• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พร่องเอนไซม์ จี 6-พีดี

ถาม : เมธี/กรุงเทพฯ
ลูกชายอายุ 22 ปีแล้วป่วยเป็นโรคจี 6-พีดี จะต้องให้ลูกเสริมอาหารและวิตามินอย่างไรบ้าง

 

ตอบ : ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ
ภาวะพร่องเอนไซม์ จี6-พีดี (G6-PD : Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) หรือรู้จักกันในชื่อ โรคแพ้ถั่วปากอ้า (favism) นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงการกินยาบางกลุ่มด้วย เช่น ยากลุ่มแอสไพริน ยาต้านมาลาเรีย ยากลุ่มซัลฟา เป็นต้น

ดังนั้น จึงไม่ควรซื้อยากินเอง และเมื่อไปพบแพทย์ก็ต้องบอกให้แพทย์ทราบด้วยว่ามีภาวะจี6-พีดี
สำหรับเรื่องการกินแร่ธาตุและวิตามินเสริม ถ้ากินขนาดปกติในรูปวิตามินรวมไม่มีรายงานว่ามีปัญหาแต่อย่างใด อาจต้องระวังการกินวิตามินซี และวิตามินเคปริมาณที่สูง

มีรายงานพบว่าเด็กอายุ 10 ขวบที่กินวิตามินซี 1,500 มิลลิกรัม แล้วเกิดการแตกของเม็ดเลือดแดง
สำหรับวิตามินเคมีรายงานว่าการให้วิตามินเคในรูปของวิตามินเค 3 (K3) ปริมาณสูงไม่สามารถช่วยเรื่องการแตกตัวของเม็ดเลือดในผู้ป่วยจี6-พีดีได้ แต่ไม่พบอันตรายจากการกินวิตามินเคในรูปของวิตามินเค 1 (K1) ที่พบอยู่ในอาหารทั่วไปหรือที่มักใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

โดยทั่วไปการกินอาหารที่ครบหมวดหมู่และหลากหลายในปริมาณที่พอเพียงกับความต้องการของร่างกายจะทำให้ได้สารอาหารต่างๆ พร้อมแร่ธาตุและวิตามินที่เพียงพออยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องกินวิตามินและแร่ธาตุเสริม แต่ถ้าไม่แน่ใจเรื่องการกินอาหารว่าจะพอเพียงหรือไม่ หรือต้องการจะกินวิตามินและแร่ธาตุเสริมจริงๆ สำหรับผู้ที่มีภาวะจี6-พีดี ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาก่อน หรือไม่ก็กินเสริมในปริมาณที่ไม่สูงมากโดยเริ่มทีละอย่างและสังเกตตนเองว่าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ที่สำคัญอย่ากินเสริมพร้อมกันหลายเม็ดในครั้งเดียวกัน