ย่านาง หรือ Tiliacora triandra Diels อยู่ในวงศ์ Menispermaceae
ย่านางมีถิ่นกำเนิดในตอนกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พืชวงศ์ย่านางนี้มีราว 70 ตระกูล ส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อยในป่าเขตร้อนและในป่าไม้ผลัดใบในทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือ ย่านางพบขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าดงดิบ และป่าโปร่ง ในทุกภาคของประเทศไทย
ภาคกลางเรียก เถาย่านาง เถาหญ้านาง เถาวัลย์เขียว หญ้าภคินี
เชียงใหม่เรียก จ้อยนาง จอยนาง ผักจอยนาง
ภาคใต้เรียก ย่านนาง ยานนาง ขันยอ ยาดนาง วันยอ
ภาคอีสานเรียก ย่านาง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ย่านางเป็นไม้เลื้อย เป็นเถากลมขนาดเล็กเหนียวมีสีเขียว เถาอ่อนมีขนอ่อนปกคลุม เถาแก่ผิวเรียบมีสีเข้ม มีข้อห่างๆ รากมีขนาดใหญ่มีหัวใต้ดิน
ใบเป็นใบเดี่ยวติดกับลำต้นแบบสลับ ใบคล้ายรูปไข่ หรือรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5-10 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวเข้ม หน้าและหลังใบเป็นมัน
ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ไม่มีกลีบดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและตามลำต้น ช่อหนึ่งมี 3-5 ดอก ยาว 2-5 เซนติเมตร
ต้นเพศผู้จะมีดอกสีน้ำตาล อับเรณูสีเหลืองอ่อน ดอกย่อยของต้นเพศผู้จะมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกมีขนสั้นๆ ละเอียด ปกคลุมหนาแน่น
ดอกเพศเมียมีขนาดเล็กมาก ขนาดโตกว่าเมล็ดงาเล็กน้อย สีเหลืองอ่อนหรือเหลืองแกมเขียว
ผลเป็นรูปไข่มีขนาดเล็ก เมื่ออ่อนมีสีเขียว สุกจะมีสีแสดถึงแดง กว้าง 6-7 มิลลิเมตร ยาว 7-10 มิลลิเมตร เมล็ดแข็งรูปเกือกม้า
ย่านางเป็นพืชที่ขึ้นในดินทุกชนิด และปลูกได้ทุกฤดู ขยายพันธุ์โดยการใช้หัวใต้ดิน เถาแก่ที่ติดหัว ปักชำยอด หรือการเพาะเมล็ด เป็นไม้ที่ปลูกง่ายโดยปลูกเป็นหลุมหรือยกร่องก็ได้
ใบย่านาง 100 กรัมให้คุณค่าโภชนาการดังนี้ |
พลังงาน 95 กิโลแคลอรี เส้นใย 7.9 กรัม แคลเซียม 155 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม เหล็ก 7.0 มิลลิกรัม วิตามินเอ 30,625 หน่วยสากล วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.36 มิลลิกรัม ไนอาซิน 1.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 141 มิลลิกรัม โปรตีน 15.5 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 0.24 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 1.29 เปอร์เซ็นต์ แคลเซียม 1.42 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลจาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล)
|
ย่านางใช้เป็นอาหาร
ย่านาง เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นอาหารและเป็นยามาแต่โบราณ ย่านางมีชื่อทางยาในภาคอีสานว่า "หมื่นปี บ่ เฒ่า" แปลเป็นภาษาภาคกลางว่า "หมื่นปีไม่แก่"
ใบย่านาง เก็บบริโภคได้ตลอดปี ยอดอ่อนแตกใบมากในฤดูฝน ยอดอ่อนของเถาย่านางใช้กินแกล้มแนมกับอาหารเผ็ด ชาวไทยอีสานและชาวลาวใช้ใบย่านางคั้นเอาน้ำปรุงอาหารต่างๆ ทำให้น้ำซุปข้นขึ้น เช่น แกงหน่อไม้ ซุปหน่อไม้ ย่านางสามารถลดฤทธิ์กรดยูริกในหน่อไม้ได้ ลดความขมของหน่อไม้ และเพิ่มคลอโรฟิลล์และบีตาแคโรทีนให้กับอาหารดังกล่าว
นอกจากนี้ยังใส่น้ำคั้นใบย่านางในแกงเห็ด ต้มเปรอะ แกงขี้เหล็ก แกงขนุน แกงผักอีลอก แกงยอดหวาย แกงอีลอก นำไปอ่อมและหมก
ข้อควรระวังคือ ต้องทำให้สุก หรือขยี้ใบย่านางสดกับหมาน้อย กินถอนพิษร้อนต่างๆ ชาวกัมพูชาใส่ใบย่านางในแกงต่างๆ
ชาวใต้ใช้ยอด ใบเพสลาด (หมายถึงใบที่ไม่อ่อน ไม่แก่เกินไป) นำไปแกงเลียง แกงหวาน แกงขี้เหล็ก น้ำคั้นจากใบช่วยลดความขมของใบขี้เหล็กได้ นอกจากนี้ยังนำไปผัด แกงกะทิ และหั่นซอยกินกับข้าวยำได้อีก ผลสุกใช้กินเล่น ส่วนชาวเหนือใช้ยอดย่านางอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก ใบแก่คั้นน้ำนำมาใส่แกงพื้นเมือง เช่น แกงหน่อไม้ แกงแค
ประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ น้ำสีเขียวจากใบย่านางใช้ย้อมผ้าได้ ใบใช้เป็นอาหารสัตว์กินพืช เช่น วัว ควาย ส่วนเถามีความเหนียวใช้มัดสัมภาระได้
น้ำตาลไซโลสเป็นองค์ประกอบหลักของสารเหนียวจากน้ำตาลโพลีแซ็กคาไรด์ของใบย่านาง สกัดได้ด้วยน้ำอุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียสที่ต้มเป็นเวลานาน สารเหนียวที่ได้มีคุณสมบัติคล้ายไซแลนที่ได้จากสาหร่ายทะเล น้ำตาลโพลีแซ็กคาไรด์นี้เองที่เป็นตัวเพิ่มความหนืดให้แก่อาหารที่ใส่ใบย่านางต้ม
สรรพคุณทางยาดั้งเดิม
จากการค้นคว้ายังไม่พบว่าประเทศใดใช้ใบย่านางหลากหลายเท่ากับประเทศไทย
ใบย่านาง มีรสจืดขม กินได้ ใช้ถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้ ตัวร้อน แก้ไข้รากสาด ไข้พิษ ไข้หัว ไข้กลับซ้ำ ใช้เข้ายาเขียว ทำยาพอก ลิ้นกระด้าง คางแข็ง กวาดคอ แก้ไข้ฝีดาษ ไข้ดำแดงเถา
ราก มีรสจืดขม กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ ปรุงยาแก้ไข้รากสาด ไข้กลับ ไข้พิษ ไข้ผิดสำแดง ไข้เหนือ ไข้หัวจำพวกเหือดหัด สุกใส ฝีดาษ ไข้กาฬ กินแก้พิษเมาเบื่อ แก้เมาสุรา แก้พิษภายในให้ตกสิ้น บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้โรคหัวใจบวม ถอนพิษผิดสำแดง แก้อาการท้องผูก แก้กำเดา แก้ลม
ภาคอีสานใช้รากต้มเป็นยาแก้อีสุกอีใส ตุ่มผื่น และใช้รากย่านางผสมรากหมาน้อย ต้มแก้ไข้มาลาเรีย
รากย่านางเป็นส่วนประกอบสำคัญของยาเบญจโลกวิเชียร ยาดังกล่าวเป็นยาแก้ไข้ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในขณะเริ่มเป็นได้
ย่านางทั้งต้น ปรุงเป็นยาแก้ไข้กลับ แก้ป่วง (ปวดท้องเพราะกินอาหารผิดสำแดง) ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ และถอนพิษเบื่อเมาในอาหาร เช่น เห็ด กลอย โดยใช้รากย่านางต้นและใบ1 กำมือ ตำผสมกับข้าวสาร (ข้าวเจ้า) 1 หยิบมือ เติมน้ำ 1 แก้ว ขยำคั้นให้น้ำออกมา กรองด้วยผ้าขาวบาง เติมเกลือและน้ำตาลเล็กน้อยพอดื่มง่าย ดื่มให้หมดทั้งแก้วทำให้อาเจียนออกมา จะช่วยให้ดีขึ้น อย่าเอาไปปั่นเพราะย่านางเป็นยาเย็น ความร้อนจากรอบหมุนเร็วของเครื่องปั่นจะทำให้ฤทธิ์ชีวภาพของใบย่านางสูญหายไป
ย่านางมากคุณค่า
ใบย่านางมีรสจืด คุณค่าทางโภชนาการพบว่า ปริมาณสารสำคัญที่มีมากและโดดเด่นในใบย่านางคือ เส้นใยอาหาร แคลเซียม เหล็ก บีตาแคโรทีน และวิตามินเอ
การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของผักพื้นบ้านไทย จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ผักกูด ผักติ้ว ผักปลังขาว ย่านาง ผักเหมียง และผักหวานบ้าน โดยการสกัดสารสำคัญด้วยแอลกอฮอล์จากผักแต่ละชนิด ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากผักทั้ง 6 ชนิดเปรียบเทียบกับตัวควบคุม วิตามินซี และวิตามินอี สารสกัดจากย่านางส่วนที่ละลายน้ำและส่วนที่ไม่ละลายน้ำให้ค่า IC50 499.24 และ 772.63 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ เมื่อเทียบกับค่าที่ได้จากวิตามินซี และวิตามินอีที่ IC50 9.34 และ 15.91 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ
สารสกัดใบย่านางมีสารฟีนอลิกเป็นสารสำคัญ งานวิจัยจากต่างประเทศพบว่า สารฟีนอลิกหลักในใบย่านางคือ กรดพาราไฮดรอกซีเบนโซอิก (p-hydroxy benzoic acid) มิเนโคไซด์ (minecoside) สารกลุ่มฟลาโวนไกลโคไซด์ อนุพันธ์กรดซินนามิก (flavones glycoside cinnamic acid derivative) และโมโนอีพอกซีบีตาแคโรทีน (monoepoxy-betacarotene)
ข้อมูลโภชนาการกล่าวว่า ใบย่านางมีปริมาณธาตุเหล็กสูง
ธาตุเหล็กในอาหารแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือเหล็กที่อยู่ในรูปของฮีมพบในเนื้อสัตว์ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมได้ดี และเหล็กที่ไม่ได้อยู่ในรูปของฮีม พบในธัญพืช ผัก ผลไม้ ร่างกายดูดซึมได้ไม่ดี
การดูดซึมเหล็กที่ไม่ได้อยู่ในรูปของฮีมขึ้นกับสารอื่นในอาหาร ได้แก่ วิตามินซี ซึ่งช่วยเพิ่มการดูดซึมเหล็ก ส่วนไฟเทตและเส้นใยอาหาร มีผลยับยั้งการดูดซึมเหล็ก
งานวิจัยในประเทศไทยเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณ เหล็ก วิตามินซี ไฟเทต เส้นใยอาหาร และชีวปริมาณออกฤทธิ์ของเหล็กในผักพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าใบย่านางมีปริมาณวิตามินซีสูงที่สุด และมีเส้นใยอาหาร ที่ 6.56 กรัมต่อ 100 กรัมน้ำหนักแห้ง และเมื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเหล็ก วิตามินซี ไฟเทต และเส้นใยอาหาร พบว่าปริมาณวิตามินซีมีความสัมพันธ์กับปริมาณเส้นใยอาหารในทางบวก ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ p<0.05 ทำให้เห็นว่าใบย่านางเป็นแหล่งธาตุเหล็กที่สามารถดูดซึมได้ดีโดยร่างกาย เพราะมีวิตามินซีปริมาณสูง ช่วยการดูดซึมธาตุเหล็กดังกล่าว
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในประเทศไทยตรวจสอบฤทธิ์ระงับปวดและฤทธิ์ต้านการอักเสบของพืชผักพื้นบ้านอีสาน 10 ชนิด การตรวจหาฤทธิ์ระงับปวดโดยใช้ writhing test และ tail flick test สำหรับการตรวจฤทธิ์ต้านอักเสบ ใช้ rat hind paw edema model
ผลการทดสอบใช้สารสกัดพืชผักพื้นบ้านด้วยน้ำ ขนาด 1 กรัมต่อน้ำหนักตัวของหนูเพศผู้ 1 กิโลกรัม พบว่าสารสกัดจาก ใบตำลึง ใบย่านาง ผักติ้วแดง ผักกาดฮีน มะระขี้นก ผักชะพลู และผักชีลาว มีผลลดการเกิด writhing ในหนูร้อยละ 35-64 (p<0.05)
การทดสอบฤทธิ์ระงับปวดด้วย tail flick test พบว่าสารสกัดจากใบตำลึงและใบย่านางมีฤทธิ์ระงับปวด จากนั้นคัดเลือกสารสกัดที่มีฤทธิ์มากที่สุด 4 ชนิด ได้แก่ ใบตำลึง ใบย่านาง ผักติ้วแดง และผักกาดฮีนมาทำการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยใช้คาราจีแนนเป็นสารระตุ้น พบว่าสารสกัดทั้ง 4 ชนิดไม่มีฤทธิ์ต้านอักเสบในสัตว์ทดลอง ผู้วิจัยเชื่อว่าสารสกัดจากใบตำลึงและใบย่านางอาจจะออกฤทธิ์ระงับปวดต่อระบบประสาท
ส่วนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในห้องทดลองขั้นต้นพบว่า สารสกัดใบย่านางมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของรีเซ็ปเตอร์ที่ขนคอเลสเตอรอลเข้าสู่ตับ แต่ไม่ทราบว่าจะมีผลลดคอเลสเตอรอลในเลือดของระบบร่างกายหรือไม่ การค้นพบนี้อาจเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของย่านางที่ใช้รักษาโรคหัวใจมาแต่โบราณได้ หากแต่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
งานวิจัยทางเคมีพบว่า รากย่านางมีอัลคาลอยด์หลายชนิด ได้แก่ Tiliacorine, Tiliacorinine, Nortiliacorinine A, Tiliacotinine 2-N-oxide, Tiliandrine, Tetraandrine, และ D-isochondendrine การทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าสารสกัดจากรากย่านางมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียฟัลซิพารัมในหลอดทดลอง สารที่มีฤทธิ์ดังกล่าวคือ Tiliacorine และ Tiliacorinine
กระแสน้ำย่านาง
ปัจจุบันมีกระแสการบริโภคน้ำย่านางคั้นบีบเย็น กล่าวกันว่ารักษาโรคได้มากมาย เช่น ลดน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง อาการตกเลือดในมดลูก โรคเกาต์ โรคเชื้อราทำลายเล็บ อาการริดสีดวงทวาร หรือเป็นผื่นคัน
กล่าวกันว่าโรคเหล่านี้เกิดจากภาวะไม่สมดุลแบบร้อนเกิน เชื่อกันว่ายังสามารถใช้น้ำย่านางมาสระผม ช่วยให้ศีรษะเย็น ผมดกดำหรือชะลอผมหงอก ผสมดินสอพองหรือปูนเคี้ยวหมากให้เหลวพอประมาณ ทาสิว ฝ้า ตุ่ม ผื่นคัน พอกฝีหนองลดอาการผื่นคันได้อีกด้วย
ย่านางเป็นยาเย็น ในปริมาณที่มีผู้ดื่มรักษาโรคเป็นปริมาณสารสกัดน้ำที่ไม่เข้มข้นมากนัก คล้ายการดื่มน้ำใบเตยเพื่อความชื่นใจดับกระหาย แต่ไม่มีรายงานการวิจัยทั้งในและต่างประเทศสนับสนุนการใช้งานดังกล่าว เพราะประเทศตะวันตกไม่มีต้นย่านางให้ศึกษา
การศึกษาพิษวิทยาในประเทศไทยพบว่า ระยะสั้นสารสกัดใบย่านางไม่มีพิษต่อหนูทดลอง คิดว่าดื่มเครื่องดื่มธรรมชาติไร้น้ำตาลเป็นทางเลือกใหม่ได้เลย ถ้าสุขภาพดีขึ้นหายจากโรคภัยไข้เจ็บด้วยก็เป็นของแถมที่มีค่ายิ่ง
สูตรน้ำใบย่านางที่นำเสนอนี้ได้ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลด้วย : น้ำใบย่านาง |
- อ่าน 46,161 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้