• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อายุ 3 ประเภท

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2552 ผมขออวยพรให้แฟนๆ หมอชาวบ้านทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง มีความสุข มีกำลังใจเข้มแข็งในการประกอบความดีต่อตนเองและผู้อื่น

เรามักจะรู้สึกว่าเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี อายุเราก็มากขึ้น 1 ปี หรือแก่ไป 1 ปี บางท่านรู้สึกว่าเผลอแผล็บเดียวก็ย่างเข้าวัยกลางคนหรือวัยสูงอายุเสียแล้ว
คนทั่วไปมักจะคิดว่าร่างกายคนเราย่อมเสื่อมไปตามอายุ

จริงๆ แล้ว มีบ่อยครั้งที่ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เช่น คนที่ทำงานหนัก ทำงานกลางแจ้งถูกแดดแผดเผา สูบบุหรี่จัดหรือดื่มเหล้าจัด หน้าตามักจะดูแก่กว่าอายุจริง ตรงกันข้าม คนที่มีพฤติกรรมสุขภาพดี มีความสุขทางใจก็มักจะดูอ่อนกว่าวัย

เมื่อพูดถึงเรื่องของอายุ ทำให้นึกถึงหนังสือชื่อ "Ageless body, timeless mind" (แปลตรงๆ ก็คือ "กายที่ไร้อายุ ใจที่ไร้เวลา") ของนายแพทย์ Deepak Chopra ที่ผมได้อ่านเมื่อเร็วๆ นี้

Deepak Chopra เป็นชาวอินเดีย ย้ายไปเรียนวิชาแพทย์และประกอบอาชีพแพทย์สาขาอายุรกรรมที่สหรัฐอเมริกาจวบจนทุกวันนี้ เป็นผู้ที่ซึมซับวัฒนธรรมอินเดีย สนใจศึกษาและปฏิบัติด้านจิตวิญญาณ และนำมิติทางจิตวิญญาณมาประยุกต์ในการดูแลสุขภาพตามแนวของแพทย์ทางเลือก โดยเน้นในเรื่องของ "mind-body medicine" (เวชศาสตร์จิต-กาย ซึ่งกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างมิติทางจิตกับกาย) ปัจจุบันได้เขียนหนังสือแนวนี้ออกมากว่า 50 เรื่อง บางเล่มเป็นหนังสือขายดีติดอันดับของอเมริกา

ในหนังสือ "Ageless body, timeless mind" ท่านได้กล่าวว่าอายุ (age) ของคนเราแบ่งเป็น 3 ประเภท กล่าวคือ นอกจากอายุทางปฏิทิน (chronological age) นับตามวันเดือนปีที่เกิด ซึ่งเป็นที่เรียกขานโดยทั่วไปแล้ว ยังมีอายุอีก 2 ประเภท ได้แก่ อายุทางเนื้อหนังหรือชีวภาพ (biological age) และอายุทางจิตใจ (psychological age)

อายุทางเนื้อหนัง
หมายถึงการเปลี่ยนแปลงหรือการเสื่อมของเนื้อเยื่อ (เนื้อหนังมังสา) ซึ่งอาจเสื่อม (แก่) เร็วกว่า หรือช้ากว่าอายุทางปฏิทินก็ได้ เช่น ผู้ที่มีอายุ 40 ปี หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้าจัด ถูกแสงแดด (อัลตราไวโอเลต) แผดเผา หรือได้รับมลพิษเป็นประจำ รูปร่างอ้วน หรือเป็นโรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง) เนื้อเยื่อก็จะเสื่อมเร็วกว่า ผู้ที่มีอายุ 50-60 ปี เช่น หลอดเลือดหัวใจหรือสมองเสื่อมและตีบตัน ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้อกระจก (แก้วตาเสื่อม) มะเร็ง (เซลล์ร่างกายเสื่อม กลายพันธุ์เป็นมะเร็งร้าย) ปอดเสื่อมหรือถุงลมปอดโป่งพอง (จากบุหรี่) ตับแข็ง (เซลล์ตับเสื่อมจากเหล้า) ใบหน้าเหี่ยวย่น (เซลล์ผิวหนังเสื่อม) เป็นต้น

ตรงกันข้าม ผู้ที่มีอายุ 50-60 ปี หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น กินอาหาร สุขภาพ ออกกำลังกาย รู้จักผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น เนื้อเยื่อก็จะเสื่อมช้ากว่าอายุทางปฏิทิน มีสุขภาพดีและชีวิตยืนยาวกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่าแต่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว

ส่วนอายุทางจิตใจ
หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของจิตใจและอารมณ์ ซึ่งส่งผลต่อความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ดูแก่เร็วหรือช้ากว่าอายุทางปฏิทิน

ผู้ที่มีอารมณ์เครียด จิตใจซึมเศร้า อมทุกข์ มักจะมีสีหน้าดูแก่กว่าวัย และอาจมีเนื้อเยื่อเสื่อมเร็ว (เช่น เป็นโรคหัวใจ อัมพาต มะเร็ง)

ตรงกันข้าม ผู้ที่มีความสุขใจ อารมณ์ดี ไม่เครียด ไม่ทุกข์ใจ ก็มักจะดูอ่อนกว่าวัย และมีการเจ็บป่วยน้อยกว่าผู้ที่อมทุกข์

จะเห็นได้ว่ามิติทางจิตใจ (จิตวิญญาณ) เป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพและการเจ็บป่วยของคนเราเป็นอย่างยิ่ง คนเราจึงควรสนใจเรื่องอายุทางจิตใจให้มากๆ นั่นคือทำอย่างไรให้มีความสุขใจ อารมณ์ดี ไม่เครียด ไม่ทุกข์ใจ อยู่เรื่อยๆ

ในทางพุทธศาสนามีหลักธรรมเรื่อง "อายุวัฒนธรรม" (ธรรมที่ทำให้อายุยืน) อยู่ข้อหนึ่งที่เรียกว่า "กาลจารี" หมายถึง การประพฤติเหมาะในเรื่องเวลา อย่าให้เวลาบีบคั้น

ในชีวิตประจำวัน เรามักจะมีความเครียด ความทุกข์ ความบีบคั้น จากการทำงานเร่งให้เสร็จทันเวลากำหนด (จนอดนอน พักผ่อนไม่พอ) หรือถูกบีบคั้นจากการรอคอยให้ได้รับในสิ่งที่คาดหวังไว้ เช่น การรอคน การรอรับบริการต่างๆ การรอให้บรรลุเป้าหมายหรือแผนงานที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งมักจะทำให้เกิดความร้อนรน กระวนกระวาย กังวล ผิดหวัง ทุกข์ใจ

ความเครียด ความทุกข์ใจเหล่านี้ ก็คือการเกิดขึ้นของเวลาทางจิตใจนั่นเอง
การที่จะทำให้ไม่เกิดเวลาทางจิตใจ (timeless mind) ก็คือการที่ใจเราไม่คิดย้อนถึงอดีตที่ล่วงไปแล้วและไม่คิดล่วงหน้า (กังวล) ถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

นั่นคือ การฝึกจิตให้มีสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ ย่อมนำมาซึ่งความสุขใจ อารมณ์ดี ไม่เครียด ไม่ทุกข์ใจ

ข้อมูลสื่อ

357-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 357
มกราคม 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ