• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรียนรู้เรื่องฝ้า (ตอนที่ 1) ฝ้าคืออะไร และเกิดได้อย่างไร?


ฝ้าคืออะไร

ฝ้าเป็นรอยผิวหนังสีน้ำตาลหรือสีดำ พบตามบริเวณที่ผิวหนังโดนแสงแดด (เช่น ที่ใบหน้า) ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิด  มักค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ แผ่นสีดำนี้มักมีลักษณะเท่าๆ กันทั้ง 2 ข้าง อาจรวมกันเป็นปื้น หรือเข้มเป็นกระจุกๆ ก็ได้ 

บริเวณที่พบฝ้าได้บ่อยคือ ที่เหนือริมฝีปาก หนวด คาง หน้าผาก แต่บางคนก็เป็นฝ้าที่ตำแหน่งอื่นๆ ที่โดนแสงแดด (เช่น ที่หน้าอก แขน หลัง) 

ฝ้าไม่ทำให้เกิดอาการอย่างอื่นนอกจากด้านความงามเท่านั้น ส่วนใหญ่พบในหญิงวัยกลางคน อายุประมาณ 30-40 ปี ในจำนวนผู้ที่เป็นฝ้าทั้งหมดร้อยละ 90 เป็นผู้หญิง 

        
ฝ้าเกิดได้อย่างไร
สาเหตุของฝ้ามีดังนี้คือ
กรรมพันธุ์ พบว่าผู้ป่วยโรคฝ้ามากกว่าร้อยละ 30 มีประวัติคนในครอบครัวเป็นฝ้าด้วย 
พบฝ้าเกิดร่วมกันในฝาแฝดที่มาจากไข่ใบเดียวกัน โดยที่พี่น้องคนอื่น (ที่มาจากไข่คนละใบ) ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันไม่พบความสัมพันธ์นี้ 

แสงแดด เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้าที่สำคัญ ทั้งช่วงคลื่นรังสียูวีบี และยูวีเอ ทำให้เกิดฝ้า ยากันแดดที่ป้องกันเฉพาะรังสียูวีบี จึงใช้ป้องกันฝ้าไม่ได้ผล เพราะผิวหนังยังได้รับรังสียูวีเอ และช่วงคลื่นแสงที่มองเห็น ซึ่งช่วงคลื่นนี้ก็กระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีผลิตเม็ดสีเมลานินได้เช่นกัน

ฮอร์โมน เป็นปัจจัยทำให้เกิดฝ้าที่สำคัญ เชื่อว่าฝ้าเกิดจากการที่ฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโทรเจน และโพรเจสเทอโรน กระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีให้สร้างเม็ดสีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อโดนแสงแดด จึงพบฝ้ามากในหญิงตั้งครรภ์

หญิงที่กินยาคุมกำเนิด ฝ้าเกิดขึ้นในคนที่กิน    ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของเอสโทรเจน และโพรเจส เทอโรน 

หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนที่ได้รับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน

ผู้ป่วยโรคไทรอยด์มีโอกาสเป็นฝ้ามากกว่าคนปกติถึง 4 เท่าตัว

อารมณ์ พบฝ้าที่เกิดหลังมีอารมณ์เครียดอย่างรุนแรง

เครื่องสำอาง พบว่าเครื่องสำอางบางตัวทำให้เกิดฝ้า ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้อาจเป็นกลิ่นหอมหรือสี และฝ้าที่เกิดขึ้นมักเป็นฝ้าลึก

ยาบางชนิด พวกยากันชัก เช่น ไดเฟนิล ไฮเดนโทอิน (diphenyl hydantoin) มีแซนโทอิน  (mesantoin) 

ขาดสารอาหาร บางคนที่ขาดสารอาหารก็อาจทำให้เกิดฝ้าได้                                           
แพทย์จะวินิจฉัยฝ้าด้วยการใช้สายตาตรวจดู โดยทั่วไปไม่ต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยกเว้นรายที่สงสัยว่ามีอาการทางต่อมไทรอยด์ 

ส่วนการรักษาฝ้านั้นจัดว่ารักษาได้ แต่มักไม่หายขาด โดยเฉพาะเมื่อผู้เป็นฝ้าไม่อาจหลีกเลี่ยงการโดนแดดได้ตลอดเวลา เพราะทั้งรังสียูวีบี ยูวีเอ และแสงสว่างที่มองเห็น มีส่วนกระตุ้นให้ฝ้าเข้มขึ้น
ฉบับหน้า อ่านเรื่องการรักษาฝ้า

 

 

ข้อมูลสื่อ

364-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 364
สิงหาคม 2552
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร