• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บวบหอม

บวบหอม

  

บวบเป็นอาหาร (ผัก) ประจำวันชนิดหนึ่งที่หลาย ๆ ท่านรู้จักกันดี แต่อาจจะไม่ทราบว่าบวบนั้นมีประโยชน์อะไรบ้าง นอกจากจะเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อยแล้ว บวบ (ทุกส่วนของต้นบวบ) ยังใช้เป็นยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้หลายโรค
บวบเป็นอาหารจัดอยู่ในพวกยิน (เย็น) ถ้านำมาผัดหรือต้มกิน จะทำให้ชุ่มคอ เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับฤดูร้อน จะช่วยขับร้อน จะช่วยระบายอีกด้วย ถ้ากินเป็นประจำ จะไม่ทำให้เกิดอาการร้อนใน (เจ็บคอ คอแห้ง มึนหัว ท้องผูก)


บวบมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Luffa cylindrica (L.) Roem วงศ์ Cucurbitaceae
บวบเป็นพืชที่ชอบขึ้นในแถบเอเซียอาคเนย์ และแพร่เข้าไปในจีนในราชวงศ์ถังหรือซ่ง


⇒ ประโยชน์ของบวบในทรรศนะจีน
ใบ
รสขมเปรี้ยว คุณสมบัติเย็นเล็กน้อย สรรพคุณดับร้อนถอนพิษ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้อักเสบ น้ำจากใบสดใช้ทาแก้กลากบนหัว ใบตากแห้งบดเป็นผงใช้ห้ามเลือด
ผล รสหวาน คุณสมบัติเย็น สรรพคุณ ดับร้อนถอนพิษ ทำให้เลือดเย็น
เถา ทะลวงเส้นลมปราณ แก้ไอ ขับเสมหะ
เมล็ด รสขม หวานเล็กน้อย คุณสมบัติไม่ร้อนไม่เย็น สรรพคุณ ดับร้อนถอนพิษ ขับเสมหะ ช่วยระบาย เมล็ดบวบเมื่อนำไปคั่วให้ดำ จะมีสรรพคุณยับยั้งพยาธิ
รังบวบ รสหวาน คุณสมบัติไม่ร้อนไม่เย็น สรรพคุณ ดับร้อนถอนพิษ ทะลวงเส้นลมปราณ ขับปัสสาวะ ลดอาการบวม
ราก แก้แผลเน่าเปื่อยอักเสบ (ใช้รากต้มน้ำล้างแผล จะทำให้แผลหายเร็ว)


ตำรับยาในทรรศนะจีน

1.แก้ไอ
-เมล็ดบวบ อบแห้งบดเป็นผงกินครั้งละ 9 กรัมวันละ 3 ครั้ง
-คั้นน้ำจากเถาบวบ ครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่นวันละ 3 ครั้ง
-รังบวบคั่วให้เกรียม (อย่าให้ไหม้) บดเป็นผง ผสมน้ำตาลครั้งละ 2 ช้อน วันละ 3 ครั้ง

2.ไอร้อยวัน น้ำคั้นจากบวบสดเด็กอายุ 3-6 ขวบ กินครั้งละ60 มล.วันละ 2-3 ครั้ง ผสมน้ำผึ้งเล็กน้อย

3.แก้อาการเกี่ยวกับประจำเดือนสตรี
-ปวดประจำเดือน ใช้บวบแห้ง 1 ลูกต้มกินน้ำ
-ปวดเอว ใช้รังบวบ 30 กรัม ต้มกินน้ำเติมเหล้าเหลืองลงไปเล็กน้อย
-ประจำเดือนผิดปกติ ใช้เมล็ดบวบอบให้แห้งแล้วบดเป็นผง เติมน้ำตาลแดงและเหล้าเหลืองเล็กน้อย อุ่นให้พอร้อนกินเช้า-เย็น
-ประจำเดือนมากผิดปกติ ใช้บวบแก่ ๆ 1 ลูก ผิงไฟให้ดำ (อย่าให้ไหม้) บดเป็นผงกินกับเกลือ ครั้งละ 9 กรัม

4.ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
-รังบวบ 30 กรัม ตัมน้ำใส่น้ำผึ้งเล็กน้อยกิน
-บวบ 1 ลูกผิงไฟให้เหลืองแห้ง บดเป็นผง แบ่งเป็น 2 ส่วน กินกับเหล้าเหลือง

5.เป็นแผลเลือดออก
ใบบวบตากแห้ง บดเป็นผง โรยบริเวณแผล

6.ผดผื่นคัน น้ำคั้นจากใบบวบทาบริเวณที่เป็น

7.ฝีบวบ ใช้บวบสด คั้นน้ำทาบริเวณที่เป็น

8.ขับพยาธิตัวกลม เมล็ดบวบดิบ (เปลือกสีดำได้ผลดี เปลือกขาวจะไม่ได้ผล) แกะเปลือกออก ผู้ใหญ่กินวันละ 50 เม็ด เด็กลดลงตามส่วนหรือบดเป็นผงใส่แคปซูล วันละ 1 ครั้ง ให้เคี้ยวกินตอนท้องว่าง แล้วดื่มน้ำประมาณครึ่งแก้ว กินติดต่อกัน 3 วัน

9.เรียกน้ำนม บวบแก่ 1 ลูก ตากในที่ร่มให้แห้ง ผิงให้แห้งบดเป็นผง ชงกันเหล้าเหลืองกินครั้งละ 9 กรัม

10.แก้อาการเจ็บคอ ใช้บวบอ่อนคั้นน้ำ กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2-3 ครั้ง และผสมน้ำกลั้วคอ

11.แก้เกลื้อน
-ใบบวบสด ล้างให้สะอาดขยี้และถูบริเวณที่เป็น จนผิวหนังบริเวณนั้นแดง หยุดสักพักแล้ว แล้วทำใหม่ควรทำติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง (บริเวณที่ถูอย่าล้างน้ำจนกว่าเกลื้อนจะหาย)
-เด็ดบวบอ่อนที่มีน้ำค้างเกาะในตอนเช้า ตำให้ละเอียดคั้นน้ำทาบริเวณที่เป็น

12.แก้อาการหลอดลมอักเสบเรื้อรังในคนแก่ เถาบวบ 150 กรัม ล้างให้สะอาดหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แช่น้ำประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วต้มประมาณ 1-2 ชั่วโมงเอากากออก เติมน้ำลงไปอีกต้มอีก 1 ชั่วโมง เอาน้ำที่ต้มได้ทั้ง 2 ครั้งผสมกัน ต้มให้เหลือประมาณ 150 มล. แบ่งเป็น 3 ส่วน กินให้หมดใน 1 วัน ให้กินติดต่อกัน 10 วัน

13.หูด ใช้ดอกบวบสด ครั้งละ 2-5 ดอก เติมเกลือลงไปเล็กน้อย ตำให้ละเอียด เช็ดถูบริเวณที่เป็นจนรู้สึกร้อนก็พอ ควรถูบ่อย ๆ จะได้ผลดีใช้จนกากแห้ง เททิ้งแล้วเปลี่ยนใหม่
 

 

 

 

 

 

                     ใยของผลบวบ                                                            ผลบวบแห้ง

 

ข้อมูลสื่อ

66-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 66
ตุลาคม 2527
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล