• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขกับงานด้วยการเจริญสติ

"ใครเคยล้างจานอย่างมีความสุขบ้าง?"  ผมเอ่ยถามวงเสวนากลุ่มหนึ่งที่พูดคุยกันถึงเรื่องความสุขกับการทำงาน

มีชายหนุ่มคนหนึ่งตอบว่า "เวลาล้างจานจะรู้สึกเบื่อ ผมใช้วิธีเปิดเพลงฟังเพลินๆ ก็รู้สึกมีความสุขดี"
"แล้วใครเคยกวาดบ้านอย่างมีความสุขบ้าง?" ผมถามต่ออีกประเด็นหนึ่ง

มีหญิงสาวคนหนึ่งตอบว่า "เวลากวาดบ้านหนูใช้วิธีเปิดเพลงไป เต้นไป ก็มีความสุขดี ไม่รู้สึกเบื่อ"
คนจำนวนไม่น้อยมองว่าการทำงานบ้าน (เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน ซักผ้า รีดผ้า) เป็นงานที่ไม่มีคุณค่า จำเจ และน่าเบื่อ หลายคนจึงใช้วิธีการแก้เบื่อโดยการฟังเพลง

แน่ละว่าการฟังเพลงทำให้เกิดความเพลิน ช่วยฆ่าเวลา ให้ความรู้สึกว่าทำสิ่งที่น่าเบื่อนั้นให้เสร็จโดยเร็ว แต่ถ้าคนทำงานมีความรู้สึกดิ่งลึกในเสียงเพลง ก็อาจทำให้งานที่ทำเฉพาะหน้านั้นไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เช่น การซักล้างกวาดได้สะอาดไม่เต็มที่ หรือเผลอสติทำให้จานชามแตกได้

บางคนมีความเครียดจากงานอาชีพ ก็มีวิธีคลายเครียดในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาชีพที่ทำงานทั้งวันตั้งแต่เช้าจนดึก ทำงานเร่งด่วนที่มีกำหนดเส้นตายภายใน 1-2 วัน ต้องใช้สมองครุ่นคิดถึงงานตลอดเวลา ก็อาจจะหันไปสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กิน เที่ยว ช็อปปิ้ง หาความบันเทิงเพื่อคลายเครียด

มีคนรู้จักอยู่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าบุตรสาวเรียนจบ ด้านกฎหมายทำงานอยู่บริษัทกฎหมายเอกชน ทำงานเฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมงขึ้นไป มักจะเลิกงานตอนดึกอยู่เนืองนิตย์ บางครั้งงานเร่งด่วนก็ต้องทำงานจนโต้รุ่ง มีความรับผิดชอบงานสูง มุ่งแข่งขันเพื่อความก้าวหน้า เพื่อนร่วมงานก็มีลักษณะ "บ้างาน"Ž ในแบบเดียวกัน หลายคนหาวิธีคลายเครียดด้วยการสูบบุหรี่ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่เป็นเจ้านายและลูกน้องที่เป็นสตรี

บุตรสาวของคนรู้จักดังกล่าวไม่ได้ใช้วิธีหันเข้าหาอบายมุขเพื่อคลายเครียด แต่ทุกครั้งที่กลับดึก แทนที่จะอาบน้ำแล้วเข้านอนเลย กลับเปิดโทรทัศน์ดูภาพยนตร์ ดูละครอยู่อีกนานกว่าจะได้เข้านอน พ่อแม่เห็นเข้าก็มักเตือนให้รีบเข้านอน เปิดเพลงฟังก็น่าจะช่วยให้ผ่อนคลายได้ บุตรสาวก็ดื้อด้าน ไม่ทำตามจนพ่อแม่รู้สึกหงุดหงิด

วันหนึ่งบุตรสาวบอกกับพ่อแม่ว่า ที่ต้องเปิดโทรทัศน์ดูภาพยนตร์นั้น เพราะต้องการกลบ"เสียง" ในสมองที่ก้องด้วยภาระการงานที่ยังต้องเร่งทำต่อในวันรุ่งขึ้น การฟังเพลงเพียงอย่างเดียว ไม่แรงพอที่จะกลบเสียงในสมอง มีแต่การใช้ภาพ เสียง และเรื่องราวในภาพยนตร์โทรทัศน์เท่านั้นจึงจะช่วยได้ ต้องเปิดโทรทัศน์ดูสักพักใหญ่ๆ จึงค่อยนอนหลับได้ วิธีนี้น่าจะดีกว่าการหันไปพึ่งบุหรี่ เหล้า หรือยานอนหลับ

ต่อมาเธอก็ได้เกิดความตระหนักชัดว่าความเครียด เป็นตัวบ่อนทำลายสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ ดังเห็นได้จากเพื่อนร่วมงานหลายคนเจ็บป่วยเรื้อรังจากโรคที่แพทย์บอกว่าเกิดจากความเครียด
เธอได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ให้หันมาทำงานด้วย "สติ" และ "จิตว่าง"Ž

เธอเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนมุมมอง (วิธีคิด) ของตนเองเกี่ยวกับการทำงาน จากการที่คิดมุ่งมั่นแข่งขันให้ตัวเองประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้าเร็วกว่าคนอื่น มาเป็นการทำงานเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองในทุกๆด้าน เพื่อบรรลุความสุขที่เกิดจากดุลยภาพของชีวิต

มุมมองดังกล่าวได้เปลี่ยนจากวิธีทำงานด้วย "จิตวุ่น" มาเป็นการทำงานด้วย "จิตว่าง"Ž
แต่ก่อนเวลาทำงาน เธอมักจะมีความกลัว กังวลว่าจะทำได้ไม่ดี ไม่เก่ง กลัวเจ้านายตำหนิ กลัวไม่ถูกใจลูกค้า กลัวแข่งขันสู้เพื่อนร่วมงานไม่ได้ ทำให้จิตวุ่นและเสียเวลาการทำงานจนดึกดื่น สมองมีเสียงก้องอยู่ตลอดเวลา จนนอนหลับยาก และมีความตึงเครียดอยู่เป็นนิตย์

หลังจากเปลี่ยนมุมมองใหม่ เธอก็ไม่มีความกลัวหรือกังวลอีกต่อไป ไม่กลัวผิดพลาด ไม่กลัวล้มเหลว ไม่กลัวว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่กลัวว่าจะไม่มีความก้าวหน้า คิดเพียงแต่ว่าทำให้ดีที่สุดในทุกขณะจิต แม้ผิดพลาดล้มเหลวก็ล้วนเป็นบทเรียนให้ได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ

เวลาทำงานจึงมีสมาธิ จิตนิ่ง จิตว่างจากความมีตัวตน (ความรู้สึกว่าตนต้องดี ต้องเก่ง ต้องสำเร็จ) จึงปราศจากความบีบคั้น ความเครียด และกลับสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สมองไม่มีเสียงก้อง ไม่ต้องใช้โทรทัศน์ในการกลบเสียงในสมองอีกต่อไป และสามารถนอนหลับพักผ่อนได้ดี

กรณีดังกล่าว เป็นตัวอย่างของการทำงานด้วยสติ คือการระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ ดึงจิตให้จดจ่ออยู่กับกิจที่ทำอยู่ ณ เบื้องหน้านี้อยู่ตลอดเวลา ทำให้จิตไม่วุ่นกังวล ห่วงใยย้อนไปในอดีต หรือคิดล่วงหน้าไปในอนาคต จึงไม่เครียดไม่ทุกข์ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข

ไม่ว่าจะทำงานหรือทำกิจใดๆ ควรฝึกทำด้วยสติ (สร้างความรู้สึกตัว หรือการระลึกรู้) อยู่กับกิจเฉพาะหน้า ขณะนั้นๆ เช่น ฝึกล้างจาน กวาดบ้านอย่างมีสติ จนกลายเป็นนิสัย นอกจากงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี (จานสะอาด บ้านสะอาด) แล้วก็ยังพบกับความสุขอย่างฉับพลัน โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่น (เช่น เสียงเพลง) มาเป็นตัวล่อ ซึ่งเพียงแต่ทำให้เกิดความเพลิดเพลินชั่วครั้งชั่วคราว กลบเกลื่อนความเบื่อความเครียด และบางครั้งอาจทำให้เผลอสติในการทำงาน จนเสียงานหรือก่อความเสียหายได้

จงหันมาหาความสุขจากการทำงานด้วยการเจริญสติอยู่กับปัจจุบันขณะกันเถิดครับ!

ข้อมูลสื่อ

354-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 354
ตุลาคม 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ