2. การทำให้ผู้ป่วย (และญาติ) ยอมรับกลไกแห่งความตายตามธรรมชาติ
ในปัจจุบัน ระบบการศึกษาและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เรายอมรับความจริงแห่งชีวิตและความจริงแห่งธรรมชาติน้อยลงๆ โดยเฉพาะในเรื่องความแก่ ความเจ็บ และความตาย.
เมื่อเกิดมาและเติบโตจนหลงใหลในความเป็น "เรา" และความเป็น "ของเรา" แล้ว เราจึงกลัวการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะความแก่และความตาย ทั้งที่เราก็รู้อยู่ว่า เราไม่อาจจะหนีความแก่และความตายได้ อันที่จริง การเติบโตจากวัยเด็กก็คือ การแก่ตัวนั่นเอง แต่เราไม่กลัวการโตเป็นผู้ใหญ่ เรากลัวการโตเป็นผู้สูงอายุ เพราะเรากลัวความตายนั่นเอง.
หลายคนกลัวตาย เพราะกลัวความทุกข์ทรมานก่อนตาย ทั้งที่การตายตามธรรมชาติในตัวเราเกิดขึ้นทันทีพร้อมกับการเกิด และการตายก็เกิดขึ้นตลอดเวลาในร่างกายของเรา ตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้าย (ดู "การตายคืออะไร" ในตอนต้น).
กลไกตามธรรมชาติที่ทำให้เราตาย มักเป็นกลไกง่ายๆ และไม่สร้างความทุกข์ทรมาน ถึงเราจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย จนต้องไปหาหมอหรือไปนอนโรงพยาบาล แต่เมื่อถึงอายุขัยของเรา เราก็จะเบื่ออาหาร เพราะกระเพาะลำไส้ไม่อยากทำงาน สมอง/ระบบประสาทอยากจะพัก ไม่สั่งการให้เราหิว กระเพาะลำไส้ก็ไม่อยากทำงาน ปาก (ที่อาจไม่มีฟันเหลืออยู่) ก็ไม่อยากจะเคี้ยวอาหาร คอหอยก็ไม่อยากจะกลืน (ถ้าถูกบังคับเคี่ยวเข็ญ ให้กินก็มักจะสำลัก ทำให้ปอดอักเสบ เป็นไข้ ไอ หอบ และทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้น) เป็นต้น.
เมื่อเราเบื่ออาหาร กินได้น้อยลง เราก็จะขาดอาหารขาดน้ำ จึงอ่อนเพลีย ซึมลง หลับมากขึ้น สบายขึ้น เพราะร่างกายจะหลั่งสาร endorphins ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรามีความสุขความสบายเพิ่มขึ้น เจ็บปวดน้อยลง (เพราะสารนี้มีฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน) และสารอื่น เช่น ketones ทำให้รู้สึกสบาย ซึมลง หลับ หมดสติ และจากไปโดยสงบตามธรรมชาติ และตามอัตภาพของตัวเราเอง.
ถ้าเราเจ็บป่วย และได้รับการรักษาเต็มที่ แล้วไม่ดีขึ้น เราก็จะเบื่ออาหารและไม่อยากกินอะไรเช่นเดียวกัน เราก็จะอ่อนเพลีย ซึมลง หลับมากขึ้น แล้วก็หลับไม่ตื่นเช่นเดียวกัน.
แต่ถ้าเราไม่ยอมให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ และตามสภาพของตัวเราเช่นนั้น เราก็จะ "ยื้อ" ไว้โดยให้น้ำเกลือ ใส่ท่อให้อาหารทางจมูกหรือทางหน้าท้อง ซึ่งมักจะทำให้เกิดการขย้อนและการสำลัก ทำให้ปอดอักเสบจากการสำลัก (aspiration pnuemonitis) ทำให้ต้องทุกข์ทรมานมากขึ้นจากความรำคาญ (เจ็บจมูก เจ็บคอ หรือเจ็บท้อง จากท่อที่ใส่คาไว้) และจากอาการไข้ ไอ หอบ เป็นต้น.
กลไกตามธรรมชาติที่ทำให้เราตาย จึงเป็นกลไกที่ไม่ทำให้ทุกข์ทรมานมากนักหรือนานนัก เพราะ จะเจ็บป่วยหรือไม่เจ็บป่วย เมื่อเราเบื่ออาหาร และหยุดกินอาหารและน้ำเพียงไม่กี่วัน เราก็จะอ่อนเพลีย ซึมลง และหลับ แล้วอีกไม่กี่วันต่อมา เราก็จะจากไปโดยสงบ.
แต่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติตนจนสามารถ "ปล่อยวาง" ทุกอย่างได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็จะสามารถกำหนดวันและเวลาของตนจนสามารถ "ตายอย่างมีสติ" ได้จนถึงลมหายใจสุดท้าย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ผ่านทางกลไกตามธรรมชาติจากการอด (ขาด) อาหารและน้ำเช่นเดียวกัน ดังที่กล่าวไว้ในช่วงแรกในเรื่องการตายและ "วัฒนธรรมการตายของพุทธบริษัท" แล้ว.
ส่วนกลไกตามธรรมชาติแบบอื่นๆ ที่ทำให้เราตาย เช่น
► หัวใจหยุดทันที (sudden cardiac arrest) จากการออกกำลังมากเกินไป (เช่น นักกีฬาที่ตายคาสนาม) "ใหลตาย" (sudden unexpected nocturnal death syndrome, SUNDS) "ตายคาอก" จมน้ำเย็นจัด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน เกลือแร่ผิดปกติ ยา/สารเสพติดบางชนิด การขาดออกซิเจน ภาวะสุดท้ายของโรคต่างๆ และอื่นๆ.
เมื่อหัวใจหยุดเต้น สมองจะขาดเลือดไปเลี้ยงทันที ทำให้หมดสติและฟุบลงใน 1-2 วินาที และจะหยุดหายใจใน 1-2 นาที สมองส่วนใหญ่จะตายใน 4-8 นาที.
ดังนั้น ถ้าทำการกู้ชีพหลังหัวใจหยุดเต้นไป 5-10 นาทีแล้ว ถึงจะกู้ชีพสำเร็จ นั่นคือ หัวใจกลับมาเต้นใหม่จนคลำชีพจรได้ สมองผู้ป่วยก็ "ตาย" ไปแล้ว.
นั่นคือผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะอยู่ใน "สภาพผักถาวร" (persistent vegetative state) ช่วยตนเองไม่ได้ และสื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้ และถ้า "ยื้อ" ไว้ ก็จะอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปได้เป็นเดือน เป็นปี หรือเป็นสิบๆ ปี.
► หายใจหยุดทันที (sudden respiratory arrest) จากการอุดกั้นทางหายใจทันที เช่น สำลักอาหารเข้าไปอุดคอหอย หรือหลอดลมคอ จมน้ำ สายเสียงบวมเฉียบพลันจากการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) หรือจากการหยุดทำงานของสมองโดยเฉพาะศูนย์หายใจ (respiratory center) เช่น พิษยา/สารเสพติด หรือจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต เช่น พิษงูเห่า/งูจงอาง Guillain-Barre syndrome, myasthenic crisis หรือจากสาเหตุอื่นๆ.
เมื่อหายใจหยุด สมองจะขาดออกซิเจนซึ่งมักทำให้หมดสติใน 2-3 นาที หัวใจจะหยุดเต้นใน 6-8 นาที และถ้าทำการกู้ชีพหลังหัวใจหยุดเต้นไป 5-10 นาทีแล้ว ถึงจะกู้ชีพสำเร็จ ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดก็จะอยู่ในสภาพ "ผักถาวร" เช่นเดียวกัน.
► สมองถูกกระทบกระเทือนอย่างแรง เช่น ตกจากที่สูง ถูกตีที่ศีรษะ ถูกของแข็งหล่นใส่ศีรษะ หลอดเลือดในสมองแตกหรือตีบตันรุนแรง สมองอักเสบรุนแรง ซึ่งมักทำให้หมดสติ หยุดหายใจ และ/หรือช็อกแล้วจึงเสียชีวิต เพราะสมอง (และระบบประสาท) ที่ควบคุมการหายใจและระบบไหลเวียนเลือดได้รับการกระทบกระเทือนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้.
ถ้าเราพยายามคงชีวิตไว้ด้วยการช่วยหายใจ ช่วยหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด และอื่นๆ แต่ไม่สามารถทำให้สมองฟื้นกลับสู่สภาพปกติได้ เราก็เพียงยืดเวลา (ทรมาน) ผู้ป่วยเท่านั้น ดังตัวอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสและคุณครูจูหลิง ปงกันมูล ได้รับในการอาพาธ/บาดเจ็บครั้งสุดท้าย.
ถ้าเรา "ยื้อ" สำเร็จ ผู้ป่วยก็จะอยู่ในสภาพ "ผักถาวร" เช่นเดียวกัน.
► โรคตับ ผู้ป่วยโรคตับรุนแรงหรือเรื้อรัง ในระยะหลังๆ หรือในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะซึมลง และไม่รู้สึกตัว (hepatic coma) จากสาเหตุแทรกซ้อน เช่น ท้องผูก ติดเชื้อ แล้วจะเสียชีวิตอย่างสงบในเวลาไม่กี่วัน.
ถ้าเรา "ยื้อ" ไว้ ผู้ป่วยอาจฟื้นคืนสติใหม่ เพื่อจะได้รับความทุกข์ทรมานจากอาการของโรคตับต่อไป เช่น ตัวเหลืองตาเหลืองจนทำให้คัน อ่อนเพลีย แน่นท้อง (เพราะท้องมานและท้องอืดแน่น) ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ แล้วในไม่ช้า ก็จะซึมและหมดสติ (coma) อีก เพราะสาเหตุแทรกซ้อน เช่น ท้องผูก มีเลือดออกในกระเพาะลำไส้ ติดเชื้อในช่องท้อง ขาดน้ำขาดอาหาร หรืออื่นๆ ซ้ำๆ กันไปเรื่อยๆ.
► โรคไต ผู้ป่วยโรคไตรุนแรงหรือเรื้อรัง ในระยะหลังๆ หรือในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตโดยสงบตามธรรมชาติจากการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ซึมลง และหมดสติ แล้วเสียชีวิต
โรคไตบางอย่างทำให้เกลือโปแตสเซียมคั่ง ทำให้อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติจนหยุดเต้น ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยสงบในเวลาอันรวดเร็ว.
ถ้าเรา "ยื้อ" ไว้ ผู้ป่วยก็มักจะมีอาการจากภาวะน้ำและของเสียคั่ง เช่น บวม หอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน สะอึก อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ไม่สบาย ซึ่งจะเกิดขึ้นน้อยหรือมากย่อมขึ้นกับการดูแลตัวเองของผู้ป่วยและวิธีการ "ยื้อ" ที่ผู้ป่วยได้รับ เพราะวิธีการ "ยื้อ" เช่น การฟอกเลือด (hemodialysis) การฟอกช่องท้อง (peritoneal dialysis) ต่างก็มีภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ซึ่งในที่สุด มักจะลงเอยด้วยการ "ตายลำบาก" หรือ "ตายอย่างทรมาน" เกือบทั้งหมด แม้จะ "ยื้อ" ไปได้เป็นปีหรือเป็นสิบปีก็ตาม.
► โรคมะเร็ง ในระยะที่เป็นน้อย มักไม่มีอาการ แต่ถ้าบังเอิญไปตรวจพบเข้า และทำการรักษาแบบหวังจะ "ขุดรากถอนโคน" มะเร็ง ผู้ป่วยจำนวนมากจะลงเอยด้วยอาการต่างๆมากมายจากการผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาฆ่ามะเร็ง (เคมีบำบัด) และ อื่นๆ.
แล้วในที่สุดก็พบว่า "มัน" (มะเร็ง) กระจายไปแล้ว ทำให้ต้องได้รับการรักษาที่ทุกข์ทรมานมากขึ้น แล้วในที่สุดก็เสียชีวิตอย่างทรมาน ดังเช่น กรณีนายแพทย์ใหญ่ผู้หนึ่งซึ่งเสียชีวิตในต้นปี 2551 และเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ.
โรคมะเร็งหลายชนิด ถ้าไม่ไป "ยุ่ง" กับมันมากนัก มันจะลุกลาม (กระจาย) ไปยังอวัยวะอื่นๆ ช้ากว่าและทำให้เกิดอาการช้ากว่า แต่เมื่อเราพยายามไปเจาะ/ตัด ชิ้นเนื้อบางส่วนมาตรวจเพื่อการวินิจฉัย โรค หรือเมื่อเราไปฉายแสง/ให้ยาฆ่ามะเร็งจน "ภูมิต้านทานมะเร็ง" ตามธรรมชาติในตัวเราเองลดลง แล้วยังทำให้ "ภูมิต้านทานโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อ" ในร่างกายของเราลดลงด้วย เราจึงเกิด "มะเร็งชนิดใหม่" ทั้งที่ "มะเร็งเก่า" หายแล้วหรือยังไม่หาย และเกิดโรคติดเชื้อนานาชนิดได้ง่าย.
โรคมะเร็งส่วนใหญ่ก็เช่นเดียวกับการเจ็บป่วยอื่นๆ เมื่อเป็นมาก ก็จะอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และเมื่อขาดอาหารและน้ำ (เพราะผู้ป่วยไม่อยากกินเอง) ก็จะค่อยๆ หมดแรง ซึมลง หลับ และจากไปอย่างสงบเช่นเดียวกับโรคอื่นๆ.
โรคมะเร็งหลายชนิด ทำให้แคลเซียมในเลือดสูง ซึ่งก็จะทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน สับสน ซึม หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น ถ้าเราไป "ยื้อ" ไว้โดยการรักษาให้แคลเซียมในเลือดลดลง ผู้ป่วยก็จะฟื้นคืนสติใหม่ และทุกข์ทรมานต่อไปจากความเจ็บปวดในกระดูก เพราะโรคมะเร็งที่ทำให้แคลเซียมสูงในเลือด มักเกิดจากการลุกลามไปที่กระดูกนั่นเอง.
ตัวอย่างกลไกตามธรรมชาติที่ทำให้เราตายข้างต้น คงจะพอทำให้เห็นว่า การตายในช่วงสุดท้ายของชีวิตไม่ลำบากอย่างที่เราส่วนใหญ่กลัวกันแต่อย่างใด ถ้ามันเป็นไปตามธรรมชาติของมันเอง โดยเราไม่ไป "ยื้อ" ไว้จนเกิดความทุกข์ทรมานขึ้น.
และถ้าคนที่กำลังจะตายสามารถยอมรับ "ความตาย" ได้ ไม่กลัวไม่กังวล และปล่อยวางทุกอย่าง ความตายจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อย่างสงบ และอย่างดีที่สุดตามอัตภาพของตน.
แพทย์ และพยาบาล ที่จะต้องดูแลผู้ป่วย และญาติ จึงต้องพยายามเรียนรู้ให้เข้าใจกลไกตามธรรมชาติที่ทำให้เราตายอย่างสงบ จนเราไม่กลัวการตายตามธรรมชาติ ซึ่งดำรงอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เราคลอดจากท้องแม่จนถึงวาระสุดท้าย.
แพทย์และพยาบาลที่เข้าใจและไม่กลัวการตายและความตายตามธรรมชาติ จะสามารถถ่ายทอดและทำให้ผู้ป่วยและญาติค่อยๆ ยอมรับการตายและความตายตามธรรมชาติได้ด้วยการพูด การฟัง การสัมผัส และการสื่อสารอื่นๆ เช่น สายตาที่แสดงความรัก ความหวังดี และความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้ผู้ป่วยมีความสุขและพ้นทุกข์ กิริยาท่าทาง (body language) ที่ทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความเชื่อถือ ศรัทธา และไว้วางใจ เป็นต้น.
การฝึกหัดสื่อสารในเรื่องนี้บ่อยๆ จะทำให้แพทย์และพยาบาลมีความชำนาญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสามารถปรับวิธีการสื่อสารให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและญาติแต่ละชั้นวรรณะในแต่ละกาลเทศะได้ดีขึ้นๆ.
แพทย์และพยาบาลที่กลัวการตายและความตาย จะไม่สามารถสื่อสารกลไกแห่งการตายและความตายอย่างสงบตามธรรมชาติได้ดีพอที่ผู้ป่วยและญาติจะยอมรับได้.
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยและญาติที่ "หัวเด็ดตีนขาด" ก็ไม่ยอมรับการตายและความตาย ก็ต้องยอมให้ผู้ป่วยและญาติเลือกวิธีรักษา ("วิธีการตาย") ตามที่เขาปรารถนาได้ เพราะ "สิทธิในชีวิตและสิทธิใารเลือกวิธีรักษา" ย่อมเป็นของผู้ป่วย (หรือของญาติสายตรง ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว) ตามกฎหมาย.
การบอกความจริงเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บของผู้ป่วย หรือการอธิบายเกี่ยวกับกลไกที่นำไปสู่ความตายตามธรรมชาติโดยสงบ จะเกิดผลดีที่สุดถ้าเป็นการบอกอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยแพทย์และพยาบาล เจ้าของไข้ที่ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยมาตลอด และรู้จักคุ้นเคยกับผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างดี.
แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ในปัจจุบัน แพทย์และพยาบาลเจ้าของไข้มักจะถือคติ "ยื้อสุดชีวิต" จนผู้ป่วยต้อง "ตายคามือ" แพทย์และพยาบาลในไอซียู (ICU, intensive care unit) หรือหออภิบาลผู้ป่วยหนักอื่นๆ.
แทนที่จะได้ตายอย่างมีความสุข ความสงบ ในบ้านที่ตนรัก ท่ามกลางญาติมิตรที่ตนรักและรักตน.
กลับต้องมาตายในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่ตนไม่คุ้นเคย เต็มไปด้วยคนแปลกหน้า และความทุกข์ทรมานจากการตรวจรักษาต่างๆ ที่ทำไปด้วยความหวังดีที่จะ "ยื้อ" ชีวิตออกไปให้ได้นานที่สุด.
ถ้าผู้ป่วยและญาติเข้าใจและยอมรับการตายและความตายตามธรรมชาติ ความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและ/หรือทางใจจะลดลงในทันทีและมักจะทำให้เกิดความสุขสงบขึ้นในจิตใจของตน จนสามารถปล่อยวางความห่วงกังวลและความดิ้นรนกระวนกระวายที่จะต่อสู้เพื่อจะคงชีวิตให้อยู่ต่อไปด้วยความทุกข์ทรมานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย.
แพทย์และพยาบาลเป็นบุคคลสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจความจริงเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของผู้ป่วย และกลไกแห่งการตายและความตายตามธรรมชาติ ที่เริ่มตั้งแต่เราเกิดจนถึงวาระสุดท้าย.
ซึ่งการตายส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นโดยเราไม่รู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกทรมานใดๆ เช่น การตายและหลุดออกของสายสะดือที่เลี้ยงเรามาตลอดเวลาในท้องแม่ การตายและลอกหลุดของผิวหนังเป็น "ขี้ไคล" และ "ขี้รังแค" เป็นต้น.
และกลไกตามธรรมชาติที่ทำให้ความตายเกิดขึ้นแก่เราส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ก็จะไม่ทำให้เราเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน หรือถ้ามีความเจ็บปวดทรมาน ก็จะบรรเทาได้ ถ้าใจของเรายอมรับว่ามันจะเป็นเช่นนั้น แล้วใช้ยาหรือวิธีการรักษาอื่นๆ รวมทั้งการสวดภาวนา การนั่งสมาธิ หรืออื่นๆ ที่จะช่วยผ่อนคลายและบรรเทาความเจ็บปวดทรมานของเราลง.
3. การบรรเทาความเจ็บปวดและอาการรบกวนต่างๆ
โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่ยอมรับสภาพความเป็นจริงแห่งการเจ็บป่วยของตน และกลไกแห่งความตายตามธรรมชาติที่เป็นไปอย่างสุขสงบ (จากการเบื่ออาหาร ซึ่งทำให้ขาดน้ำขาดอาหาร ทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์ คีโตนส์ และอื่นๆ ออกมา ทำให้รู้สึกสุขสบาย เจ็บปวดน้อยลง ซึมลง และหลับ จนกระทั่งหมดสติ ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้ว) ผู้ป่วยจะไม่มีอาการเจ็บปวดหรืออาการทุกข์ทรมานอื่นๆ หรือถ้ามีก็ไม่เป็นปัญหามากนัก และสามารถคุมอาการได้ด้วยยาบรรเทาอาการตามธรรมดา.
แต่ผู้ป่วยที่ไม่ยอมรับความเป็นจริงแห่งการเจ็บป่วยของตน และ/หรือไม่ยอมรับกลไกแห่งความตายตามธรรมชาติ และต้องการดิ้นรนต่อสู่ไม่ให้ตนเองตาย จะประสบกับความเจ็บปวดและอาการรบกวนต่างๆ ค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุด ทำให้เกิดปัญหาแก่ตนเอง ครอบครัว และผู้ดูแลรักษา.
3.1 วิธีบรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น
(1) การบีบนวดและการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะสำหรับอาการปวดเมื่อย ปวดตะคริว "เหน็บกิน" จากการอยู่นิ่งๆ เป็นเวลานานๆ เป็นต้น การช่วยบีบนวดและเคลื่อนไหวส่วนที่อยู่นิ่งๆ ซึ่งอาจเกร็งแข็ง (ติดยึด) อยู่ จะช่วยลดอาการเหล่านี้ลงได้ดีกว่ายาแก้ปวด.
(
2) การประคบร้อน/เย็น ซึ่งอาจใช้ "ลูกประคบ" เช่น ผ้าห่อสมุนไพรที่อังไฟหรือนึ่งให้ร้อน ซึ่งจะมีกลิ่นหอม ทำให้รู้สึกสบายขึ้น.
(3) การช่วยให้จิตใจผ่อนคลายและสงบ เช่น การฟังเพลง/เทปพระเทศน์ การเปลี่ยนบรรยากาศ/สิ่งแวดล้อม เพื่อให้จิตใจของผู้ป่วยไม่ไปห่วงกังวลกับอาการเจ็บปวด จะช่วยลดอาการเจ็บปวดลงได้.
(4) การใช้ยาแก้ปวด อาจจะเริ่มตั้งแต่ยา acetaminophen (Paracetamol) ไปจนถึงมอร์ฟีน แบบกินหรือแบบฉีด โดยเริ่มจากขนาดต่ำๆ แต่ให้บ่อยๆ ได้ก่อน แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มขนาดให้สูงขึ้นอย่างช้าๆ อาจใช้ยาอื่นร่วมด้วยเพื่อลดอาการปวด เช่น
- สตีรอยด์ (steroids) ถ้าอาการปวดนั้นเกิดจากการอักเสบ/บวม การกดทับเส้นประสาท เป็นต้น.
- เอนเสด (NSAID, non-steroid anti-inflammatory drug) ถ้ามีอาการปวดข้อปวดกระดูก หรือมีการอักเสบ/บวม เป็นต้น.
- ยาลดการปวดเกร็ง (antispasmodics) ถ้าอาการปวดนั้นเกิดจากการบีบตัวรุนแรง ของกระเพาะลำไส้ หรืออื่นๆ.
- ยาระบบประสาท เช่น ยาแก้อาการซึมเศร้า เช่น amitryptytine, imipramine ยากันชัก เช่น carbamazepine, clonazepam, gabapentin ถ้าอาการปวดนั้นมีลักษณะปวดเสียวแปลบ ปลาบ แสบร้อน หรือปวดกระตุก เป็นต้น.
(5) การใช้ยานอนหลับ ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวดแล้วยังไม่สามารถบรรเทาปวดได้ แม้จะใช้ยาติดๆ กันหรือในขนาดสูงจนเกิดอาการข้างเคียงจากยาแก้ปวดแล้ว ควรให้ยานอนหลับ เพื่อให้ผู้ป่วยหลับได้ ความทุกข์ทรมานจากอาการไม่สบายต่างๆ จะได้ลดลงหรือหมดไป ควรแนะนำให้ผู้ป่วยกินขนาดต่ำๆ ก่อน แล้วกินซ้ำได้ใน 1 ชั่วโมงถ้ายังไม่หลับ จนกว่าจะหลับได้ ความเจ็บปวดจะลดลง.
3.2 วิธีบรรเทาอาการหอบเหนื่อย เช่น
(1) การรักษาสาเหตุถ้ารักษาได้ โดยไม่ทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวด/ทุกข์ทรมานมากขึ้นหรือนานขึ้น เช่น ไมเจาะน้ำออกจากช่องอก/ช่องท้อง ไม่ให้ยาขยายหลอดลม ไม่ดูดเสมหะในปากและคอ หรืออื่นๆ ถ้าการกระทำเช่นนั้นเป็นไปเพื่อเพิ่มความรำคาญ ความเจ็บปวด หรือเวลาแห่งความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยให้เนิ่นนานออกไปเท่านั้น.
(2) การทำให้ผู้ป่วยสงบลง พักได้ และหลับได้ โดยการพูดจา ใช้พัดโบกลมให้ ปรับท่าให้ ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบายที่สุด และอื่นๆ คล้ายกับในวิธีการบรรเทาอาการปวด (ในหัวข้อข้างต้น).
(3) การใช้ยา เช่น การให้ยาคลายเครียด และ/หรือมอร์ฟีน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพักได้ไม่เจ็บปวด จะช่วยลดอาการหอบเหนื่อยลงได้มาก เพราะทำให้ผู้ป่วยสงบลง ลดอาการกระสับกระส่ายกระวนกระวาย ทำให้ลดการใช้ออกซิเจนในร่างกายลง แต่อาจทำให้ผู้ป่วยหายใจลดลง และทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้นได้ ซึ่งถ้ามองในอีกด้านหนึ่ง ก็คือทำให้ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานน้อยลงและสั้นลง นั่นคือไม่ต้องทรมาน มากและนานโดยเจตจำนงของการให้ยาดังกล่าว ไม่ใช่ เพื่อ "ฆ่า" ผู้ป่วย แต่เพื่อลดความทุกข์ทรมานลง.
การให้ออกซิเจน ถ้าทำให้ผู้ป่วยรำคาญหรือไม่สบาย หรือเพียงเพื่อยืดเวลาตายเท่านั้น ก็ไม่ควรให้เช่นเดียวกัน.
ในระยะสุดท้าย ที่ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการหอบรุนแรงจากภาวะกรด (metabolic acidosis) ถ้าผู้ป่วยกระสับกระส่ายหรือกระวนกระวายมาก การใช้มอร์ฟีนก็จะช่วยลดความทุกข์ทรมานได้เช่นเดียวกัน โดยให้ในขนาดต่ำๆ เช่น 3 มิลลิกรัมฉีดเข้าเส้น (IV) ช้าๆ ซ้ำได้ทุก 5-10 นาที จนผู้ป่วยหายกระสับกระส่ายกระวนกระวาย เป็นต้น.
สันต์ หัตถีรัตน์ พ.บ.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 93,502 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้