พญ.ชลีรัตน์ ดีเรกวัฒนชัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรคหืดในเด็ก ควบคุมได้ด้วยตนเอง
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคหืด ๑๕๐ ล้านคน และเสีย ชีวิตปีละมากกว่า ๑๘๐,๐๐๐ คน และกลุ่มของผู้ที่รอดชีวิตก็มีคุณภาพชีวิตต่ำลง
โรคหืดเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกที่จะต้องได้รับการแก้ไข พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก รุนแรงปานกลาง และรุนแรงน้อย แต่สัดส่วนการเสียชีวิตใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อยมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเท่าๆ กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก ดังนั้น ถึงแม้จะมีอาการของโรครุนแรงน้อยก็ประมาทไม่ได้
อาการอย่างไรเข้าข่ายเป็นโรคหืด
๑. เสียงหายใจออก ดังคล้ายนกหวีด มีเสียงดังวี๊ซ
๒. เหนื่อยง่ายขณะเล่นหรือออกกำลังกาย
๓. มีอาการไอเรื้อรังต่อเนื่องเป็นเวลานาน
๔. เวลาที่ติดไข้หวัด จะไอรุนแรง หรือไอนานกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่เป็นไข้หวัด
๕. มีอาการไอหรือหอบเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน
๖. อาการที่หอบเหนื่อยหรือไอ ดีขึ้นภายหลังได้รับยาขยายหลอดลม
๗. มีอาการไอหรือหอบภายหลังสัมผัสถูกสารบางชนิด เช่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง
๘. มีญาติพี่น้องเป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น แพ้อากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อหรือแม่ พี่น้องท้องเดียวกัน
ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหืดจะมีอาการแน่นหน้าอก อึดอัด หายใจลำบาก ไอ มีเสมหะ เกิดจากทางเดินหายใจตีบตัน เป็นครั้งคราว และเกิดขึ้นหลังจากสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นที่ผู้ป่วยแพ้ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ รังแคสัตว์ เกสรดอกไม้ หรือเชื้อราในอากาศ เป็นต้น
โรคหืดเกิดจากปัจจัยอะไร
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหืดคือพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
พันธุกรรมมีความสำคัญชัดเจนที่จะทำให้เกิดโรคหืด พบว่าถ้าพ่อเป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคหืดร้อยละ ๓๐ ถ้าแม่เป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคหืดมากกว่าร้อยละ ๓๐ ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคหืดสูงถึงร้อยละ ๖๐ ถ้ามีพี่น้อง (ท้องเดียวกัน) เป็นโรคหืด โอกาสเกิดโรคหืดจะสูงขึ้นร้อยละ ๗๐
ดังนั้น พันธุกรรม คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญของโรคหืด
สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยสำคัญให้โรคหืดแสดงอาการมากขึ้น ประกอบด้วย
- สารก่อภูมิแพ้ ไรฝุ่น เชื้อรา เกสรดอกไม้ แมลงสาบ อาหาร (เช่น นมวัว)
- การติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจ
- มลพิษ เช่น ควันบุหรี่ ไอเสีย รถยนต์
การอักเสบของทางเดินหายใจ
การอักเสบเป็นกระบวนการทางภูมิต้านทานของร่างกายที่จะตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่มีอันตรายต่อร่างกาย เช่น ข้ออักเสบ ผิวหนังอักเสบ ลำไส้อักเสบ
หลอดลมที่อักเสบจะมีความไวผิดปกติ ทำให้ตีบตันง่ายเมื่อถูกกระตุ้น หรือเมื่ออากาศเปลี่ยน (โรคหืดจึงมักพบคู่กับโรคแพ้อากาศ)
การตีบตันของทางเดินหายใจเมื่อถูกกระตุ้น เกิดจาก
๑. การหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ หลอดลม
๒. ผนังหลอดลมบวมหนาตัวขึ้น
๓. เสมหะสร้างมากผิดปกติมาอุดตันทางเดินหายใจ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากกระบวนการอักเสบของผนังหลอดลม เมื่อทางเดินหายใจตีบแคบลง ผู้ป่วยต้องหายใจให้แรงและเร็วขึ้น เพื่อให้ลมสามารถผ่านเข้าออกได้มากพอแก่การนำออกซิเจนมาให้เพียงพอ แก่ร่างกาย และสามารถขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากร่างกาย
ผู้ป่วยโรคหืดมักมีอาการภายหลังสัมผัสถูกสารที่แพ้ เช่น ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ จะมีการตีบตันของหลอดลม การตีบตันนี้อาจหายเป็นปกติเอง หรือภายหลังการใช้ยาขยายหลอดลม การตีบตันหรือการคลายตัวของหลอดลมจนเกือบ ปกติในผู้ป่วยโรคหืดมักเป็นๆ หายๆ จนเป็นลักษณะสำคัญของผู้ป่วยโรคหืด หากวัดสมรรถภาพของปอดจะพบว่ามีความแปรปรวน
การรักษาอาการอักเสบของหลอดลมด้วยยาสูดต้านการอักเสบ โดยไม่ปล่อยให้การอักเสบเรื้อรังลุกลาม และรุนแรง การรักษาส่วนใหญ่มักให้ผลดี ถ้าผู้ป่วยใช้ ยาได้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับหลีกเลี่ยงสารที่มากระตุ้น
สาเหตุกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ หอบ
สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการหอบ
๑. การติดเชื้อหวัด
สังเกตได้จากผู้ป่วยโรคหืดมักมีอาการหวัดที่เรื้อรัง และจะมีอาการนำมาก่อน บางรายไอมากและเกิดอาการ หอบ
ดังนั้น ผู้ป่วยต้องเตรียมยาขยายหลอดลมให้พร้อม หากมีอาการหวัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น กลับไอมากขึ้น ให้สูดยาขยายหลอดลมก่อนที่จะมีอาการหอบรุนแรง
๒. การออกกำลังกาย
เด็กโรคหืดจะมีอาการไอหรือเหนื่อยง่ายภายหลังการออกกำลังกาย ซึ่งทำให้เด็กหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ซึ่งกลับจะส่งผลเสียในระยะยาว
ทางแก้ไขก็คือ ให้ผู้ป่วยสูดยาขยายหลอดลมก่อน ออกกำลังกาย และเริ่มออกกำลังกายที่ไม่รุนแรงหรือเหนื่อยมาก (เช่น กีฬาที่ต้องแข่งขัน) แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มการออกกำลังกายให้มากขึ้น โดยผู้ป่วยจะต้องสังเกตตนเองว่า เล่นแล้วเริ่มรู้สึกอึดอัดก็ให้เลิกเล่นได้
๓. สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย
บรรดาสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ ไรฝุ่น นุ่น เกสรหญ้า เชื้อรา ขนสัตว์ และแมลงสาบ
ผู้ป่วยที่แพ้เกสรของดอกไม้ เมื่อถึงฤดูกาลที่ ดอกไม้บานและเกสรดอกไม้ปลิวกระจายไปทั่ว มักจะมีอาการหอบช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะช่วงที่อากาศเย็นจะมีเกสรดอกหญ้าในอากาศมากมาย
๔. สิ่งระคายเคือง
กลิ่นสารเคมี น้ำยาทำความสะอาดพื้น โดยเฉพาะ อย่างยิ่งควันบุหรี่ จะไประคายเคืองทางเดินหายใจ ซึ่งมีความไวสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบได้
๕. อากาศที่เปลี่ยนแปลงและมลพิษ
ผู้ป่วยบางคนจะมีอาการอึดอัดเมื่ออากาศชื้นหรือ เย็นลง
๖. อาการเครียด
ผู้ป่วยที่มีอาการหอบ เมื่อเกิดอาการเครียดหรือเมื่อ มีเหตุการณ์มากดดันหรือกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง
๗. การใช้ยาไม่ถูกต้อง ใช้ยาไม่สม่ำเสมอ
ยาที่ได้รับมาจะต้องใช้ตามเอกสารกำกับยา บางคนลืมใช้ยา ยาหมด หรือยาหมดอายุ
อาการที่ชวนสงสัยว่าอาจเป็นโรคหืด
บรรดาอาการต่างๆ เหล่านี้ คนใกล้ชิดจะต้องพยายามสังเกต จะได้หาทางป้องกันและแก้ไขหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
๑. เคยมีอาการหายใจเสียงดังวี๊ซ
๒. มีอาการไอเรื้อรังและมากในเวลากลางคืน
๓. มีอาการไอหรือหายใจเสียงดังวี๊ซ ภายหลังการออกกำลังกาย
๔. มีอาการของไข้หวัดหรือเป็นเรื้อรังนานเกิน ๑๐ วัน หรือมักมีอาการ หวัดลงหลอดลม
๕. เคยได้รับยารักษาโรคหืด
อาการอย่างไรที่ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือด่วนมาก
อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคหืด คนใกล้ชิดหรือคนที่พบเห็นจะต้องรีบช่วยเหลือทันทีและถูกต้อง
๑. ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย
๒. เริ่มมีอาการเขียวรอบปาก
๓. ผู้ป่วยที่ต้องสูดยาขยายหลอดลมบ่อยกว่าทุก ๓-๔ ชั่วโมง
๔. ผู้ป่วยไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้
๕. ผู้ป่วยมีเสียงหายใจวี๊ซ เพียงเล็กน้อยแต่มีอาการอ่อนเพลียมาก หายใจลำบาก
๖. เริ่มมีอาการซึม (บางรายเอะอะโวยวาย คล้ายคนจะจมน้ำ)
๗. สำหรับเด็กเล็ก หรือทารกที่ไม่ค่อยดูดนม ร้องเสียงเบา หายใจแรงและเร็ว ผิวหนังมีสีซีดหรือเล็บสีคล้ำ
โรคหืดเป็นโรคที่พบบ่อยจนเป็นปัญหาสำคัญ แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการหอบที่ไม่รุนแรง แต่ก็เป็นโรคที่รบกวนชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กขาดเรียนบ่อย ไม่กล้าออกกำลังกายเท่าที่อยากเล่น เสียโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา
แม้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตประจำวันที่ปกติเหมือนคนทั่วไป สำหรับเด็กโรคหืดสามารถเรียน เล่น และนอนได้เหมือนเด็กปกติ
ผู้ป่วยโรคหืดต้องพยายามรักษาสุขภาพให้ดีด้วยอาหารที่ครบ ๕ หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยง สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการหอบ
ศึกษาการใช้ยาที่ถูกต้อง สามารถเลือกใช้ยาขยาย หลอดลมขณะที่มีอาการหอบ และใช้ป้องกัน หรือต้านการอักเสบอย่างสม่ำเสมอทุกวันตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท เนื่องจากยังมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้ ไม่เว้นแม้ผู้ป่วยที่มีอาการหอบที่ไม่รุนแรง
โรคหืดรักษาหายขาดหรือไม่
ไม่กล้าพูดว่าหายขาด แต่ควบคุมได้
ควบคุมได้คือผู้ป่วยมีชีวิตปกติ ไม่ต้องไปโรง-พยาบาล ไม่ต้องสูดยาขยายหลอดลม ทำกิจกรรมได้ เล่นกีฬาได้ เหมือนคนปกติอื่นๆ
แต่ไม่มีใครกล้าบอกว่าหายขาด เพราะไม่ได้ติดตามดูพยาธิสภาพของทางเดินหายใจว่าเป็นปกติหรือไม่
อายุมากขึ้น ๖๐ ๗๐ ปี โดยปกติสมรรถภาพของปอดก็จะต่ำลงอยู่แล้ว หากเคยป่วยเป็นโรคหืด สมรรถ-ภาพของปอดวัยนี้จะต่ำลงอย่างชัดเจน และต่ำกว่าคนปกติ อาการของโรคที่เคยสงบก็จะกลับมาปรากฏชัดอีก
การดูแลตนเอง
อาการไอคือสัญญาณเตือน เมื่อเริ่มไอรุนแรง หรือไอต่อเนื่องจนสงสัยว่าเริ่มจะหอบ ต้องเตรียมสูดยาขยายหลอดลม ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องมียาขยายหลอดลมติดตัวตลอดเวลา
สำหรับโรคภูมิแพ้ทั่วไป แพ้อะไรก็หลีกเลี่ยงอย่างนั้น เช่น
บุหรี่
พ่อ แม่ เลิกสูบบุหรี่ ไม่อนุญาตใครมาสูบบุหรี่บริเวณรอบๆ บ้านที่เด็กอยู่
ไรฝุ่น
คลุมหมอน ที่นอนให้มิดชิดด้วยวัสดุที่ป้องกันไรฝุ่นเล็ดลอดออกมา
ซักเครื่องนอนด้วยน้ำอุ่น (มากกว่า ๕๐ องศาเซลเซียส) อบให้แห้งทุก ๑-๒ สัปดาห์
งดใช้พรมปูพื้น
ไม่นอนบนเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนปุกปุย
ลดความชื้นของห้องให้ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐
สัตว์เลี้ยง
งดเลี้ยงสัตว์ปีก สัตว์ขน รวมทั้งของใช้ที่ทำจาก ขนสัตว์
แมลงสาบ
กำจัดเศษอาหารให้หมด
ปิดถังขยะให้มิดชิด
เป้าหมายของการรักษาโรคหืดในปัจจุบัน คือต้อง ไม่หอบ สามารถนอนหลับสนิทได้ตลอดคืน ไม่ต้องลุกขึ้นมากินยาหรือสูดยา เพราะเหนื่อยหอบ ไม่ต้องใช้ยาขยายหลอดลม (หากต้องใช้ก็ไม่ควรบ่อย) นั่นคือต้องไม่มีการหอบฉับพลันที่ต้องมาห้องฉุกเฉิน เพราะว่า "คุณสามารถควบคุมโรคหืดของคุณได้"
ณัฎธิดา กอมนชัย
โรคหืดเหมือนเป็นเพื่อน แต่อย่าให้เพื่อนมาทำร้ายเรา
เริ่มมีอาการหอบหืดตั้งแต่เด็ก
อาการของโรคหืดชัดเจนตอนอายุ ๖ ขวบ (ปัจจุบันอายุ ๔๐ ปี) มีอาการไอมากและไอเรื้อรัง เหตุจากเป็นเด็กชอบเล่นน้ำ ไม่มีอะไรทำก็จะไปล้างหน้า เล่นน้ำ จนชื้น ไอมาก และทำให้ไอเรื้อรัง
ชีวิตวัยประถมต้องหยุดเรียนบ่อย ประมาณประถมปลาย จนกระทั่งพักการเรียน ๑ ปีเต็ม เพราะนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่าอยู่บ้าน
ช่วงมัธยมศึกษาขาดเรียนน้อยลง โรคหืดไม่เป็นอุปสรรคกับการเรียนมหาวิทยาลัย สามารถทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ได้ตามปกติ แต่บอกเพื่อนว่าเป็นโรคหืด
ที่ผ่านมาสามารถไปปีนภูกระดึง ไปดำน้ำกับเพื่อนๆ ได้
การดูแลตัวเองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิกและว่ายน้ำ สัปดาห์ละ ๔ วัน ตกวันละประมาณ ๓ ชั่วโมง
ขณะนี้ผ่านไป ๑๐ ปีแล้วที่สามารถควบคุมโรคหืดไม่ให้กำเริบหนัก (ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับออกซิเจน) แต่ก็ไม่ประมาท เพราะใกล้ตัวจะมียาสูด และกินยาป้องกันก่อนนอน
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานเป็นโรคหืด จะต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และอย่าให้เด็กแช่น้ำ เล่นน้ำ เพราะจะทำให้เป็นหวัดง่าย ซึ่งจะทำให้หายใจลำบาก
เวลามีเสลดมากๆ ต้องคอยสังเกต พยายามอย่าให้กลืนลงคอ ให้เด็กคายออกมาให้ได้ เพราะเด็กเอาออกไม่เป็น ต้องพยายามช่วยเขา ให้เด็กนอนคว่ำหน้า เอามือไล่หลังให้เสลดออกมาให้ได้ ถ้าไม่ออกเด็กจะเหนื่อย พ่อแม่ต้องคอยสังเกต อย่าให้พี่เลี้ยงดูแล พี่เลี้ยงไม่รู้หรอกว่าลูกของเราเป็นอะไร เช่น กินสาหร่ายมาหลายวัน ขึ้นผื่นปุ๊บต้องเลิกกิน เปลี่ยนอาหารและอย่ากินอาหารซ้ำๆ เด็กเล็กสามารถเล่นกีฬาอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน แต่อย่าให้ถึงกับหอบ พอเหนื่อยก็หยุดพัก
การออกกำลังกายของทุกเพศทุกวัย จะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย
- อ่าน 14,563 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้