• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้หญิงกับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

ผู้หญิงอายุ 27 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ?

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก... อนุมัติให้ใช้ในผู้หญิงอายุ 9-26 ปี
นับตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกใช้ในผู้หญิงอายุ 9-26 ปี เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก

ทั้งนี้ อย. ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณร้อยละ 70 (ไม่สามารถครอบคลุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์) ทั้งยังเสนอให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้วก็ยังต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี (เหมือนกับผู้หญิงทั่วไปที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนชนิดนี้)

 

ทำไม อย. อนุมัติเฉพาะผู้หญิงอายุ 9-26 ปีเท่านั้น

เหตุผลสำคัญคือ "วัคซีนชนิดนี้ได้ผลดีและมีประโยชน์สูงสุดกับผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์" จึงได้ระบุอายุของผู้หญิงที่ควรได้รับวัคซีนว่า ควรมีอายุระหว่าง 9-26  ปี เพราะคาดคะเนว่าผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 9-26 ปี จะยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ เป็นหญิงบริสุทธิ์ (ซึ่งก็ไม่เป็นความจริงเสมอไปในโลกปัจจุบันที่การติดต่อสื่อสารรวดเร็ว และมีรายงานเป็นจำนวนมากระบุว่าปัจจุบันเด็กโตเป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้น และตามมาด้วยการมีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้น)


ในความเป็นจริงจึงนิยมให้เด็กหญิงอายุระหว่าง 9-13 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกชนิดนี้ เพราะยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
จากหลักฐานทางการแพทย์ พบว่าต้นเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูกคือการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Human Papilloma Virus (HPV หรือเอชพีวี) ซึ่งติดต่อกันด้วยการมีเพศสัมพันธ์ แล้วมีการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดเชื้อไวรัสชนิดนี้ต่อกัน ผู้ชายถ่ายทอดให้ผู้หญิง หรือผู้หญิงถ่ายทอดให้ผู้ชาย ถ่ายทอดกันไปมา เพียงแต่ในผู้ชายไม่มีการพัฒนาการติดเชื้อต่อไปจนเกิดความผิดปกติเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เหมือนในผู้หญิง

ผู้หญิงเมื่อได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้แล้ว ประมาณร้อยละ 90 ของผู้หญิงที่ได้สัมผัสเชื้อไวรัสเอชพีวี จะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาด้วยตนเอง แต่อีกประมาณร้อยละ 10 ที่ไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ทำให้มีการติดเชื้อต่อเนื่องและกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ จนกระทั่งเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด

ดังนั้น ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือคนที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวี (เพราะถ้าเคยได้รับเชื้อแล้ว กว่าร้อยละ 90 จะมีภูมิต้านทานแล้ว) และก็คงหมายถึง คนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง

 

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก

เมื่อผู้หญิงได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีแล้ว พบว่าร้อยละ 90 ของผู้หญิงที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะหายไปได้ด้วยตนเอง ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของผู้ได้รับเชื้อที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันมาจัดการกับเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้ได้ จะเหลือผู้หญิงที่ได้รับเชื้อแล้วอีกประมาณร้อยละ10 ที่ยังคงพบเชื้ออยู่ในร่างกายต่อไป ซึ่งในจำนวนนี้จะมีเชื้อไวรัสเอชพีวีหลงเหลืออยู่ และคอยโอกาสเมื่อสภาวะเหมาะสมต่อการติดเชื้อลุกลามของโรค เช่น เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ ก็จะเกิดการลุกลามของการติดเชื้อไวรัสและพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 85-10  ปี

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ การมีคู่นอนหลายคน (รวมถึงคู่นอนไปมีคู่นอนอื่นๆ อีกหลายคน) การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ ประวัติการเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ การมีบุตรหลายคน การสูบบุหรี่ การกินยาคุมกำเนิดมานานกว่า 5 ปี และไม่เคยตรวจแพ็ปสเมียร์ (pap smear อ่านว่า 'แพ็ป-สะ-เมีย' คือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก) เป็นต้น จนมีคำกล่าวว่า "แม่ชี...จะไม่ค่อยเป็นมะเร็งปากมดลูก แต่จะพบได้บ่อย..ในหญิงโสเภณี"

ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เพื่อจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และลดโอกาสการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้อีกทอดหนึ่งด้วย

 

 

ตรวจแพ็ปสเมียร์เป็นประจำทุกปีลดการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก

มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันแล้วว่า "ถ้ามีการตรวจแพ็ปสเมียร์มากขึ้น จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกลดลง"

การติดตามความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการตรวจแพ็ปสเมียร์เป็นประจำทุกปี จะช่วยติดตามความผิดปกติของเซลล์บุผิวปากมดลูกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เริ่มต้นมีความผิดปกติ โดยเฉพาะผู้หญิงอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจแพ็ปสเมียร์เป็นประจำปีละ 1 ครั้ง ถ้าพบความผิดปกติในระยะเริ่มต้น จะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ในขณะที่ยังมีความผิดปกติเล็กน้อย อาการไม่มาก ซึ่งรักษาให้หายขาดได้โดยง่าย

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นผู้หญิงไทยของสำนักโพลล์แห่งหนึ่ง พบว่า "ร้อยละ 58 ของผู้หญิงไทยรู้ว่าโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย กลุ่มตัวอย่างนี้ร้อยละ 90 รู้ว่าการตรวจแพ็ปสเมียร์จะช่วยคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แต่ที่น่าผิดหวังอย่างมากก็คือ มีผู้หญิงไทยเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่ไปรับการตรวจแพ็ปสเมียร์"

จะเห็นได้ว่า ทั้งๆ ที่รู้หรือตระหนักว่าอันตรายจากการเป็นมะเร็งปากมดลูกมีมากเช่นใด และการตรวจแพ็ปสเมียร์ช่วยตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ จะมีประโยชน์แค่ไหน แต่มีผู้หญิงไทยไปรับการตรวจแพ็ปสเมียร์น้อยมากๆ

จึงอยากจะขอแรงให้ช่วยกันรณรงค์กุลสตรีไทยที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจแพ็ปสเมียร์เป็นประจำทุกปี เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเสียแต่เนิ่นๆ
ช่วยกันพูดปากต่อปาก พูดคุยเรื่องนี้กันมากๆ จนกลบความรู้สึก กลัวและอาย และให้กลับมาเห็นความสำคัญ จะได้มีกุลสตรีไทยไปตรวจแพ็ปสเมียร์กันมากๆ ได้ทุกคนยิ่งดี เพราะที่ต่างประเทศมีรายงานว่าผลจากการตรวจอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ ได้รับการรักษาตั้งแต่เป็นน้อยๆ อัตราการตายจากมะเร็งปากมดลูกก็จะลดลงเป็นอันมาก


อนึ่ง การตรวจคัดกรองแพ็ปสเมียร์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้จำเป็นเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเท่านั้น แม้แต่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องได้รับการตรวจคัดกรองแพ็ปสเมียร์อย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน เพราะวัคซีนครอบคลุมได้เพียงร้อยละ 70 เท่านั้น (ไม่ถึง100 เปอร์เซ็นต์)
 

 

ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 27 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือไม่

กรณีผู้หญิงอายุตั้งแต่ 27 ปีขึ้น ขออธิบาย 2 กรณี ดังนี้

1. ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 27 ปีขึ้น และไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
ผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ยังครองตนเป็นโสด จะเหมือนกับเด็กหญิงที่อายุ 9-13 ปี (ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ยังไม่เคยรับเชื้อ ยังไม่มีภูมิต้านทาน) และอาจจะแต่งงาน หรือมีเพศสัมพันธ์ เมื่อโตขึ้นเป็นสาวได้ ก็ควรได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับตนเองไว้แต่เนิ่นๆ และเกิดประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกอย่างคุ้มค่า

2. ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 27 ปีขึ้นไป และเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว
ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วมีโอกาสติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และอาจจะมีภูมิต้านทานได้เองตามธรรมชาติถึงร้อยละ 90 แล้ว กรณีนี้ถ้าได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกอีก ก็อาจจะไม่มีประโยชน์ หรือเกิดประโยชน์น้อย ไม่คุ้มค่า เพราะคนส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้แล้ว
ปัจจุบัน "ยังไม่มีการศึกษาถึงผลการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว" ซึ่งจะต้องรอคอยติดตามผลการศึกษา (ทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย) ต่อไป

อีกประเด็นหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ ราคาค่าวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนชนิดนี้จะต้องได้รับ 3 เข็ม (ครั้ง) ราคาในปัจจุบันก็ตกเข็มละเป็นเงินหลักพันบาท เมื่อรวมทั้งหมด 3 เข็มก็ราวๆ หมื่นบาท (ไม่ใช่บาทสองบาท !) ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าที่สุด

 

 

ป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก

ขอย้ำว่านอกจากหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ได้รับวัคซีนตามที่ อย.อนุมัติ (คือ ผู้หญิงอายุ 9-26 ปี) รวมถึงการตรวจแพ็ปสเมียร์อย่างสม่ำเสมอ ร่วมกันทั้ง 3 ด้านช่วยจัดการกับมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การสังเกตอาการผิดปกติของมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยติดตามการลุกลามของมะเร็งปากมดลูกได้ การมีเลือดออกผิดปกติ (เช่น มีเลือดออกภายหลังการมีเพศสัมพันธ์) การมีเลือดออกกะปริดกะปรอย การมีเลือดออกปนมากับปัสสาวะ มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น ซึ่งไม่ควรนิ่งนอนใจ

ถ้ามีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น ควรไปปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อให้คำแนะนำตลอดจนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

ข้อมูลสื่อ

367-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 367
พฤศจิกายน 2552
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด