• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี

ในหมู่คนที่สนใจดูแลสุขภาพของตนเอง มักมีการเพ่งโทษไปที่สิ่งที่มากเกินไป เช่น ไขมันในเลือดสูง ความอ้วนหรือน้ำหนักเกิน จึงพยายามลดอาหารที่มีไขมันหรือคุมอาหาร หรือนิยมการมีรูปร่างผอมเพรียว แขนขาเก้งก้างเหมือนลำอ้อย

บางท่านก็เลือกบริโภคสิ่งที่เชื่อว่ามีผลดีต่อสุขภาพ เช่น กินอาหารมังสวิรัติหรือชีวจิตอย่างเคร่งครัด คือกินแต่พืชผัก ธัญพืช ไม่กินเนื้อสัตว์ ไข่ นม จนขาดสารอาหารที่จำเป็น เช่น ธาตุเหล็ก ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เป็นต้น


ความเชื่อและพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับธรรมชาติ
ความเป็นธรรมชาติ คือ ความสมดุล ความไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง
กฎแห่งธรรมชาติ ก็คือ "มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี"
อาทิ เรื่องของน้ำหนักตัว พบว่า อ้วนไปก็ไม่ดี ผอมไปก็ไม่ดี อ้วนไปเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ อัมพาต ข้อเข่าเสื่อม มะเร็ง เป็นต้น ผอมไปร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ เสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อ ร่างกายขาดสารอาหารและฮอร์โมน ทำให้ซีด ผมร่วง เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน (กระดูกแตกหักง่าย) ตั้งแต่อายุไม่มาก สตรีจะมีปัญหาประจำเดือนไม่มา มีบุตรยาก หรือมีการคลอดทารกน้ำหนักน้อย เป็นต้น ทั้งผู้ที่อ้วนเกินไปและผอมเกินไปล้วนมีอัตราตาย (อายุสั้น) มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักสมส่วน


เรื่องของไขมัน เรามักเพ่งไปที่ภาวะไขมันมากเกิน เพราะเป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบตัน (เกิดโรคหัวใจ อัมพาต) โรคไขมันเกาะตับ (เกิดโรคตับเรื้อรัง) ความจริงแล้ว การมีไขมันต่ำเกินไปก็เกิดโทษได้เช่นกัน เช่น ผิวหนังเหี่ยวย่น (ไขมันเป็นองค์ประกอบสำคัญของผนังเซลล์ ทำให้เซลล์มีความเต่งตึง) ผิวหนังขาดชั้นไขมันที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน  ร่างกายขาดพลังงาน (ไขมันให้พลังงานหรือแคลอรีสูงกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ไขมันที่สะสมในร่างกายทำหน้าที่เป็นพลังงานสำรองไว้ใช้เมื่อจำเป็น) พร่องน้ำดี สารสเตียรอยด์ และฮอร์โมนเพศที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย (เนื่องเพราะไขมันคอเลสเตอรอลเป็นสารตั้งต้นที่ถูกนำไปสร้างสารต่างๆ เหล่านั้น) ขาดวิตามินเอ ดี อี เค (ไขมันช่วยในการดูดซึมวิตามินเหล่านี้ที่ได้ชื่อว่าวิตามินชนิดละลายในไขมัน) นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า (ที่เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย) มักมีภาวะคอเลสเตอรอลต่ำร่วมด้วย เป็นต้น ไขมันสูงเกินก็ไม่ดี ต่ำเกินก็ไม่ดี ควรบริโภคไขมันให้ได้สมดุล จึงจะมีสุขภาพที่ดีได้


เรื่องของอาหาร ต้องกินให้ได้ครบ 5 หมู่อย่างสมส่วน กินผักผลไม้และเมล็ดธัญพืชให้มาก กินโปรตีนจากเนื้อปลา ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง และเนื้อขาว (เป็ดไก่) พอประมาณ ลดเนื้อแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู) ลด (ไม่ใช่งด) ไขมันและน้ำตาล กินแต่ผักผลไม้และธัญพืช ไม่กินเนื้อ นม ไข่ อาจมีรูปร่างที่ผอมเกิน ไขมันในเลือดต่ำ โลหิตจางจากการขาดสารอาหาร กินแต่เนื้อ นม ไข่ อาจมีรูปร่างอ้วน ไขมันในเลือดสูง เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง


เรื่องของการออกกำลังกาย ไม่ออกเลย ร่างกายก็อ่อนแอ ออกมากไปก็ทำให้ร่างกายอ่อนแอเช่นกัน (เรียกว่าออกมากเกินหรือ over-train) ควรเลือกออกให้พอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป


เรื่องของการทำงาน-การพักผ่อน การใช้สมองซีกขวา-ซีกซ้าย
ทำงานมากไป หรือใช้สมองซีกซ้ายมากไป (สมองซีกซ้ายใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้มากในการทำงานและในการแก้ปัญหาต่างๆ) ก็มีแต่ความเครียด ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยและอายุสั้นได้ การพักผ่อนมากไป หรือใช้สมองซีกขวามากไป (สมองซีกขวาใช้สังเคราะห์ เกี่ยวกับอารมณ์สุนทรียะ เป็นสมองแห่งการพักผ่อน) ก็ทำให้เกิดความเฉื่อยเนือย ซึมเศร้า ภูมิต้านทานโรคต่ำหรือแปรปรวน ชักนำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ดังนั้นจึงต้องทำให้เกิดความสมดุล


เรื่องของวัตถุกับจิตใจ
ก็ต้องมีความสมดุลเช่นกัน ในปัจจุบันมุ่งนิยมวัตถุและการบริโภคมากเกิน จึงมีแต่ความเห็นแก่ตัว การแข่งขัน แก่งแย่ง ทำลาย ทำร้ายกัน ครอบครัวแตกแยก ชุมชนแตกสลาย เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ความขัดแย้ง บาดหมางกันต่างๆ นำมาซึ่งปัญหาความรุนแรง การติดยาและอบายมุข ความฟุ้งเฟ้อ การเจ็บป่วยต่างๆ จึงมีการเรียกร้องให้หันกลับมาพัฒนาจิตใจ เพื่อนำพาไปสู่ความสุขสงบภายในซึ่งเป็นความสุขแท้ ที่ไม่ต้องพึ่งพาวัตถุ


มีนักคิดชาวตะวันตกที่เสนอทฤษฎี "เส้นโค้งแห่งความสุข" ซึ่งให้หลักว่า เมื่อคนเรามีวัตถุ (ทรัพย์สินเงินทอง) น้อย ก็มีความสุขน้อย เมื่อมีทรัพย์มากขึ้น (อยู่เหนือระดับ "สะดวกสบาย" เล็กน้อย) จะมีระดับของความสุขสูงสุด หากมีทรัพย์มากไปกว่านั้นจนถึงระดับ "อยู่ดีกินดี" หรือ "หรูหรา" ความสุขก็กลับจะลด (ดิ่ง) ลง (เป็นเส้นโค้ง) ไม่ใช่มากขึ้นไปตาม (เป็นเส้นตรง)     
 

                              


ทฤษฎีนี้ ตรงกับหลักธรรมชาติแห่งความสมดุล หรือ "มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี"
และก็ตรงกับหลักแห่ง "ความพอเพียง" นั่นเอง         
                        

ข้อมูลสื่อ

366-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 366
ตุลาคม 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ