• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปั่นจักรยานอย่างมีสติ

 

ฉบับนี้ คุณหมอกฤษฎา บานชื่น ได้เริ่มข้อเขียนตอนแรกในคอลัมน์ " พ่อสอนลูก" ว่าด้วยการเลี้ยงดูเด็ก เพื่อนที่จบแพทย์รุ่นเดียวกับผมท่านนี้ มีความสนใจเรื่องการออกกำลังกายมาตั้งแต่เล็ก และเคยเขียนคอลัมน์ประจำเกี่ยวกับการออกกำลังกายในหมอชาวบ้าน ซึ่งต่อมาได้พิมพ์เป็นหนังสือเล่มออกมา 2เล่ม คือ "คู่มือวิ่งเพื่อสุขภาพ" และ "คู่มือขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ" ซึ่งกลายเป็นคัมภีร์สำหรับผู้ที่สนใจออกกำลังกายด้วยการวิ่งและขี่จักรยาน


เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปบรรยายและพักค้างแรมที่จังหวัดชลบุรีอันเป็นบ้านเกิดและถิ่นพำนักปัจจุบันของคุณหมอกฤษฎา เช้าตรู่วันหนึ่งเพื่อนได้นำจักรยานภูเขามาให้ยืมและชวนกันขี่พร้อมกับพรรคพวกอีก 3 ท่านซึ่งเป็นสมาชิกชมรมขี่จักรยานของชลบุรี และมหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) เราขี่จากโรงแรมที่พักของผมที่บางแสนไปตามถนนข้าวหลาม (เส้นทางเปิดใหม่) ข้ามสะพานสูง 2 แห่ง แยกเข้าถนนเลียบทางรถไฟ แล้วลัดเลาะไปตามถนนผ่านหมู่บ้านและเรือกสวนไร่นา ขึ้นทางเนินอีก 2 แห่ง ไปกลับเป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งหมดร่วม 2 ชั่วโมง (รวมทั้งเวลาที่ใช้พักชมสวนริมทาง และแวะกินอาหารว่างและเครื่องดื่ม)


ทั้ง 5 คนที่ปั่นจักรยานไปด้วยกันคราวนี้ ผมนับว่าเป็นมือใหม่หัดขี่จักรยานภูเขาเพียงคนเดียว ไม่คุ้นกับระบบกลไกต่างๆ ของจักรยานแบบนี้ เริ่มตั้งแต่ออกสตาร์ต ผมใช้จักรยานคันที่มีขาถีบ 2 ข้างใส่ตะกร้อรัดเท้า (ซึ่งช่วยให้ทรงตัวดีตอนเลี้ยว) ผมลองขึ้นขี่ดู ตอนจักรยานหยุดไม่สามารถถอนเท้าออกจากตะกร้อเพื่อมายันเท้าที่พื้น ก็เลยล้มลงมีรอยแผลถลอกที่ข้อศอกเล็กน้อย พรรคพวกจึงช่วยกันถอดเอาตะกร้อออก เมื่อออกตัวไปได้ผมก็ไม่คุ้นกับการเปลี่ยนเกียร์ให้เหมาะกับความเร็วและ     การขึ้นลงเนิน พรรคพวกต้องคอยตะโกนบอกให้     เปลี่ยนเกียร์เป็นระยะๆ จนผ่านไปได้เกือบครึ่งทางก็เริ่มจับหลักได้ และใช้เกียร์ได้คล่องแคล่วขึ้น นับว่าเป็นประสบการณ์ของการเรียนรู้สิ่งใหม่อันน่าสนุก (แม้จะต้องเจ็บตัวบ้างก็คุ้ม)


เสน่ห์ของการปั่นจักรยานก็คือ ช่วงที่ลงสะพานและลงเนิน สามารถพักแรงเท้าปล่อยให้จักรยานและร่างกายเราถลาลม ช่างรู้สึกเย็นสบายและมีความสุข    ยิ่งนัก เพื่อนบอกว่า เวลาเจอกันบนเส้นทางปั่นจักรยาน    นักปั่นด้วยกันจะอวยพรให้อีกฝ่าย " พบแต่ทางลงเนิน "

ความจริงเส้นทางที่มีแต่การลงเนินเพียงอย่างเดียวนั้นแทบจะหาไม่ได้หรอก มีแต่ขึ้นเนินก่อนจนถึงจุดสูงสุดจึงจะพบทางลงเนิน การขึ้นเนินต้องออกแรงเหน็ดเหนื่อย (ลำบาก) แต่เมื่อถึงจุดสูงสุดก็จะพบกับความสุขสบายตอนลงเนิน ประสบการณ์นี้ก็เปรียบได้กับเส้นทางชีวิตที่มีการขึ้นเนินลงเนินเป็นช่วงๆ ชีวิตจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้เอาชนะอุปสรรคเพื่อไปสู่ความสำเร็จและความสุขอยู่เป็นระยะๆ
ปกติผมนิยมออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วและปั่นจักรยานอยู่กับที่ นานๆ จะได้ว่ายน้ำสักครั้ง ก่อนหน้านี้หลายปีเคยวิ่งเหยาะอยู่พักใหญ่ แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็หันมาเดินเร็วแทน ซึ่งได้ทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องมากว่า 20 ปี


ในวันทำงานหลังตื่นนอนตอนเช้าก็จะใช้วิธีปั่นจักรยานอยู่ที่บ้านนาน 30-40 นาที ตอนแรกใช้วิธีปั่นอย่างเดียว รู้สึกกินเวลานาน น่าเบื่อ (ซึ่งเป็นสาเหตุให้หลายๆ คนเลิกปั่นไปเลย) ต่อมาค้นพบวิธีอ่านหนังสือบนอานจักรยาน คือเท้าปั่นไป มือก็ถือหนังสืออ่าน มีสมาธิอ่านได้ครั้งละหลายสิบหน้า ก็เลยติดนิสัยอ่านหนังสือขณะปั่นจักรยาน


ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็จะไปเดินออกกำลังที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน ถือโอกาสทักทายรู้จักพูดคุยกับผู้คนหลากหลายอาชีพที่นั่น บางครั้งก็ถือโอกาสให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพแก่ผู้ที่สนใจเข้ามาไต่ถาม


เมื่อไปพักแรมที่ต่างจังหวัด ผมก็นิยมออกไปเดินที่สวนสาธารณะที่อยู่ใกล้โรงแรมที่พัก ชมธรรมชาติและผู้คนต่างๆ บางครั้งก็มีโอกาสรู้จักกับผู้ที่มาออกกำลังกาย ได้เรียนรู้ชีวิตและความคิดของพวกเขา
น้อยครั้งมากที่จะได้มาขี่จักรยานอย่างคราวนี้ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่หนักหน่วงและเหน็ดเหนื่อยกว่าการเดินและปั่นจักรยานอยู่กับที่ ดีที่ร่างกายมีความฟิตมาระดับหนึ่ง จึงปั่นจักรยานกับนักปั่นประจำได้โดยไม่อ่อนล้าเกินไปนัก


ผมได้เรียนรู้ว่าการปั่นจักรยานบนถนนและในชุมชนต่างจากปั่นอยู่กับที่ในบ้านเป็นอย่างมาก นอกจากได้เห็นธรรมชาติและความเคลื่อนไหวต่างๆ แล้ว จำเป็นต้องมีความตื่นตัว ระวังความปลอดภัย โดยเฉพาะรถราที่สวนไปมา รวมทั้งรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา รู้จักพักเมื่อเหนื่อย รู้จักสู้เมื่อผ่านเส้นทางวิบาก (ขึ้นสะพานขึ้นเนิน) ต้องมีสติตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา คือตามรู้ความเคลื่อนไหวภายนอก และตามรู้ความรู้สึกภายใน (เหนื่อย กระหายน้ำ สุขสบาย) อยู่ทุกขณะ


 นี่คือที่มาของกาพย์บทหนึ่งที่เขียนขึ้นหลังกลับจากปั่นจักรยานในวันนั้น ก็ขอนำมาลงไว้ตอนท้ายนี้ ถือเป็นของฝากจากชลบุรีก็แล้วกันครับ

                                              ปั่นจักรยานอย่างมีสติ 

                ปั่นไปทีละรอบ                                              สอบกายใจใช่อ่อนแข็ง
                เหนื่อยนักพักเอาแรง                                     แจ้งนอกในไปทุกกาล


                                                                                           สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
                                                                                           17 กรกฎาคม พ.ศ.2552

 

ข้อมูลสื่อ

365-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 365
กันยายน 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ