มะเร็งของผู้ชาย
ในผู้หญิงมะเร็งของเต้านมน่าจะสำคัญที่สุดเพราะพบได้บ่อย ถ้าพบแล้วรักษาแต่เริ่มแรกโอกาสจะหายขาดมีมาก ในผู้ชายแม้มะเร็งของต่อมลูกหมากจะไม่ใช่มะเร็งที่พบบ่อยที่สุด แต่ก็เป็นมะเร็งที่เป็นได้เฉพาะในเพศชาย เพราะผู้หญิงไม่มีต่อมลูกหมาก ส่วนมะเร็งของเต้านมนั้นผู้ชายก็เป็นได้ แม้จะไม่มีเต้านมแต่ก็มีหัวนม แต่อุบัติการณ์น้อยกว่าที่เกิดในเพศหญิงมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากของผู้ชายก็คล้ายของผู้หญิงตรงที่ตรวจพบได้ไม่ยาก และถ้ารักษาในระยะเริ่มแรกก็หายขาด แต่เรื่องมะเร็งของต่อมลูกหมากยังมีข้อขัดแย้ง ไม่เหมือนมะเร็งของเต้านมในผู้หญิงเสียทีเดียว ดังจะกล่าวให้ฟังภายหลัง
ไม่ว่ามะเร็งของอวัยวะใดๆในบ้านเรานี้แต่ก่อนพบน้อยมาก ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึง มีผู้ให้เหตุผลว่าเพราะอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป เหมือนฝรั่งมากขึ้น จึงทำให้อุบัติการณ์ของมะเร็งมีมากขึ้น พูดอย่างนี้ดูไม่มีน้ำหนักแต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้ง มันเป็นจริงเช่นนั้น
ยกตัวอย่างอาหารพวกเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์ที่นำมาปิ้งย่างหรือทอด จะทำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่พิสูจน์ได้ในสัตว์ สารไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงจากโรงงานและที่สำคัญคือยวดยานที่ใช้เครื่องยนต์ทุกชนิดก็เป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนั้นยังมีกัมมันตรังสีสารพัดที่ออกมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าในปริมาณต่างๆกัน ถ้าจะจาระไนปัจจัยก่อมะเร็งให้หมดคงต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง
คนอายุยืนขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เพราะมะเร็งมักเกิดในคนอายุมาก ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเด็กๆจะไม่เป็นมะเร็ง และมะเร็งในเด็กมักจะรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ เดชะบุญที่อุบัติการณ์ของมะเร็งในเด็กมีน้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก
ท้ายก็ความรู้เรื่องมะเร็งของคนไทย สมัยก่อนที่การแพทย์แผนฝรั่ง หรือที่เรียกว่าแผนปัจจุบันยังมีน้อย แม้คนที่เป็นมะเร็งเราอาจไม่รู้หรือวินิจฉัยไม่ได้ก็ได้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งมีเพิ่มมากขึ้น และในปัจจุบันเราก็โทษว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับสารเคมี หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า คาร์ซิโนเยน ฟังดูเหมือนบ่อนการพนัน แต่แปลตรงตัวว่าสารก่อมะเร็ง
ในหนังสือพิมพ์ไทม์ฉบับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2539ลงเรื่องโรคนี้ค่อนข้างละเอียดเหมาะสำหรับชาวบ้านอย่างเราๆจะเข้าใจได้ ผมจึงอยากจะถ่ายทอดมาให้พวกเราได้ฟัง
ตอนเริ่มบทความได้กล่าวถึงนายพลนอร์แมน ชวาสคอฟ ผู้โด่งดังตั้งแต่ครั้งสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อพ.ศ.2534นายพลผู้นี้เคยมีผู้เชียร์ให้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่ดูเหมือนจะไม่เอา วันหนึ่งในเดือนมีนาคม พ.ศ.2537 แกผ่านไปทางโรงพยาบาลทหารอากาศที่แทมปา รัฐฟลอริดา ก็เลยแวะให้หมอตรวจดูเอ็นที่หัวเข่า เพราะรู้สึกเจ็บมาหลายวันแล้ว เมื่อตรวจเอ็นเสร็จก็เห็นว่าไหนๆมาถึงโรงพยาบาลแล้วลองแวะให้หมอทางเดินปัสสาวะเช็กดู ต้องการเช็กเฉยๆเท่านั้นเอง ไม่มีอาการผิดปกติอะไร หมอตรวจหลายอย่างรวมทั้งตรวจต่อมลูกหมากด้วย หมอบอกว่า “ผมรู้สึกว่ามันไม่ค่อยปกติเท่าไร แต่ไม่น่าจะใช่มะเร็ง เพราะถ้าใช่ผมจะบอกได้แม่นยำไม่ต่ำกว่า 9o เปอร์เซ็นต์”
ตอนนั้นท่านนายพลอายุ 59 ปี เพิ่งตรวจเลือดเพื่อหาสารต้านมะเร็งของต่อมลูกหมากที่เรียกย่อๆว่าพีเอสเอ ได้ค่า 1.8 ซึ่งยังต่ำกว่าค่าที่บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งอยู่มาก แต่หมอก็ไม่ประมาทเมื่อรู้สึกว่า “ไม่ปกติ” ก็ส่งไปทำอัลตราซาวนด์ต่อพบว่า “มีก้อนคล้ายนิ่ว” จึงขอตัดเนื้อจากต่อมลูกหมากของท่านนายพลไปตรวจ 1 สัปดาห์ผ่านไปผลการตรวจทางพยาธิวิทยากลับมา “ท่านนายพลเป็นมะเร็ง”
เมื่อได้ข่าวอย่างนี้ใครๆก็คงตกใจ นายพลชวาสคอฟไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็น ท่านไม่อยู่เฉย หาหนังสือและบทความที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาอ่าน ท่านนายพลบอกกับเพื่อนและผู้ใกล้ชิดว่าโรคที่เกิดแก่ตัวท่านเองนี้ก็เหมือนสงคราม “ต้องศึกษาคู่ต่อสู้ให้รู้ถ่องแท้เสียก่อน”
คนอย่างนายพลชวาสคอฟถ้าลงได้ศึกษาเรื่องอะไรคงจะต้องรู้ลึกซึ้งอย่างแน่นอน แต่สำหรับเราๆท่านๆ ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมากที่น่าจะรู้พอจะประมวลมาได้โดยย่อดังนี้
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก
ต่อมลูกหมากอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ มีรูปร่างและขนาดคล้ายลูกหมาก ซึ่งคนสมัยนี้รู้จักหรือเคยเห็นกันน้อยเต็มที มีท่อปัสสาวะที่ออกจากกระเพาะปัสสาวะผ่านกลางต่อมลูกหมากเพื่อมาออกที่ปลายอวัยวะสืบพันธุ์ชาย
ต่อมลูกหมากมีหน้าที่สร้างน้ำเลี้ยงเชื้อเพศชาย ในคนอายุมากต่อมลูกหมากอาจโตขึ้นได้ และการโตจะโตจากข้างในออกมาเบียดเนื้อต่อมลูกหมากที่ดีออกไปจนกลายเป็นเปลือกของต่อมลูกหมาก การโตขึ้นนี้จะขัดขวางการไหลของปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะที่ผ่านต่อมลูกหมากตีบแคบ ผู้ที่เป็นจะถ่ายปัสสาวะลำบาก ภาวะเช่นนี้พบในผู้ชายที่อายุเกิน 6o ปีขึ้นไปแล้วเกือบทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ถ้ามากก็ถึงกับถ่ายปัสสาวะไม่ออกเลย โดยมากจะค่อยเป็นค่อยไป การรักษาคือตัดต่อมลูกหมากออก จะเอาออกหมดเลยโดยผ่าตัดก็ได้ หรือจะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปทางท่อปัสสาวะค่อยๆฝานออกก็ได้ เมื่อทำแล้วก็มักจะหายเป็นปกติ แต่มีภาวะแทรกซ้อนที่อาจไม่สำคัญนัก 2-3 อย่างที่จะยังไม่กล่าวถึง
ที่กล่าวมานี้เป็นภาวะเนื้องอกไม่ร้ายแรงหรือภาวะต่อมลูกหมากโตชนิดไม่ใช่มะเร็ง
ในประเทศอเมริกามีผู้คำนวณว่าใน พ.ศ.2539 นี้ จะมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งของต่อมลูกหมาก 3,ooo คน ถ้าดูตามสถิติอุบัติการณ์ของมะเร็งที่ต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจาก 85,ooo คนเมื่อพ.ศ.2528 เป็น 244,ooo เมื่อปีพ.ศ.2538 เสียดายที่ในประเทศไทยไม่มีการรวบรวมสถิติเช่นนี้ จึงไม่ทราบว่าอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นเพียงใด แต่ดังได้กล่าวแล้วถึงเรื่องอุบัติการณ์ของมะเร็งทั่วๆไป มะเร็งของต่อมลูกหมากในเอเชียก็เพิ่มขึ้นมาก ตามพฤติกรรมการกินอยู่ที่เปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตก
แม้โรคนี้จะไม่ทำให้ผู้เป็นเสียชีวิตทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนมาก ในประเทศญี่ปุ่นภายในระยะเวลา 1o ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2527-2537มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มจากปีละ 2,315เป็น 4,730 คือกว่า 2 เท่า ในขณะที่อุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้น 3 เท่า นายแพทย์เนลสัน สโตน ผู้เชี่ยวชาญทางโรคทางเดินปัสสาวะแห่งนิวยอร์ก บอกว่า “อย่างกับโรคระบาดเลย”
วิธีการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งไม่ว่าเกิดแก่อวัยวะใด ถ้าวินิจฉัยได้เร็วคือตั้งแต่มะเร็งยังอยู่ในระยะเริ่มแรก การรักษาจะได้ผลดีที่สุด อาการเริ่มแรกของมะเร็งที่ต่อมลูกหมากไม่ใช่การเจ็บปวด แต่เป็นการถ่ายปัสสาวะลำบากหรือผิดปกติ แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้โดยมากมะเร็งก็จะลามไปไกลแล้ว การตรวจร่างกายทั่วไปเป็นระยะที่เรียกว่า screening หรือ check up ก็ช่วยได้บ้าง เพราะการสอดนิ้วเข้าทางทวารหนักเพื่อคลำก้อนมะเร็งที่เล็กมากๆนั้น ต้องคนชำนาญจริงๆจึงจะบอกได้ การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้อ่านผล
เริ่มเมื่อราวๆพ.ศ.2425มีการใช้การตรวจหาแอนติเจน (antigen นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2508 แปลไว้ว่า “สารเร้าต่อต้าน” ซึ่งถ้าจะให้เข้าใจคงต้องอธิบายต่อ) ของต่อมลูกหมากที่เรียกว่า prostate-specific antigen เรียกย่อๆว่าพีเอสเอ จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะแม่นยำร้อยละร้อย เราควรทำความเข้าใจในเรื่องพีเอสเอเสียก่อน
พีเอสเอเป็นแอนติเจนที่สร้างโดยต่อมลูกหมากเท่านั้น และจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ แต่ค่อยๆเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นมะเร็งของต่อมลูกหมาก ปริมาณจะเพิ่มมากขึ้น ผมอยากจะยกตัวเลขมาเปรียบเทียบให้ดูดังนี้
ในคนปกติอายุ 40-49จะมีระดับพีเอสเอ o-1.5
อายุ 50-59 ระดับพีเอสเอจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5
อายุ 60 อาจสูงถึง 4.5
และอายุ 70-79 เป็น 8.5
ค่าที่กล่าวถึงนี้ถือว่าปกติ ถ้าสูงกว่านี้ควรจะสงสัย
เกี่ยวกับพีเอสเอนี้มีเรื่องที่น่าสนใจที่บทความดังกล่าวกล่าวถึงคือเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2536 อันเป็นวันที่น่าจะเป็นที่ยินดีของไมเคิล มิลเกน เพราะเป็นวันที่พ้นโทษหลังจากถูกตัดสินจำคุกในข้อหาทำผิดกฎหมายตลาดหลักทรัพย์เมื่อสองปีก่อน
ผมขอเล่าเรื่องของไมเคิล มิลเกน สำหรับท่านที่ยังไม่รู้จักเล็กน้อย นายมิลเกนเป็นคนที่อยู่ในระดับมหาเศรษฐีจากการซื้อขายหุ้น แกเป็นคนมีชื่อเสียงระดับเซียน แม้จะถูกจับติดคุกและถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก แต่แกก็ยังมีเงินอยู่ในระดับมหาเศรษฐี ตอนนั้นอายุเพิ่ง 46 ปี ก่อนพ้นโทษได้ขอให้แพทย์ตรวจร่างกาย ตรวจทุกอย่างปกติหมด แกก็ขอตรวจพีเอสเอ คืออย่างที่ผมกล่าวถึงตอนต้นว่าเป็นตัวบ่งชี้การทำงานของต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะเมื่อมีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้น แพทย์ที่ตรวจท้วงว่า “จะทำไปทำไม คุณอายุยังน้อย (ยังไม่เป็นหรอก)” แต่นายมิลเกนขยั้นขยอขอตรวจ แพทย์ก็ส่งตรวจให้ วันที่มิลเกนพ้นโทษ ผลการตรวจพีเอสเอออกมาพอดีได้ค่า 24 ซึ่งสูงกว่าปกติมาก คนอายุขนาดมิลเกนน่าจะไม่สูงไปกว่า 1.5 แพทย์คิดว่าอาจเกิดจากการผิดพลาดในการตรวจจึงส่งตรวจใหม่ ผลออกมาเท่าเดิม แพทย์จึงต้องตัดเนื้อออกไปตรวจ ผลออกมาว่าต่อมลูกหมากของมิลเกนเป็นมะเร็งจริงๆ ! นายมิลเกนบอกว่า “ถ้าจะพูดว่าผลการตรวจเนื้อที่ออกมาทำให้ผมหดหู่ละก็มันยังห่างไกลความจริงมาก”ตรงนี้ก็เป็นที่เข้าใจได้ คนที่ยังหนุ่มและกำลังประสบความสำเร็จในชีวิต มาเป็นโรคที่รักษายากอย่างนี้
แต่เหมือนอย่างที่คุณหมอประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้เสมอว่า “เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี” เพราะจากนั้นมิลเกนก็รณรงค์เกี่ยวกับการรักษาโรคนี้ ทุ่มเททั้งเงิน ทั้งแรงกาย และแรงความคิด ซึ่งแกก็มีอย่างละมากๆทั้งนั้น เพื่อเอาชนะโรคนี้ คนที่เป็นโรคอย่างเดียวกับแกและทำแบบแกก็คือ นายพลนอร์แมน ชวาสคอฟ ที่ผมกล่าวถึงในต้นเรื่องนั่นเอง
ในหนังสือฉบับเดียวกันนี้ยังกล่าวถึงคนอื่นๆที่เป็นมะเร็งของต่อมลูกหมากอีกหลายคน ผมขอนำมาเล่าให้ฟัง นอกจากสองคนที่กล่าวถึงมาแล้วก็มี บ๊อบ โดล (Bob Dole) อายุ 32 ปี เป็นวุฒิสมาชิกของอเมริกา ตอนนี้กำลังรณรงค์ที่จะเข้ารับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกา ในสมัยที่จะถึงนี้และมีหวังว่าจะได้เป็นมากเสียด้วย
พระเจ้านโรดม สีหนุ อายุ 75 ปี ทราบว่าทรงประชวรเป็นมะเร็งของต่อมลูกหมากเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับการรักษาที่ประเทศจีนโดยทรงรับการผ่าตัดในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน และทรงได้รับเคมีบำบัดต่ออีกหลายครั้ง ขณะนี้โรคมะเร็งสงบไปแล้ว และพระองค์ทรงสามารถปฏิบัติพระราชภารกิจได้ตามปกติ พระองค์เคยทรงปรารภว่าพระวรกายไม่ค่อยแข็งแรง ทรงปรารถนาจะให้พระราชโอรสนโรดม รนฤทธิ์เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อจากพระองค์
ฟรังซัว มิทเตอรรอง อายุ 75 ปี อดีตประธานาธิบดีของฝรั่งเศส เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก
นอกจากนั้นก็มีนักแสดงที่เรารู้จักกันดีอีกหลายคน อาทิเช่น เจอรี่ หลุยส์ ดาราตลกตอนเมื่อผมยังเป็นหนุ่ม ซิดนี ปอยเตอร์ ดาราผิวดำมีชื่อเสียงมากตอนแสดงเรื่อง “แด่คุณครูด้วยดวงใจ” (To Sir with Love) โรเจอร์ มัวร์ ตอนนี้อายุ 68 เป็นดารา 007 ต่อจากชอนคอเนลลี หลายเรื่อง, เทลลี ซาวาลาส อายุ 70 ปี เมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้วแกมีชื่อเสียงโด่งดังตอนแสดงเป็นโคแจกสารวัตรมือปราบของเมืองนิวยอร์ก และยังมีอีกหลายคนครับ ผมก็นึกไม่ถึงว่าอยาตุเลาะห์ โคไมนี ก็เป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมากเหมือนกัน
คนไทยก็เป็นมาก และมีแนวโน้มว่าจะเป็นมากขึ้นตามสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมาก
เราคงอยากรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก ถ้ารู้สาเหตุการป้องกันหรือรักษาคงทำได้ง่ายเข้า
สาเหตุประการหนึ่งที่มักจะนำมาอ้างกันมากถึงการเกิดโรคต่างๆคือ พันธุกรรม เพราะพันธุกรรมคือตัวกำหนดการทำงานของร่างกายรวมทั้งภูมิคุ้มกันโรคด้วย สาเหตุอันนี้แม้รู้ก็แก้ยาก แม้ว่าเวลานี้ความรู้ทางวิศวพันธุกรรมจะเจริญขึ้นมากมายแล้วก็ตาม
สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการกิน ตอนนี้มีความสงสัยกันว่าไขมันจะเป็นตัวสำคัญ ประชาชนในยุโรปและอเมริกากินอาหารที่มีไขมันสูง อุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากก็สูง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งมีอุบัติการณ์ตั้งแต่ 2 ถึง 34 คนต่อประชากร 1oo,ooo คน คนทางเอเชียตะวันออกกินไขมันน้อย อุบัติการณ์ก็ต่ำ ในประเทศญี่ปุ่น 7คนต่อประชากร 1oo,ooo คน เป็นต้น
ประเทศจีนและประเทศไทยก็คงจะมีอุบัติการณ์ไล่เลี่ยกัน แต่ไม่ได้มีสถิติแสดงเอาไว้ แต่อุบัติการณ์ของประเทศแถบนี้กำลังเพิ่มมากขึ้น ที่ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเพิ่มสูง นายแพทย์ยาซูโอะ โฮโซอิ ผู้เชี่ยวชาญทางโรคของทางเดินปัสสาวะ บอกว่าเพราะญี่ปุ่นหันมานิยมกินอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น ไม่เพียงแต่มะเร็งที่ต่อมลูกหมากเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น มะเร็งของเต้านม ลำไส้ใหญ่ และมะเร็งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารไขมันก็มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นด้วย จากสถิติปรากฏว่าคนญี่ปุ่นที่อพยพไปอยู่อเมริกา พอมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานอุบัติการณ์ของมะเร็งที่ต่อมลูกหมากสูงกว่าคนญี่ปุ่น ที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ก็สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการกินเป็นสาเหตุ
จะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ตาม ที่แน่ๆก็คือการมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น กล่าวกันว่าผู้ชายอเมริกันที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้จะเป็นมะเร็งของต่อมลูกหมากเสีย 1 ใน 5 แต่คนอเมริกันแม้จะมีสิ่งสนับสนุนการศึกษาดีกว่าประเทศอื่นก็ยังรู้เรื่องมะเร็งของต่อมลูกหมากน้อยมาก ผิดกับสตรีอเมริกันที่ตื่นตัวในเรื่องมะเร็งของอวัยวะเพศสตรี เพราะกล้าที่จะเปิดเผยและนำมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนผู้ชายนั้นการตรวจต่อมลูกหมาก ซึ่งแพทย์ต้องใช้นิ้วมือสอดเข้าไปคลำทางทวารหนัก เป็นเรื่องที่ไม่อยากให้ทำ ถ้าเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยง จะพบว่าผู้ชายพูดคุยกันในเรื่องนี้น้อยมาก เพราะดูเหมือนจะทำให้เสียศักดิ์ศรีของความเป็นชาย
แต่ก่อนนั้นกว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งของต่อมลูกหมาก ก็ต้องรอให้มีอาการเสียก่อน กว่าจะมีอาการมะเร็งก็มักจะกระจายไปไกลแล้ว เริ่มตั้งแต่พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้นมา การตรวจแอนติเจนของต่อมลูกหมากที่เรียกชื่อย่อว่า พีเอสเอ เริ่มมีแพร่หลายให้ทำได้โดยทั่วไป การตรวจพบมะเร็งระยะแรกก็ง่ายขึ้น ดังได้กล่าวไว้ในตอนแรกว่าในคนปกติระดับพีเอสเอ ควรจะต่ำกว่า 4 ถ้าเกินกว่านั้นควรจะสงสัย ถ้าสูงมากจนถึง 22 ละก็มักจะแน่ใจได้
ตามปกติคนที่อายุเกิน 5o ต่อมลูกหมากจะเริ่มโต ระดับพีเอสเอจะเริ่มสูงแต่ไม่มาก ต่อเมื่อเซลล์แบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้งหรือกลายเป็นมะเร็งระดับพีเอสเอจะสูงขึ้นมาก ผมลืมบอกไปว่า การตรวจหาระดับพีเอสเอใช้เจาะเลือดไปตรวจใช้เลือด 2-5 มิลลิลิตร หรือที่เรียกกันติดปากว่า 5 ซีซี ห้องแลปหรือตามโรงพยาบาลใหญ่ๆจะทำได้
เมื่อพบว่าระดับของพีเอสเอสูงกว่า 4 ในคนอายุน้อยกว่า 50 ควรได้รับการตรวจซ้ำเพราะผลอาจผิดได้
ในคนอายุ 50 ปีขึ้นไปไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำ แต่ให้ตรวจต่อได้เลย เพราะพีเอสแอลเป็นแค่ตัวชี้แนะดังได้กล่าวแล้ว คือ 4 ขึ้นไปควรสงสัยว่าอาจเป็น กว่าจะแน่ใจก็ต้องสูงกว่า 22 จาก 4 ถึง 22 ช่วงมันกว้าง
เมื่อสงสัยก็ควรตรวจต่อ วิธีง่ายที่สุดคือการใช้นิ้วคลำ โดยสอดนิ้วเข้าทางทวารหนัก แพทย์อาจคลำได้ก้อนมะเร็งซึ่งมีลักษณะพิเศษ แพทย์ผู้ชำนาญมักบอกได้ไม่ค่อยผิด ถ้าก้อนเล็กมากอาจต้องตรวจโดยอัลตราซาวนด์ ซึ่งก็มีใช้เกือบทุกโรงพยาบาล ถ้าตรวจทางทวารหนักแล้วไม่แน่ใจอาจตรวจอัลตราซาวนด์ต่อก็ได้
การรักษา
เมื่อตรวจพบแล้วก็มาถึงการรักษา ซึ่งมีหลายวิธีแต่ละวิธีมีข้อดีและไม่ดีต่างๆกัน ทั้งแพทย์และผู้ป่วยควรจะได้มาคุยกันถึงข้อดีและข้อเสีย เลือกดูว่าวิธีใดจะดีที่สุด
การผ่าตัด
ผมในฐานะเป็นหมอผ่าตัด ผมก็ว่าการผ่าตัดเอาออกดีที่สุด แม้ผมเป็นเอง (ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง โดยคำนึงถึงอายุเพียงอย่างเดียว) ผมก็จะให้ผ่าเอาออกเหมือนกัน เพราะผมอยากให้เอาตัวมะเร็งออกจากร่างกายผมให้เร็วที่สุด นอกจากนั้นเนื้อที่ตัดออกมายังเอาไปตรวจทางพยาธิวิทยาได้ ว่าตัวมะเร็งลุกลามไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นแนวทางในการรักษาต่อ
- ข้อเสียของการผ่าตัดคือ
1. เจ็บตัว แม้ว่าขณะผ่าตัดจะไม่เจ็บเพราะวางยาสลบ แต่เมื่อฟื้นจากการผ่าตัดแล้วต้องเจ็บแน่ ผมเคยโดนผ่าตัดแล้วสามครั้งด้วยโรคต่างๆ กัน ในกรณีของต่อมลูกหมากหมอต้องผ่าลงไปควักเอาออก หรืออาจเรียกว่าคว้านเอาออกทางหน้าท้องก็ได้ ทางฝีเย็บก็ได้ ซึ่งล้วนแต่เจ็บทั้งนั้น หลังผ่าตัดต้องใส่ท่อสวนปัสสาวะคาไว้ อาจนาน 2-3 สัปดาห์
2. อาจเกิดอาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไหลออกโดยไม่ตั้งใจ คือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังเอาสายสวนปัสสาวะออกแล้ว ทั้งนี้เพราะต่อมลูกหมากอยู่ติดกับกล้ามเนื้อหูรูดปลายกระเพาะปัสสาวะ มีหน้าที่คลายในการปัสสาวะออก และรัดเพื่อไม่ให้ปัสสาวะไหล
3. ประการสุดท้ายซึ่งค่อนข้างสำคัญในผู้ชาย แม้ไม่เกิดกับทุกคนก็คือการไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศ เพราะประสาทที่ควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศอยู่ติดกับต่อมลูกหมาก แม้แพทย์จะได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ในการที่จะไม่ทำอันตรายต่อเส้นประสาทสองเส้นนี้ แต่ถ้าเนื้อมะเร็งอยู่ใกล้เส้นประสาท บางทีก็สุดความสามารถของศัลยแพทย์เหมือนกัน
นายพลนอร์แมน ชวาสคอฟได้รับการผ่าตัดดังกล่าว ท่านฟื้นตัวเร็วและโชคดีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ดังที่ผมกล่าวไว้เลย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะท่านมีจิตใจและกำลังใจที่เข้มแข็ง ออกกำลังกายอยู่เสมอ ขณะนี้ท่านปฏิบัติกิจกรรมประจำวันได้ไม่ผิดกับก่อนผ่าตัด
การฉายรังสี
- ข้อดีคือ
ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล ไม่ต้องเจ็บปวด ไม่ต้องเสี่ยงกับโรคแทรกซ้อนอันเกิดจากการผ่าตัด รังสีแพทย์หลายท่านกล่าวว่า สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีเท่าหรือดีกว่าการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยอายุมาก ร่างกายไม่แข็งแรงเท่านายพลชวาสคอฟ หรือมีโรคบางชนิดที่ไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดใหญ่ได้
- ข้อเสียคือ
จากการติดตามผลระยะยาว พบว่ามะเร็งสามารถเกิดขึ้นมาได้อีกภายหลังหายไปหลายปี และผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งจะหมดสมรรถภาพทางเพศภายหลังการรักษา 5 ปี ตรงนี้ผมเห็นว่าคงจะสำคัญไม่น้อย เพราะคนอายุมาก คนที่มีโรคประจำตัวอันถือว่าแสลงต่อการผ่าตัดใหญ่ แม้อยู่เฉยๆต่อไปอีก 5 ปี ครึ่งหนึ่งก็คงจะหมดสมรรถภาพทางเพศเหมือนกัน
การฝังสารกัมมันตรังสี
เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการพัฒนารังสีรักษาโดยฝังสารกัมมันตรังสีในต่อมลูกหมากโดยสถาบันสโลน เคเตอริงที่มีชื่อเสียงในการรักษามะเร็งที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งกล่าวว่าได้ผลดีกว่าและมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าวิธีฉายรังสีลงไปตรงๆ
นอกนั้นก็มีวิธีอื่นๆที่ยังใช้กันไม่แพร่หลายนัก ได้แก่ การใช้ความเย็นขนาดเยือกแข็งไปทำลายเซลล์ การใช้เซลล์มะเร็งไปทำลายเซลล์มะเร็งแบบรักษาโดยวิธีพันธุกรรมและวิธีอื่น เนื่องจากการทำยังไม่กว้างขวาง ทั้งผลดีผลเสียก็ยังไม่ชัดเจน จึงจะไม่ขอกล่าวในรายละเอียด
การรักษาด้วยฮอร์โมน
การรักษาด้วยฮอร์โมนมักจะใช้เป็นการรักษาร่วมกับวิธีอื่น ทั้งนี้โดยอาศัยความจริงที่ว่าเซลล์ของต่อมลูกหมากจะเพิ่มการแพร่ด้วยฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นการให้ยาที่ไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเพศชายหรือให้ฮอร์โมนเพศหญิงก็จะทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพียงปีสองปีเซลล์มะเร็งก็จะแพร่เองได้โดยไม่ต้องอาศัยฮอร์โมน
การป้องกัน
เมื่อพูดถึงการรักษาแล้วก็คงมาพูดถึงการป้องกัน ทำอย่างไรเราจะปลอดจากโรคนี้ได้ เพราะในอเมริกามีการพยากรณ์กันว่าผู้ชายอเมริกันที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ร้อยละ 2o คือ 1 คนใน 5 คน ซึ่งไม่ใช่น้อย
ผมจะขอข้ามสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการกินไปนะครับ เพราะพูดไว้มากแล้ว และอีกประการหนึ่งพูดง่ายกว่าทำจริงๆครับ คงเหมือนกับการสูบบุหรี่กับมะเร็งที่ปอด
การรู้ล่วงหน้าตั้งแต่ยังเป็นก้อนเล็กๆ จะทำให้รักษาได้หายขาด วิธีที่นิยมกันในเวลานี้ คือการหาค่าหรือระดับพีเอสเอในเลือด
แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะมะเร็งของต่อมลูกหมากมีหลายชนิด มีตั้งแต่อย่างอ่อน คือโตช้าใช้เวลาเป็นสิบๆปีกว่าจะเกิดอาการ คนที่มีมะเร็งชนิดนี้ถ้าไปรับการรักษาไม่ว่าจะชนิดใด จะเป็นความทุกข์ทรมานเกินความจำเป็น เพราะพบว่าถึงไม่รักษา ผู้ป่วยก็จะตายเองด้วยโรคอื่น (ตายเพราะแก่) ชนิดที่สองมีความรุนแรงปานกลาง ชนิดนี้แหละที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดในการรักษา ไม่ว่าโดยวิธีใดๆที่กล่าวมาแล้ว พวกสุดท้ายคือมะเร็งที่เจริญเร็วแพร่กระจายเร็ว มะเร็งชนิดนี้ไม่ว่าจะรักษาโดยวิธีใดก็ตายทั้งนั้น ตายช้าก็ทรมานมาก ตายเร็วก็ทรมานน้อยหน่อย ปัญหาคือการตรวจระดับพีเอสเอจะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นชนิดใด แพทย์หลายคนจึงแนะนำว่าใครก็ตามที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 1o ปี ควรจะให้การรักษาไปเลย แต่ถ้าคาดว่าจะอยู่ไม่ถึง 1o ปี ควรรอดูอาการไปก่อน โดยอาจตรวจซ้ำเป็นระยะ
เรื่องระดับพีเอสเอนี้แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันมะเร็งสหรัฐก็ยังบอกว่าบางครั้งขึ้นสูงมาก จนนำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็น ผู้ชำนาญทางโรคมะเร็งกล่าวว่าในคนที่อายุ 5o ปี 4 ใน 1o คนจะมีเซลล์มะเร็งที่ต่อมลูกหมากอันสามารถทำให้ระดับของพีเอสเอสูงได้แต่เพียงร้อยละ 8 คือไม่ถึง 1 ใน 1o ที่จะเกิดอาการกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นถ้าจะเอาระดับพีเอสเอมาเป็นเครื่องตัดสินการรักษาจะเกิดโทษมากกว่ามีคุณ แพทย์หลายคนไม่แนะนำให้ทำพีเอสเอในการตรวจประจำ เพราะเมื่อได้ผลมาแล้วจะตัดสินใจยาก เพราะไม่รู้ว่าเซลล์มะเร็งนี้เป็น “แมว” หรือ “เสือ”
โดยอาศัยเงินทุนของไมเคิล มิลเกน ที่บริจาคไว้ ทำให้นายแพทย์ลีรอย ฮูด แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันหาทางที่จะบอกว่าเซลล์มะเร็งที่อยู่ในต่อมลูกหมากนั้นเป็นแมวหรือเสือ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการค้นคว้า คงจะพอมีทางบอกได้ในอนาคตอันไม่ไกลนัก
ในพ.ศ.2536 คือประมาณ 3 ปีมานี้เอง มียาชื่อฟีนาสเตอไรด์ เชื่อว่ามีฤทธิ์ในการป้องกันโรคมะเร็งของต่อมลูกหมาก การทดลอง เพื่อสอบคุณสมบัติของยาต้องใช้เวลานาน และมีวิธีที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่าจะรู้ผลว่าดีจริงหรือไม่คงใช้เวลาหลายปี
สุดท้ายผมขอให้ท่านผู้อ่านเพศชายทุกท่านจงปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บทุกประการ โดยเฉพาะเจ้ามะเร็งต่อมลูกหมากที่ผมกล่าวถึง สวัสดีครับ ***