ ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ๑ รายในโรงพยาบาลรัฐบาลประมาณ ๔๖,๐๐๐ บาท แต่ถ้าต้องฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจและรักษา ค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นกว่า ๑๕๐,๐๐๐ บาท และค่าดูแลรักษาในปีแรก กว่า ๑๒๐,๐๐๐ บาท (Worachat Moleerergpoom. J Med Assoc Thai 2007;90 (Suppl 1):21-31. Pongchai Anukoolsawat. Thai heart J 2006;19 :132-143)
๕. ทำอย่างไร รักษ์หัวใจในที่ทำงาน
♦ สำหรับบุคลากรในองค์กร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการ
กินให้ดี
♦ พืชสด กินผักมากกว่า ๒ ฝ่ามือต่อมื้อ ผลไม้สด ๑๕ คำต่อวัน
♦ ลดเกลือ
♦ หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป ปรุงแต่ง
♦ กินน้ำปลาไม่เกิน ครึ่งช้อนโต๊ะต่อมื้อ
♦ ลดกินเกลือโซเดียม ๑ ช้อนโต๊ะต่อวัน ลดอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดหัวใจร้อยละ ๖-๙ ลดการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายร้อยละ ๗-๑๒ (Bibbins-Domingo K.. NEJM 2010;362:590-9)
♦ เนื้อน้อย ทุกๆ ๕๐ กรัมที่กินเนื้อสัตว์ปรุงแต่ง เพิ่มโอกาสโรคหัวใจร้อยละ ๓๗ (Circulation 2010;121:2271-83.)
♦ ด้อยมัน หลีกเลี่ยงไขมันชนิดทรานส์ (มาร์การีน ของทอดซ้ำ อบเบเกอรี) ลดกินไขมันอิ่มตัว (ไขมันสัตว์)
♦ น้ำตาลต่ำ กินน้ำตาลไม่เกิน ๖-๘ ช้อนชาต่อวัน ไม่เติมน้ำตาลในอาหาร เครื่องดื่ม
เดินให้ไว
♦ "เดินเร็ว ออกกำลัง ๑ ชั่วโมง อายุจะยืนขึ้น ๒ ชั่วโมง". (American Heart Association)
♦ เดินเร็ว ติดต่อกันนานกว่า ๑๐ นาทีต่อครั้ง ครึ่งชั่วโมงต่อวัน
♦ เดิน ๙,๙๙๙ ก้าวต่อวัน โดยใช้เครื่องนับก้าว (pedometer)
หายใจช้า
♦ หายใจช้ากว่า ๑๐ ครั้งต่อนาที ๑๕ นาทีต่อวัน ลดความดันโลหิตได้เท่ากับกินยาลดความดันฯ ๑ ชนิด
♦ เจริญสมาธิ หายใจช้า พาสุขคลายเครียด
สั่งลาพุง ชายไทยที่ใส่กางเกงเบอร์ ๓๖ นิ้วขึ้นไป หรือหญิงไทยเกิน ๓๒ นิ้ว ก็ถึงเวลาลดน้ำหนัก ลดรอบเอว โดย
♦ การลดอาหาร "แป้ง น้ำตาล หวาน มัน ทอด"
♦ ออกกำลังกาย มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น และ
♦ ลดความเครียด อารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งเป็นสาเหตุ อร่อยเกิน สบายเกิน
มุ่งปรับพฤติกรรม
♦ หยุดสูบบุหรี่ และไม่ดมควันบุหรี่ อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์
♦ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ (น้ำหนัก (เป็นกิโลกรัม) ไม่เกิน ๒๓ คูณ ส่วนสูงเป็นเมตร คูณ ส่วนสูงเป็นเมตร) ลดรอบเอวไม่เกิน ๙๐ เซนติเมตรในผู้ชาย ๘๐ เซนติเมตรในผู้หญิง
♦ ความดันโลหิตตัวบนไม่เกิน ๑๔๐ ตัวล่างไม่เกิน ๙๐ มิลลิเมตรปรอท
♦ น้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร ๘ ชั่วโมง ไม่เกิน ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
สำหรับองค์กร
มีนโยบาย ห้ามสูบบุหรี่ และไม่สนับสนุนให้สูบบุหรี่ในที่ทำงาน
มีนโยบาย ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่ หยุดสูบบุหรี่ ทั้งที่ทำงาน และที่บ้าน
มีนโยบาย สร้างเสริมสุขภาพในที่ทำงาน และจัดให้มีสถานที่ เวลา บุคลากรสร้างเสริมสุขภาพในที่ทำงาน เช่น
♦ มีการจัดจำหน่ายอาหารสุขภาพ ป้องกันโรค มีที่เก็บ และอุ่นอาหารที่ทำเองจากบ้าน
♦ ส่งเสริมการออกกำลังกาย กิจกรรมทางกาย ก่อน ระหว่าง หรือหลังทำงาน
♦ ส่งเสริมสนับสนุนเดินขึ้นบันไดแทนใช้ลิฟต์
♦ มีสถานที่จอดจักรยาน
สร้างเสริมบรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลาย เอื้ออาทร ไม่เครียด
♦ มีเวลาพักระหว่างวัน และ กิจกรรมคลายเครียดในที่ทำงาน
♦ มีบริเวณอากาศบริสุทธิ์ และ เงียบสงบ สำหรับ บุคลากรในการผ่อนคลายความเครียด หรือ ปฏิบัติศาสนกิจ
- อ่าน 4,508 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้