• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เอดส์ - โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

วันที่ 1 ธันวาคมเป็น "วันเอดส์โลก" ฉบับนี้จึงขอว่าด้วยโรคเอดส์

เอดส์ เป็นโรคอุบัติใหม่ มีรายงานผู้ป่วยครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ.2524 และมีรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2527 ในช่วง 10-15 ปีแรกของการระบาด เนื่องจากไม่มียารักษา ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตประมาณ 2-3 ปีหลังการวินิจฉัย จนได้ชื่อว่า "โรคห่ายุคใหม่" คาดประมาณว่า มีคนไทยติดโรคนี้กว่า 1 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 500,000 ราย

หลังจากมีการใช้ยาต้านไวรัสรักษาโรคเอดส์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พบว่าสามารถลดอัตราตายลงได้อย่างมากและลดความรุนแรงของโรคลงได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่ง ทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพแข็งแรง และดำเนินชีวิตได้เช่นคนปกติทั่วไป ในปัจจุบันจึงถือว่าเอดส์เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่สามารถให้ยาควบคุมจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุยืนยาวเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ
 

* ชื่อภาษาไทย 

เอดส์ กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง
 

* ชื่อภาษาอังกฤษ 

AIDS, Acquired immune deficiency syndrome, Acquired immunodeficiency syndrome
 

* สาเหตุ

เกิดจากเชื้อเอชไอวี  (มี 2 ชนิด ได้แก่ HIV-1 และ HIV-2 การระบาดทั่วโลกส่วนใหญ่ รวมทั้งประเทศไทยเกิดจาก HIV-1 ซึ่งยังแบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ได้อีกหลายชนิด ส่วน HIV-2 พบระบาดในแอฟริกา) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดใหม่ เพิ่งมีการเพาะเลี้ยงแยกเชื้อได้ในปี พ.ศ.2526 เชื้อนี้มีมากในเลือด น้ำอสุจิ และน้ำเมือกในช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ จึงสามารถแพร่เชื้อได้โดย
1. ทางเพศสัมพันธ์ ทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน (ในชายรักร่วมเพศ หรือเกย์)

2. ทางเลือด เช่น การได้รับการถ่ายเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะที่มีเชื้อ การแปดเปื้อนผลิตภัณฑ์จากเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น
ส่วนการใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน เป็นต้น) ร่วมกับผู้ติดเชื้อ การสัก การเจาะหู อาจมีโอกาสแปดเปื้อนเลือดที่มีเชื้อได้ แต่จะมีโอกาสติดโรคได้ก็ต่อเมื่อมีแผลเปิด และปริมาณเลือดหรือน้ำเหลืองที่เข้าไปในร่างกายมีจำนวนมากพอ

3. การติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อสู่ทารก ตั้งแต่ระยะอยู่ในครรภ์ ระยะคลอด และระยะเลี้ยงดูหลังคลอด โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อจากมารดาประมาณร้อยละ 20-50

จากการศึกษาในประเทศต่างๆ เท่าที่ผ่านมาไม่พบว่ามีการติดต่อโดย
* การหายใจ ไอ จามรดกัน
* การกินอาหาร และดื่มน้ำร่วมกัน
* การว่ายน้ำในสระ หรือเล่นกีฬาร่วมกัน
* การใช้ห้องน้ำร่วมกัน
* การอยู่ในห้องเรียน ห้องทำงาน ยานพาหนะ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
* การสัมผัส โอบกอด
* การใช้ครัว ภาชนะเครื่องครัว จาน แก้ว หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน
* การใช้โทรศัพท์ร่วมกัน
* การถูกยุงหรือแมลงกัด
เชื้อเอชไอวีเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ก็จะมีการเพิ่มจำนวน สามารถแยกเชื้อไวรัสหรือตรวจพบสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน) ได้หลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์ และจะตรวจพบสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ได้หลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์  ผู้ที่ตรวจพบสารภูมิต้านทานในเลือดร้อยละ 90 จะมีเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด ซึ่งสามารถแพร่โรคให้ผู้อื่นได้ แม้จะไม่มีอาการอะไรเลยก็ตาม
 

* อาการ

เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแตกต่างกันไป สุดแล้วแต่จำนวนของเชื้อและระดับภูมิคุ้มกัน (จำนวน CD4) ของร่างกาย ดังนั้นโรคนี้จึงสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกันดังนี้

1. ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อเอชไอวี (primary HIV infection หรือ acute retroviral syndrome) ระยะนี้นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเอชไอวี จนกระทั่งร่างกายเริ่มสร้างสารภูมิต้านทาน กินเวลาประมาณ 1-6 สัปดาห์หลังติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ 1-2 สัปดาห์ (บางรายเพียง 2-3 วัน บางรายอาจนานถึง 10 สัปดาห์) แล้วหายไปได้เอง เนื่องจากอาการคล้ายกับไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่หรือไข้ทั่วๆ ไป ผู้ป่วยอาจซื้อยารักษาเอง หรือเมื่อไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด นอกจากนี้บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น ดังนั้น ผู้ติดเชื้อจึงมักไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ในระยะนี้

ผู้ติดเชื้อบางรายอาจมีอาการรุนแรง มีอาการสมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการอยู่นานหรือรุนแรง มักดำเนินโรคเข้าสู่ระยะเอดส์เต็มขั้นภายในเวลาสั้นๆ ถ้ามีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ก็อาจเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้

2. ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยอยู่ชั่วขณะดังกล่าวมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่การตรวจเลือดจะพบเชื้อเอชไอวีและสารภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (carrier) 

ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่เชื้อเอชไอวีจะแบ่งตัวเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ และทำลาย CD4 จนมีจำนวนลดลง โดยเฉลี่ยประมาณปีละ 50-75 เซลล์/ลบ.มม. จากระดับปกติ (คือ 600-1,000 เซลล์) เมื่อลดต่ำลงมากๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้อัตราการลดลงของ CD4 จะเร็วช้าขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อเอชไอวี และสภาพความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

ระยะนี้มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี บางรายอาจสั้นเพียง 2-3 เดือน แต่บางรายอาจนานกว่า 10-15 ปีขึ้นไป


3. ระยะติดเชื้อที่มีอาการ เดิมเรียกว่า ระยะที่มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (AIDS related complex/ARC) ผู้ป่วยจะมีอาการมากน้อยขึ้นกับจำนวน CD4 ดังนี้

ก. อาการเล็กน้อย ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้
* ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย
* โรคเชื้อราที่เล็บ
* แผลแอฟทัส
* ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก ริมฝีปาก
* ฝ้าขาวข้างลิ้น (hairy leukoplakia) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus/EBV) มีลักษณะเป็นฝ้าขาวที่ด้านข้างของลิ้น ซึ่งขูดไม่ออก
* โรคโซริอาซิส (สะเก็ดเงิน) ที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ

ข. อาการปานกลาง ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุช่องปากแบบข้อ ก. หรือไม่ก็ได้ อาการที่อาจพบได้มีดังนี้
* เริมที่ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ ซึ่งกำเริบบ่อย และเป็นแผลเรื้อรัง
* งูสวัด ที่มีอาการกำเริบอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือขึ้นพร้อมกันมากกว่า 2 แห่ง
* โรคเชื้อราในช่องปาก หรือช่องคลอด
* ท้องเดินบ่อย หรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน
* ไข้เกิน 37.8 องศาเซลเซียส แบบเป็นๆ หายๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน
* ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 แห่งในบริเวณไม่ติดต่อกัน (เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ) นานเกิน 3 เดือน
* น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
* ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
* ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
* ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นซ้ำบ่อย

4. ระยะป่วยเป็นเอดส์ (เอดส์เต็มขั้น) ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจ CD4 จะพบมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว วัณโรค เป็นต้น ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้า เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic  infections) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยาก และอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำอย่างเดียวหรือติดเชื้อชนิดใหม่ หรือติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน

ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้
* เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
* ไข้ หนาวสั่น หรือไข้สูงเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน
* ไอเรื้อรัง หรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอด หรือปอดอักเสบ
* ท้องเดินเรื้อรัง จากเชื้อราหรือโปรตัวซัว
* น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้ง และอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
* ปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง
* ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
* กลืนลำบาก หรือเจ็บเวลากลืน เนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา
* สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด หรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปมาจากจอตาอักเสบ
* ตกขาวบ่อย
* มีผื่นคันตามผิวหนัง (papulopruritic eruption)
* ซีด
* มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
* สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม เนื่องจากความผิดปกติของสมอง
* อาการของโรคมะเร็งที่เกิดแทรกซ้อน เช่น มะเร็งของผนังหลอดเลือดที่เรียกว่า Kaposi's sarcoma (KS) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น
ในเด็ก ที่ติดเชื้อเอชไอวี ระยะแรกอาจมีอาการน้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามเกณฑ์ เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นก็อาจมีอาการเดินลำบากหรือพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ และเมื่อเป็นเอดส์เต็มขั้น นอกจากมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแบบเดียวกับผู้ใหญ่แล้ว ยังอาจพบว่าหากเป็นโรคที่พบทั่วไปในเด็ก (เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ ทอนซิลอักเสบ) ก็มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ


                        


* การแยกโรค

ในระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ป่วยมักมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติทั่วไป จะทราบว่ามีการติดเชื้อก็โดยการตรวจเลือด
ในระยะติดเชื้อที่มีอาการ ผู้ป่วยสามารถแสดงอาการได้แบบเดียวกับการติดเชื้อของระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น
* ผิวหนังเป็นเริม งูสวัด โรคเชื้อรา แผลเรื้อรัง พุพอง
* ลิ้นเป็นฝ้าขาวแบบโรคเชื้อรา
* เป็นไข้และไอเรื้อรัง แบบวัณโรคปอด
* เป็นไข้ ไอ หอบ แบบปอดอักเสบ
* เป็นไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอก้มไม่ได้ (คอแข็ง) แบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
* แขนขาชาหรืออ่อนแรง แบบไขสันหลังอักเสบ
* ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกแบบโรคเลือด
* ท้องเดินเรื้อรัง แบบมะเร็งลำไส้ใหญ่
ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการผิดปกติแบบเรื้อรัง หรือร่วมกับไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ก็ถึงสงสัยว่าเป็นโรคเอดส์ 


 
* การวินิจฉัย

แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้โดยการตรวจเลือดเพื่อบ่งบอกการติดเชื้อเอชไอวีโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
- ตรวจหาสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อเอชไอวี โดยวิธีอีไลซ่า (ELISA) จะตรวจพบสารภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ประมาณ 8 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 6 เดือน) วิธีนี้เป็นการตรวจยืนยันด้วยการตรวจกรองขั้นต้น ถ้าพบเลือดบวก ต้องทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีอีไลซ่าที่ผลิตโดยอีกบริษัทหนึ่งที่ไม่ซ้ำกับวิธีตรวจครั้งแรก หรือทำการตรวจด้วยวิธี particle agglutination test (PA) ถ้าให้ผลบวกก็สามารถวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี แต่ถ้าให้ผลลบก็ต้องตรวจยืนยันโดยวิธีเวสเทิร์นบลอต (Western blot) อีกครั้ง ซึ่งให้ผลบวก 100% หลังติดเชื้อ 2 สัปดาห์

- การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจน (ส่วนประกอบของตัวเชื้อเอชไอวี) โดยวิธี PCR จะตรวจพบแอนติเจนหลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์
ในรายที่มีอาการแสดง นอกจากการตรวจเลือดดังกล่าวข้างต้นแล้ว แพทย์จะตรวจหาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น ตรวจเสมหะและเอกซเรย์ปอดในรายที่สงสัยเป็นปอดอักเสบหรือวัณโรคปอด เจาะหลังในรายที่สงสัยจะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตรวจชิ้นเนื้อในรายที่สงสัยเป็นมะเร็ง เป็นต้น

 

* การดูแลตนเอง

ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี (เช่น มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย ฉีดยาเสพติด มีสามี ภรรยาหรือคู่นอนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น) หรือมีอาการที่ชวนสงสัย ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด
เมื่อตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ ควรปฏิบัติดังนี้

- ไปพบแพทย์และตรวจเลือดเป็นระยะๆ ตามที่แพทย์แนะนำ และกินยาต้านไวรัสเมื่อมีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. การกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องมักจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนาน ส่วนใหญ่มักจะนานกว่า 10 ปีขึ้นไป หากสงสัยมีอาการข้างเคียงจากยา ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัด เพื่อปรับเปลี่ยนยา พยายามอย่าให้ขาดยา

- ทำงาน เรียนหนังสือ คบค้าสมาคมกับผู้อื่นและปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าจะแพร่เชื้อให้คนอื่นโดยการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกันหรือหายใจรดผู้อื่น

- หากมีความกังวลเป็นทุกข์ใจ ควรเล่าความในใจให้ญาติสนิทมิตรสหายฟัง หรือขอคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หรืออาสาสมัครในองค์กรพัฒนาเอกชน

- เรียนรู้ธรรมชาติของโรค การรักษา การดูแลตนเอง จนมีความเข้าใจโรคนี้เป็นอย่างดี ก็จะไม่มีความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และมีกำลังใจเข้มแข็ง ซึ่งเป็นอาวุธอันทรงพลังในการบำรุงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงต่อไป ผู้ที่เสียกำลังใจอาจเสียสุขภาพทางกายหรือถูกโรครุมเร้าได้ง่าย

- ส่งเสริมสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย (ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมราคาแพง) งดแอลกอฮอล์ บุหรี่ สิ่งเสพติด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

- เสริมสร้างสุขภาพจิตด้วยการฟังเพลง ร้องเพลง เล่นกีฬา อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ฝึกสมาธิ เจริญสติ สวดมนต์หรือภาวนาตามลัทธิศาสนาที่นับถือ หมั่นทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่น สร้างกุศลกรรม (เช่น ช่วยรณรงค์ในการป้องกันโรคเอดส์ บำเพ็ญประโยชน์ ทำงานอาสาสมัคร เป็นต้น) ถ้ามีโอกาสควรเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในหมู่ผู้ติดเชื้อ

- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดย
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และงดการร่วมเพศทางปากหรือทวารหนัก
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • งดการบริจาคเลือดหรืออวัยวะต่างๆ เช่น ดวงตา ไต เป็นต้น
  • เมื่อร่างกายเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ให้รีบทำความสะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที แล้วนำไปแยกซักให้สะอาดและตากให้แห้ง ควรระวังอย่าให้ผู้อื่นสัมผัสถูกเลือดหรือน้ำเหลืองของตัวเอง 
  • ไม่ใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น

- หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ โดยการคุมกำเนิด เพราะเด็กอาจมีโอกาสรับเชื้อจากมารดาได้

- มารดาที่มีการติดเชื้อ ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง 

ส่วนผู้ที่ตรวจพบว่า มีอาการป่วยเป็นเอดส์แล้ว ควรปฏิบัติดังนี้
- ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ โดยปรับให้เหมาะกับสภาพร่างกาย เช่น ทำงานและออกกำลังกายแต่พอเหมาะ

-  กินยาและรับการรักษาพยาบาลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรกินยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาทุกวัน อย่าได้ขาด ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีเช่นคนปกติทั่วไป

- เมื่อมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน ควรป้องกันมิให้เชื้อโรคต่างๆ แพร่ให้ผู้อื่น เช่น
  •ใช้กระดาษหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม
  • ถ้วย ชาม จาน แก้วน้ำที่ใช้แล้ว ควรล้างให้สะอาด ด้วยน้ำยาล้างจานหรือลวกด้วยน้ำร้อน แล้วทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำไปใช้ใหม่
  • ควรระมัดระวังมิให้น้ำมูก น้ำลาย น้ำเหลืองจากแผล ปัสสาวะ และสิ่งขับถ่ายต่างๆ ไปเปรอะเปื้อนถูกผู้อื่น
  • การบ้วนน้ำลายหรือเสมหะ รวมทั้งการทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว ควรมีภาชนะใส่ให้เป็นที่เป็นทาง และสามารถนำไปทิ้งหรือทำความสะอาดได้สะดวก
  • สามารถใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ควรระมัดระวังอย่าให้สิ่งขับถ่าย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ  อาเจียน เป็นต้น เปรอะเปื้อนพื้นโถส้วมและอ่างล้างมือ ควรล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีส่วนผสมของคลอรอกซ์ (Chlorox) เป็นประจำ และล้างมือหลังจากการขับถ่ายทุกครั้ง
 

สำหรับญาติและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ควรปฏิบัติดังนี้ 
-ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์อย่างถ่องแท้

- ให้กำลังใจ ดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความอบอุ่น เช่น การพูดคุย สัมผัสโอบกอด เป็นต้น และคอยกระตุ้นเตือนให้ผู้ป่วยกินยาตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาต้านไวรัสซึ่งต้องกินให้ตรงเวลาทุกวันอย่าได้ขาด

- หากผู้ป่วยมีบาดแผลหรือเปรอะเปื้อนเลือด หรือน้ำเหลืองที่ร่างกายหรือเสื้อผ้าของผู้ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกโดยตรง ถ้าจะสัมผัสควรสวมถุงมือยาง ถ้าไม่มี อาจใช้ถุงพลาสติกที่ไม่มีรูรั่ว 2-3 ชั้น แทนก็ได้

-เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนของผู้ป่วยที่ไม่เปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ไม่ต้องแยกซักต่างหาก แต่ถ้าเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ควรใช้ถุงมือยางจับต้องและนำไปแช่ในน้ำผสมผงฟอกขาวประมาณ 30 นาทีเสียก่อน แล้วจึงนำไปซักด้วยผงซักฟอกตามปกติ

-ทุกคนในบ้านสามารถใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมร่วมกับผู้ป่วยได้ แต่ควรทำความสะอาดโดยสวมถุงมือและใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ (ที่มีส่วนผสมของคลอรอกซ์) หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ

-เครื่องครัว ถ้วย จาน ชาม ช้อน ส้อม ไม่จำเป็นต้องแยกใช้ต่างหาก และในการกินอาหารร่วมสำรับกัน ควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี

 

* การรักษา

แพทย์จะให้การรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ตามแนวทางโดยคร่าวๆ ดังนี้
1. ให้ยาต้านไวรัส (anti-retrovirus/ARV) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี สามารถลดจำนวนของเชื้อเอชไอวี ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ชะลอการเกิดอาการป่วยเป็นโรคเอดส์ และลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยให้หายขาดจากโรคก็ตาม
แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

-เมื่อมีอาการแสดงของโรคทั้งในระยะแรกเริ่มและระยะหลัง การให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่เป็นระยะแรกเริ่ม (primary HIV infection) สามารถชะลอการดำเนินโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรงได้

- เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจเลือดพบว่ามีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. 

-เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่มีค่า CD4 อยู่ที่ 200-350 เซลล์/ลบ.มม. อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเป็นรายๆ ไป เช่น ในรายที่ปริมาณเชื้อไวรัสสูง มีอัตราการลดลงของ CD4 อย่างรวดเร็ว ความพร้อมของผู้ป่วย เป็นต้น ในการให้ยาควรติดตามดูผลข้างเคียง ซึ่งอาจมีอันตรายต่อผู้ป่วย หรือทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมกินยาอย่างต่อเนื่อง

2. ให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยารักษาวัณโรค ยาปฏิชีวนะรักษาปอดอักเสบ ยารักษาเชื้อราในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา ให้ยาต้านไวรัสรักษาโรคเริม เป็นต้น

 

* ภาวะแทรกซ้อน

มักพบในผู้ป่วยเอดส์ที่มีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ การติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งอาจมีความรุนแรงและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ เช่น วัณโรคปอด ปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส (pneumocystis pneumonia/PCP) ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียต่างๆ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราคริปโตค็อกคัส (cryptococcal meningitis) หลอดอาหารอักเสบจากเชื้อราแคนดิดา จอตาอักเสบจากเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (ทำให้ตามัวตาบอดได้) ท้องเดินรุนแรงจากเชื้อซัลโมเนลลา ตับอักเสบจากไวรัส เป็นต้น
นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น

- มะเร็ง ที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งผนังหลอดเลือด (Kaposi's sarcoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก

-ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและสมอง เช่น ภาวะสมองเสื่อม (AIDS dementia complex) ไขสันหลังอักเสบ (ขาชา อ่อนแรง) ปลายประสาทอักเสบ (ปวดแสบปวดร้อนและชาที่ขา) 

-อาการน้ำหนักลดมากจนผอมแห้ง (wasting syndrome) มักมีอาการเรื้อรัง ท้องเดิน และอ่อนเปลี้ยเพลียแรงร่วมด้วย

-ภาวะโลหิตจาง (ซีด) 

-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (มีจุดแดง จ้ำเขียวตามผิวหนังหรือเลือดออก)

-ปวดข้อ ข้ออักเสบ 

-ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง

-ภาวะไตวายเรื้อรัง

-ถุงน้ำดีอักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

 

* การดำเนินโรค

หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยมักมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตภายในไม่กี่ปี
แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจริงจัง ก็มักลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนลงได้อย่างมาก สามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพและอายุยืนยาว

 

* การป้องกัน

สำหรับประชาชนทั่วไป

-หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่ครอง ควรยึดมั่นต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครอง (รักเดียวใจเดียว)

-ถ้ายังนิยมมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะหญิงบริการ หรือบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์เสรีหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ก็ควรจะใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง

-หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมา เพราะอาจชักนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย (ประมาท ไม่คิดป้องกันตัวเอง)

-หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกเลือดของผู้อื่น เช่น ขณะช่วยเหลือผู้ที่มีบาดแผลเลือดออก ควรใส่ถุงมือยางหรือถุงพลาสติก 2-3 ชั้น ป้องกันอย่าสัมผัสถูกเลือดโดยตรง

-หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

-หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนใช้ควรทำลายเชื้อด้วยการแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% โพวิโดนไอโอดีน 2.5% ทิงเจอร์ไอโอดีน, ไลซอล 0.5-3% โซเดียมไฮโพคลอไรด์ 0.1-0.5% (หรือน้ำยาคลอรอกซ์ 1ส่วนผสมน้ำ 9 ส่วนก็ได้) เป็นต้น นาน 10-20 นาที

-ก่อนแต่งงาน ควรปรึกษาแพทย์ในการตรวจเช็กโรคเอดส์ ถ้าพบว่าคนใดคนหนึ่งมีเลือดบวกควรพิจารณาหาทางป้องกันมิให้ติดอีกคนหนึ่ง

-คู่สมรสที่มีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ ควรคุมกำเนิด และป้องกันการแพร่เชื้อโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

หญิงตั้งครรภ์ ที่คิดว่าตัวเองหรือคู่สมรสมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเลือดตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ใหม่ๆ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เพื่อลดการติดเชื้อของทารกในครรภ์ (จากการวิจัยพบว่า สามารถลดการติดเชื้อได้ถึงประมาณ 2 ใน 3)

 

* ความชุก

โรคนี้พบมากในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ทำงานบริการทางเพศ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย ผู้ที่มีสามีภรรยาหรือคู่นอนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือเป็นผู้ติดเชื้อ ทารกที่มีมารดาเป็นผู้ติดเชื้อ
พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2เท่า ประมาณร้อยละ 67 เป็นกลุ่มอายุ 25-39 ปี
ในปัจจุบันพบในกลุ่มเยาวชนมากขึ้น เนื่องจากมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้น
 

ข้อมูลสื่อ

368-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 368
ธันวาคม 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ