• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ใช้ยาพร้อมกันหลายชนิดปลอดภัยจริงหรือ


ยาเหมือนเหรียญสองด้าน มีทั้งคุณและโทษ

คนไทยมีทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับยาแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่คิดว่า "ยาเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องโรคภัย ไข้เจ็บ" ไม่ว่าจะช่วยรักษาโรค บรรเทาอาการเจ็บป่วย ช่วยป้องกัน โรค หรือช่วยบำรุงส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สมดังคำพูดที่เราได้รับรู้มาแต่เล็กแต่น้อยว่า "ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต"

เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจึงนึกถึงแต่ยาเป็นด่านแรก และจะพยายามเสาะแสวงหายามารักษาแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ทันท่วงที โรคและความเจ็บป่วยที่เผชิญอยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน ก็จะได้หายหรือบรรเทาเบาบางลงได้

ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ถูกเพียงครึ่งเดียว เหมือนกับเป็นการมองเหรียญด้านเดียว มองในแง่ดี   มองแต่ด้านคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ยา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่ควรจะได้รับการพิจารณาร่วมด้วยก่อนการตัดสินใจใช้ยาชนิดใด ชนิดหนึ่ง เพราะอีกด้านหนึ่งของเหรียญเป็นผลเสีย ผลข้างเคียง พิษ และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ยา ตัวอย่างที่พบได้บ่อย ได้แก่ การแพ้ยา ยาตีกัน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า "ยาเหมือนเหรียญสองด้าน มีทั้งคุณ และโทษ" จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ใช้อย่างพอเพียง ใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตได้
 

หลายยา...หลายโรค (มากหมอ มากความ) !!!
มาถึงคำถามต้นเรื่องที่ว่า ใช้ยาหลายชนิด ชีวิตปลอดภัย... จริงหรือ? คงตอบได้ทันทีเลยว่า การใช้ยาหลายชนิดจะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้มากยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาเพียงชนิดเดียว หรือยิ่งใช้ยาให้น้อยที่สุด (เท่าที่จำเป็น) ก็จะปลอดภัยที่สุด เพราะเมื่อใช้ยาชนิดเดียวยังมีโอกาสเกิดผลเสียขึ้นได้

การใช้ยาหลายชนิดขึ้นก็จะยิ่งเกิดผลเสียเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง "แนวทางจัดการยาหลายชนิด" ที่ผู้ป่วยได้รับมา ไม่ว่าจะเกิดจากการรักษาของแพทย์ คำแนะนำของเภสัชกร หรือพยาบาล หรือการหาซื้อมาใช้เอง ทั้งที่เป็นยาแผนปัจจุบัน ยาไทย สมุนไพร หรืออาหารเสริมก็ตาม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาที่สูงที่สุดและในขณะเดียวกันก็ปลอดภัยที่สุดด้วย

แนวทางจัดการยาหลายชนิด..อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัด หลักการง่ายๆเกี่ยวกับการ  ใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัด คือการใช้ยาพอเพียง ซึ่งหมายถึง การใช้ยาอย่างฉลาด ใช้เท่าที่จำเป็น และใช้อย่างถูกต้อง ก็ยังเป็นแนวคิดพื้นฐานในการนำมาใช้กับการจัดการกับยาหลายชนิดได้เป็นอย่างดี เพราะหลายๆ ครั้ง เราพบว่าผู้ป่วยคนเดียวแต่ไปได้รับยามาจากหลายแหล่ง ตัวอย่างเช่น

"ยายมาป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง จึงได้รับยาลดความดันโลหิตมาจากหมอคนที่หนึ่ง จำนวน  2  ชนิด แต่ต่อมายายมามีอาการปวดข้อเข่าเสื่อมตามวัยที่นับวันอายุจะมากขึ้นๆ เรื่อยๆ จึงไปขอยาแก้ปวดข้อเข่าเสื่อมมาจากที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน ก็ได้รับยามาอีก 2 ชนิด พอดีช่วงนี้ฝนตกบ่อย อากาศเปลี่ยนแปลง ในบางวันยายมาก็เกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายจะเป็นไข้หวัด จึงไปซื้อยาแก้ไข้หวัดชนิดแผงมาจากร้านขายของชำในหมู่บ้าน เพื่อรักษาโรคไข้หวัด"

ยายมาได้รับยา 5 หรือ 7 ชนิด?
กรณีของยายมาก็จะได้รับยาทั้งหมด 7 ชนิด ซึ่งผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมจึงเป็น 7 ชนิดได้ ไม่ใช่แค่ 5 ชนิดหรือ? เหตุผลก็คือว่ายาแก้ไข้หวัดชนิดแผงนั้นใน 1 เม็ดจะประกอบไปด้วยตัวยาถึง 3 ชนิดคือ

1. ยาพาราเซตามอล มีฤทธิ์ลดไข้ แก้ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว

2. คลอร์เฟนิรามีน มีฤทธิ์ลดน้ำมูกแก้แพ้อากาศ

3. สูโดเอฟีดรีน มีฤทธิ์แก้คัดจมูก ทำให้โล่งจมูก ดังนั้นยายมาจึงได้รับยาทั้งสิ้นจำนวน ๗ ชนิด ยาของยายมา ซ้ำซ้อนกัน ทะเลาะกัน (ตีกัน)

บรรดายาทั้ง 7 ชนิดที่ยายมาได้รับมาต่างกรรมต่างวาระนั้น มองแบบเหรียญด้านเดียว ก็จะเกิดผลดีช่วยรักษาโรคทั้ง 3 ได้ อันได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคปวดข้อเข่าเสื่อม และโรคไข้หวัด แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งก็พบว่า ยาหลายตัวของยายมาซ้ำซ้อนกัน ทะเลาะกัน หรือตีกัน ยายมาได้รับยาพาราเซตามอลซ้ำซ้อนมากเกินไป

ขยายความได้ว่ายารักษาโรคปวดข้อเข่าเสื่อมที่ได้มาจากสถานีอนามัยใกล้บ้านนั้น ประกอบด้วย ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ NSAIDs และยาพาราเซตามอล ที่ในกรณีนี้ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ

พอรู้อย่างนี้ ก็จะเห็นได้เลยว่า ยาของยายมาที่ได้จากสถานีอนามัยไปซ้ำซ้อนกับยาแก้ไข้หวัดชนิดแผง    ซึ่งได้มาจากร้านขายของชำ ได้แก่ ยาพาราเซตามอล ซึ่งถ้าได้ในขนาดสูงและเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานๆ ก็จะเกิดอันตรายต่อตับ ไต และเสียชีวิตได้

 

ใช้ยาหลายชนิด...ชีวิต...เสี่ยงภัย
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ยา NSAIDs ที่ใช้รักษาโรคปวดข้อเข่าเสื่อมซึ่งได้มาจากสถานีอนามัยนั้น จะส่งผลต้านฤทธิ์ลดความดันโลหิตของยาที่ได้รับจากหมอคน  ที่หนึ่ง มิหนำซ้ำยาตัวที่ 3 ในยาแก้ไข้หวัดชนิดแผงซึ่งได้แก่ ยาสูโดเอฟีดรีน นอกจากทำให้โล่งจมูกแล้ว ยังไปกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น ส่งผลให้ความ ดันโลหิตสูงขึ้น จึงเหมือนเป็นงูกินหาง ไปๆ มาๆ

ยาลดความดันโลหิตสูงอาจจะสู้หรือต้านทานผลของยาอีก 2 ชนิดไม่ได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ผลก็คือความดันโลหิตของยายมาที่เคยว่านอนสอนง่าย เคยถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่เป็นที่น่าพอใจ ก็จะกลับเพิ่มสูงขึ้น จนอาจเกิดอันตรายต่อยายมาได้ โดยที่ยายมาไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจว่า ผลของยาชนิดอื่นๆ ทั้งที่ได้จากสถานีอนามัย และซื้อเองที่ร้านขายของชำ จะส่งผลต่อยาลดความดันโลหิตสูง และอาจเป็นอันตรายต่อยายมาถึงแก่ชีวิตได้

การที่ยาชนิดหนึ่งไปส่งผลต่อยาอีกชนิดหนึ่ง เราจะเรียกว่ายาตีกัน ในที่นี้ขอใช้คำว่ายาทะเลาะกัน เพราะจะได้เห็นภาพชัดเจนว่ายาที่เราหวังว่าจะช่วยชีวิต แต่กลับทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ จึงควรระมัดระวังและไม่ประมาทเมื่อต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน

 

นํายาทั้งหมดมา "ตรวจเช็ก" เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย
ขอย้ำอีกครั้งว่ายามีคุณอนันต์และโทษมหันต์ จะต้องใช้ยาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ยา ดังนั้นกรณีที่จำเป็นที่จะต้องใช้ยาหลายชนิด จากหลายโรค หลายหมอ หลายแหล่ง อย่าประมาท เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ ซึ่งสามารถแก้ไขและป้องกันได้ด้วยการนำยาทั้งหมดไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อที่จะช่วย "ตรวจเช็ก" รายการยาต่างๆ ว่าเหมาะสมดีแล้วหรือไม่

 

ขั้นตอนการตรวจเช็กยา...
เมื่อนำยาทั้งหมดไปพบแพทย์หรือเภสัชกร ซึ่งจะเริ่มต้นตรวจเช็กยาเหล่านี้ว่า "มีความจำเป็นหรือไม่?" โดยพิจารณาความเหมาะสมของยาเหล่านี้ว่า สอดคล้องกับสภาวะสุขภาพของเราหรือไม่ มีความจำเป็นต้องใช้ยาหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็จะตัดหรือคัดยาเหล่านั้นออกไป เป็นการลดภาระการใช้ยาและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่งด้วย

อีกขั้นตอนหนึ่งก็คือ จะช่วยค้นหา "ปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน" ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ ดังตัวอย่างของยายมาที่ยาแก้อักเสบข้อเข่าเสื่อมและยาแผงแก้ไข้หวัดไปส่งผลเสียต่อยาลดความดันโลหิตสูง ซึ่งแพทย์และเภสัชกรจะได้หาทางป้องกันแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะใช้ยา จะได้ไม่เกิดผลเสียต่อร่างกายของเรา

ขณะตรวจเช็กยาทั้งหมดนั้น ก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดีในการซักซ้อมทบทวนวิธีใช้ยาต่างๆ ให้ถูกต้องตามสั่ง หากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจเรื่องยาและสุขภาพก็สามารถซักถาม ขอคำปรึกษาหรือคำอธิบายเพิ่มเติมจากแพทย์และเภสัชกรได้ทันที ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้ ความเข้าใจเรื่องยาต่างๆ ของเราให้กระจ่างชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ประโยชน์ของการตรวจเช็กยา
การนำยาทั้งหมดไปตรวจเช็กความเหมาะสมนั้น จะช่วยผู้ป่วยให้เกิดผล "3 ป" คือ ประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัด ช่วยเพิ่มความเข้าใจและใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ทำให้ได้ผลดีในการรักษา ช่วยลดผลเสียผลข้างเคียงของยา ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยลง เมื่อจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลก็จะหายได้ไว กลับบ้านได้เร็ว กลุ่มที่ควรนำยาไปรับตรวจเช็ก ได้แก่

♦ ผู้ที่ใช้ยาหลายชนิด ซึ่งรวมถึงสมุนไพร ยาไทย ยาหม้อ ยาลูกกลอน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ด้วย

♦ ผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค

♦ ผู้ที่ได้รับยาหลายแหล่ง หรือหลายหมอ หรือหลายแผน (ไทย จีน และตะวันตก)

♦l ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยา ผู้ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล และผู้ที่ต้องการประหยัดค่ายา เป็นต้น
ถึงตรงนี้ขอบอกผู้ที่มียาหลายชนิด น่าจะนำยาทั้งหมดไป "ตรวจเช็ก" ความเหมาะสมเสียบ้าง จะได้เกิดประโยชน์ ปลอดภัย และประหยัด

 

บันทึกและพกรายการยาทั้งหมด
ก่อนจากขอฝากเรื่อง "บันทึกและพกรายการยาทั้งหมด" ซึ่งจะเกิดประโยชน์ " 3 ป " ต่อผู้ที่ใช้ยาในลักษณะคล้ายคลึงกับการตรวจเช็กยาเช่นกัน ด้วยการจดบันทึกรายการยา โรค และการแพ้ยา (ถ้ามี) ของเรา และนำพกติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อใดที่ต้องเข้ารับการรักษา จะได้แสดงข้อมูลด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์เหล่านี้กับแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลผู้ให้การรักษาได้รับทราบโดยละเอียด เมื่อจ่ายยาจะได้เลือกยาที่เป็นประโยชน์ ปลอดภัย และประหยัด ให้กับท่านทั้งหลาย ให้ได้ใช้ยาอย่างเหมาะสม เป็นการส่งเสริมการใช้ยาอย่างพอเพียง ไม่มาก หรือน้อยเกินไป

 

 

ข้อมูลสื่อ

365-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 365
กันยายน 2552
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด