• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กุหลาบแดง ดาวเด่นแห่งกล้วยไม้สกุลกุหลาบ

                                

เมื่อเอ่ยถึงกุหลาบแดง คนไทยจะนึกถึงดอกกุหลาบที่มีสีแดง ซึ่งใช้เป็นเครื่องหมายแทนความรักที่นิยมส่งให้กันในวันแห่งความรัก หรือวันนักบุญวาเลนไทน์ (14 กุมภาพันธ์) น้อยคนที่จะนึกถึงกล้วยไม้ไทยชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในสกุลกุหลาบ (Aerides) และเป็นที่ชื่นชอบของนักนิยมกล้วยไม้มากมายทั้งไทยและเทศ

 

กุหลาบแดง : ราชาแห่งเอื้องกุหลาบ
กุหลาบแดงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aerides crassifolia Parish ex Burbidge อยู่ในวงศ์ Orchidaceae สกุลกุหลาบ (Aerides) ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วทุกภาคของไทย และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะพิเศษประจำสกุลของกุหลาบแดงคือ มีเดือยดอกเรียวแหลมหรือปลายงอนออกมาทางด้านหน้าของดอก ลำต้นเตี้ยล่ำ ใบใหญ่สั้นหนาสีเขียวปนแดง สีแดงจะเข้มขึ้นในช่วงแห้งแล้ง ใบกว้างราว 1.5-2.0 เซนติเมตร ยาวราว 10-18 เซนติเมตร ผิวใบอาจย่นตามขวางของใบ ใบเรียงสลับระนาบเดียว 

ลำต้นเจริญทางปลายยอด ช่อดอกโค้งลงยาวใกล้เคียงกับใบ มีดอกช่อละ 10-20 ดอก ขนาดดอกกว้าง 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกสีชมพู-ม่วงแดง ส่วนปากดอกสีเข้ม กลีบในบิดไปด้านหลัง ดอกมีกลิ่นหอม บานช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ลักษณะเด่น คือกลีบดอกนอกคู่ล่างกว้าง ปากแบะยื่น เดือยดอกยาว เห็นชัดเจน ปลายเดือยงอนขึ้น และไม่อยู่ใต้ปลายปาก
กุหลาบแดงพบตามธรรมชาติ ในป่าแล้งภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคตะวันออกของไทย รวมทั้งจังหวัดนครนายกและกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบในประเทศ พม่า ลาว และเวียดนาม ชื่อเรียกกุหลาบแดงอื่นๆ คือ เอื้องกุหลาบแดง และเอื้องกุหลาบไอยราวรรณ

กุหลาบแดง เป็นกล้วยไม้สกุลกุหลาบที่มีดอกขนาดใหญ่กว่ากล้วยไม้กุหลาบชนิดอื่นๆ ชาวยุโรปนิยมชมชอบกุหลาบแดงมากเป็นพิเศษ  จนให้สมญานามว่า "ราชาแห่งสกุลกุหลาบ"
กุหลาบแดงปลูกเลี้ยงง่าย แม้ในกรุงเทพฯ ก็ยังปลูกได้ เจริญเติบโตดีมาก กุหลาบแดงสามารถผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลแวนด้า และสกุลช้างได้อีกด้วย

ข้อมูลสื่อ

370-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 370
กุมภาพันธ์ 2553
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร