15 คำถาม ยาปฏิชีวนะที่กินผิดใช้ผิดกันเกลื่อนเมือง
“ฮัดเช้ย...ฮัดเช้ย” สงสัยจะเป็นหวัดแล้วสิเรา ต้องซื้อยากินหน่อย จะได้หายเร็วๆ
“คุณคะ ฉันเป็นหวัด ขอซื้อยาปฏิชีวนะแก้หวัดหน่อยค่ะ”
“ทำไมคุณถึงรู้ว่าต้องกินยาปฏิชีวนะด้วยละครับ” เภสัชกรถาม
“อ้าว ก็หวัดเกิดจากเชื้อโรคไม่ใช่หรือคะ แล้วยาปฏิชีวนะก็เป็นยาฆ่าเชื้อ ฉะนั้นก็ต้องกินยาปฏิชีวนะสิคะ”
เหตุการณ์ข้างต้นอาจเป็นเหตุการณ์ที่คุณเคยประสบมาก่อนและคิดว่ายาปฏิชีวนะคือยาครอบจักรวาลที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อต่างๆ จริงๆแล้วยาปฏิชีวนะคือยาอะไร เพื่อให้คุณได้รู้จักยาปฏิชีวนะมากขึ้น หมอชาวบ้านฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก ร.ศ.พ.ญ.สยมพร ศิรินาวิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลับมหิดล มาให้ความรู้ในเรื่องยาปฏิชีวนะ
1. ยาปฏิชีวนะคืออะไร ต่างกับยาแก้อักเสบอย่างไร
โดยคำศัพท์ที่แท้จริงแล้ว ยาปฏิชีวนะตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า antibiotics ซึ่งหมายถึงยาที่ผลิตมาจากสิ่งมีชีวิต อาจจะเป็นยาต้านจุลชีพหรือยาต้านมะเร็งก็ได้ คำที่เหมาะสมกว่าที่ควรจะใช้สื่อความหมายของยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อ คือยาต้านจุลชีพ หรือยาฆ่าเชื้อ ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยตามคุณสมบัติของยาในการกำจัดเชื้อได้เป็นยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านไวรัส ยาต้านเชื้อรา แต่โดยทั่วๆไปมักจะอนุโลมให้ใช้คำว่ายาปฏิชีวนะแทนยาต้านจุลชีพ ซึ่งคนส่วนใหญ่คุ้นเคยน้อยกว่า
สำหรับยาแก้อักเสบ หมายถึง ยาที่ช่วยลดอาการอักเสบ แต่เนื่องจากมักมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายมนุษย์จะมีปฏิกิริยาต่อต้านเชื้อโรคนั้น เพื่อกำจัดเชื้อโรค ปฏิกิริยาดังกล่าวมักจะมีผลให้เกิดลักษณะของการอักเสบ ทำให้เกิดความเจ็บป่วย เช่น คออักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น การใช้ยาต้านจุลชีพไปกำจัดเชื้อที่ก่อโรคจะมีส่วนช่วยให้อาการอักเสบทุเลาลง เพราะต้นเหตุถูกจำกัด ส่วนการอักเสบนั้นๆจะค่อยๆทุเลาลง จากการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ หรือการรักษาด้วยวิธีอื่นๆช่วย ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีการเรียกยาต้านจุลชีพว่าเป็นยาแก้อักเสบ แต่แท้จริงแล้วยังมีโรคที่เกิดจากภาวการณ์อักเสบอีกมากมายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาต้านจุลชีพ อาจต้องใช้ยาแก้อักเสบซึ่งเป็นยาที่ไปลดการอักเสบโดยตรง เช่น ยาแอสไพรินหรือพักการใช้อวัยวะส่วนนั้นจนกว่าจะหายดี โรคที่เกิดจากการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การที่ข้ออักเสบจากโรครูมาตอยด์ หรือจากการบาดเจ็บ เสียงแหบเนื่องจากหลอดเสียงอักเสบเพราะใช้เสียงมาก
2. มีสรรพคุณในการรักษาโรคประเภทใด เมื่อไรที่เราควรจะกินยาปฏิชีวนะ
ยาปฏิชีวนะ หรือชื่อที่ถูกต้องว่า คือยาต้านจุลชีพ มีสรรพคุณในการกำจัดเชื้อโรคที่ทำให้มนุษย์เจ็บป่วยจากการที่เชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบ ฉะนั้นจึงเป็นยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อ
เราควรจะกินยาปฏิชีวนะเฉพาะเมื่อมีอาการเจ็บป่วย ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อและใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดชนิดหนึ่งรักษาได้ผลเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องเลือกตัวยาปฏิชีวนะให้ตรงกับเชื้อที่เป็นสาเหตุอีกด้วย ไม่ใช่ว่าพอเป็นโรคติดเชื้อแล้วจะใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดๆก็ได้ โดยกว้างๆก็คือ ถ้าติดเชื้อแบคทีเรีย ก็ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรีย ถ้าติดเชื้อไวรัส ก็ต้องใช้ยาต้านไวรัส แต่แค่นี้ยังไม่พอ เพราะยาต้านแบคทีเรียเฉพาะตัวยาที่ขึ้นทะเบียนให้มีใช้ในประเทศไทยก็มีมากกว่า ๑oo ชนิด และถ้านับเป็นชื่อการค้าจากแหล่งผลิตต่างๆ ก็มีหลายพันชนิด และเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคก็มีหลายสิบชนิด ยาแต่ละชนิดก็ใช้กำจัดเชื้อโรคแต่ละชนิดแตกต่างกัน เช่น ถ้ามีการอักเสบจากการติดเชื้อสเตรป ก็ต้องใช้ยาเพนิซิลลิน ถ้าเป็นเชื้อไมโคพลาสมา ต้องใช้อีริโทรไมซิน ถ้าเป็นเชื้อไวรัส โดยทั่วไปก็ไม่มียาที่ใช้ได้ผล เป็นต้น
3. เวลาเป็นไข้ (ตัวร้อน) หรือเป็นหวัด หรือเจ็บคอ หรือไอ จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะหรือไม่ เพราะเหตุใด
ผู้ใหญ่ที่เป็นหวัด เจ็บคอ หรือไอ จะมีกรณีที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนที่อยู่ใกล้ชิดกันเป็นด้วยกันหลายคน อาการที่ชี้แนะว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ได้แก่ น้ำมูกใสๆ หรือคัดจมูก จาม เสียงแหบหรือเสียงหาย ในกรณีเช่นนี้สันนิษฐานได้ว่า เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใดกำจัดเชื้อที่เป็นสาเหตุได้
โดยทั่วๆไปแล้ว ควรจะรักษาตามอาการนั้นๆ เป็นเบื้องต้น ถ้าเป็นไข้ก็กินยาลดไข้ พาราเซตามอล หรือเช็ดตัวให้ไข้ลดถ้าเป็นเด็กเล็ก เป็นหวัดก็สั่งน้ำมูกออก หรือถ้ามีน้ำมูกมากก็อาจกินยาลดน้ำมูกเป็นครั้งคราว เพื่อทำให้รู้สึกจมูกโล่งขึ้น เช่น ยาคลอร์เฟนิรามีน เมื่อมีอาการเจ็บคอหรือไอก็ควรลดการใช้เสียงลง กินน้ำอุ่นให้พอเพียง หรืออมยาอมบางชนิดเพื่อให้ชุ่มคอ ถ้าเจ็บคอมากอาจกินยาพาราเซตามอล และถ้าไอมากอาจใช้ยาแก้ไอบางชนิดช่วยทุเลาอาการไอ รักษาร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคอและหน้าอกให้อบอุ่นก็จะช่วยบรรเทาอาการลงได้
กรณีที่อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาอาการดังกล่าวในผู้ใหญ่ คือ เมื่อมีไข้สูง โดยไม่มีอาการหวัดหรือไอ และอาการไม่ทุเลาลงหลังกินยาพาราเซตามอล หรือมีไข้อยู่หลายวัน เมื่อมีอาการเจ็บคอโดยไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย อาจเกิดจากการติดเชื้อสเตรป ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคหัวใจรูมาติก(ลิ้นหัวใจรั่ว)ได้ ควรได้รับการรักษาด้วยยาเพนิซิลลิน มีอาการไอมาก จนรู้สึกเหนื่อย อาจเกิดจากการติดเชื้อไมโคพลาสมา ซึ่งรักษาได้ด้วยยาเตตราไซคลีน หรืออีริโทรไมซิน มีอาการหวัดเรื้อรัง น้ำมูกมีปริมาณมากและข้นเหลือง อาจเกิดจากไซนัสอักเสบ ที่ถูกต้องแล้วควรจะไปพบแพทย์วินิจฉัยโรคและเชื้อที่เป็นสาเหตุ และแนะนำยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมทั้งชนิด ขนาด และระยะเวลาที่ควรรักษาให้
ถ้าเป็นเด็กเล็กจะมีกรณีที่จะใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษามากกว่าผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย และแนะนำการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมต่อโรค
4. ถ้ามีบาดแผล เมื่อไรจึงจะจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ
ถ้าเป็นแผลตื้นๆ และสะอาด ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ
ถ้าเป็นแผลตื้นๆ และสกปรกเพียงเล็กน้อย อาจใช้ยาทาแผลที่ฆ่าเชื้อได้ เช่น แอลกอฮอล์ เบตาดีน
ถ้าเป็นแผลลึก หรือแผลที่สกปรกค่อนข้างมากหรือมาก อาจจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการทำแผลอย่างเหมาะสม รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
5. การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อเกินจำเป็นจะมีผลอย่างไร
จะมีผลให้เกิดการแพ้ยาโดยไม่จำเป็น และที่สำคัญคือจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เมื่อมีการติดเชื้อที่ดื้อยาเข้าก็จะหายารักษาได้ยาก
6. ยานี้มีหลักการใช้อย่างไร
ชนิดกินกับชนิดฉีดต่างกันอย่างไร ? ?
ในการใช้ยาโดยทั่วไปจะเลือกใช้ยาชนิดกินก่อนเสมอ เพราะให้ได้สะดวก และอันตรายจากยาน้อยกว่ายาชนิดฉีด รวมทั้งราคาถูกกว่ามากด้วย
จะใช้ยาฉีด เพราะกรณีที่ไม่มียากินที่จะใช้รักษาโรคนั้นๆได้ คนไข้ไม่สามารถกินยาได้ เช่น กินยาแล้วอาเจียน อยู่ในภาวะไม่รู้สึกตัว คนไข้มีอาการท้องเสียมาก จนคิดว่ายาที่กินเข้าไปจะถูกถ่ายออกมาจนเข้าสู่ร่างกายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้รักษา
หลายคนเข้าใจผิดว่า การฉีดยาจะทำให้โรคหายเร็วขึ้น แต่ที่จริงแล้ว ถ้าเป็นกรณีที่มียากินสามารถใช้รักษาได้ดีอยู่แล้ว การฉีดยาไม่ช่วยให้หายเร็วขึ้น ในบางกรณียาฉีดและยากินที่รักษาโรคได้ดีเท่ากันนั้น ราคายาฉีดจะแพงกว่ามากกว่า ๑o เท่า รวมทั้งเจ็บตัว และต้องจ่ายค่าฉีดยาอีกด้วย
ควรกินก่อนอาหารหรือหลังอาหาร เพราะเหตุใด
การกินยาก่อนหรือหลังอาหารขึ้นอยู่กับชนิดของยา ทั้งนี้เพราะในกระเพาะอาหารมีความเป็นกรดและด่างต่างกันในช่วงก่อนอาหารและหลังอาหาร ในขณะที่หิวหรือก่อนอาหาร มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมากทำให้เป็นกรด ถ้ากินยาบางชนิดในระยะนี้ ยาอาจจะถูกทำลายด้วยกรดในกระเพาะ ในระยะหลังกินอาหารความเป็นกรดในกระเพาะอาหารจะน้อยลงทำให้ยาที่ไม่ทนกรดไม่ถูกทำลาย แต่ก็จะมีอาหารในกระเพาะ ทำให้ยาบางชนิดจับตัวกับอาหารในกระเพาะและถูกขับถ่ายออกไป โดยไม่ผ่านผนังกระเพาะหรือลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด
การกินยาก่อนอาหารหมายถึงประมาณครึ่ง-๑ช.ม. ก่อนกินอาหารและหลังอาหารคือครึ่ง-๑ ช.ม. หลังกินอาหาร ส่วนการกินยาแล้วก่อนกินอาหารทันที หรือกินอาหารเสร็จแล้วกินยาทันทีนั้น เป็นการกินยาพร้อมอาหาร มียาบางชนิดควรกินพร้อมอาหาร ซึ่งมักจะเป็นยาที่รบกวนกระเพาะอาหาร เช่น ยาอีริโทรไมซิน ในการสั่งยาแต่ละชนิดแพทย์หรือเภสัชกรจะเป็นผู้บอกให้ได้ว่ายานั้นๆ ควรจะกินก่อนหรือหลังอาหาร ในกรณีของยาปฏิชีวนะนั้น หากลืมกินยาชนิดที่ควรกินก่อนอาหาร สามารถกินหลังอาหารได้ แม้ว่าจะไม่ดีเท่ากับการกินยาให้ถูกต้อง แต่ก็ดีกว่าที่จะงดยามื้อนั้นๆไปเลย
7. ยาปฏิชีวนะชนิดผงหรือยาทาที่ใช้โรยแผลหรือทาแผล มีประโยชน์และข้อควรระวังอย่างไร
ยาฆ่าเชื้อที่ใช้โรยหรือทาแผลนั้นมีอยู่ ๒ กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่เป็นยาปฏิชีวนะ และกลุ่มที่เป็นสารเคมีอื่นๆ
- กลุ่มยาปฏิชีวนะ ได้แก่ นีโอไมซิน ซัลฟา คลอแรมฯ เตตราไซคลีน เป็นต้น
- ส่วนยาอื่นๆ ได้แก่ แอลกอฮอล์ เบตาดีน ยาทิงเจอร์ เบซิเทซิน เป็นต้น ควรเลือกใช้ยาทาแผลที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะก่อน เช่น เบตาดีน เบซิเทซิน ไม่ควรใช้ยาทาแผลที่ประกอบด้วยยาเจนตาไมซิน คานาไมซิน หรือโทบราไมซิน เพราะการใช้ยาเหล่านี้ทาแผลจะทำให้เชื้อดื้อยาได้เร็ว และทำให้ใช้รักษาการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าไม่ได้ ยาทาแผลเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการแพ้หรือการระคายเฉพาะที่ได้บ้าง
ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่แผลซึ่งไม่รุนแรง การใช้ยาทาแผลเฉพาะที่ก็มีประโยชน์ในการกำจัดเชื้อโดยตรง โดยที่ยาไม่เข้าไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แต่ถ้าแผลสะอาดดี ไม่มีการติดเชื้อ ก็ไม่จำเป็นต้องทายาฆ่าเชื้อเหล่านี้ เพียงแต่ใช้ผ้ากอซสะอาดปิด หรือทายาแดงเพื่อปิดเนื้อส่วนที่ยังไม่มีผิวหนังมาคลุม นอกจากนี้ครีมว่านหางจระเข้ ยังเป็นยาที่ใช้รักษาแผลติดเชื้อได้ดี
8. ยานี้ต้องกินให้ครบขนาดและระยะเวลาที่หมอสั่งหรือไม่ เพราะอะไร
การรักษาโรคจากการติดเชื้อนั้น จะต้องกินยาให้ได้ขนาดและระยะเวลาที่จะฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุได้ รวมทั้งจะมีระยะเวลาที่จะต้องกินยาจนกำจัดเชื้อที่เป็นสาเหตุได้หมด โดยที่การรักษาแต่ละโรคจะมีการกำหนดขนาดยาและระยะเวลาการรักษาต่างกัน ทั้งนี้แพทย์และเภสัชกรจะเป็นผู้บอกให้ได้ว่าจะกินขนาดเท่าไร เป็นเวลานานเท่าไร
9. ถ้ากินยาไม่ครบ จะมีผลอย่างไร
หากกินยาไม่ครบ ทำให้มีโอกาสที่การรักษาจะไม่ได้ผล หรือเกิดการกลับเป็นโรคนั้นใหม่ และเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุอาจจะเปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา ทำให้ต้องใช้ยาที่แพงขึ้นในการรักษา หรือรักษาได้ยากขึ้น
แต่หากว่า การกินยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ แล้วมีอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นลมพิษ ควรจะหยุดยาแล้วรีบไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้คำแนะนำหรือเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นๆ
10. ที่ว่าดื้อยาหมายถึงอะไร ปัญหาการดื้อยามีความสำคัญอย่างไร มีทางป้องกันอย่างไรบ้าง
ในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อนั้น การดื้อยาหมายถึงการที่เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยดื้อต่อยาที่เคยใช้รักษาได้ผล การรักษาที่เกิดจากการติดเชื้อดื้อยา ส่วนใหญ่จะต้องใช้ยาที่ราคาแพงขึ้นอีกมาก เช่น การรักษาฝีจากการติดเชื้อที่ไม่ดื้อยารักษาด้วยยา คล็อกซาซิลิน ซึ่งรักษาได้ด้วยการกินยา มีค่ารักษาประมาณ ๑๖o บาท แต่ถ้าเชื้อดื้อยาดังกล่าว ต้องใช้ยาฉีดในการรักษา ซึ่งมีราคาแพงถึง ๔๔,๘oo บาท และยังต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลอีกด้วย และในบางครั้งก็จำเป็นต้องใช้ยาที่มีอันตรายกว่ายาเดิม หรือในบางครั้งก็ทำให้ไม่มียาที่ใช้รักษาการติดเชื้อดังกล่าวได้
การป้องกันการดื้อยานั้น ทำได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคนั้นจริง ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อเกินจำเป็น และถ้าโรคนั้นจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา จะต้องรักษาด้วยชนิดและขนาดยาที่ถูกต้องและครบตามระยะเวลาที่ควรจะเป็น ชนิดของยาที่ถูกต้องคือยาที่มีผลต่อเชื้อโรคน้อยที่สุด แต่ต้องได้ผลต่อเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค ดังนั้น ในการใช้ยาปฏิชีวนะควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ที่มีความรู้ดีทางด้านโรคติดเชื้อ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
11. ยานี้มีอันตรายอื่นๆ อะไรอีกบ้าง
อันตรายอื่นๆจากยาปฏิชีวนะ แตกต่างกันตามชนิดของยา ที่สำคัญคือ ยาเตตราไซคลีนเป็นอันตรายต่อการเจริญของกระดูกและฟันของเด็กอายุน้อยกว่า ๘ ปี ยาคลอแรมอาจทำให้ไขกระดูกฝ่อ ยาเพนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน หรือแอมพิซิลลิน อาจทำให้เกิดลมพิษ หรือช็อกจากการแพ้ยา ยาเจนตาไมซิน คานาไมซิน อาจทำให้เกิดภาวะไตวายหรือหูหนวกได้ ยาทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอันตรายได้ทั้งนั้น แม้ว่าโอกาสจะมากน้อยต่างกันบ้าง ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือใช้ยาเฉพาะกรณีที่จะได้รับประโยชน์หรือทำให้หายโรค ซึ่งจะคุ้มกับความเสี่ยงอันตรายจากยาหากจะเกิดขึ้น และที่ดีที่สุดคือควรจะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่มีความรู้ก่อนจะใช้ยาปฏิชีวนะ
12. คนที่มีประวัติการแพ้ยา จะต้องระมัดระวังในการใช้ยานี้อย่างไรบ้าง
คนที่มีประวัติการแพ้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพ้ยาที่ทำให้เกิดผื่นลมพิษ หรือช็อก จะต้องงดการใช้ยาที่แพ้และยาอื่นๆในกลุ่มเดียวกันควรจะให้แพทย์เขียนบันทึกไว้สำหรับติดตัวว่าแพ้ยาอะไรอย่างชัดเจน ระบุชื่อยาที่ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการแพ้ยา โดยขอให้ผู้ที่สั่งยาที่แพ้ให้เป็นคนเขียนให้ เพื่อที่จะได้ชื่อยาที่แน่นอน และต้องแจ้งให้แพทย์ที่จะทำการรักษาต่อไปทราบทุกครั้งว่าแพ้ยาอะไร รวมทั้งเมื่อไปทำฟันด้วย
13. ยาปฏิชีวนะใหม่ ดีกว่าชนิดเก่าจริงหรือไม่
ไม่จริงเสมอไป ส่วนใหญ่แล้วยาปฏิชีวนะชนิดใหม่จะมีประโยชน์เมื่อได้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาขึ้น เลยต้องใช้ยาที่มีมาใหม่และเชื้อยังไม่ทันดื้อยา แต่เมื่อใช้อย่างไม่ระมัดระวังกันไม่นานเชื้อก็ดื้อต่อยาที่มีมาใหม่ ทำให้ใช้ไม่ได้ผลอีก ในขณะที่ค่ารักษาด้วยยาใหม่ๆแพงกว่ายาชนิดเก่าหลายเท่า และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันเราไม่สามารถหายาใหม่กว่านี้มาช่วยรักษาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อดื้อยาได้อีกแล้ว
ถ้าเชื้อไม่ดื้อยาแล้ว ยาเก่าดีกว่ายาใหม่เพราะราคาถูกกว่ามาก ผลการรักษามักจะไม่ต่างกัน มีน้อยกรณีที่การใช้ยาใหม่ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น
14. ยาปฏิชีวนะที่มีราคาแพงดีกว่าที่ราคาถูกจริงหรือไม่
ไม่จริง ราคาของยาขึ้นอยู่กับว่ายานั้นมีขายมานานแล้วหรือยัง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพในการใช้รักษา ยาที่เพิ่งออกมาใช้ใหม่ๆ จะรวมค่าใช้จ่ายในการค้นคิดหายาและค่าโฆษณาให้เกิดการใช้ยาเข้าไปในราคายา ยาจึงมีราคาแพง แต่ยาที่มีใช้มานานแล้ว จะไม่สิ้นเปลืองค่าโฆษณา รวมทั้งสามารถผลิตได้โดยผู้ผลิตอื่นๆ นอกจากบริษัทผู้ค้นพบยาทำให้ต้นทุนยาลดลง
15. ในการเลี้ยงสัตว์จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อสัตว์ป่วย มีโอกาสที่ยานี้จะตกค้างในเนื้อสัตว์หรือน้ำนมวัวหรือไม่ และหากคนกินเข้าไปนานๆ จะเป็นอย่างไร
มีโอกาสที่ยาจะตกค้างในเนื้อสัตว์หรือน้ำนมวัวได้ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง แต่มักจะอยู่ในระดับยาต่ำมาก ถ้าคนกินยาที่ปนอยู่เข้าไป อันตรายโดยตรงอาจจะน้อย และจะมีผลให้เกิดเชื้อในลำไส้ใหญ่ของคนเปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยาได้ แต่ถ้าเป็นยาอันตรายและมีระดับยาสูงพอก็อาจจะก่ออันตรายได้มากกว่านั้น เช่น ยาเตตราไซคลีน ที่ค้างอยู่ในนม อาจเป็นอันตรายต่อเด็กเล็กๆ โดยมีผลทำให้ฟันแท้ที่ขึ้นมาทีหลังเป็นสีเทา ที่ถูกต้องแล้วเมื่อสัตว์ได้รับยาเพื่อรักษาการเจ็บป่วยจะต้องทิ้งระยะให้ยาหมดไปจากร่างกายของสัตว์ก่อนที่จะรีดนมหรือแปลงเป็นเนื้อสัตว์ออกจำหน่าย