• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคคุชชิ่ง พิษจากยาชุดลูกกลอน

สารานุกรมทันโรค
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
โรคคุชชิ่งพิษจากยาชุดลูกกลอน

เมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้สารสตีรอยด์โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
พบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในแผนกอายุร-กรรมของโรงพยาบาล ๑๐ แห่ง จำนวน ๘,๘๗๖ ราย มีผู้ป่วย ๑,๙๘๕ ราย ที่มีประวัติหรืออาการแสดงที่บ่งชี้ว่าน่าจะเคยใช้สารที่มีสตีรอยด์ปะปนมาก่อน ในจำนวน นี้ ๑,๒๕๘ ราย (ร้อยละ ๖๒) ที่ซื้อยามาใช้เอง ในรูปของ ยาชุด ยาหม้อ และยาลูกกลอน และมีอยู่ ๔๘ รายที่ใช้สารสตีรอยด์มากเกินขนาดจนเกิดคุชชิ่งซินโดรม (โรคคุชชิ่ง) ซึ่งเป็นโรคที่อาจมีอันตรายร้ายแรงได้

ฉบับนี้ จึงขอเขียนถึงโรคนี้ เพื่อจะได้ช่วยกันเตือนไม่ให้คนที่รู้จักได้รับพิษภัยจากสารสตีรอยด์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ชื่อภาษาไทย โรคคุชชิ่ง, กลุ่มอาการคุชชิ่ง, คุชชิ่งซินโดรม
ชื่อภาษาอังกฤษ Cushingžs syndrome
      
สาเหตุ
เกิดจากภาวะมีสารสตีรอยด์ในร่างกายมากเกิน
ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการใช้สารที่มีสตีรอยด์สังเคราะห์ปะปน ซึ่งอยู่ในรูปของยาชุด ยาหม้อ และยาลูกกลอนที่ประชาชนนิยมซื้อใช้เอง เพื่อบรรเทาโรคปวดข้อ ปวดหลัง โรคหืด โรคภูมิแพ้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึง การณ์ เนื่องจากสารสตีรอยด์สังเคราะห์ (เช่น ยาที่มีชื่อว่า "เพร็ดนิโซโลน" "เดกซ่าเมทาโซน") ที่ปะปนหรือผสมอยู่ ในยาเหล่านี้สามารถบรรเทาโรคต่างๆ ดังกล่าวได้ผลชะงัด หากหยุดยาอาการของโรคมักจะกำเริบหนัก ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้เป็นประจำทุกวันนานเป็นแรมเดือนแรมปี จนร่างกายได้รับพิษจนกลายเป็นโรคคุชชิ่ง
ส่วนน้อยอาจเกิดจากต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนสตีรอยด์ (ได้แก่คอร์ติซอล)* มากผิดปกติ อันเนื่องมาจากมีเนื้องอกของต่อมหมวกไต บางครั้งอาจเกิดจากมี

* คอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนสตีรอยด์ที่สร้างโดยต่อมหมวกไต ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติในคนทั่วไป ฮอร์โมนนี้มีหน้าที่ควบคุมเมตาบอลิซึม (กระบวนการแปรรูปอณู โดยการสังเคราะห์และการแตกตัว) ของคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน ทำให้ร่างกาย เกิดพลังงาน อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ปกติ และช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับความเครียด (เช่น การบาดเจ็บ การติดเชื้อ การทำงานหนัก) ที่เกิดขึ้นได้ ร่างกายต้องการสตีรอยด์ในปริมาณพอเหมาะ หากมีมากเกินหรือน้อยเกินก็เกิดโรคได้

เนื้องอกของต่อมใต้สมอง หรือเนื้องอกของส่วนอื่นๆ   (เช่น มะเร็งปอด) ที่สร้างฮอร์โมนออกมากระตุ้นให้ต่อมหมวกไตสร้างสตีรอยด์มากเกิน
      
อาการ
มักจะค่อยๆ เกิดขึ้นช้าๆ เป็นแรมเดือน ในระยะแรกจะพบว่าผู้ป่วยหน้าอูมขึ้น จนหน้ากลมเป็นวงพระจันทร์และออกสีแดงเรื่อๆ มีก้อนไขมันเกิดขึ้นที่ต้นคอด้านหลัง (อยู่ระหว่างไหล่ทั้งสองข้าง) แลดูเป็นหนอก ซึ่งทางภาษาแพทย์เรียกว่า อาการหนอกควาย (buffaložs hump) รูปร่างอ้วน โดยจะอ้วนมากตรงเอว (พุงป่อง) แต่แขนขากลับลีบเล็กลง ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และซึมเศร้า

ผิวหนังจะออกเป็นลายสีคล้ำๆ ที่บริเวณท้อง (ท้องลายคล้ายคนหลังคลอด) และบริเวณสะโพก ผิวหนังบาง และมีจ้ำเขียวพรายย้ำง่ายเวลาถูกกระทบกระแทก
มักมีสิวขึ้นและมีขนอ่อนขึ้นที่หน้า (ถ้าพบในผู้หญิง ทำให้ดูว่าคล้ายมีหนวดขึ้น) ลำตัวและแขนขา กระดูกอาจผุกร่อน มักทำให้มีอาการปวดหลัง (เพราะกระดูกสันหลังผุ)
อาจมีความดันเลือดสูง หรือมีอาการของเบาหวาน

ผู้หญิงอาจมีเสียงแหบห้าว และมีขนมากแบบผู้ชาย ประจำเดือนมักจะออกน้อยหรือไม่มาเลย
ผู้ป่วยอาจไม่มีความรู้สึกทางเพศ อาจมีอารมณ์แปรปรวน หรือกลายเป็นโรคจิต
      
การแยกโรค
โรคนี้บางครั้งดูคล้ายคนอ้วน หรือน้ำหนักขึ้น ซึ่งจะไม่มีอาการอื่นๆ ที่พบในโรคคุชชิ่ง เช่น แขนขาลีบเล็ก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย จ้ำเขียวพรายย้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพบผู้ที่มีน้ำหนักตัวขึ้นอย่างผิดสังเกต ก็อย่าลืมถามประวัติการใช้ยาชุด ยาหม้อ ยาลูกกลอน และยาสตีรอยด์
      
การวินิจฉัย
หากมีอาการน่าสงสัย แพทย์จะทำการตรวจพิเศษ เพิ่มเติม เช่น ตรวจพบระดับสตีรอยด์ในเลือด และในปัสสาวะสูงกว่าปกติ
ในรายที่สงสัยเกิดจากเนื้องอกของต่อมหมวกไต    ต่อมใต้สมอง หรือเนื้องอกของส่วนอื่นๆ อาจต้องทำการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
      
การดูแลตนเอง
ผู้ที่มีน้ำหนักตัวขึ้นมากผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีประวัติกินยาชุด ยาหม้อ ยาลูกกลอน ติดต่อกันมานาน หรือมีอาการที่น่าสงสัยอื่นๆ (เช่น แขนขาลีบ เหนื่อยง่าย สิวขึ้น ขนอ่อนขึ้นที่หน้า จ้ำเขียวพรายย้ำ) ก็ควรไปปรึกษา แพทย์โดยเร็ว ระหว่างรอไปพบแพทย์ ไม่ควรหยุดยาที่กิน อยู่ทันทีทันใด อาจทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนสตีรอยด์เป็นอันตรายได้ เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคคุชชิ่ง ควรได้รับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง
      
การรักษา

แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ถ้าเกิดจากการใช้สตีรอยด์มากเกิน แพทย์จะค่อยลดขนาดของสารสตีรอยด์ลง โดยการให้ยาสตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) แทนยาชุด ยาหม้อ ยาลูกกลอน ที่ผู้ป่วยเคยกิน แล้วค่อยๆ ปรับลดลงทีละน้อย นัดมาตรวจดูระดับคอร์ติซอลในเลือดเป็นระยะ จนแน่ใจว่าต่อมหมวกไตที่ฝ่อตัว (เนื่องจากสารสตีรอยด์สังเคราะห์ที่กินขนาดมากเกินนั้นกดไม่ให้ต่อมนี้สร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลได้เอง) มีการฟื้นตัวและสามารถสร้างฮอร์โมน คอร์ติซอลได้เป็นปกติ ก็จะหยุดยาสตีรอยด์ในที่สุด ซึ่งอาจต้องใช้เวลาปรับตัวนานเป็นแรมปี

ถ้าเกิดจากเนื้องอกของต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง มักจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หลังผ่าตัดหากพบว่าร่างกายสร้างฮอร์โมนสตีรอยด์ไม่ได้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาสตีรอยด์ทดแทนไปตลอดชีวิต
      
ภาวะแทรกซ้อน
หากไม่ได้รับการรักษา อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันเลือดสูง และเบาหวาน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจวาย อัมพาต ไตวาย เป็นต้น
ผู้ป่วยมักมีภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย เช่น เป็นฝี พุพอง โรคเชื้อราตามผิวหนัง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ วัณโรคปอด เป็นต้น บางรายอาจมีการติดเชื้อรุนแรง จนเกิดภาวะเลือดเป็นพิษ ถึงเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ยังอาจมีภาวะกระดูกพรุน (ทำให้กระดูกสันหลังและกระดูกสะโพกหักง่าย) เป็นแผลหายยาก เป็นนิ่วในไต ต้อหิน ต้อกระจก
เด็กที่เป็นโรคนี้ จะเจริญเติบโตช้า เนื่องจากจะมีการกดการสร้างกระดูก ที่สำคัญ ในรายที่เป็นโรคคุชชิ่งจากการใช้สารสตีรอยด์มากเกิน หากมีการหยุดกินสารสตีรอยด์ทันทีทันใด จะเกิดภาวะขาดสตีรอยด์เฉียบพลัน และเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร่างกาย เผชิญกับความเครียด       
      
การดำเนินโรค
หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มักจะหายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกิดจากการใช้สารสตีรอยด์สังเคราะห์ มากเกิน
ส่วนในรายที่เกิดจากเนื้องอกชนิดไม่ร้าย หลังได้รับการผ่าตัดก็มักจะหายได้ แต่อาจต้องกินยาสตีรอยด์ทดแทนไปตลอดชีวิต ในบางรายอาจมีเนื้องอกกำเริบ จนมีอาการของโรคคุชชิ่งขึ้นใหม่ได้อีก ส่วนในรายที่ไม่ได้รับการรักษา ก็มักจะมีภาวะแทรกซ้อน จนเกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้
      
การป้องกัน
โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการใช้สารสตีรอยด์ ในรูปของยาชุด ยาหม้อ และยาลูกกลอน หากมีอาการของโรคปวดข้อ ปวดหลัง โรคหืด โรคภูมิแพ้ หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรใช้ยาเองอย่างผิดๆ
      
ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่นิยมใช้ยาชุด ยาหม้อ ยาลูกกลอน รักษาตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเชื่อตามข่าวลือ หรือคำแนะนำของคนรู้จัก
ส่วนโรคคุชชิ่งเกิดจากเนื้องอกต่อมใต้สมอง พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ ๕ เท่า 

ข้อมูลสื่อ

340-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 340
สิงหาคม 2550
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ