บนเส้นทางชีวิต
ประเวศ วะสี
ร่วมด้วยช่วยกันเยียวยาโลกธรรมสัญจรสู่มูลนิธิพุทธฉือจี้
(เขียนเมื่อ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐)
๑๑
แพทยศาสตร์ศึกษาที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์
บ่ายวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๙ นั้นเอง หลังอาหารกลางวัน กับพิธีชงชา ดังกล่าวแล้ว เราไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ของมูลนิธิพุทธฉือจี้
ที่โรงพยาบาลนี้เขามี การบริบาลกลางวัน (day care) สำหรับผู้สูงอายุด้วย โดยที่ ลูกหลานนำพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ผู้สูงอายุมาฝากไว้ตอนเช้า ตอนเย็นมารับกลับ ที่โรงพยาบาล มีอาสาสมัครดูแลเรื่องอาหาร เรื่องกิจกรรมร่วมกัน เรื่องการออกกำลังกาย เรื่องงานอดิเรก เป็นต้น เรื่องผู้สูงอายุกับความมีหัวใจของความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง การดูแล วุฒิสภาวะของสังคมก็ดูกันได้ว่าสังคมใส่ใจเรื่องผู้สูงอายุอย่างไร
ในสังคมโบราณ อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ และชุมชน ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ใหญ่ อยู่ร่วมกัน ก็ดูแลกันไปในตัว
ในสังคมปัจจุบันที่เอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง และเป็นเศรษฐกิจแบบวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม ผู้คนต้องไปใช้เวลาทำงานนอกบ้านไม่มีใครมีเวลาดูแลผู้สูงอายุเหมือนครั้งโบราณ กลายเป็นสังคมทอดทิ้งกันไปโดยอัตโนมัติ ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งเหงาเปล่าเปลี่ยวไม่มีใครจะพูดคุยด้วย
เราควรต้องคิดถึงสุขภาวะของผู้สูงอายุกันอย่างจริงจัง ว่าผู้สูงอายุจะมีสุขภาวะทางกาย ทางจิต ทางสังคม ทางปัญญาอย่างไร โดยต้องพลิกความคิด แทนที่จะคิดว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ (burden) แต่คิดว่าผู้สูงอายุเป็นทุน (asset)
ในตัวผู้สูงอายุมีอะไรดีๆ อยู่บ้าง และ ผู้สูงอายุจะทำประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมได้อย่างไร การเป็นประโยชน์ทำให้ชีวิตมีความหมาย ชีวิตมีความหมายทำให้มีความสุข ชุมชนท้องถิ่น วัด อาสาสมัคร ร่วมกันคิดให้ดีๆ จะพบว่าสามารถทำอะไรที่สร้างสรรค์ได้มาก
ที่โรงพยาบาลของมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ฮวาเหลียน เราได้เยี่ยมชมการดูแลผู้ป่วยและการดูแลระยะท้ายของชีวิต ที่ตรงนี้อีกเหมือนกันที่หัวใจของความเป็นมนุษย์จะแสดงออกหรือไม่แสดงออก ผู้ป่วยมะเร็งจะไม่อยู่กับตัวเองหรือกับเทคโนโลยีการรักษาเท่านั้น เขามี บริเวณที่จะเข็นผู้ป่วยให้มาอยู่ร่วมกับญาติ ใครชอบดูโทรทัศน์หรือวิดีโอแบบไหนก็ให้ได้ดู ใครชอบฟังเพลงก็ให้ได้ฟัง
ระยะสุดท้ายจริงๆ ก็เป็นไปตามความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม ก็ให้อยู่ในบรรยากาศที่จิตจะสามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุดตามความเชื่อในศาสนาของตนๆ
เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ผ่านมา คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้จัดประชุมเรื่องความตายที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มีผู้มาร่วมประชุมถึงประมาณ ๗๐๐ คน มีทั้งหมอ พยาบาล พระ ศิลปิน นักธุรกิจ อาสาสมัคร มีการฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับการตายของคุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์ และการพูดคุยบรรยายในแง่มุมต่างๆ ของการตาย ซึ่งนับว่าน่าสนใจและมีประโยชน์มากทีเดียว
การตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้ามนุษย์เข้าใจ มีท่าทีที่ถูกต้อง มีกระบวนการที่ถูกต้อง ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม ทางปัญญา การตายก็จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพสังคม
คุณสตีเฟน ลินได้นำคณะเราเยี่ยมชมห้อง อาจารย์ใหญ่ อาจารย์ใหญ่ในที่นี้เป็นที่เข้าใจกันว่าคือศพคนตายที่นักศึกษาแพทย์ใช้เรียน ที่ตรงนี้เขาพิถีพิถันและละเอียดอ่อนมาก
นักศึกษาแพทย์จะต้องรู้จักผู้ตายว่าเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร รู้จักญาติพี่น้องของ ผู้ตาย ต้องศึกษาศพด้วยความเคารพ ว่าจะทำให้ดีที่สุดเพื่อไปรับใช้เพื่อนมนุษย์
ระหว่างศึกษาจากศพก็ต้องสัมพันธ์กับจิตวิญญาณของผู้ตายตลอดเวลา และเป็นการ สร้างพันธสัญญาทางใจว่าจะศึกษาเพื่อออกไปรับใช้เพื่อนมนุษย์ให้ดีที่สุด เมื่อผ่าศพแยกแยะเอาอวัยวะออกมาศึกษา เสร็จแล้วก็ต้องนำกลับเข้าที่ เย็บปิดด้วยความประณีตและเคารพ
เมื่อศึกษาเสร็จแล้วก็จะมีพิธีเผาศพอาจารย์ใหญ่ นักศึกษาแพทย์ต้องไปร่วมในพิธีด้วยความเคารพ ในขบวนแห่ศพนักศึกษาแพทย์ถึงกับเป็นผู้ไปแบกโลงศพเอง หรือเผาศพ แล้วเขาเอาอัฐิมาบรรจุในผอบพลาสติกใสตั้งไว้ในโรงเรียนแพทย์ให้นักศึกษาแพทย์ได้เห็นและมีความสัมพันธ์ทางใจต่ออัฐิของอาจารย์ใหญ่ เพื่อสร้างความกตัญญูไว้ในหัวใจ เพื่อไปเป็นกตเวทีด้วยการรับใช้เพื่อนมนุษย์
อีกส่วนหนึ่งเป็นห้องไว้ศพเหมือนกัน แต่มีโต๊ะผ่าตัดสำหรับนักศึกษาแพทย์ฝึกผ่าตัด มีคำของผู้ตายที่ฝากบอกนักศึกษาแพทย์ไว้ว่า "เธอจะกรีดและผ่าฉันกี่ครั้งๆ ก็ได้ แต่เมื่อทำกับผู้ป่วยขออย่าให้ทำผิดพลาด"
นี่แหละครับ เป็นตัวอย่างที่โรงเรียนแพทย์ของมูลนิธิพุทธฉือจี้ พยายามใช้ทุกขั้นตอน ในหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษาที่จะหล่อหลอมให้แพทย์มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ลองจินตนาการดูว่าในยุคสมัยแห่งเงินนิยม ถ้าแพทย์ตรวจรักษาด้วยหัวใจของการคิดเชิงร่ำรวย แทนที่ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ โลกนี้จะน่ากลัวและสยดสยองแค่ไหน
การแพทย์เกี่ยวกับเลือดเนื้อ ชีวิต ความเป็นความตายของผู้คน แม้ระบบเศรษฐกิจจะเป็นการค้าเสรีอย่างไรก็ตาม การแพทย์จะเป็นการค้าเสรีไม่ได้
ผมคิดว่าคณะของเรา ๓๒ ชีวิตที่ไปเยี่ยมชมการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ของมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน จิตขึ้นหมดทุกคน ท่านจะได้อ่านบันทึกจากใจของแต่ละคนในตอนท้ายของเรื่องเล่าธรรมสัญจรสู่มูลนิธิพุทธฉือจี้นี้
หลังจากชมโรงเรียนแพทย์แล้ว คณะเราไปที่พิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่แสดงและขายหนังสือของมูลนิธิ และของที่ระลึกต่างๆ นักช็อปไทยรุมกันช็อปจนคนขายขายไม่ทัน ต่างได้หนังสือกันมาคนละถุง ผมซื้อมาหลายเล่ม รวมทั้งเรื่อง Master of Love and Mercy: Cheng Yen โดยคุณ Yu-ing Ching อันเป็นประวัติของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ซึ่งผมอ่านจนจบและถอดความบางตอนมาเขียนไว้ในตอนที่ ๒-๘ ข้างต้นนั่นแหละครับ
ตอนเวลา ๑๕.๐๐ น. มีอาสาสมัครหลายคนมาเล่าให้เราฟังถึงงานของเขา ระหว่างที่ฟังอยู่นั้นมีเสียงครืนๆ ที่พื้น และอาคารโยกไหว "แผ่นดินไหวครับ" ไต้หวันอยู่บนเกาะที่แผ่นดินไหวบ่อยมาก ปีหนึ่งหลายร้อยครั้ง แต่เป็นการไหวเล็กน้อย แต่บางครั้งก็ไหวรุนแรงจนคนตายเป็นหมื่นเป็น แสน การมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีหายน- ภัยเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ทำให้ต้องเตรียมพร้อมจะประมาทมิได้ แต่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่สู้จะมีภัยพิบัติอะไร มนุษย์ก็จะเฉื่อยชา ประมาท ไม่เตรียมพร้อม เมื่อภัยมาก็จะเสียหายมาก
ตอนเย็นวันนั้น อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยของมูลนิธิพุทธฉือจี้ และ ดร.สตีเฟน ลิน มาร่วมกินอาหารกับเรา (ทั้ง ๒ ท่านไปทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกานาน มีความรู้ดี ครอบครัวยังอยู่ในสหรัฐอเมริกา ท่านอาสามาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพราะมีศรัทธาในท่านธรรมาจารย์และอุดมการณ์ ของมูลนิธิพุทธฉือจี้) ตลอดเวลาที่อยู่ในไต้หวันของคณะเราเป็นการกินอาหารมังสวิรัติแบบจีนหรืออาหารเจทุกมื้อ หลายคนน้ำหนักขึ้น เพราะอาหารเจของไต้หวันอร่อยมาก
เช้าวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๙ เราถูกปลุกให้ตื่นแต่เช้าและกินอาหารเช้าตั้งแต่เวลา ๐๕.๓๐ น. แล้วเดินทางไปสมณารามของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ทุกเช้ามืดจะมีการประชุมที่ท่านธรรมาจารย์จะมานั่งเป็นประธาน
ห้องประชุมเหมือนห้องแสดงธรรม ผู้เข้าร่วมมีเบาะนั่งที่พื้น ผู้เข้าร่วมมีทั้งภิกษุณี ผู้ฝึกงานเตรียมเป็นภิกษุณี อาสา-สมัคร ผู้บริหาร แขกอย่างพวกเรา อาจมีคณะอื่นอีก มีจอทีวีใหญ่ เพราะเป็นการประชุมทางไกล (teleconference) ไปด้วย โดยมีผู้รายงานเป็นแพทย์ พยาบาล จากโรงพยาบาลของมูลนิธิพุทธฉือจี้ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง
การรายงานมีทั้งโดยทางโทรทัศน์และรายงานด้วยตัวเองในที่ประชุม เช่น รายงานเรื่องการรักษาผู้ป่วย การบริจาคไขกระดูก มีผู้บริจาคไขกระดูกมากล่าวแสดงความรู้สึกด้วย ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนนั่งฟังอยู่ด้วยความสงบ จะกล่าวเสริมหรือแทรกเป็นครั้งคราว ในมือท่านมีคอมพิวเตอร์แบบปาล์มด้วย ดังได้กล่าวมาแล้วตอนต้นว่างานของมูลนิธิ พุทธฉือจี้นั้นในขณะที่เน้นเรื่องจิตใจสูง แต่ก็ใช้เทคโนโลยีและการจัดการที่ทันสมัยเข้ามาให้เป็นประโยชน์ด้วย
คนหนึ่งที่กล่าวรายงานต่อที่ประชุมคืออธิการบดีมหาวิทยาลัยมูลนิธิพุทธฉือจี้ เป็นผู้ชายวัยยังไม่ถึงกลางคน เป็นคนสมัยใหม่ แต่งชุดสากลเรียบร้อย ก้าวไปที่ไมโครโฟนซึ่งตั้งอยู่ทางขวาของโต๊ะที่ท่านประธานนั่ง ทำความเคารพท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน แล้วกล่าวรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยเป็นภาษาจีน
ผมสังเกตกิริยาของคนทั้งหมดที่ให้ความเคารพต่อท่านธรรมาจารย์ ซึ่งเป็นสตรีด้วยความรู้สึกชื่นชม ว่าท้องฟ้าของไต้หวันเปิดกว้างที่สตรีนักบวชที่เจริญธรรมสามารถได้รับการเคารพสักการะจากผู้ชายทั้งหลาย รวมทั้งผู้มีความรู้และฐานะทางเศรษฐกิจสูง ต่างจากในบางประเทศที่นักบวชชายแม้ไม่เจริญธรรมสักเท่าใดมีฐานะสูงกว่านักบวชสตรี หรือแม้อาจมีความโน้มเอียงที่จะถือเอาแม่ชีเป็นเพียงคนรับใช้พระเท่านั้น
ในไต้หวันไม่มีศาสนาแห่งรัฐ ท้องฟ้าจึงเปิดกว้าง ใครจะนับถือลัทธินิกายใดๆ ก็ได้ทั้งสิ้น ไม่มีการใช้อำนาจรัฐมาตั้งกรอบสอบสวนความเชื่อและวัตรปฏิบัติของลัทธินิกายใดๆ
คนไทยซึ่งมีความคุ้นเคยอยู่กับการเป็นประเทศที่ศาสนาเข้ามาใช้อำนาจรัฐที่กำหนดรูปแบบ ถ้าไปเห็นเรื่องศาสนาในไต้หวัน อาจจะรู้สึกไม่สบายใจที่ลัทธินิกายต่างๆ หลากหลายมาก และไม่สอดคล้องกับแบบฉบับของพุทธศาสนาเถรวาทในบ้านเรา ของเขาเป็นมหายานที่เปิดกว้างและวิวัฒน์ไปจากของเดิม อย่างท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนซึ่งเป็น ภิกษุณี ยากที่จะเป็นได้ในประเทศของเราที่จะได้รับการยอมรับฐานะทางธรรมและสังคมอย่างยิ่งใหญ่อย่างที่ท่านได้รับในไต้หวัน
ในสังคมสมัยใหม่เรื่องความเท่าเทียมกันและดุลยภาพระหว่างหญิงชายเป็นเรื่องสำคัญทั่วโลก จีนกับอินเดียเป็นที่ขึ้นชื่อว่าถือลัทธิชายเป็นใหญ่ (male charevinism) มาแต่โบราณ การที่ในไต้หวันซึ่งประชาชนก็เป็นคนจีน แต่ให้การยอมรับนักบวชที่เป็นสตรีเพศจึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง แสดงว่าธรรมะอาจไปพ้นการถือมั่นเรื่องชายเป็นใหญ่ได้
เมื่อเร็วๆ นี้มีฝรั่งที่ไปทำวิจัยเกี่ยวกับเจงกีสข่านแล้วนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ ทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและสังคมของชาวมองโกลในสมัยนั้นแจ่มแจ้งขึ้น
เจงกีสข่านผู้มีอำนาจอันเกรียงไกรบัญญัติว่า ศาสนาต้องมีหลายศาสนา ประชาชน มีสิทธิ์ที่จะเลือกนับถือศาสนาใดๆ ก็ได้ ในนครหลวงของพวกมองโกลในสมัยนั้นจึงมีทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม
ในประเทศจีนปัจจุบันก็มีคนมุสลิมอยู่กว่า ๑๐๐ ล้านคน แม้แต่เจิ้งเหอขันทีที่เป็นแม่ทัพเรือนำเรือของจีนเดินทางไปรอบโลก และค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัสก็เป็นคนมุสลิม แสดงว่าคนมุสลิมก็ไปเป็นขันทีได้
ถ้าประเทศเปิดกว้างทางศาสนาก็คงจะไม่เกิดสงครามศาสนา สงครามศาสนาเป็นเรื่องทารุณโหดร้ายและโศกนาฏกรรมของมนุษย์ เพราะศาสนาล้วนต้องการให้มนุษย์เข้าสู่สิ่งสูงสุด คลายจากความยึดมั่นในตัวตน ผมเดาว่าสงครามศาสนาไม่ได้เกิดจากศาสนิกชน แต่เกิดจากอำนาจรัฐที่เข้าไปถือหางศาสนา หรือใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ เรื่องรัฐกับศาสนาจึงเป็นเรื่องที่เราควรทำความเข้าใจให้ดี
นายแพทย์วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ถูกกำหนดตัวให้กล่าวปราศรัยในที่ประชุมเช้าวันนั้น
เมื่ออาจารย์วิรุฬห์ได้รับการชักชวนให้ร่วมไปในธรรมสัญจรสู่มูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน มีผู้บอกว่าท่านไม่สู้กระตือรือร้นเท่าไร แต่ความที่ท่านฟังและพูดภาษาจีนได้ ท่านจึงเข้าใจและซึมซับเรื่องราวของมูลนิธิพุทธฉือจี้ได้มากกว่าพวกเรา ซึ่งก่อให้เกิดความประทับใจและศรัทธาแก่ท่านเป็นอย่างมาก ท่านปราศรัยต่อที่ประชุมเป็นภาษาจีน โดยกล่าวถึงความประทับใจของท่าน
ผมได้รับเชิญให้กล่าวคำปราศรัยถัดจากอาจารย์วิรุฬห์ ผมพูดจีนไม่ได้ จึงพูดเป็นภาษาไทย
(ยังมีต่อ)
- อ่าน 3,820 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้