ดอกพุดตานสีแดงตอนเย็น
สีขาว-ตอนเช้า สีชมพู-กลางวัน
ดอกพุดตาน ยามเช้าบานไสว
มองแล้วเพลิน ดูขาวชวนเชิญ ชมชื่นใจ
ครั้นตะวัน พ้นขอบฟ้าพลัน สีแปรไป
กลีบขาวกลายเปลี่ยนเป็นชมพู รู้กลับกลาย
สายัณห์เย็นสีกลายกลับเป็นสีแดงพลัน
พุดตานมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน สำหรับชาวจีนจัดว่าต้นพุดตานเป็นไม้มงคล เป็นเพราะดอกพุดตานเปลี่ยนสีได้ถึง 3 สี ภายในวันเดียว ซึ่งเปรียบเสมือนวัฏจักรของชีวิตคนที่เริ่มต้นเปรียบเหมือนเด็กที่เป็นผ้าขาว ค่อยๆ โตขึ้นพร้อมกับสีสรรที่แต่งแต้มขึ้นมา จนกระทั่งมีอายุมากขึ้นพร้อมกับสีที่เข้มขึ้นจนกระทั่งร่วงโรยจากไป เชื่อว่าต้นพุดตานอาจนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยช่วงที่ไทยมีค้าขายกับชาวจีนในสมัยรัตนโกสินทร์
พุดตาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus mutabilis L. ถ้าสังเกตจากชื่อสกุล ก็คงเดาได้ว่าเป็นสกุลเดียวกับดอกชบา และอยู่ในวงศ์ Mavaceae
พุดตานเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 1-3 เมตร เช่นเดียวกันกับชบา แต่มีใบคล้ายใบของพืชวงศ์เดียวกับอีกชนิดหนึ่งคือฝ้าย จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญว่า cotton rose
ใบต้นพุดตานเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ เรียงสลับ มีขนาดกว้าง 9-20 เซนติเมตร ยาว 10-22 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบเว้าลึก 3-5 แฉก แผ่นใบสีเขียวค่อนข้างหนา มีขนปกคลุมทั่วใบ เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ ด้วยความที่มีใบใหญ่และลำต้นเป็นพุ่ม ต้นพุดตานจึงเหมาะที่จะปลูกเพื่อบังทิวทัศน์ที่ไม่งดงามได้ดี
ดอกพุดตานมีอีกชื่อหนึ่งคือดอกสามสี อาจมีขนาดใหญ่ประมาณ 10 เซนติเมตร มีแฉก 3-5 แฉก เมื่อดอกเริ่มบานจะเป็นสีขาว และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้มขึ้นจนแดงตามลำดับ ภายในระยะเวลา 1 วัน จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญอีกชื่อว่า changeable rose
ดอกพุดตานมีทั้งแบบกลีบดอกซ้อน และไม่ซ้อน ส่วนผลนั้นมีลักษณะกลมและมีขน เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 5 แฉก ต้นพุดตานสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปักชำและการตอนกิ่ง
สำหรับสารสำคัญที่พบในใบนั้น เป็นชนิดเดียวกับที่พบในสมุนไพรหลายๆ ชนิดคือฟลาโวนอยด์ กลัยโคไซด์ ซึ่งทราบกันดีว่าสารตัวนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีในร่างกายของคนเรา
ดอกพุดตานมีสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ซึ่งจะมีปริมาณที่เปลี่ยนแปลงไปตามสีของดอกพุดตาน โดยจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดอกมีสีแดงเข้มสารนี้จะมีปริมาณเป็น 3 เท่าของดอกสีชมพู
สรรพคุณทางสมุนไพรของพุดตานคือ ใช้ใบสด หรือดอกสด ตำผสมน้ำผึ้งทาบริเวณที่เป็นฝี หรือบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยไม่ให้เกิดการอักเสบได้ ส่วนใบแห้ง ให้บดเป็นผงใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือจะใช้ส่วนรากตำ และนำไปพอกรักษาโรคงูสวัด
- อ่าน 70,129 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้