• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิทธิชุมชนในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550(ตอนที่ 1)

นับเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บัญญัติเรื่อง "การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ" (health impact assessment-HIA) ไว้ในมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรับรองสิทธิชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในการริเริ่มดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทางคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยจะต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ความเห็นประกอบก่อนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวด้วย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด  กฎหมายอีกฉบับที่บัญญัติเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไว้คือ มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งระบุสิทธิของบุคคลที่จะร้องขอและมีส่วนร่วมในการประเมินทั้งนโยบายสาธารณะ (public policy) และโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ  


ข่าวคราวการเรียกร้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ มีให้เห็นเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต บางกรณีมีการต่อสู้เรียกร้องเป็นเวลานานนับสิบปี เช่น กรณีชาวบ้านในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นผลกระทบจากเหมืองถ่านหินลิกไนต์เพื่อผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2552 ศาลปกครองเชียงใหม่ตัดสินให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพได้รับค่าเสียหายจาก กฟผ. หรือกรณีจังหวัดระยองที่เป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานปิโตรเคมีในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พบว่ามีตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ และทำให้พืชผลทางเกษตรได้รับความเสียหายจากสารเคมี ฝุ่นละออง


สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนนั้นๆ แม้ว่าโครงการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหรือการทำเหมืองถ่านหินจะผ่านการพิจารณาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แล้วก็ตาม อีกทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกของคนในชุมชน วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เกิดปัญหาสังคม อาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุของปัญหาน่าจะเกิดจากโครงการเหล่านี้ขาดการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างรัดกุมและรอบด้าน ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนจากเจ้าของโครงการ คนในชุมชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความเห็นที่เปิดกว้าง เป็นกลาง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ    


การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพน่าจะเป็นทางออกของปัญหาข้างต้นได้ทางหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวถึงหลักการสำคัญในบทความตอนต่อไป การบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญย่อมถือเป็นเรื่องสำคัญ อันเป็นผลจากการผลักดันของภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และกลุ่มชาวบ้าน 

 

ข้อมูลสื่อ

368-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 368
ธันวาคม 2552