- เพ็ญแข/กรุงเทพฯ : ผู้ถาม
ดิฉันเป็นโรครูมาตอยด์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และเข้ารับการรักษาจนอาการเหมือนคนปกติ พอปี พ.ศ. 2542 ก็มีอาการปวดตามข้อมือบ้าง กินยา Chloroquine และยาต้านการอักเสบ อาการก็เป็นปกติ
จนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2543 เริ่มมีอาการปวดตามข้อนิ้วมือ หัวไหล่ และปวดตามตัว อ่อนเพลีย จึงได้ไปพบแพทย์ที่เคยรักษา และขณะนี้ดิฉันได้กินยาไฮดรอกซีคลอโรควิน วันละ 1 เม็ดตอนเช้า และยาโมบิก7.5 มิลลิกรัม วันละ 2 เม็ดตอนเช้า แต่ก็ยังมีอาการปวดเมื่อยตามข้อต่างๆ อยู่ โดยเฉพาะข้อนิ้วชี้มือซ้าย ข้อกลางรู้สึกจะโตผิดปกติ
ดิฉันจึงขอทราบข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์
1. ควรกินอาหารประเภทใดและควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทใด
2. ยาที่ใช้ในการรักษาควรใช้ยาชนิดใด ที่ดิฉันใช้อยู่ถูกต้องหรือไม่
3. สถานพยาบาลที่รักษาเกี่ยว กับโรครูมาตอยด์โดยตรงอยู่ที่ใดบ้าง
4. การออกกำลังกายควรเป็น ประเภทใด และอยากให้แนะนำ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรค รูมาตอยด์ค่ะ
- นพ.พงษ์ศักดิ์ วัฒนา : ผู้ตอบ
โรคข้อรูมาตอยด์เป็นโรคข้อที่รักษาไม่หาย จำเป็นต้องรักษาตลอดชีวิต ยาที่ใช้ในการรักษาในปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิดที่ใช้ควบคู่กันไป
1. ยาต้านการอักเสบ (NonSteroidal Anti-Inflammatory Drugs-N’SAIDs) ซึ่งเป็นยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สตีรอยด์ ซึ่งขณะนี้ มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมากมายคิดว่าคงจะคุ้นหูกับยาประเภทนี้ ได้แก่ ยาโวลตาเรน เฟลดีน บลูเฟน เซเลเบรก โมบิก ไนดอล ซึ่งยากลุ่มนี้เป็นยาต้านการอักเสบชั่วคราวในระยะสั้นๆ เท่านั้น
2. ยาต้านการอักเสบออกฤทธิ์ช้า เป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งที่นำมาใช้ในการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์โดยเฉพาะ ยานี้จะใช้กินทางปากหรือการฉีดจะออกฤทธิ์ได้ผล ในการรักษาจะใช้เวลานาน 3 เดือนขึ้นไป แต่จะออกฤทธิ์ในการลดการอักเสบได้มากกว่า ได้แก่ ยาคลอโรควิน ยาทองเมโทรเทรกเสท ซัลฟาซาลาซีน
โรคข้อรูมาตอยด์เป็นโรคข้อที่ป้องกันไม่ได้ แต่ต้องรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ผลดี คือรักษาก่อนที่ข้อต่อจะถูกทำลายไปแล้ว
ตามที่คุณเพ็ญแขเล่ามา มียาโมบิก ซึ่งเป็นยาต้านอักเสบ 1 ตัว และยาคลอโรควิน ซึ่งเป็นยาต้านอักเสบออกฤทธิ์ช้าน่าจะถูกต้อง
ผมจะขอตอบตามหัวข้อเลยนะครับ
1. คนที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์จะไม่มีการห้ามกินในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะ แต่ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้โรคข้อรูมาตอยด์เลวลง โดยเฉพาะอาหารพวกไขมันที่จะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น คนที่เป็นและมีอาการปวดข้อมากจะทำให้ออกกายบริหารยากมาก และคนอ้วนมาก จะทำให้อาการปวดของโรคข้อเป็นมากขึ้น
2. ยาที่ใช้ในการรักษาอยู่ถูกต้องแล้ว การรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ ไม่มีสูตรตายตัว เพราะอาการของโรคมีความรุนแรงมาก อาจจะต้องเปลี่ยนยา หรือเพิ่มยาอีก ควรจะต้องซักถามแพทย์ที่ทำการรักษาให้ทราบ อย่างถ่องแท้
3. ในขณะนี้ยังไม่มีโรงพยาบาลรักษาโรคข้อรูมาตอยด์โดยตรง สำหรับในกรุงเทพฯ หรือโรงพยาบาล ใหญ่ๆ จะรักษาโรคข้อนี้โดยแพทย์ 2 ประเภทด้วยกันคือ แพทย์รักษาโรคข้อ (Rheumatologist) และแพทย์ออร์โธปิดิกส์ สำหรับในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย จะมีหน่วยโรคข้อในภาคอายุรศาสตร์ หรือภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ และสำหรับในโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ จะมีกลุ่มงานศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ที่รักษาโรคนี้โดยเฉพาะ
4. ผู้ป่วยโรคข้อทุกชนิดควรจะมีการออกกำลังกาย โดยเฉพาะโรคข้อรูมาตอยด์ แต่การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดไม่เช่นนั้นจะทำให้ข้อต่อกำเริบได้ แต่มีหลักคร่าวๆ อยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ
- การออกกำลังเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
- การบริหารข้อต่อให้พิสัยของ ข้อต่อเท่าเดิม หรือเพิ่มมากกว่าเดิม
- การออกกำลังเพื่อให้เกิดความคงทน (Endurance Exercise) เป็นการบริหารที่จะทำให้เรานอนหลับ ไม่อ้วน และมีความกระปรี้กระเปร่าอยู่เสมอ
การดูแลตนเองเป็นส่วนสำคัญพอๆ กับการรักษาของแพทย์ แพทย์ให้การรักษาผู้ป่วยอย่างมากก็แค่ครึ่ง ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยทุกคนต้องอยู่กับโรคเกือบตลอดเวลา ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองด้วย เพื่อให้อยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข