ถาม : อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรครับ ไม่ทราบว่าผ่าแล้วจะหายขาดหรือไม่และจะกลั้นอุจจาระได้หรือไม่.
กจีรา วรวงศ์
ตอบ : โรคฝีคัณฑสูตร (fistula in ano) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของ anal gland และเกิดทางเชื่อมระหว่างภายในทวารหนักกับผิวหนังภายนอก. สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดทางเชื่อมดังกล่าวแต่พบได้น้อยกว่า เช่น วัณโรค หรือมะเร็งทวารหนัก.
การวินิจฉัยโรคมักไม่เป็นปัญหาจากอาการและอาการแสดงที่พบได้ คือ การพบน้ำเหลือง หรือเลือดปนหนอง ร่วมกับมีตุ่มซึ่งอาจกดเจ็บได้. ในระยะที่เป็น fistula phase แต่ในระยะแรกหรือระยะเฉียบพลันอาจพบการอักเสบเป็นโพรงหนอง (abscess). การตรวจที่สำคัญที่ต้องระบุไว้เสมอคือความตึงตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก (sphinctertone).
การรักษาโรคนี้เพื่อให้หายขาดมีวิธีเดียวคือการผ่าตัด ซึ่งโดยตัวของโรคเองเป็นข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดอยู่แล้ว โดยศัลยแพทย์จะทำการหารูเปิดภายใน (internal opening) ซึ่งจะอยู่ที่ระดับของ dentate line และมองหาช่องทางเชื่อมด้านข้าง (side tract) ที่มีโดยการใช้แท่งเหล็กเล็กๆ (probe) หรือใช้สี (methylene blue) หรือใช้ H2O2 ฉีดเข้าจากรูเปิดภายนอก (external opening). เมื่อได้ช่องทางติดต่อทั้งหมดแล้วจึงทำการผ่าตัดต่อไปด้วยการผ่าตัดเปิดช่องทางที่เป็น fistula tract (fistulotomy) หรือทำการผ่าตัดปิดช่องทางดังกล่าวหลังจากการตัด tract ออก (fistula tract excision หรือ fistulectomy). อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดรักษาโรคนี้ต้องคำนึงถึงสภาพของกล้ามเนื้อหูรูดและปริมาณกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักที่อาจจะต้องถูกตัดไปในขณะผ่าตัดด้วย ซึ่งบางครั้งอาจต้องทำการผ่าตัดเป็นขั้นตอน (staged operation)โดยการใช้ไหมดำ (silk) ผูกกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักในส่วนที่อยู่เหนือต่อ fistula tract ก่อนที่จะมาทำการผ่าตัดแยกกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักในส่วนดังกล่าวภายหลังเมื่อเกิด fibrosis แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ (fecal incontinence).
โดยทั่วไปการผ่าตัดมักใช้ยาชาเฉพาะส่วน (regional anesthesia) หรืออาจใช้ยาชาเฉพาะที่ได้ในรายที่ทิศทางของฝีคัณฑสูตรเป็นแบบตื้นๆ.ในรายที่เป็นฝีคัณฑสูตรแบบลึกอาจต้องนอนพักในโรงพยาบาล ประมาณ 1-2 วัน.
การผ่าตัดถ้าสามารถหารูเปิดภายในได้ (internal opening) ในทางทฤษฎีควรจะหายขาดร้อยละ 100 แต่ในทางปฏิบัติจะหายขาดได้ประมาณร้อยละ 80-90 ยกเว้นในรายที่ไม่สามารถหารูเปิดภายในได้ ก็จะพบอัตราการกลับเป็นซ้ำสูง.
ถ้าไม่ทำการรักษา โรคนี้จะมีการเกิดการอักเสบเป็นๆ หายๆ และทำให้เกิดโพรงฝีหรือช่องทางติดต่อ (fistula tract) มากขึ้นได้ บางครั้งโรคนี้อาจไม่มีอาการได้นานหลายปีกว่าจะเกิดการอักเสบเฉียบพลันถ้าเป็นนานๆเกิน 10 ปีมีรายงานว่าสามารถพบการเกิดมะเร็งได้ (squamous cell carcinoma of fistula tract).
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.,ศัลยแพทย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ ,คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ., น.บ.,สาขาวิชาจักษุวิทยา, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์