รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ กลุ่มวิชาเภสัชโภชนศาสตร์ โครงการบัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กิน บำบัดเกาต์
เกาต์ เป็นโรคข้อที่พบบ่อยชนิดหนึ่ง เกิดจากมีความเข้มข้นของกรดยูริกสูงในร่างกาย ทำให้เกิดผลึกยูเรต (โมโนโซเดียมยูเรต) มีรูปร่าง เหมือนเข็มแหลมๆ สะสม ณ อวัยวะต่างๆ ได้แก่ ข้อ เอ็น ไต ก่อให้เกิดการอักเสบ และทำความเสียหายให้อวัยวะ ต่างๆ เหล่านั้น
อาการ
อาการแรกที่พบบ่อยที่สุดคือ การปวดข้อนิ้วหัวแม่เท้าอย่างรุนแรง อาจตามด้วยอาการหนาวสั่นและ มีไข้ มักพบอาการครั้งแรกในเวลากลางคืน ในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบว่ามีเหตุการณ์พิเศษ นำก่อนมีอาการ เช่น การกินอาหารเกินพอดี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความกระทบกระเทือนทางใจอย่างรุนแรง (trauma) การกินหรือได้รับยาบางชนิด เช่น การรับเคมีบำบัด หรือการผ่าตัด เป็นต้น
โรคเกาต์พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อาการปวดจะเกิดขึ้นมีการบวมแดงร้อนร่วมด้วย อาการบวมอาจเกิดชั่วครู่หรือนานเป็นวัน ขึ้นกับว่าผู้ป่วยสัมผัสตัวกระตุ้นมากน้อยเพียงใด หากเกิดการกำเริบบ่อยและนานพอ ก็จะเกิดการเสื่อมของข้อ เมื่อข้อเสื่อมแม้ไม่มีการอักเสบก็ปวดได้
อาการข้ออักเสบพบมากในฤดูที่อากาศเย็น และมักเกิดกับอวัยวะที่อยู่ไกลจากหัวใจ เช่น ปลายมือ ปลายเท้า เพราะกรดยูริกละลายในของเหลวได้น้อยในอุณหภูมิต่ำ จึงมีการตกผลึกเกิดขึ้น และทำให้การไหลของเลือดลดลง
แนวทางการวินิจฉัยโรค
วินิจฉัยโรคจากการตรวจค่ากรดยูริกในเลือด หากมีค่าสูงมากเกินมาตรฐาน (hyperuricemia) ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดการตกผลึกของยูเรต ทำให้เกิดโรคเกาต์ได้
การที่กรดยูริกในเลือดมีค่าสูงจะส่งผลให้เกิดการสะสมของผลึกตามอวัยวะต่างๆ ได้ โดยทั่วไปจะถือว่ามีภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (hyperuricemia) ก็เมื่อระดับกรดยูริกในเลือดมีค่าสูงเกินกว่า 7 มก./ดล. ในผู้ชาย และ 6 มก./ดล. ในผู้หญิง
บุคคลที่มีค่ากรดยูริกในเลือดสูงเกินมาตรฐานอาจไม่มีอาการโรคเกาต์ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ อาจไม่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงก็ได้
ปริมาณกรดยูริกที่สูงขึ้นในกระแสเลือด กว่าร้อยละ ๗๐ ของผู้ป่วยเกิดจากการเพิ่มการสังเคราะห์กรดยูริกในร่างกาย ร้อยละ ๓๐ เกิดจากการเสื่อมความสามารถ ในการขับกรดยูริกออกนอกร่างกาย
การรักษาโรคเกาต์
เกาต์เป็นโรคเมแทบอลิซึมที่ควบคุมได้ดีมากด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ในช่วงที่มีภาวะข้ออักเสบ จะมีการใช้ยาเพื่อลดอาการอักเสบภายใต้การดูแลของแพทย์ และกำจัดเหตุกระตุ้น เช่น การติดเชื้อ ความเครียด
ส่วนในช่วงที่โรคสงบแพทย์จะแนะให้ผู้ป่วยควบคุม โรคร่วมอื่นๆ (เช่น ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ลดน้ำหนัก งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์) หลีกเลี่ยงอาหารที่กินแล้วเกิดอาการปวดข้อ เช่น เครื่องในสัตว์ ปลาซาร์ดีน สัตว์ปีก ชะอม กระถิน กะปิ อาหารทอด และน้ำซุปต้มเนื้อสัตว์ ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการจากอาหารไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องใช้การสังเกตเอาเอง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยกินผักใบเขียวที่มีธาตุเหล็กสูง และดื่มน้ำมากๆ
กินอะไรดีจึงจะช่วยบรรเทาโรคเกาต์
๑. น้ำมันโอเมก้า ๓ (EPA eicosapentaenoic acid)
ลดการสร้างสารลิวโคทรีน (leukotrine) ที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ถ้ากินเป็นน้ำมันเมล็ดป่านแฟลกซ์ (flax seed oil) วันละ ๑ ช้อนโต๊ะก็พอ
๒. วิตามินอี
ลดการสร้างสารลิวโคทรีน ๔๐๐-๘๐๐ หน่วย (IU) ต่อวัน
๓. กรดโฟลิก
กรดโฟลิกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่สร้างกรดยูริก คล้ายฤทธิ์ยาอัลโลพูรินอล (allopurinol) ที่ใช้รักษาอาการโรคเกาต์ ๑๐-๔๐ มก. ต่อวัน
๔. สารสกัดเอนไซม์จากสับปะรด
โบรมีเลน (bromelain) เป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีนที่มีสมบัติต้านการอักเสบทั้งในสัตว์ทดลองและการวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ แต่ถ้าจะกินเอนไซม์โบรมีเลนหรือกินสับปะรดเพื่อ ต้านอักเสบให้กินสับปะรด ๑_๔ ผล (ขนาดเล็ก) วันละ ๒-๓ ครั้งหลังอาหาร ๑ ชั่วโมงครึ่ง มิฉะนั้นเอนไซม์ดังกล่าวจะไปย่อยโปรตีน
๕. เควอเซทิน
ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่สร้างกรดยูริกเช่นเดียวกับกรดโฟลิก ใช้ใบฝรั่งมีเควอเซทินสูงต้มน้ำดื่ม ใช้ใบฝรั่งสด ๓๐ กรัม ต้มกับน้ำ ๓_๔ ลิตร จนเดือด เคี่ยวไฟอ่อนครึ่งชั่วโมงยกลง ดื่มวันละ ๑-๓ แก้วหลังอาหาร ๑ ชั่วโมงครึ่ง
๖. ผลเชอร์รี่หรือผลไม้สีม่วงแดง
กินผลเชอร์รี่สดหรือเชอร์รี่บรรจุกระป๋องวันละ ๒๕๐ กรัมมีผลลดกรดยูริกในกระแสเลือด ผลไม้สีม่วงแดงมีสารแอนโทไซยานินและโพรแอนโทไซยานินซึ่งป้องกันคอลลาเจนจากการถูกทำลาย นอกจากนั้น สารทั้งสองยังยับยั้งการสร้างสารลิวโคทรีนอีกด้วย สำหรับประเทศไทย กินลูกหว้าหรือมะเกี๋ยงแทนได้ หรือใช้น้ำร้อน ๑ แก้วชงดอกอัญชัญสด ๑ ดอก ๒ นาทียกดอกขึ้น ผสมน้ำเชื่อมพอหวานปะแล่มดื่มได้วันละ ๓ เวลา
๗. ขึ้นฉ่าย (celery)
ขึ้นฉ่ายฝรั่งก้านโตๆ มีสารต้านการอักเสบ มีขายในซูเปอร์มาร์เก็ต กินวันละ ๔ ก้าน หรือดื่มชาเมล็ดขึ้นฉ่าย ใช้เมล็ดครึ่งช้อนชาชงน้ำร้อน ๑ แก้วดื่ม ๑-๓ แก้วต่อวัน หรือจะซื้อสารสกัดเป็นแคปซูลแทนก็ได้
๘. ขมิ้นชัน
มีสารเคอร์คูมิน (curcumin) ชะลอการสร้างพรอส-ตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาการปวด เป็นกลไกคล้ายกันกับกลไกระงับปวดของแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ที่ปริมาณสูงๆ เคอร์คูมินกระตุ้นต่อมหมวกไต ให้หลั่งสารคอร์ติโซนเพื่อระงับการอักเสบและความปวดจากการอักเสบดังกล่าว
กินขมิ้นชันสดชิ้นเท่า ๒ ข้อนิ้วก้อย ๓ เวลาก่อนอาหารก็ควรจะได้เคอร์คูมินพอสำหรับบรรเทาอาการเกาต์นี้
อย่าลืมดื่มน้ำสะอาดวันละ ๘ แก้ว งดเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ คุมความดันเลือดและปริมาณไขมันให้ดีนะคะจะได้ไม่ต้องปวดหัวแม่เท้าจากโรคเกาต์อีก
- อ่าน 81,801 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้