• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารสมุนไพร


เนื่องจากจีนเป็นชนชาติที่มีการศึกษาสืบทอดเรื่องอาหารสมุนไพรมาอย่างเป็นกฎเกณฑ์เป็นเวลาหลายพันปี ดังนั้นบทความต่อไปนี้ ส่วนใหญ่จะใช้ทรรศนะจีนเป็นหลักในการวิเคราะห์ โดยเทียบเคียงกับทรรศนะของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และเพื่อที่จะให้ทุกท่านเข้าในประวัติและทรรศนะที่แตกต่างกันของการแพทย์ทั้งสองระบบ ผู้เขียนจึงใคร่เสนอความคิดพื้นฐานของการแพทย์จีนคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

ความเป็นมาของอาหารสมุนไพร
ประวัติศาสตร์จีนได้บนทึกเกี่ยวกับอาหารสมุนไพร ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์โจว (ก่อน ค.ศ.1100 ถึง ก่อน ค.ศ.770 ปี) โดยมีการแต่งตั้ง เจ้าหน้าที่แพทย์อาหารสมุนไพร (จีนเรียกสือเหลียวอีกวาน) เจ้าหน้าที่ที่ทางการได้ตั้งขึ้นนี้ มีหน้าที่แนะนำการนำเอาอาหารสมุนไพรมาเป็นทั้งอาหารสำหรับการป้องกันและรักษาโรคในราชวัง จนกระทั่งสมัยราชวงศ์ถึง (ค.ศ.618-907) มีนาแพทย์ชื่อ เมิ่งซิน (Meng Xin ประมาณ ค.ศ. 621-713) ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวกับอาหารสมุนไพรชื่อ สือเหลียวเปิ่นฉ่าว ขึ้นแต่เป็นที่น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้ได้หายสาบสูญไปแล้ว แต่ยังมีส่วนหนึ่งที่กระจัดกระจายอยู่ในหนังสือ เปิ่นฉ่าวกางมู่ ซึ่งเขียนโดยนักเภสัชกรผู้ยิ่งใหญ่ของจีน คือ หลี่สือเจิน ในราชวงศ์หมิง

ปรัชญา ยิน – หยาง
ปรัชญายิน-หยาง เป็นปรัชญาความคิดของจีนที่เกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ความคิดทางปรัชญานี้ได้ครอบคลุมไปสู่ความรู้แขนงต่างๆ ในสังคมจีน ไม่ว่าจะเป็นด้านวรรณกรรม ศิลปะ วิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ หรือแม้แต่ตำราพิชัยสงครามซุนวู กฎเกณฑ์ต่างๆ ทางปรัชญานี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางและได้ผล ดังปรากฏอยู่ในหนังสือสำคัญๆ ของจีน เช่น ตำราพิชัยสงความซุนวู สำหรับการแพทย์นั้นปรัชญาความคิดนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรมกว่าสาขาอื่นๆ

ยิน-หยาง กับการพัฒนาและเสื่อมถอยของสิ่งมีชีวิต

ในทรรศนะของจีนนั้นถือว่า การแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาการดำเนินชีวิต การทำความเข้าใจและนำเอากฎเกณฑ์ทางปรัชญา สังคมวิทยาและความรู้ทางการแพทย์มาใช้อย่างสอดคล้องกับมนุษย์ นอกจากจะสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้แล้ว ยังเป็นการทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีอายุยืนยาวอีกด้วย

ปรัชญาความคิดของจีนนั้นเชื่อว่า ทุกสิ่งในจักรวาลล้วนประกอบด้วยด้านสองด้านที่ตรงกันข้ามกัน คือ ยิน-หยาง

ด้านทั้งสองด้านนี้ขัดแย้งกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน
การที่สรรพสิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลง คือ มีการเกิด พัฒนา เสื่อมถอยและดับสูญ ก็เพราะความสมดุลของยิน-หยางถูกทำลาย

มนุษย์ก็เช่นกัน การที่ยิน-หยางในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยยินอาจเพิ่มหรือลด หรือหยางอาจเพิ่มหรือลด ก็จะทำให้ยิน-หยางขาดความสมดุลและทำให้เกิดโรคขึ้นได้

ถ้ายินหรือหยางด้านใดด้านหนึ่งลดลงจนไม่มี ชีวิตก็จะดับสูญ
สำหรับเด็กนั้นถือว่า ด้านหยางเป็นด้านหลักของการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้เด็กอยู่ในช่วงพัฒนาหรือเจริญเติบโต

ส่วนคนชรา ยิน เป็นด้านหลักของการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้คนชราค่อยๆ เสื่อมถอย ร่างกายค่อยๆ ทรุดโทรมลง

ดังนั้นวิธีการที่จะป้องกันและรักษาโรคก็โดยการให้อาหารสมุนไพรหรือยา หรือใช้วิธีการอื่นๆ ไปปรับหรือทำให้ยิน-หยาง เกิดความสมดุลขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นสภาวะที่ยิน-หยางอยู่ในสภาพที่ไม่สมดุลจึงเป็นลักษณะถาวร เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะร่างกายของมนุษย์ตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลกระทบต่อสรีระของร่างกาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นผลให้ยิน-หยางขาดความสมดุล และเกิดโรคขึ้น

เหตุแห่งโรคของทรรศนะแพทย์จีน
ก่อนที่จะทำความเข้าใจถึงการนำเอาปรัชญาความคิดยิน-หยาง ไปใช้ในทางการแพทย์ เรามาทำความเข้าใจคร่าวๆ เกี่ยวกับ เหตุแห่งโรค ในทรรศนะของการแพทย์จีน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 พวกใหญ่ ๆ ดังนี้
1. เหตุจากปัจจัยภายนอก อันได้แก่ ลม เย็น ร้อน ชื้น แห้ง และไฟ
2. เหตุจากปัจจัยภายใน ได้แก่ อารมณ์ต่าง ๆ เช่น โกรธ กังวล กลัว เศร้าโศก ตลอดจนสุขนิสัยต่างๆ ไม่ว่าในเรื่องการกินความเป็นอยู่ เพศสัมพันธ์ อาชีพ ฯลฯ
3. เหตุที่ไม่ใช่ทั้งภายนอกและภายใน ได้แก่ การพลัดตกหกล้ม บาดแผลจากของมีคม งูหรือสัตว์ กัด ต่อย ฯลฯ

ยิน-หยาง ในทางการแพทย์
เนื่องจากปรัชญาความคิดของทฤษฎียิน-หยาง เป็นแกนหลักของความคิดที่ครอบคลุมการแพทย์จีนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นหลักทฤษฎี วิธีการรักษา ตำรับยา และตัวยา ทุกอย่างล้วนแต่ถูกจัดและแบ่งเป็นยิน หรือ หยาง ทั้งสิ้น ดังจะอธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้
1. ร่างกายมนุษย์
โดยปกติแล้วอัตราของยิน-หยางในร่างกายของแต่ละคนจะต่างกัน
วัย คนชรา เป็น ยิน
เด็กหนุ่มสาว เป็น หยาง
เพศ หญิง เป็น ยิน
ชาย เป็น หยาง
ลักษณะ
อ้วน เป็น ยิน
ผอม เป็น หยาง

2. สิ่งแวดล้อม
ภูมิประเทศ

ประเทศหนาวหรืออบอุ่น เป็น ยิน
ประเทศร้อน เป็น หยาง
ฤดูกาล ฤดูหนาวและฝน เป็น ยิน
ฤดูร้อน เป็น หยาง

3. อาการของโลก

โรคยิน มักมีอาการขี้หนาว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ชีพจรเต้นช้า
โรคหยาง มักมีอาการคอแห้ง เจ็บคอ กระหายน้ำ ท้องผูก ชีพจรเต้นเร็วหรือแรง

4. อาหาร
โดยทั่วๆ ไปสามารถแบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้
อาหารจัดอยู่พวกยิน มักมีรส เค็ม ขม เปรี้ยว
อาหารจัดอยู่พวกหยาง มักมีรส เผ็ดร้อน หวาน

ยิน-หยาง กับอาหารสมุนไพร

วิธีสังเกตยิน-หยางอย่างง่ายๆ ในชีวิตประจำวันนั้นเราจะสังเกตได้ง่ายๆ จาก
1. ร่างกายในสภาพปกติ เช่น ถ้ากินอาหาร หยาง มีรสเค็มหรือหวาน เช่น พริก พริกไทย ลำไย ทุเรียน ฯลฯ แล้วมีอาการคอแห้ง เจ็บคอ ฯลฯ แสดงว่าร่างกายขณะนั้นจัดอยู่ในพวกหยาง

ถ้ากินอาหารยินที่มีรสเปรี้ยว ขม หรือเค็ม เช่น มะระ แตงโม ผักกาดขาว แตงกวา กล้วย ฯลฯ เกิดอาการท้องอืด แน่นหน้าอก หรือท้องร่วง หรือมึนหัว แสดงว่าร่างกายในขณะนั้นจัดอยู่ในพวกยิน

2. ร่างกายกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล โดยธรรมชาติ ฤดูร้อนจัดอยู่ในฝ่ายหยาง ฤดูหนาวหรือฤดูฝน จัดอยู่ในฝ่ายยิน

จะเห็นว่าร่างกายในฤดูร้อนมักจะมีอาการคอแห้ง เจ็บคอ ซึ่งจัดอยู่ในพวกหยาง จึงควรกินอาหารพวกที่จัดอยู่ในพวกหยางน้อยลง

หรือในฤดูหนาว มักจะมีอาการกลัวหนาว อ่อนเพลีย ซึ่งจัดอยู่ในยิน จึงควรกินอาหารที่จัดอยู่ในพวกยินน้อยลง

จากหลักที่กล่าวมาข้างต้น เราสามารถนำมาใช้กับตนเอง โดยพยายามสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในแต่ละช่วงแล้วนำเอาอาหารสมุนไพรมาใช้ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต ก็จะเป็นผลดีต่อการป้องกันและรักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

 

 

ข้อมูลสื่อ

57-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 57
มกราคม 2527
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล