ขณะนั่งชมรายการโทรทัศน์ประกวดการร้องเพลงรายการหนึ่ง ผู้ร่วมแข่งขันท่านหนึ่งบอกกับทางรายการว่ากินอาหารเสริมถึง 8 ชนิดเพื่อบำรุงสุขภาพทั้งๆ ที่อายุยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น หรือบทสัมภาษณ์ดารานักแสดงก็จะพบว่าเกือบทุกท่านมักจะมีอาหารเสริมกินด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ กันไป. ถ้ามองย้อนกลับมามองยังตัวเราเองว่าถ้ามีประชาชนหรือผู้ป่วย ที่อยู่ในความดูแลของเรา ถามว่าจะกินอาหารเสริมหรือสมุนไพรชนิดนั้นๆ ดีหรือไม่ เราจะตอบว่า "ไม่ควรกินอย่างยิ่งเนื่องจากไม่มีหลักฐานการศึกษาว่ามีประโยชน์" "กินได้เพราะไม่น่าจะมีผลเสีย เพราะดูส่วนประกอบแล้วก็มีส่วนประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติ" หรือ "ไม่รู้ครับ/ค่ะ".
สถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า ไม่เฉพาะประชาชนในประเทศไทยแต่ประชากรทั่วโลก หันมาใส่ใจการดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะการกินผลิตภัณฑ์อาหารเสริม. จากข้อมูลการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2545 ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพมีมูลค่าถึง 20.2 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อปี และคาดว่าในปี พ.ศ. 2550 จะมีมูลค่าถึง 37.7 พันล้านเหรียญต่อปี.1-5 สำหรับประเทศไทย ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมีมูลค่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 3,000 ล้านบาทต่อปีและคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวถึงร้อยละ 10 ต่อปี ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศไทยจำนวนประมาณ 7,000 รายการ.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศไทยได้กำหนดคำจำกัดความของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ (functional food) จัดเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อสุขภาพ นอกเหนือจากคุณสมบัติและประโยชน์ของอาหารทั่วๆ ไป.
2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ (dietary supplements) เป็นอาหารที่กินเพื่อเสริมอาหารที่มีอยู่แล้ว เพื่อเสริมสร้างกลไกการทำงานของร่างกายและช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น เช่น วิตามิน เกลือแร่ สมุนไพร เป็นต้น. รูปแบบของผลิตภัณฑ์จะมีลักษณะเป็นแคปซูล เม็ด หรือผง.
3. โภชนเภสัชภัณฑ์ (nutraceuticals) จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสารธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกัน หรือรักษาโรคที่มาจากคุณประโยชน์ของสารอาหารและยา ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของแคปซูล เม็ด หรือผง.
ข้อมูลจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าประชากรในต่างประเทศมีการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สมุนไพร หรือวิตามิน เกลือแร่ อย่างแพร่หลาย. Eisenberg และคณะ3 พบว่าในทุกๆ 3 คนที่สัมภาษณ์จะพบอย่างน้อย 1 คน ที่กินอาหารเสริมอย่างน้อย 1 ชนิด ไม่เฉพาะแต่ในผู้ใหญ่. รายงานของ Ball และคณะ6 ที่ศึกษาการใช้อาหารเสริมในเด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด เบาหวาน ลมชัก โรคทางระบบข้อและกระดูก หรือโรคมะเร็ง พบว่ามีการใช้อาหารเสริมมากถึงร้อยละ 61.6 และเด็กที่ป่วยมีโอกาสจะได้รับอาหารเสริม 1.4 เท่าตัวถ้าผู้ปกครองของเด็กมีประวัติเคยกินอาหารเสริม เหตุผลส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่กินอาหารเสริมหรือสมุนไพรเกิดจากการโฆษณาคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผ่านทางสื่อต่างๆ และการส่งเสริมการใช้สมุนไพรพื้นบ้านเพื่อการรักษา ทำให้เกิดความเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำมาหรือสกัดมาจากธรรมชาติ ได้ประสิทธิภาพดี (บางชนิดสรรพคุณที่โฆษณาดีกว่ายาแผนปัจจุบันมาก) และที่สำคัญคือ ปราศจากผลข้างเคียง. จากข้อมูลข้างต้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ป่วยที่เราดูแลอยู่มีจำนวนไม่น้อยที่กินอาหารเสริมหรือสมุนไพรนอกเหนือจากยาที่ได้รับจากแพทย์ผู้ดูแล ขณะที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมดูแลผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าผู้ป่วยกินอาหารเสริมหรือสมุนไพร กินผลิตภัณฑ์ชนิดใด เพื่อประโยชน์อย่างไร เมื่อเขียนถึงประเด็นนี้คงมีจำนวนไม่น้อยที่ถามคำถามต่อไปว่า "ทำไมจะต้องรู้ว่าผู้ป่วยที่เราดูแลอยู่กินอาหารเสริมหรือสมุนไพรอะไรด้วยล่ะ".
เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไม่จัดอยู่ใน กลุ่มยาที่ใช้สำหรับบำบัดรักษาโรค จึงไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนออกจำหน่าย รวมถึงฉลากเตือนถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังกินผลิตภัณฑ์ รวมทั้งในด้านอุตสาหกรรมการผลิตอาจไม่ได้ตามมาตรฐาน (Good manufacturing practices, GMP) ซึ่งตามมาตรฐาน ต้องรายงานค่าความบริสุทธิ์และค่าความปนเปื้อนที่มักมีโอกาสเกิดขึ้นสูง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากธรรมชาติ อาจมีความแตกต่างกันจากแหล่งที่เพาะปลูกทำให้ปริมาณความเข้มข้นของสารที่มีในผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างกันรวมถึงความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงหรือโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว อาซีนิก หรือปรอท7 ตัวอย่างการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีโสมเป็นส่วนประกอบที่จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา 22 ชนิดพบว่า 8 ชนิดมีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงชนิด quintozene และ hexachlorobenzene ที่เชื่อว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และ 2 ชนิดพบมีปริมาณสารตะกั่วมากกว่ามาตรฐาน8 และผลการรายงานจาก California Department of Health Services ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่นำเข้าจากประเทศแถบเอเชียพบว่าอย่างน้อย 83 ตัวอย่างจากผลิตภัณฑ์ 260 ชนิดที่มีการปนเปื้อนของโลหะหนักและ 23 ชนิดที่มีส่วนผสมที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน.9,10
นอกเหนือจากสารปนเปื้อน ผลิตภัณฑ์หรือ สมุนไพรบางชนิดมีผลต่อการทำงานของอวัยวะภายใน เช่นไต11 ตัวอย่างรายงานการได้รับวิตามินซีเป็นปริมาณมาก เช่น 60 กรัม/วัน มีผลทำให้เกิดการสะสมของออกซาเลตในเยื่อบุท่อไต เกิดภาวะ acute interstitial nephritis และเกิดภาวะไตวายฉับพลัน. การกิน cranberry ซึ่งในรูปแบบเข้มข้นชนิดเม็ดจะมีออกซาเลต 180 มก. พบรายงานการเกิดนิ่วที่มีออกซาเลตเป็นส่วนประกอบในท่อไตทั้ง 2 ข้างหลังกินทุกวันเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือการกิน licorice (Glycyrrhiza glabra) มีคุณสมบัติเป็นยาขับปัสสาวะ และทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำลง. รายงานในผู้ป่วยชายอายุ 78 ปี ได้รับอาหารเสริมชนิดนี้ในปริมาณ 280 มก./วัน เป็นระยะเวลา 7 ปี เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการปวดกล้ามเนื้อและการทำงานของไตลดลง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ มีค่า CPK และ myoglobin ในเลือดสูงขึ้น การทำงานของไตที่ลดลงและการตกตะกอนของแคลเซียมในกล้ามเนื้อเกิดจากผลของ licorice ที่ทำให้เกิดภาวะ rhabdomyolysis.
ประเด็นที่สำคัญที่มักถูกมองข้ามและมีความจำเป็นต้องทราบว่าผู้ป่วยที่เราดูแลอยู่กินผลิตภัณฑ์ชนิดใดอยู่นั้นคือ Product-drug interaction12 ซึ่งมีผลต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น
Chamomile (Matricaria recutita)
ใช้เพื่อลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง มีการศึกษาแสดงว่าผลิตภัณฑ์ยับยั้งการทำงานของ CYP3A4, เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดพิษของยาลดความดันโลหิต กลุ่ม calcium channel blockers, cisapride, lovastatin และ simvastatin และสามารถเสริมฤทธิ์กับยากลุ่ม sedative drugs เช่น alcohol หรือ benzodiazepines.
Coenzyme Q10 (Ubiquinone or ubidecarenone)
มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในผู้ป่วยโรคหัวใจวาย (congestive heart failure) และโรคหัวใจชนิดอื่นๆ ปฏิกิริยาที่สำคัญคือ จะลดประสิทธิภาพของยา warfarin เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีโครงสร้างเป็นแบบ men-aquinone (วิตามินเค2).
Garlic หรือกระเทียม (Allium sativum)
กินเสริมเพื่อรักษาภาวะความดันเลือดสูง ไขมันในหลอดเลือดสูงหรือโรคหัวใจ นอกจากคุณสมบัติยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดซึ่งมีรายงานทำให้เกิดเลือดออกผิดปกติหลังผ่าตัดรวมถึงเกิดเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มสมอง (epidural hematoma) แล้วยังลดระดับความเข้มข้นของยา saquinavir ในกระแสเลือดโดยไม่ทราบกลไกที่ชัดเจน จึงไม่แนะนำให้กินในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม protease inhibitors และ NNRTIs.
Ginkgo biloba หรือแปะก้วย
ใช้รักษาโรค Alzheimer's disease, intermittent claudication และโรคอื่นๆ มีรายงานผู้ป่วย เกิดอาการโคม่าหลังกินร่วมกับยา trazodone และสามารถรักษาได้ด้วยยา flumazenil ทำให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติเป็น gamma aminobutyric acid agoinst. นอกจากนี้ มีรายงานการเกิดเลือดออกในสมอง (intracerebral hemorrhage) ในผู้ป่วยที่ได้รับยา warfarin และมีค่าการแข็งตัวของเลือดคงที่ตลอดระยะเวลา 5 ปี และรายงานการเกิดเลือดออกผิดปกติที่ตำแหน่งอื่นๆ เช่น subdural hematoma, subarachnoid hemorrhage หรือ spontaneous hyphema ในผู้ป่วยที่ได้รับอาการเสริมและหรือได้รับยา aspirin ร่วมด้วย. กลไกการเพิ่มความเสี่ยงต่อการแข็งตัวของเลือดผิดปกติคือ ยับยั้งการขจัดยา warfarin ผ่าน CYP2C9 และฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด.
Ginseng หรือโสม (Asia ginseng : Panax ginseng, American ginseng : Panax quinquefolius)
ใช้เพื่อการบำรุงสุขภาพ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มพลังงานและอื่นๆ ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดประสิทธิภาพของยา warfarin.
Melatonin
เป็นอาหารเสริมกลุ่มที่เป็น endogenous hormone ใช้รักษาภาวะ jet lag หรือ sleep disorders ถ้าได้รับร่วมกับยา fluvoxamine ทำให้เกิดอาการง่วงซึมจากระดับ melatonin ที่สูงขึ้น หรือถ้าได้รับร่วมกับยา slow release nifedipine จะกระตุ้นให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นได้.
St. John's wort
ใช้รักษาอาการซึมเศร้าโดยไม่มีผลข้างเคียงเหมือนการใช้ยากลุ่ม tricyclic antidepressant (anticholinergic effect) หรือ selective serotonin-reuptake inhibitors (sexual function) แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติยับยั้ง CYP isoenzymes หลายชนิด เช่น CYP2C9, CYP2D6 และ CYP3A4 จึงมีปฏิกิริยากับยาหลายประเภทเช่น protease inhibitors, NNRTIs, cyclosporine, oral contraceptives, carbamazepine และ digoxin.
สามารถค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ product-drug interaction (ตารางที่ 1) ได้จาก
1. National Center for Complementary and Alternative Medicine. (http://nccam,nih,gov/nccam/databases.html [2].)
2. NIH Office of Dietary Supplements. (http://dietarysupplements.info.nih,gov/databases/ibids.html [3].)
3. The Natural Pharmacist Encyclopedia. (www.tnp.com [4])
สรุป
ประเด็นที่ต้องพิจารณาในผู้ป่วยที่กินอาหารเสริม หรือสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบัน คือ คุณสมบัติของส่วนประกอบภายในอาหารเสริมหรือสมุนไพรชนิดนั้นๆ สารปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นและปฏิกิริยากับยาแผนปัจจุบันที่กินร่วมด้วย. อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าอาหารเสริมหรือสมุนไพรจะไม่มีประโยชน์ ตัวอย่างการศึกษาผลของอาหารเสริมหรือสมุนไพรในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 (systemic review)13 พบว่ามีผลิตภัณฑ์หลายชนิดสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและสามารถลดระดับ HbA1C ได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น ว่านหางจรเข้ (เป็นการศึกษาในประเทศไทย) โสม หรือกระเทียม และ American Diabetes Association แนะนำให้ทำการศึกษาต่อไปในระยะยาว. การเปิดใจยอมรับข้อมูลทั้ง 2 ด้านของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงติดตามรายงาน product-drug interaction จะช่วยให้เข้าใจผู้ป่วยและทำให้การใช้อาหารเสริมหรือ สมุนไพรต่างๆ เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด.
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางและคำแนะนำในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับประชาชน ที่ผู้เขียนคิดว่าจะเป็นประโยชน์ในการให้คำแนะนำต่อผู้ป่วย ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) คือ
1. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจำเป็นหรือไม่ ถ้าหากในแต่ละวันเราได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ครบถ้วนเพียงพอก็ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับอาหารเสริมเนื่องจากการกินสารสกัดเข้มข้น ซึ่งอาจทำให้เราได้รับอันตรายจากการบริโภคสารนั้นในปริมาณมากเกินไปได้.
2. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมีประโยชน์จริงหรือไม่ การพิจารณาคำถามนี้ควรยึดหลักที่ว่าอาหารเสริมมิใช่ยารักษาโรค คุณค่าของผลิตภัณฑ์อาจไม่ชัดเจน ดังนั้นผู้บริโภคต้องดูงานวิจัยและผลการศึกษา ทดลองที่เชื่อถือได้ หากไม่สามารถตัดสินใจได้สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร บางครั้งการขายตรงทำให้เข้าใจผิดว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรคได้.
3. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมปลอดภัยหรือไม่ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมส่วนใหญ่ได้มาจากธรรมชาติ แต่อาจทำให้เกิดการแพ้หรือมีผลข้างเคียงได้ ซึ่งกรณีที่มีผลข้างเคียงจะต้องมีคำเตือนระบุไว้ในฉลาก เช่น คำเตือนสำหรับน้ำมันปลา คือ ห้ามใช้ในผู้แพ้ปลาทะเลหรือน้ำมันปลา และควรระวังในผู้ที่เลือดแข็งตัวช้าหรือผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือแอสไพริน นอกจากนี้ อาจเกิดจากความไม่ปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น การปนเปื้อนโลหะหนัก.
4. ราคาเหมาะสมหรือไม่ อาหารเสริมทุกชนิดมักมีราคาแพง ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องประเมินความจำเป็นในการบริโภคโดยดูความเหมาะสมประโยชน์ที่ได้รับกับเงินที่เสียไปเพราะตามปกติ เราสามารถได้รับสารอาหารจากอาหารหลังที่กินประจำวัน โดยกินอาหารให้หลากหลายครบทุกหมู่ เช่น การกินผักสด ผลไม้สด.
เมื่อตัดสินใจว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ท่านต้องพิจารณาว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดใด โดยมีหลักการเลือก ดังนี้
1. ท่านรู้สึกว่าขาดหรือต้องการสารอาหารตัวใดเพิ่มเติม เช่น ซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำมันปลาสำหรับผู้ที่ต้องการกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น โอเมก้า 3 หรือต้องการเพิ่มใยอาหารเพื่อช่วยเพิ่มกากในระบบขับถ่าย แต่ไม่กินผักหรือผลไม้ ท่านก็สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทใยอาหารเสริมได้.
2. การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อาหารเสริมที่ผลิตหรือนำเข้าเพื่อจำหน่ายต้องได้รับอนุญาตจาก อย. เพื่อประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์. ดังนั้น จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากถูกต้อง มีเลขสารบบอาหาร อ่านข้อมูลของผลิตภัณฑ์จากฉลากที่ได้รับอนุญาต ไม่ควรเชื่อข้อมูลจากการโฆษณาของผู้จำหน่ายที่นอกเหนือจากที่ระบุในฉลาก.
3. ข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ท่านต้องศึกษาว่าโรคประจำตัวที่ท่านเป็นอยู่เป็นข้อห้ามใช้หรือไม่ หรือต้องระมัดระวังการใช้เป็นพิเศษ ผลข้างเคียงที่ระบุในฉลากท่านรับได้หรือไม่ การบริโภคผลิตภัณฑ์จะต้องบริโภคในปริมาณที่กำหนดไว้บนฉลาก อย่าบริโภคให้มากไปกว่านั้น และจะต้องไม่ละเลยการดูแลสุขภาพควบคู่ไปด้วย ซึ่งถ้าหากมีโรคประจำตัวอื่นจะต้องไม่ลืมที่จะแจ้งให้แพทย์ทราบว่าใช้ผลิตภัณฑ์ตัวใดอยู่เพื่อให้ได้รับการดูแลหรือรักษาโรคอย่างเหมาะสม และได้รับประโยชน์สูงสุด.
นอกจากข้อมูลดังกล่าวอย. ยังได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมรวมถึงคำเตือนเกี่ยวกับผลข้างเคียงของผลิตภัณฑ์ทางเว็บไซต์ของอย. http://www.fda.moph.go.th/www_fda/ [5] หรือ http://www.qmaker.com/fda/new/web_cms/col.php?Col_ID=25 [6].
เอกสารอ้างอิง
1. Kessler RC, Davis RB, Foster DF, Van Rompay MI, Walters EE, Wilkey SA, et al. Long-term trends in the use of complementary and alternative medical therapies in the United States. Ann Intern Med 2001;135:262-8.
2. Eisenberg DM, Kessler RC, Foster C, Norlock FE, Calkins DR, Delbanco TL. Unconventional medicine in the United States. Prevalence, costs, and patterns of use. N Engl J Med 1993;328:246-52.
3. Eisenberg DM, Davis RB, Ettner SL, Appel S, Wilkey S, Van Rompay M, Kessler RC. Trends in alternative medicine use in the United States, 1990-1997 : results of a follow-up national survey. JAMA 1998;280:1569-75.
4. Clinical practice guidelines in complementary and alternative medicine. An analysis of opportunities and obstacles. Practice and Policy Guidelines Panel, National Institutes of Health Office of Alternative Medicine. Arch Fam Med 1997;6(2):149-54.
5. Kennedy J. Herb and supplement use in the US adult population. Clin Ther 2005;27:1847-58.
6. Ball SD, Kertesz D, Moyer-Mileur LJ. Dietary supplement use is prevalent among children with a chronic illness. J Am Diet Assoc 2005;105:78-84.
7. Dahl NV. Herbs and supplements in dialysis patients : panacea or poison? Semin Dial 2001;14:186-92.
8. Anonymous: Product Review : Asian and American ginseng, ConsumerLab.com, LLC. Available at http://www.consumerlab.com/ [7] results/ginseng.html,accessed 2/2/01
9. Beigel Y, Ostfeld I, Schoenfeld N. Clinical problem-solving. A leading question. N Engl J Med 1998;339:827-30.
10. Ko RJ. Adulterants in Asian patent medicines. N Engl J Med 1998;339:847.
11. Gabardi S, Munz K, Ulbricht C. A review of dietary supplement-induced renal dysfunction. Clin J Am Soc Nephrol 2007;2:757-65.
12. Scott GN, Elmer GW. Update on natural product--drug interactions. Am J Health Syst Pharm 2002;59:339-47.
13. Yeh GY, Eisenberg DM, Kaptchuk TJ, Phillips RS. Systematic review of herbs and dietary supplements for glycemic control in diabetes. Diabetes Care 2003;26:1277-94.
มนต์ชัย ศิริบำรุงวงศ์ พ.บ. อายุรแพทย์โรคไต
โรงพยาบาลตราด