• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อยู่กับความเจ็บป่วยอย่างไร

พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์
อยู่กับความเจ็บป่วยอย่างไร

คนเราเกิดมา ไม่วันใดวันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว ก็จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ ไม่ว่าจะมีร่างกายแข็งแรงเพียงไร และแม้จะไม่มีโรคภัยมาเยือนจนแก่เฒ่า เมื่อเข้าวัยชราร่างกายก็จะเสื่อมลงตามอายุ เกิดอาการไม่สบายต่างๆ นานา เป็นไปตามธรรมชาติที่เมื่อมีเกิด ก็ต้องมีแก่ เจ็บ และตายเป็นธรรมดา ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ และไม่ต้องรอจนแก่ก็เจ็บป่วยได้ ความเจ็บป่วยอาจเกิดตามธรรมชาติหรือเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เร่งให้เกิดโดยมีพฤติกรรมการเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เสพยาเสพติด ไม่ประมาณการกิน เป็นต้น

ผู้มีพฤติกรรมเร่งหรือเชื้อเชิญโรคเหล่านี้ก็กลัวความเจ็บป่วยมาก บางคนหมั่นเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ จนเกินจำเป็น เพื่อขอตรวจสุขภาพ ซึ่งไม่อาจช่วยได้เลย หากไม่ลดละพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่เขาเหล่านั้นก็ไม่เข้าใจว่าการตรวจสุขภาพไม่สามารถป้องกันโรคได้หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรม จึงยังคงประพฤติอย่างเดิม ทำให้สูญเสียทั้งเงินและเวลาโดยไม่เกิดประโยชน์ และในที่สุดก็สูญเสียสุขภาพด้วย
       
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเจ็บป่วย
เมื่อเจ็บป่วย คนส่วนใหญ่จะตกใจ สับสน วุ่นวาย ใจ กลัว เศร้าโศก วิตกกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ อาจมีอาการท้องผูกหรือท้องเดิน ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม กลัวความทุกข์ทรมาน กลัวตาย อยากตาย เป็นต้น เกิดอาการทางใจมากมายซึ่งนำไปสู่อาการทางกายเพิ่มเติม จากอาการทางกายที่เกิดจากตัวโรคเอง อาจทำให้เข้าใจผิดว่าโรคเป็นรุนแรงหรือทรุดลง ทำให้อาการทางใจเพิ่มขึ้นเป็นวงจร อาการทั้งทางกายและทางใจจึงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณหากไม่มีการหยุดวงจรนี้ ทั้งที่บางครั้งตัวโรคเองแทบจะไม่ทำให้เกิดอาการเลย  นอกจากนั้น ครอบครัว ญาติมิตร และผู้คนแวดล้อมก็พลอยทุกข์ใจไปด้วย  ความเจ็บป่วยจึงส่งผลกระทบต่อทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมโดยรวม เมื่อมนุษย์หลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยไม่ได้ ก็ควรต้องหาวิธีการให้อยู่กับความเจ็บป่วยได้ จะทำอย่างไรจึงจะอยู่กับความเจ็บป่วยได้ และทำได้จริงหรือ
       
การรักษาโรค
เมื่อเจ็บป่วยไม่ว่าด้วยโรคใด ก็ต้องได้รับการรักษา โรคด้วยวิธีที่เหมาะสมถูกต้องและไม่ก่อให้เกิดอันตรายตามมา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์ทางเลือก โดยผู้ป่วยและญาติควรไตร่ตรอง ใช้ปัญญา และมีวิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาด้วยความรู้ความเข้าใจ ไม่ตัดสินใจโดยใช้อารมณ์ความรู้สึก เท่านั้น เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายภายหลังได้ การรักษาโรคและการให้คำแนะนำนั้นเป็นหน้าที่โดยตรงของแพทย์ ผู้เจ็บป่วยจะต้องขอคำแนะนำ     จากแพทย์ เพื่อจะได้ปฏิบัติและดูแลตนเองได้ถูกต้องเหมาะสม
       
การดูแลรักษาใจ
เมื่อเจ็บป่วย การรักษาเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นทางกายเท่านั้น ยังไม่เพียงพอ เพราะคนนั้นประกอบด้วย กาย และใจ และเป็นที่ทราบกันว่าใจมีความสำคัญมาก ดังคำว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว เมื่อกายป่วยแล้ว ใจมักป่วยตามด้วย และบางครั้งอาการป่วยทางใจนั้นมากกว่าทางกายเสียอีก

ผู้ป่วยมะเร็งหลายคน แม้โรคมะเร็งที่เป็นหายขาดแล้ว ใจก็ยังเป็นมะเร็งอยู่ คือยังทุกข์ทรมานใจอย่างเดิม เรียกว่าใจเป็นมะเร็ง ไม่ใช่กาย การดูแลรักษาใจผู้ป่วยและญาติจึงมีความสำคัญ มาก เป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องตระหนักและให้การช่วยเหลือ และดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจังอย่างต่อ- เนื่อง แต่สำหรับ ใจŽ นั้น แม้ผู้อื่นจะให้ความช่วยเหลือ อย่างดีมากเท่าใด ตัวผู้ป่วยเองก็ยังคงเป็นคนสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาใจของตนเอง

การฝึกจิตโดยการเจริญสติ สมาธิ และปัญญา คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จะทำให้เกิดปัญญารู้เท่าทันอาการและความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจตามจริง และรู้ว่าจะอยู่กับอาการที่เกิดขึ้นอย่างไร โดยสามารถวางใจได้อย่างเหมาะสม ทำให้ไม่เกิดความทุกข์ทรมาน เพราะความรู้หรือปัญญาที่เกิดจากการฝึกจิตนี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรง ที่จะตามดู รู้ทัน และวางอุเบกขากับสิ่งต่างๆ ที่มากระทบประสาทสัมผัสทั้ง ๖ ได้ มิใช่เกิดจากการฟัง การอ่าน หรือการคิด วิเคราะห์สังเคราะห์ ซึ่งเป็นความรู้ในระดับความเข้าใจ อาจยังวางใจไม่ได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ประสงค์ขึ้น เช่น เมื่อเจ็บป่วย เมื่อสูญเสียสิ่งที่รัก เป็นต้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไปว่า เมื่อตัวเองหรือพ่อแม่พี่น้อง หรือผู้เป็นที่รักเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต หรือสูญเสียทรัพย์สมบัติ ก็จะเกิดอาการทางใจมากมายดังกล่าวแล้ว เมื่อมีใครบอกว่า ทำใจเสียเถอะŽ สิ่งที่ทำก็มักเป็นการบีบบังคับใจให้ยอมรับ กลายเป็นการกดเก็บ แต่ความเป็นจริงยังไม่สามารถยอมรับได้ หรือมิฉะนั้นก็ไม่สนใจเลย กลายเป็นการปล่อยปละละเลย ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งสิ้น ทำให้เศร้าหมอง หงุดหงิด ทั้งเมื่ออยู่คนเดียวและอยู่กับผู้อื่น

การฝึกใจนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนน่าจะให้โอกาสตนเองโดยไม่ต้องรอให้เจ็บ ป่วย หรือพบกับมรสุมชีวิตเสียก่อน เพราะเป็นหนทางนำไปสู่ความ สงบสุขที่เกิดขึ้นจากภายในตัวของตัวเอง

การฝึกใจไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงมีกายกับใจของเราก็ฝึกได้แล้ว และได้พบวิธีที่จะทำให้ป่วยแต่กายใจไม่ป่วย โดยมีมุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เกิดปัญญารู้เท่าทันชีวิต และรู้ว่าจะอยู่กับโรคภัยไข้เจ็บอย่างไรโดยไม่ทุกข์ทรมานใจอย่างที่เคยเป็น

สนใจ "ฝึกใจ" ติดต่อได้ที่โครงการรักษาใจยามเจ็บป่วย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โทรศัพท์ ๐-๒๔๑๙-๗๘๐๒, ๐-๒๔๑๙-๘๐๖๐ 

ข้อมูลสื่อ

342-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 342
ตุลาคม 2550
เรื่องน่ารู้
ศ.พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์