• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กพิเศษ

ป้าหมอ
เด็กพิเศษ คุณหมอ...ช่วยลูกดิฉันด้วยค่ะ

เสียงสั่นเครือของคุณนุช  ผู้หญิงวัยกลางคนที่ใบหน้าหมองคล้ำ และมากด้วยรอยช้ำรอบดวงตา  เหมือนอดนอนมาหลายวัน ป้าหมอจึงเชิญให้คุณนุชนั่งเพื่อเล่ารายละเอียดให้ฟัง
"ตอนคลอดน้องบีน่ารักมากเลย เป็นเด็กตัวใหญ่  ใครๆ ก็แย่งกันอุ้ม โตขึ้นมาก็น่ารัก อารมณ์ดี เรียนรู้ได้เท่ากับเด็กในวัยเดียวกัน แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อตอน ๔ ขวบ น้องบีเกิดมีอาการชักอย่าง รุนแรง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังจากได้รับการตรวจ คุณหมอเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ คุณหมอจึงสั่งให้ดิฉันเฝ้ามองพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด และพยายามเอาใจใส่ในการเรียนรู้ของเขาให้มากขึ้น เพราะน้องบีมีความเสี่ยงที่จะเป็นเด็กพิเศษ"

เมื่อเล่าเรื่องมาถึงตรงนี้คุณนุชก็หยิบผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาเช็ดน้ำตา แล้วเล่าต่อด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบาว่า "หลังจากนั้นน้องบีก็เข้าออกโรงพยาบาลตลอดเลยค่ะ  มักจะมีอาการชัก มีไข้ตลอดเวลา และเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น ดิฉันเองก็ทำงานขายขนม ไม่ได้มีรายได้ มากมายอะไร แค่ค่าใช้จ่ายในบ้านก็ยังลำบากเลยค่ะ  เวลาก็ทุ่มเทให้กับงาน เพื่อจะหาเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล จึงไม่ค่อยมีเวลาที่จะเล่นหรือพูดคุยกับน้องบีเท่าไร ทุกวันนี้ น้องบีมีอายุ ๑๐ ขวบแล้ว แต่ก็ยังมีอาการ ก้าวร้าว โมโหง่าย และไม่ยอมฟังใคร ทำตัวมีปัญหา ชอบ ใช้กำลัง ชอบตะโกนเสียงดัง เวลาที่ไม่ได้ดังใจก็จะขว้าง ปาข้าวของ ไม่ว่าจะเข้าเรียนโรงเรียนไหนก็จะมีปัญหา
ตลอดเวลา จนต้องย้ายโรงเรียนมาหลายแห่งแล้ว ล่าสุด  ก็เพิ่งจะขว้างของใส่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน   จนดิฉันต้องไปชดใช้ค่าเสียหายให้หลายพันบาท"

เมื่อป้าหมอได้ฟังคุณนุชเล่าเรื่องพฤติกรรมก้าวร้าว ของน้องบีแล้ว ป้าหมอก็ทราบได้ทันทีว่า น้องบีมีพฤติ-กรรมที่แฝงความรุนแรง ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตลอดเวลา และอาจจะเกิดจากการเห็นพฤติกรรมนี้จากคนในครอบครัว ภาพยนตร์ หรือในเกมคอมพิวเตอร์ต่างๆ

คุณนุชเล่าต่อว่า "หลังจากนั้นไม่นาน คุณครูประจำชั้นของน้องบีก็เข้ามาพูดคุยกับดิฉันที่บ้าน เพื่อขอให้ดิฉันย้ายน้องบีไปเรียนที่โรงเรียนอื่น เพราะทางโรงเรียนไม่มีคุณครูที่มีความชำนาญในการดูแลเด็กพิเศษ จะทำให้มีผลเสียต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของน้องบีในระยะยาว โดยทางคุณครูได้ติดต่อไปที่โรงเรียนใหม่ให้แล้ว  ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษโดยเฉพาะ ตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัด ในโรงเรียนจะมีคุณครูที่เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ ของเด็กพิเศษ เด็กทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างดี โดยคุณพ่อคุณแม่จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น  เพราะทางโรงเรียนได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ดิฉันก็ไม่อยากให้ลูกต้องย้ายโรงเรียนอีกแล้ว สงสารลูกมาก ทุกครั้งที่ย้ายโรงเรียนน้องบีจะต้องปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมชั้นใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ ทำให้เกิดความเครียด จนผลการเรียนย่ำแย่ลงไปมาก"

คุณนุชเงียบเสียงลง ค่อยๆ เงยหน้าขึ้นมองตาป้าหมอแล้วถามว่า "ดิฉันจะทำอย่างไรดีค่ะ สงสารลูก  สงสารตัวเอง กลัวว่าการที่ลูกต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียน สำหรับเด็กพิเศษจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี ทำใจไม่ได้  ดิฉันเครียดกับเรื่องนี้มากจนกินไม่ได้นอนไม่หลับแล้วค่ะ"

ป้าหมอจึงแนะนำให้คุณนุชเข้าไปดูโรงเรียนใหม่ของน้องบีก่อน แล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าจะย้ายน้องบีไปเรียนที่นั่นหรือไม่ อย่ากังวลเรื่องอื่นที่ยังมาไม่ถึง จะทำให้ ล้มป่วยไปอีกคน หลังจากนั้นคุณนุชก็หายหน้าหายตาไป   

หลายวันถัดมา คุณนุชกลับมาหาป้าหมอด้วยใบหน้า ที่สดชื่นขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่ได้พาน้องบีเดินทางไปดูโรงเรียนใหม่ เธอพูดด้วยใบหน้าที่อมยิ้มว่า "ดิฉันนี่คิดมากไปจริงๆ ค่ะ ที่โรงเรียนใหม่ของน้องบีนั้นดีมากๆ เลย คุณครูทุกคนมีความชำนาญกับพฤติกรรมของเด็กพิเศษ ใช้วิธีการสอนที่ปรับปรุงขึ้นมาเพื่อเด็กพิเศษโดยเฉพาะ  ทางโรงเรียนก็มีพื้นที่มากเพียงพอที่จะจัดสรรกิจกรรมต่างๆ ให้กับเด็ก  มีการสอนกีฬา  สอนการ เกษตร ฯลฯ   เด็กพิเศษที่นั่นทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างดี  เข้าใจในธรรมชาติของกันและกัน  ทำให้ไม่มีปัญหาการปรับตัวเหมือนโรงเรียนที่มีเด็กทั่วไปร่วมชั้นเรียน  โดยจะให้นักเรียนนอนพักที่โรงเรียนเหมือนกับโรงเรียนประจำ  คุณพ่อคุณแม่จะมารับกลับบ้านเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์  เพื่อให้คุณครูสามารถดูแลปรับพฤติกรรมของเด็กได้ตลอดเวลา น้องบีเองก็ดูเหมือนจะชอบที่นี่มากค่ะ ถึงกับพูดว่า ถ้าคุณแม่มีงานเยอะ ไม่ต้องมาหาน้องบีทุกสัปดาห์ก็ได้  น้องบีอยู่กับเพื่อนๆ และคุณครูได้"

ปัจจุบันนี้  น้องบีเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้ว หลังจากที่น้องบีใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนนี้มา ๖ ปีเต็ม  น้องบีมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีขึ้นมาก ไม่โมโหง่าย  รู้จักการแก้ปัญหาด้วยหลักเหตุผลมากขึ้น และยังมีผลการเรียนที่ดีมาก จนคุณครูและคุณนุชภูมิใจ 

เด็กนั้นเปรียบเสมือนผ้าขาว พวกเขาจะจดจำสิ่งที่ เห็น ลอกเลียนแบบพฤติกรรมของคนรอบข้าง หากเด็กต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง ใช้กำลังกับการแก้ไขปัญหา ใช้คำหยาบคายในการสนทนา การเรียนรู้ของเด็กก็จะเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ควรจะทำ ทำแล้วได้รับการยอมรับ หรือทำแล้วมีอำนาจ  จึงมีคำกล่าวที่ว่า "ความผิดพลาดของลูก คือความล้มเหลวของพ่อแม่ หากจะรักษาลูก จะต้องรักษาที่พ่อแม่ก่อน"

หากสงสัยว่าลูกหลานของตนเองมีพัฒนาการที่ผิดปกติ หรือมีลักษณะพฤติกรรมผิดไปจากเด็กวัยเดียว กัน ให้รีบนำมาพบจิตแพทย์ให้เร็วที่สุด การนำผู้ป่วยเข้าพบจิตแพทย์ได้ทันท่วงที จะช่วยลดการใช้ยาและระยะเวลาในการรักษาลงได้

อย่าคิดว่าพฤติกรรมที่ผิดปกติของลูกหลานจะหาย ไปได้เองเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น พฤติกรรมเหล่านั้นจะติดตัวเขาไป ทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้คุณภาพและมีอันตรายต่อสังคม การเยียวยาและรักษาอย่างถูกวิธีเท่านั้นที่จะช่วยได้...สวัสดีค่ะ 

ข้อมูลสื่อ

341-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 341
กันยายน 2550
ป้าหมอ