• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยารักษาโรค (หอบ) หืด ในเด็ก

การใช้ยา พอเพียง
ภก.วิรัตน์ ทองรอด

ยารักษาโรค (หอบ) หืดในเด็ก (๑)
คำถาม
ลูกของดิฉันเป็นหอบหืด ควรเลือกใช้ยาอย่างไร?

โรคนี้เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กไทย โดยทั่วไปนิยมเรียกกันว่า "หอบหืด" แต่ในทางการแพทย์จะ เรียกสั้นๆ ว่า "โรคหืด" ซึ่งแสดงอาการ "หายใจลำบาก" โดยตัดคำว่า "หอบ" ออกไป ทั้งนี้เพราะมีโรคอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีอาการหอบ แต่ไม่ได้เป็นหืด เช่น อาการหอบเหนื่อย เป็นต้น จึงใช้เฉพาะคำว่า "หืด" เพื่อให้แตกต่างและไม่เกิดการสับสนกับโรคอื่นๆ ที่มีอาการหอบ โดยไม่ได้เกิดการจับหืดนะครับ
      
สาเหตุของโรคหืดในเด็ก
โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากหลอดลมของเรามี "ความไวต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอกมากกว่าปกติหรือผิดปกติ" ทำให้เกิดกระบวนการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันมากเกินไป ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในทางเดินหายใจ แล้วส่งผลทำให้เกิดการหดแคบลงของหลอดลมและ/หรือมีเสมหะออกมามากเกินไปร่วมกัน เป็นผลให้ท่อทางเดินหายใจแคบลง (ทั้งจากหลอดลมที่ตีบแคบลงและเสมหะขัดขวางทางเดินของอากาศ) การหายใจจึงลำบาก ยิ่งขึ้น และเป็นโรคหืด
      
อาการของโรคหืดในเด็ก
ประมาณว่า มีเด็กไทยป่วยเป็นโรคหืดมากถึง ๑.๘ ล้านคน ซึ่งในเด็กจะแสดงอาการหืด ด้วยการหายใจเป็นเสียงสูง คล้ายเสียงนกหวีด หรือที่เรียกว่า เสียงหวีดหรือเสียงวี้ด และหายใจได้ลำบาก หายใจเร็วๆ แรงๆ และอาจมีอาการแน่นหน้าอกร่วมด้วย

ในผู้ป่วยโรคหืดบางรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อย อาจมีแค่อาการไอ ไอบ่อยๆ ไอติดต่อกันนานๆ ทั้งอาการหืดด้วยการหายใจเป็นเสียงหวีดและอาการไอ มักจะเป็นมากขึ้น เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น (หรือสารก่อภูมิแพ้) เช่น อากาศเย็น ฝนตก อาหารบางชนิด ไรฝุ่น เชื้อรา แมลงสาบ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย การออกกำลังกาย เป็นต้น ดังนั้นถ้าพบว่าแพ้สารชนิดใด ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารนั้น จะช่วยลดปัญหาการแพ้และจับหืดได้
      
โรคหืดเกิดจากการแพ้สารกระตุ้น
โรคนี้จึงจัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับ โรคภูมิแพ้อากาศ ผื่นแพ้ผิวหนัง ผื่นแพ้ที่เยื่อบุตา เป็นต้น แต่โรคนี้เป็นการแพ้ที่เกิดขึ้นที่หลอดลมภายในปอด จึงแตกต่างจากโรคภูมิแพ้ชนิดอื่นที่ตำแหน่งของการเกิดโรค โดยโรคภูมิแพ้อากาศหรือเยื่อบุโพรงจมูกจากการแพ้จะมีตำแหน่งของการเกิดโรคที่โพรงจมูก โรคผื่นแพ้ผิวหนังจะเกิดอาการขึ้นที่ผิวหนัง และโรคผื่นแพ้ที่เยื่อบุตาจะเกิดอาการขึ้นที่เยื่อบุตา ตามลำดับ นอกจากนี้ โรคนี้อาจถ่ายทอดกันทางกรรมพันธุ์คือ จากพ่อและ/หรือแม่สู่ลูกได้
       
ยารักษาโรคหืดในเด็ก
ยารักษาโรคหืดในเด็กจะคล้ายกับยาที่ใช้ในผู้ใหญ่ แต่จะมีข้อแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในเรื่องรูปแบบของยา แต่เนื่องจากโรคหืดเกิดจากการแพ้ที่หลอดลม แล้วทำให้เกิดการอักเสบ และส่งผลทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง ทำให้หายใจได้อย่างลำบาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น รูปแบบของยาที่ดีควรเป็น    รูปแบบที่สามารถส่งตัวยาสำคัญไปถึงหลอดลมภายในปอด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการตีบตันและการอักเสบของเนื้อเยื่อของหลอดลมโดยตรง
      
ยาสูดเป็นรูปแบบของยาที่ดีที่สุดในการรักษาโรคหืดในเด็ก

ในด้านรูปแบบของยาที่ดีที่สุดคือ มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัยที่สุด ได้แก่ ยาในรูปแบบของยาสูด     (inhaler) ซึ่งเป็นรูปแบบพิเศษเฉพาะของยาที่ออกฤทธิ์โดยตรงที่ปอด เพราะเมื่อใช้ยานี้ผู้ป่วยจะต้องสูดเข้าทางปาก และหายใจลึกๆ เพื่อให้ยาเดินทางตามลมหายใจจากในช่องปากเข้าไปสู่หลอดลมภายในปอด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการตีบตัวและการอักเสบของหลอดลม จึงจะออกฤทธิ์ได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ ณ จุดที่เกิดปัญหาของโรคหืด

ยาสูดจึงเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้ผลดีและอย่างรวดเร็ว เพราะยาเดินทางจากปากเข้าสู่ปอดโดยตรง และในปริมาณยาที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับยาชนิดกิน ยาสูดจึงมีความปลอดภัยมากกว่า ยานี้บางคนจะเรียกว่า ยาพ่น หรือยาสูดพ่น เพราะในการใช้ยาจะต้องพ่นยาออกมาจากอุปกรณ์ให้ยา แล้วจึงสูดเข้าไปในทางเดินหายใจ แต่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า ยาสูด แทนคำว่ายาพ่นแล้ว

นอกจากนี้ ยังมียารูปแบบอื่นๆ ที่ใช้รักษาโรคหืดในเด็ก เช่น น้ำยาเชื่อม ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด เป็นต้น เช่นเดียวกับรูปแบบยาทั่วๆ ไป อาการที่สำคัญของโรคหืด มี ๒ อาการหลักๆ คือ การตีบแคบลงของหลอดลม และการอักเสบของหลอดลม ดังนั้น ด้านรักษาจึงให้ความสำคัญต่ออาการทั้งสองนี้เป็นหลัก
      
ยาบรรเทาอาการจับหืด (reliever) : ควรพก ติดตัวและใช้เมื่อมีอาการทันที
อาการตีบแคบลงของหลอดลม หรือหายใจหวีด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "จับหืด" เป็นภาวะที่เป็นปัญหาฉุกเฉิน เร่งด่วน เพราะถ้าไม่ได้รับการรักษาบรรเทาอาการอย่างเหมาะสม โรคนี้อาจรุนแรงมากขึ้น หลอดลมยิ่งตีบแคบเล็กลง ร่างกายจะได้รับอากาศหรือออกซิเจน ลดลง และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ยาที่ถือว่าสำคัญที่สุด  คือยาที่ใช้บรรเทาอาการจับหืด (reliever) ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลม ใช้รักษาบรรเทาอาการตีบแคบลงของหลอดลม จึงนิยมเรียกว่า ยาขยายหลอดลม (broncho-dilators) ตัวอย่างเช่น ซัลบูทามอล (salbutamol) เทอร์-บูทาลีน (terbutaline) เป็นต้น

ยากลุ่มนี้เป็นยาขยายหลอดลมชนิดหนึ่งที่ระยะเวลาในการออกฤทธิ์รวดเร็ว โดยเฉพาะชนิดสูด จะออก ฤทธิ์บรรเทาอาการจับหืดได้ภายใน ๕-๑๐ นาทีหลังสูด
ยา จึงเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคหืดที่ควรมีพกติดตัว ถ้าเมื่อใดจะเกิดการจับหืด ผู้ป่วยจะได้สูดยาเข้าสู่ปาก เพื่อบรรเทาอาการจับหืดได้อย่างทันท่วงที
นอกจากยาขยายหลอดลมชนิดสูดแล้ว ยังมียานี้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ชนิดน้ำเชื่อม ซึ่งเด็กกินได้ง่าย แต่ออกฤทธิ์ได้ช้ากว่าคือ ใช้เวลาประมาณ ครึ่ง-หนึ่งชั่วโมง หลังจากที่ได้รับยาแล้ว เช่นเดียวกับยาชนิดเม็ดที่ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับยาจนออกฤทธิ์อาจนานกว่ายาชนิดน้ำอีกเล็กน้อย

ที่เป็นเช่นนี้เพราะยาสูดจะเป็นยาเดินทางตรงจาก ปากสู่ปอดได้เลย จึงออกฤทธิ์เร็ว ในขณะที่ยาชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ดหรือยาน้ำเชื่อมจะต้องเดินทางจากปากเข้าสู่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ แล้วจึงถูก ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทางหลอดเลือดดำ ผ่านตับ เข้าสู่หัวใจ ที่มีหน้าที่สูดฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ยาที่ละลายอยู่ในเลือดก็จะเดินทางไปถึงปอด เพื่อออกฤทธิ์ขยายหลอดลม จึงใช้ระยะทางและเวลานานกว่ายาชนิดสูดมากและออกฤทธิ์ได้ช้ากว่า มิหนำซ้ำการที่ยาผ่านกระแสเลือด ยาจึงกระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้ต้อง ใช้ยาในขนาดสูงเพื่อที่ระดับความเข้มข้นของยาที่สูงพอ ที่จะแสดงฤทธิ์ได้ ทั้งยังต้องส่งยาไปอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย จึงทำให้ยาอาจจะไปออกฤทธิ์ที่เนื้อเยื่อ และอวัยวะอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องได้ยา (เพราะไม่มีปัญหาโรคหืด)

ยาที่ไปตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ นี้ นอกจากเป็นการสูญเสียยาโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังอาจทำให้เกิดฤทธิ์ที่ไม่ต้องการ ทำให้เกิดผลเสียจากยาได้ ตัวอย่างเช่น ยาขยายหลอดลมชนิดน้ำเชื่อมนี้ เมื่อกินและถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดแล้ว ยากลุ่มนี้นอกจากมีฤทธิ์ขยายหลอดลมที่ปอดแล้ว ยังมีผลต่อการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น ทำให้เด็กบางคนที่ไว     ต่อยา ชนิดนี้จึงมีอาการใจสั่น กระวนกระวาย งอแงได้ เมื่อเด็กคนนั้นไวต่อยาชนิดนี้และได้รับยาชนิดน้ำเชื่อม ดังนั้น ในกรณีที่จับหืด จะต้องได้รับยาขยายหลอดลมอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อบรรเทาอาการจับหืด ในเด็กโตจะต้องพกยาขยายหลอดลมชนิดสูด และใช้ทันทีอย่างถูกวิธีเมื่อมีอาการจับหืด เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว แต่ในกรณีเด็กเล็กจะต้องมีผู้ปกครองคอยดูแลสังเกตอาการและให้ยากลุ่มนี้ทันทีเช่นกันเมื่อเริ่มมีอาการ จับหืดขึ้น

กรณีที่เด็กเข้าโรงเรียนแล้ว ผู้ปกครองจะต้องไปปรึกษาและแจ้งให้คุณครูประจำชั้นหรือครูพี่เลี้ยงได้ทราบ เข้าใจ และช่วยเหลือเด็กได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที เช่นเดียวกับผู้ปกครอง เมื่อเด็กมีอาการจับหืดที่โรงเรียน และเล็กเกินกว่าที่จะช่วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อปฏิบัติภายหลังการสูดยาเพื่อขยายหลอดลม บรรเทาอาการจับหืด
อนึ่ง ในกรณีที่มีการจับหืดและได้รับยาขยายหลอดลมชนิดสูดหรือชนิดน้ำเชื่อมแล้ว อาการจับหืดดี ขึ้น ก็สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อสูดยาหรือกินยาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นและ/หรืออาการจับหืดอาจแย่ลง ถ้าเป็นเช่นนี้อย่านิ่งนอนใจ จะต้องไปพบแพทย์ทันที หรือในรายที่เคยจับหืดอย่างรุนแรงมาก และเกิดการจับหืด ควรให้ยาขยายหลอดลม ทันที พร้อมทั้งเดินทางไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

ถึงตอนนี้คงทำให้ท่านผู้ปกครองและคุณครูได้เข้าใจการใช้ยารักษาโรคหืดที่เหมาะสมสำหรับบุตรหลาน และลูกศิษย์ของเรา
ฉบับหน้าจะขอกล่าวถึงการใช้ยารักษาโรคหืดในเด็กส่วนที่ ๒ ซึ่งจะกล่าวถึงยาที่ใช้ควบคุมอาการโรคหืด วิธีการสูดยาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ยารักษาโรคหืดในเด็กชนิดอื่นๆ และอุปกรณ์พยากรณ์การจับหืด 

ข้อมูลสื่อ

340-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 340
สิงหาคม 2550
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด