นพ.สุพร เกิดสว่าง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
มองเพศที่ ๓อย่างเข้าใจ
การเป็นเกย์และกะเทยส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา นอกนั้นคือสิ่งแวดล้อม สังคมและการเลี้ยงดูในครอบครัว
เพศที่ ๓ กับสังคม
คนทั่วไปส่วนใหญ่ยังมีความสับสนเรื่องผู้ชายที่รักผู้ชายด้วยกันหรือ ผู้ชายที่มีกิริยามารยาทคล้ายผู้หญิง นอกจากคนในสังคมจะสับสนและไม่เข้าใจแล้ว ยังมองบุคคลเหล่านี้ไปในทางลบ ทั้งนี้ จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ชายมีหลักๆ ๓ กลุ่มคือ
๑. กลุ่มผู้ชายที่รักผู้หญิง (เพศตรงข้าม-ต่างเพศ) ซึ่งสังคมทั่วไปยอมรับ
๒. กลุ่มผู้ชายที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย แค่รักผู้ชายด้วยกัน (เพศเดียวกัน-ร่วมเพศ) ซึ่งมักนิยามตัวเอง ว่า เกย์ (gay) มาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษที่แปลว่า สดใส ร่าเริง
๓. ผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้หญิง ที่อยู่ในร่างของผู้ชายนั่นเอง คำไทยมักใช้ว่า กะเทย (transgender หรือ transsexual)
การที่ผู้ชายมีความรักเพศเดียวกัน มีสาเหตุหลาย อย่าง ทั้งปัจจัยทางชีววิทยา และจิตวิทยา เริ่มตั้งแต่สาเหตุทางพันธุกรรม การพัฒนาของสมองเด็กในครรภ์ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศ ตลอดจนการอบรม เลี้ยงดู และประสบการณ์การเรียนรู้หลังจากที่เกิดมาแล้ว ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการเลียนแบบ และไม่ติดต่อกัน
ทั้งเกย์และกะเทย จะเริ่มรู้สึกว่าตนเองต่างจากเพื่อนเพศเดียวกัน ตั้งแต่อายุ ๓-๔ ขวบ หรือเมื่อเริ่มจำความได้ โดยจะจดจำว่าพ่อแม่ตักเตือนอยู่เสมอว่าอย่าทำตัวเป็นผู้หญิง ซึ่งอาจจะสร้างความรู้สึกกดดันภายในจิตใจ
ด้านพฤติกรรมจะมีความรู้สึกอ่อนไหว ร้องไห้ง่าย กิริยามารยาทคล้ายเด็กหญิง ชอบแต่งตัว ชอบเล่นกับกลุ่มเพื่อนผู้หญิง ไม่ชอบเล่นรุนแรง เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น จะมีความรู้สึกทางเพศกับเพศเดียวกัน แตกต่างจากเพื่อนผู้ชายทั่วไป
เนื่องจากเด็กรับรู้ว่าสังคมทั่วไปมีความรู้สึกรังเกียจ เกย์และกะเทย เด็กจึงสับสนไม่แน่ใจ ในการวางตัวในสังคม เกิดความวิตกกังวล ความเครียด และพยายามปิดบังความรู้สึกของตนเอง บางคนพยายามป้องกันตนเอง โดยพยายามทำตัวเป็นชายชาตรี เช่น พยายามมีคนรักเป็นผู้หญิงหลายๆ คน เพาะกายให้ดูเป็น "แมน" แสดงตนก้าวร้าว ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีเด็กบางคนก็พยายามหาสิ่งทดแทนความด้อย เช่น พยายามขยันตั้งใจเรียน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่อน ซึ่งเป็นการทดแทนที่ดี ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองและครูไม่เข้าใจ เด็กจะยิ่งมีความทุกข์ทรมานใจมากขึ้น บางคนมาปรึกษาแพทย์เพื่อขอฉีดฮอร์โมนเพศชาย โดยหวังว่าฮอร์โมนเพศชายจะช่วยเปลี่ยนความรู้สึกและความต้องการในใจ แต่ความเป็นจริงฮอร์โมนเหล่านี้ไม่ได้มีผลดังที่หวังเลย
ระยะสับสนกังวลนี้อาจจะกินเวลานานมากหรือน้อย แล้วแต่ตัวเด็กแต่ละคน เมื่อผ่านระยะนี้ไปเด็กจะเริ่มยอมรับความรู้สึกและความต้องการทางเพศของตนเองมากขึ้น ความเครียด ความวิตกกังวลจะลดลง ในขั้นต่อไปอาจพัฒนาถึงขั้นเปิดเผยตนเองต่อสังคม และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี
สังคมไทยยอมรับเกย์และกะเทยมากขึ้นกว่าในหลายประเทศ แต่คนบางกลุ่มก็ยังรู้สึกในแง่ลบกับเกย์และกะเทย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะภาพของเกย์และกะเทยที่ออกมาตามสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ แสดงเป็นตัวตลกบ้าๆ บอๆ มีอารมณ์รุนแรง โหดเหี้ยม ซึ่งความจริงที่ปรากฏก็คือเกย์และกะเทยที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นคนดี ทำประโยชน์ให้สังคมก็มีอยู่มาก
ชีวิตชายรักชาย
ผลจากการศึกษากลุ่มชายรักชาย ๑๐๐ คน ซึ่งเป็นเกย์ ๙๕ คน เป็นกะเทย ๕ คน พบว่า ๔๐ คน ทำงานเป็นลูกจ้างในสำนักงาน รองลงมาคือ ธุรกิจส่วนตัว สถานเสริมความงาม ร้านอาหาร ร้องเพลง ครูเต้นรำ นาฏศิลป์ และพิธีกร ตามลำดับ
ในจำนวนนี้ ๖๑ คน มีความสัมพันธ์ทางเพศครั้งแรกกับผู้ชาย และจำนวน ๓๔ คน มีความสัมพันธ์ทางเพศครั้งแรกกับผู้หญิง ผู้เข้ารับการสำรวจยังบอกว่ามีประสบการณ์ทางเพศหรือมีความสัมพันธ์ทางเพศครั้งแรกส่วนใหญ่เนื่องจากความรัก หรือความต้องการทางเพศ และอีก ๕ คนยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
ด้านชีวิตการแต่งงานพบว่า ๘๘ คน ยังเป็นโสดหรือมีคู่เป็นผู้ชาย และอีก ๑๒ คน เคยแต่งงานกับหญิง
ในจำนวนทั้งหมดนี้ ๔ คน หย่ากับภรรยาแล้ว เพราะ "เข้ากันไม่ได้"
อีก ๒ คน หย่ากับภรรยาทั้งที่ครอบครัวมีความสุขพอควร แต่ยอมเสียสละให้ภรรยาได้มีโอกาสมีสามีที่เป็นชายเต็มตัว
อีก ๑ คน กำลังจะหย่ากับภรรยา เพราะพบแฟน เป็นชายที่ให้ความสุขได้มากกว่าภรรยา
ส่วนอีก ๕ คน ยังอยู่กับภรรยาและครอบครัวอย่างมีความสุข
จากการสำรวจพบข้อสังเกตว่าโอกาสล้มเหลวของ เกย์ที่แต่งงานกับผู้หญิงมีค่อนข้างมาก แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจช่วยให้ชีวิตแต่งงานประสบความสำเร็จ คือรสนิยมทางเพศต้องเอียงไปทางชอบผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หรือแต่งงานกันด้วยความรักและความเข้าใจ มีความซื่อสัตย์มั่นคงไม่นอกใจภรรยามีความรับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัว รวมทั้งภรรยามีความเข้าใจ ยอมรับ และให้อภัยด้วย
เรื่องความเสี่ยงต่อโรคเอดส์ พบว่ามี ๖๙ คนที่ตรวจเลือดหาโรคเอดส์ มีผลการตรวจเป็นบวก (ติดเชื้อเอชไอวี-เอดส์) ๕ ราย หรือร้อยละ ๗.๖ ซึ่งนับว่าสูงกว่าประชากรทั่วไป สำหรับเรื่องของการป้องกันหรือการดูแลสุขภาพร่างกายหลังจากติดเชื้อเอดส์แล้วทางหน่วยงานที่มีส่วนในการรับผิดชอบควรมีมาตรการช่วยเหลือให้มากขึ้น
เพศที่ ๓ กับการแปลงเพศ
สำหรับชายใจหญิงหรือกะเทยหลายคนที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เหมือนผู้หญิงให้มากที่สุด นั่นคือเลือกผ่าตัดแปลงเพศ
ประเทศไทยมีศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญผ่าตัดแปลง เพศและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกหลายท่าน นอกจากคนไทยที่ขอเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศแล้วยังมีจากประเทศ อื่นๆ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวีเดน บราซิล
การผ่าตัดแปลงเพศต้องผ่านขั้นตอนและกฎเกณฑ์ ต่างๆ หลายอย่าง เพราะเมื่อทำการผ่าตัดเปลี่ยนเป็นเพศหญิงแล้วจะเปลี่ยนกลับมาเป็นเพศชายที่สมบูรณ์อีกไม่ได้ง่ายๆ โดยผู้เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศจะต้องมีอายุ ๒๐-๖๕ ปี ผ่านการทดสอบโดยจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ผ่านการตรวจจากแพทย์ทางต่อมไร้ท่อ การให้คำปรึกษาความพร้อมทางด้านจิตใจ เป็นต้น
แพทย์ไทยที่ทำงานด้านนี้ต้องใช้ความประณีตมาก เนื่องจากเป็นทั้งงานผ่าตัดและงานศิลปะ ในการเปลี่ยน อวัยวะเพศชายให้เป็นหญิงและร่วมเพศได้เช่นเดียวกับหญิงทั่วไป ผู้ที่ขอเข้ารับการผ่าตัดส่วนหนึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับเรื่องความสุขทางเพศ แต่มีจุดมุ่งหมายอยากจะเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์ หลายคนยืนยันชัดเจนว่า ความปรารถนาสูงสุดคือ อยากตายในสภาพ ที่เป็นหญิง
สำหรับผู้ชายไทยหรือกลุ่มคนเอเชียจะมีรูปหน้าไม่ต่างกับผู้หญิงมากนัก จึงไม่ต้องทำการผ่าตัดแปลงรูปหน้าให้มาก แต่ถ้าเป็นฝรั่งหรือคนต่างชาติ รูปหน้าดั้งเดิมจะมีความแตกต่างจากผู้หญิง จึงต้องมีการผ่าตัด แปลงรูปหน้าให้เป็นผู้หญิงด้วย (facial feminization)
ปัจจุบันการผ่าตัดแปลงเพศได้พัฒนาไปอย่างมาก ซึ่งอาการแทรกซ้อนขณะที่ผ่าตัดและหลังผ่าตัดมีน้อยมาก แต่หลังการผ่าตัดไปแล้วทุกคนยังต้องติดต่อกับแพทย์และให้ฮอร์โมนเสริมหลังการผ่าตัดด้วย
สังคมไทยเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมาก เกย์และกะเทยหลายคนได้สร้างชื่อเสียงให้กับครอบครัว และประเทศเราเป็นอย่างมาก แนวทางการดำเนินชีวิตก็ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป และหวังว่าสังคมไทยจะเข้าใจเกย์และกะเทยมากขึ้น และควรมีที่ให้กับบุคคลเหล่านี้ได้อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับคนทั่วไป
- อ่าน 13,724 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้