• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สู้ภัยไข้สารพัด

 
ฉบับนี้หมอชาวบ้านได้ตีพิมพ์ข้อเขียนเรื่อง " โรคชิคุนกุนยา "  ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง
ภู่วรวรรณ
กุมารแพทย์และนักไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับที่แล้วก็ได้ลงเรื่อง " ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่  2009 "  ของผู้เขียนท่านเดียวกันนี้ ต้องขอขอบคุณคุณหมอและทีมงานเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับไข้ยอดฮิตทั้ง 2 โรค


สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งเป็นสายพันธุ์  A H1N1 เริ่มระบาดที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น บัดนี้ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว ณ วันที่ 16 มิถุนายน มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้  35,928  รายใน 86 ประเทศ ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 163 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ  0.45  กล่าวคือเฉลี่ยผู้ป่วยตาย 45 รายต่อ 10,000 ราย มีการตายมากที่สุดที่ประเทศเม็กซิโก (109 ราย จากผู้ป่วย 6,403 ราย) รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา ( 74 ราย จากผู้ป่วย 17,237 ราย)

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้รายงานข่าวการแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างต่อเนื่อง เชื้อนี้ได้ติดมาสู่ประเทศไทย โดยเริ่มติดสู่คนไทยที่เดินทางไปประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และเพียงระยะสั้นๆ ก็เกิดการระบาดของโรคนี้ขึ้นภายในประเทศ ดังปรากฏเป็นข่าวการแพร่กระจายของโรคนี้ในโรงเรียนหลายแห่ง  ณ วันที่ 17 มิถุนายน มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 405 รายแล้ว คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะขยายวงขึ้นอย่างกว้างขวางต่อไปอีกสักพักใหญ่ๆ กว่าจะสงบ นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้คนทั่วโลกสามารถติดตามรับรู้ข้อมูลข่าวสารการระบาดของไข้หวัดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วทันใจ ขณะเดียวกันก็สร้างความตระหนกให้กับสาธารณชนอย่างมาก

 
ในอดีตเคยมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ไปทั่วโลกแบบนี้อยู่หลายครั้ง ครั้งสำคัญๆ ที่นิยมกล่าวขานกันก็คือ การระบาดของ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1 (เรียกว่าไข้หวัดใหญ่สเปนซึ่งเป็นคนละชนิดกับสายพันธุ์ใหม่ 2009) ที่ก่อตัวขึ้นที่สเปน ในปี พ.ศ. 2461 แล้วแพร่กระจายไปทั่วโลก คาดว่ามีผู้ป่วย 500-1,000 ล้านราย และผู้ที่เสียชีวิตระหว่าง 20-40 ล้านคน (คิดเป็นอัตราป่วยตายมากกว่าร้อยละ 2.5) นับว่าเป็นการระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ในปี พ.ศ.2500 มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H2N2 ที่ก่อตัวในทวีปเอเชีย (เรียกว่าไข้หวัดใหญ่เอเชีย) คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปในราว 2 ล้านคน(คิดเป็นอัตราป่วยตายต่ำกว่าร้อยละ 0.1)

ในปี พ.ศ.2511 มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H3N2 ที่ก่อตัวที่ฮ่องกง (เรียกว่าไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง) คร่าชีวิตผู้คนไปในราว 1 ล้านคน (คิดเป็นอัตราป่วยตายต่ำกว่าร้อยละ 0.1)

ความจริงในทุกๆ ปีทั่วโลกจะมีผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่(ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์เดิมได้แก่ A H1N1,
A H3N2 และสายพันธุ์ B) เป็นประจำฤดูกาลแบบเดียวกับการเกิดไข้หวัดธรรมดา ประมาณ 340 -1,000 ล้านราย และมีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 252,000-500,000 คน (คิดเป็นอัตราป่วยตายต่ำกว่าร้อยละ 0.05)

การตื่นตระหนกต่อการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในคราวนี้ นอกจากเกิดจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วแล้ว ยังเป็นเพราะความกังวลของวงการแพทย์ที่ไม่แน่ใจตั้งแต่แรกว่าสายพันธุ์นี้จะมีความร้ายแรงกว่าสายพันธุ์เดิมมากน้อยเพียงใด เนื่องจากในไม่กี่ปีมานี้ได้เกิดโรคซาร์ส (โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) ระบาดในปี พ.ศ.28545-2546 ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (ไข้หวัดนก) ระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีความร้ายแรง (มีอัตราป่วยตายสูง) ทั้ง 2  ชนิด

ในขณะนี้วงการแพทย์พบว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ใหม่ 2009 นี้ แม้ว่าจะสามารถแพร่กระจายได้ง่ายแต่ก็ไม่ร้ายแรงไปกว่าที่เคยพบในอดีต จึงให้การดูแลแบบไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล ผู้ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพราะโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี สตรีที่ตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (โรคหืด ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ เบาหวาน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี) ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้หากได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (oseltamivir) แต่เนิ่นๆ ก็สามารถลดการสูญเสียได้ ดังนั้น หากบุคคลเหล่านี้ป่วยเป็นไข้ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่ม

ส่วนโรคชิคุนกุนยา อันเกิดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยมียุงลายสวนเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในภาคใต้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว นับเป็นเรือนหมื่นนั้น  แท้จริงก็ไม่ได้มีความร้ายแรง คือไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน พิการหรือตายแต่อย่างใด แต่ทำให้เจ็บป่วย ทำงานไม่ได้ และทุกข์ทรมานจากอาการปวดข้อนานเป็นสัปดาห์ๆ ถึงเป็นแรมเดือน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในฉบับนี้ หน้า 28-32)

ในช่วงหน้าฝนนี้ นอกจากไข้ 2 ชนิดดังกล่าวแล้ว ยังอาจเกิดจากไข้อื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ไข้หวัดธรรมดา ไข้เลือดออก มาลาเรีย (ไข้ป่า) ไข้สมองอักเสบ เล็ปโตสไปโรซิส (ไข้ฉี่หนู) เป็นต้น ก็ควรจะระมัดระวังอย่าให้ติดโรคเหล่านี้
 

หากบังเอิญเป็นไข้ขึ้นมา แล้วดูแลตนเอง (นอนพัก ดื่มน้ำมากๆ กินพาราเซตามอลบรรเทาไข้)
2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดสังเกตอย่างใด อย่างหนึ่ง (เช่น หนาวสั่นมาก ปวดศีรษะมาก อาเจียนบ่อย ซึมลงเรื่อยๆ สับสน หายใจหอบ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ปวดท้อง ซีด ตาเหลือง บวม ข้ออักเสบ ตัวร้อนเกิน 4 วัน เป็นต้น) หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง (อายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือมากกว่า
65 ปี สตรีที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง) ก็ควรไปพบแพทย์


ข้อมูลสื่อ

363-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 363
กรกฎาคม 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ