• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เสียสละและมีคุณธรรม นำ 3 หมอคว้าแพทย์ชนบทดีเด่น 2552

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิแพทย์ชนบทประกาศผลและมอบรางวัล แพทย์ชนบทดีเด่น ประจำปี
 พ.ศ.2552 โดยมีนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้มอบรางวัล
รางวัล "แพทย์ชนบทดีเด่น กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร" เป็นกองทุนในมูลนิธิแพทย์ชนบทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่แพทย์ชนบทที่ปฏิบัติงานด้วยความอดทน ตั้งใจ และเสียสละ ในเขตเสี่ยงภัยและทุรกันดาร อุทิศตัวเพื่อชุมชนอย่างทุ่มเทและต่อเนื่อง โดยการมอบรางวัลนี้จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี
พ.ศ.2552

ผู้ที่ได้รับรางวัล "แพทย์ชนบทดีเด่น กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ประจำปี พ.ศ.2552" มีด้วยกัน 3 คน คือ นายแพทย์สมชัย พงษ์ธัญญะวิริยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี นายแพทย์วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และนายแพทย์เจริญ เสรีรัตนาคร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

นายแพทย์สมชัย พงษ์ธัญญะวิริยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี แม้จะทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย แต่ก็สามารถดูแลประชาชนให้ได้รับการบริการที่ดีมีคุณภาพจนผ่านการรับรอง HA (Hospital Accreditation) และโรงพยาบาลส่งเสริมคุณภาพ อีกทั้งยังคงยึดมั่นในการดูแลผู้ป่วยแบบไม่เลือกข้าง ถือว่าคนที่เดินเข้ามาในโรงพยาบาลคือคนไข้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากแพทย์ พยาบาล เพราะฉะนั้นจะไม่แยกเรื่องการดูแล แต่ให้ความสำคัญเท่าเทียมกันหมด

นายแพทย์วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ผู้บริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจนสามารถทำให้โรงพยาบาลผ่านพ้นวิกฤติภาระหนี้สินท่วมท้นได้ ทั้งยังจัดทำแผนการเงินการคลังของโรงพยาบาลจนได้รับการยอมรับว่าเป็นแผนที่สมดุล และได้รับการเผยแพร่เป็นตัวอย่างแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้คุณหมอมีข้อคิดดีๆ แก่แพทย์รุ่นน้องว่า "แพทย์ทุกคนที่จบมาไม่ว่าจากสถาบันใด ย่อมมีความรู้ ความเก่งทางวิชาการ ได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่แพทย์ชนบทต้องธำรงรักษาไว้คือจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแสงนำทางแห่งชีวิต ทั้งด้านการบริหาร การปฏิบัติงานและการครองชีวิตส่วนตัว"

ด้าน นายแพทย์เจริญ เสรีรัตนาคร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี แม้จะรับหน้าที่ทั้งงานบริหารและการตรวจผู้ป่วยวันละหลายชั่วโมงแล้ว ยังทุ่มเทฝึกฝนและเรียนรู้ระบบไอทีด้วยตนเองจนสามารถพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในงานโรงพยาบาลได้อย่างหลากหลาย เช่น พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารภายในโรงพยาบาล (HI) จนทำให้ระบบข้อมูลข่าวสารภายในจังหวัดอุบลราชธานีมีเอกภาพและได้ประโยชน์ตามมาอีกหลายอย่าง นายแพทย์เจริญกล่าวถึงการทำงานของแพทย์ชนบทกับการสร้างสุขภาพแบบพอเพียงว่า "ขอให้แพทย์ทุกคนมีสติปัญญาพอที่จะมองเห็นบทบาทที่สำคัญของแพทย์ ที่จะต้องทดแทนให้สังคมหรือแผ่นดินเกิด พอที่จะเห็นความเป็นจริงของชีวิตตัวเองและสังคม กล้าที่จะคิดและทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะแตกต่างจากกระแส เช่น เราไม่จำเป็นจะต้องอยู่เมืองใหญ่ เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทุกคน เราไม่จำเป็นจะต้องรวย เราไม่จำเป็นต้องเปิดคลินิก รวมทั้งฉลาดพอที่จะเข้าใจว่าความสุขของชีวิตทุกคนอยู่ที่ไหนแน่"

 

ข้อมูลสื่อ

367-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 367
พฤศจิกายน 2552
กองบรรณาธิการ