• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรียนรู้เรื่องฝ้า ตอนที่ 3 ยาและเวชสำอางรักษาฝ้าชนิดใหม่ๆ

ปัจจุบันมีการคิดค้นยาและเวชสำอางรักษาฝ้าใหม่ๆ โดยหวังจะรักษาฝ้าให้ได้ผลดี  และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด เช่น 

กรดโคจิก (Kojic acid) เป็นสารที่สร้างจากเชื้อรา จากการใช้พบว่าปรับสีผิวได้น้อย  และมีรายงานการแพ้ครีมชนิดนี้ประปราย
ข้อควรระวังคือครีมตัวนี้ก่อความระคายเคืองสูง และทำให้เกิดผิวหนังอักเสบระคายเคืองจากการแพ้สัมผัส     
                                                                              
อาร์บูติน (Arbutin) เป็นสารสกัดธรรมชาติจากพืช bearberry (เป็นต้นไม้พุ่มเตี้ยชนิดหนึ่ง) พบในสูตรยาโบราณของญี่ปุ่น มีประสิทธิภาพน้อยกว่าไฮโดรควิโนน (ยาทารักษาฝ้าตัวหลักที่ใช้กันแพร่หลาย) 100  เท่า  จากการศึกษาพบว่าอาร์บูตินชนิดอัลฟา (alpha-arbutin) ออกฤทธิ์ดีกว่า จึงเริ่มนิยมใช้อาร์บูตินชนิดอัลฟาในครีมทาให้ผิวขาว     
                                                                                                       
วิตามินซีและอนุพันธ์ ใช้กันอย่างแพร่หลายในเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาว     
                                
สารสกัดชะเอม (Licorice extract) ลดการเกิดผิวสีเข้มหลังได้รับรังสียูวีบี และลดอาการผิวไหม้แดง       
                                                                                                                    
กรดผลไม้ (Alpha hydroxyl acid, AHA) ใช้ในครีมทาให้ผิวขาว เช่น
- กรดไกลคอลิก (glycolic acid) พบมากในอ้อย
- กรดแล็กติก (lactic acid) พบมากในนมเปรี้ยว
- กรดมาลิก (malic acid) พบมากในแอปเปิ้ล
- กรดซิตริก (citric acid) พบมากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
- กรดทาร์ทาริก (tartaric acid) พบมากในองุ่น      
                                                                                                                 
สารสกัดจากปอสา มีสารสำคัญคือ kazinol F มีคุณสมบัติในการขจัดอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวขาว จึงมีการนำมาใช้ทารักษาฝ้าและกระ     
                                                                                
สารสกัดจากใบหม่อน สารหลักที่ออกฤทธิ์ทำให้มีการสร้างเม็ดสีน้อยลงคือ mulberroside  F
                                                                                                                           
สารสกัดจากว่านหางจระเข้ พบว่า aloesin ซึ่งสกัดจากว่านหางจระเข้สามารถกดการสร้างเม็ดสีได้    
                                                                                                                                                     
สารสกัดจากใบโสม
(Ginseng) มีสาร p-coumaric acid ซึ่งยับยั้งการสร้างเม็ดสี
                                                                                                                                                            
สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Gingko) มี flavone glycosides ที่ส่วนใหญ่คือ quercetin  และอนุพันธ์ของ kaempferol สารเหล่านี้ยับยั้งการสร้างเม็ดสี

สารสกัดสมุนไพรแก่นมะหาด รักษาฝ้าได้ผลพอๆ กับยาทาไฮโดรควิโนนความเข้มข้นร้อยละ ๒
นอกจากนั้น สารที่นำมาทดลองใช้รักษาฝ้าและทำให้ผิวขาวอื่นๆ เช่น สารสกัดจากรก สารสกัดจากชาเขียว และสารสกัดเมล็ดลำไย     
                                                                                                          
ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเสริมที่ใช้รักษาฝ้า เช่น สารสกัดเมล็ดองุ่น สารสกัดเปลือกสน สารสกัดทับทิม และ tranxemic acid

มีการกินยา tranxemic acid เพื่อให้ฝ้าจางลง ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ทำให้บริเวณที่มีเลือดไหลหยุดเร็วขึ้น แต่ตัวยาสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีได้ทำให้ฝ้าจางลง เนื่องจากต้องกินยาระยะยาว จึงต้องระวังผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดดำอุดตัน       

                                                                                                                                                                                             

การทาครีมปกปิดรอยฝ้า
การทาครีมปกปิดรอยฝ้าคือการใช้ครีม และ/หรือแป้งเพื่อปกปิดความผิดปกติของสี หรือโครงรูปของใบหน้าหรือร่างกาย ใช้ทาปกปิดไฝและปาน เช่น ปานดำที่ใบหน้า ด่างขาว แผลเป็น รอยสัก และฝ้า
ในมุมของการรักษาฝ้าเนื่องจากสตรีเอเชียส่วนใหญ่นิยมมีผิวขาว จึงอาจใช้สารเคลือบคลุมผิวทา เนื่องจากเป็นสารที่ทำให้ทึบแสง มีสีขาว หรือขาวหม่น จึงทำให้ใบหน้าและผิวหนังแลดูขาวขึ้น

ตัวอย่างของสารเคลือบคลุมผิว เช่น titanium dioxide, zinc oxide, talcum, kaolin  และ  bismuth pigments

สารพวกนี้มีคุณสมบัติกันแสงแดดจึงมีส่วนป้องกันการเกิดฝ้าได้ด้วย นับว่าการทาครีมปกปิดรอยฝ้าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาฝ้าวิธีหนึ่ง    

                                                                                                                               

ครีมไฮโดรควิโนน
ทำไมยังมีความสับสนเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ได้รับครีมไฮโดรควิโนนจากแพทย์ เพราะว่าปัจจุบันในท้องตลาดยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรักษาฝ้าที่ลักลอบผสมสารไฮโดรควิโนน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงประชาสัมพันธ์วิธีทดสอบว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนหรือไม่ ด้วยการป้ายครีมหรือหยดโลชันที่ต้องการทดสอบลงบนกระดาษทิชชูสีขาว แล้วหยดน้ำผงซักฟอกเข้มข้นลงไป หากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลให้สงสัยว่ามีส่วนผสมของไฮโดรควิโนน
หลังจากที่ อย. ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ มีผู้บริโภคสอบถาม อย. ว่าได้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาฝ้า แพทย์จ่ายครีมให้ทาฝ้า เมื่อทดสอบตามวิธีที่แนะนำ พบว่ามีส่วนผสมของไฮโดรควิโนน จึงกังวลว่าจะเกิดอันตราย และข้องใจว่าเหตุใดแพทย์จึงจ่ายยาที่มีสารห้ามใช้คือไฮโดรควิโนน 

กรณีนี้ อย. อธิบายว่าครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนจัดเป็นยา การใช้ครีมไฮโดรควิโนนหรือกรดวิตามินเอ แพทย์สามารถใช้ได้ เพราะทราบว่าควรใช้ครีมความเข้มข้นเท่าใด สามารถปรับลดได้ตามความรุนแรงของโรค และให้คำแนะนำการปฏิบัติตน รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์อื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ยากันแดดและการหลีกเลี่ยงแสงแดด

                                                                                                              
ครีมทารักษาฝ้าและอาหารเสริมรักษาฝ้าชนิดใหม่นั้น หลายตัวอยู่ในขั้นตอนการวิจัย  ผลการรักษายังสรุปจากกลุ่มผู้รับการรักษาจำนวนไม่มาก อีกทั้งการวิจัยหลายชิ้นยังเป็นการศึกษาแบบเปิด ทำให้ประสิทธิภาพของครีม และอาหารเสริมรักษาฝ้าที่กล่าวในตอนนี้ ส่วนใหญ่ยังต้องติดตามผลการรักษาต่อไป

 

 

ข้อมูลสื่อ

366-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 366
ตุลาคม 2552
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร