• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ส้ม-แมนดาริน


                             

 
ส้ม พอเอ่ยถึงส้มไม่ว่าใครก็ต้องรู้จักหรือเคยลิ้มรสมาแล้ว เป็นผลไม้ที่มีปลูกทุกภาคของไทย หาซื้อ
ได้ง่ายมีให้กินตลอดปี ส้มมีอยู่หลายชนิดเช่น :- ส้มเขียวหวาน ส้มบางมด ส้มจุก...ฯลฯ
ส้มนอกจากเป็นผลไม้ที่หาได้ง่ายค่อนข้างถูก กินอร่อยแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหาร และยังเป็นอาหาร
สมุนไพรชนิดหนึ่ง ถ้าเรารู้สรรพคุณทางยาของส้มแล้วก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพพลานามัย
ของประชาชน


⇒ ส้มมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus reticulata Blanco วงศ์ Rutaceae


ประวัติย่อของส้ม

ส้มเป็นผลไม้ที่ชาวจีน รู้จักกันมาเป็นเวลานาน 4-5 พันปี ในยุคหินใหม่ ด้วยเหตุนี้ส้มจึงถูกยกย่องว่า
เป็นผู้อาวุโสของผลไม้ จากหลักฐานที่บันทึกไว้ในหนังสือซ่างซู บทยวี่ก่ง ได้บันทึกประวัติศาสตร์ในสมัยเซียและยวี่(ประมาณ 2 พันปีก่อนคริสตศักราช) ไว้ว่าส้มเป็นผลไม้ที่นำไปถวายกษัตริย์ในสมัยนั้นส้มมีแหล่งกำเนิดในประเทศจีน ปัจจุบันนี้มีมากกว่า 40 ชนิด ส้มที่มีชื่อเสียงของจีนได้แก่ ส้มจากมณฑลกวางตุ้ง คือส้มแต้จิ๋วและส้มจากอำเภอซินฮุ่ย (แต้จิ๋วเรียกซิงหวย)ส้มจากจีนได้แพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งทวีปเอเชีย อัฟริกา ยุโรปและลาตินอเมริกา จนมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงว่าส้มจากจีนได้แพร่ไปยังต่างประเทศครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่น
(ก่อน ค.ศ. 206 ปี – ค.ศ.220) โดยแพร่ไปยังอินเดียและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ จนกระทั่งถึงสมัยถัง
(ค.ศ. 618-907) ก็ได้แพร่ไปยังญี่ปุ่นและเกาหลี โดยมีพระชาวญี่ปุ่นเป็นผู้นำไปปลูกยังญี่ปุ่น ในสมัย
ซ้ง(ค.ศ.1127-1279) จีนได้เปิดการค้าทางเรือกับต่างประเทศ ส้มจีนได้ถูกส่งไปขายยังโปรตุเกส
หลังจากนั้นก็แพร่ไปยัง สเปญ อิตาลี ฝรั่งเศล อัลจีเรีย อียิปต์ และออสเตรีย ต่อมาชาวโปรตุเกสและ
สเปนก็ได้แพร่ส้มจีนไปยังประเทศต่างๆในลาตินอเมริกา สำหรับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษนั้นช้ากว่าที่
อื่น คือได้แพร่เข้าไปในประเทศทั้งสองในราวต้นศตวรรษที่ 19 ด้วยเหตุนี้เองชาวตะวันตกจึงเรียกส้ม
จากจีนว่า แมนดาริน (Mandarin) ซึ่งมีความหมายว่าส้มเมืองจีน ต่อมาคำว่าแมนดารินก็เลยกลาย
เป็นคำที่ใช้แทนจีนไป เช่น ภาษาจีนกลางเรียก ภาษาแมนดาริน (Mandarin) เป็นต้น


⇒สารเคมีที่พบในส้ม

เนื้อส้มมีกลูโคส ฟรุตโตส วิตามินเอ, บี, ซี และดี กรดนิโคตินิค แคลเซี่ยม โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส
คาโรทีน โนบิลิติน (nobiletin)
เปลือกส้มมีน้ำมันหอมระเหย (Volatile oils) เฮสพีรีดิน (hesperidin) วิตามินบีหนึ่ง(B1) อิโนสิทอล(inositol)


⇒ประโยชน์ของส้มในทรรศนะจีน
ส้มมีรสเปรี้ยวหวาน คุณสมบัติเย็นเล็กน้อย (เป็นยิน) เนื้อส้มมีสรรพคุณทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ ขับเสมหะ
แก้กระหายน้ำ แก้ฤทธิ์เหล้า ขับปัสสาวะ

1.ส้มเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยในระหว่างไข้ หรือหลังไข้ :- ให้กินส้ม 1-2 ผล วันละ 2-3 ครั้ง

2. อาการร้อนใน คอแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะเหลือง :- ให้กินส้มครั้งแรก 3-4 ผล
(ถ้าจำเป็น 4 ชั่วโมงต่อครั้ง) หลังจากนั้น 1-2 ผลวันละ 3 ครั้ง

3.ไอเรื้อรัง
มีเสมหะมากหรือไอที่เป็นกับคนแก่ :- ใช้ส้ม 1 ผล (ทั้งเปลือก) ล้างให้สะอาด กับน้ำตาลกรวด 15 กรัม
 ขิงสด 2 แว่นหั่นบาง ๆ เอาไปตุ๋นนาน 1 ชั่วโมง แล้วกินทั้งเปลือก

4.แก้ฤทธิ์สุรา น้ำคั้นจากส้ม 2 ผล เติมน้ำจนได้ 1 แก้วดื่ม

5.อาการจุกแน่นบริเวณท้องและหน้าอก เนื่องจากอาหารไม่ย่อยใช้ส้ม 1 ผล ล้างให้สะอาด เอา
เฉพาะเปลือกเคี้ยวกิน หรือนำไปตากแห้งแล้วบดเป็นผงกินครั้งละ 1.5 กรัม ถ้าเป็นมากให้กิน 4 ชั่วโมง
ต่อครั้ง

6.สตรีหลังคลอดไม่มีน้ำนม ใช้เมล็ดส้ม 15 กรัมทุบให้แหลกต้มกับน้ำแล้วเติมน้ำส้มสายชูหนัก
30 กรัม ลงไป กินวันละ 2 ครั้ง เช้าและค่ำเป็นเวลา 3-5 วัน

7. เจ็บคอ ในเปลือกส้มต้มน้ำกินต่างน้ำชา

8.ท้องผูก ให้กินส้ม 3-4 ผลก่อนนอน จะช่วยให้ถ่ายได้ดีในตอนเช้าเพราะส้มมีกากหรือใยอาหาร ซึ่ง
จะช่วยให้ลำไส้ได้ออกกำลังในการบีบตัว และขับถ่ายของเสียออกมา

9.ไล่ยุง เปลือกตากแห้ง แล้วใส่กระป๋องจุดไฟ เปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้สักครู่ นอกจากจะไล่ยุงแล้ว
ยังทำให้ห้องมีกลิ่นหอมด้วย


⇒ข้อควรระวัง
เนื่องจากส้มมีคุณสมบัติเย็น ผู้ที่ม้ามพร่องคือ มีอาการท้องอืด ท้องแน่น อาหารไม่ค่อยย่อย มีแก๊สใน
กระเพาะอาหารมาก ไม่ควรกินส้มหรือกินได้เล็กน้อย สังเกตง่าย ๆ คือ ถ้ากินส้มไปแล้วทำให้มีเสลด
มากขึ้น (ปกติไม่มีหรือมีน้อย) ไม่ควรกินส้ม หรือถ้าจะกินก็กินเพียงเล็กน้อย


⇒หมายเหตุ
อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่าน
ท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน”เพื่อรวบ
รวมไว้เป็นข้อมูลศึกษาและเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมต่อไป


 

ข้อมูลสื่อ

62-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 62
มิถุนายน 2527
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล