• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารของโยคี

อาหารที่กำหนดไว้สำหรับผู้ฝึกโยคะ โดยเฉพาะการฝึกหฐโยคะนั้นเข้มงวดมาก ไม่กินอาหารรสเผ็ด รสเปรี้ยว รวมถึงการหลีกเลี่ยงเกลือให้ได้มากที่สุด เนื้อและเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดการกระตุ้นก็เป็นของต้องห้าม กล่าวได้ว่าอาหารหลักของผู้ฝึกคือ นมและผัก โดยอนุญาตให้กินเมล็ดธัญพืชและถั่วบ้าง

มีข้อสังเกตว่าขณะที่ชาวตะวันตกแบ่งอาหารเป็นกินแต่ผัก (vegetarian) กับไม่จำกัดว่าจะต้องกินแต่ผัก (non vegetarian) ซึ่งในหมวดหลังนั้น หมายรวมถึงสัตว์ทุกชนิด

ในอินเดีย แบ่งอาหารเป็น เนื้อ (flesh foods) กับไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นแต่เนื้อ (non flesh foods) ซึ่งตั้งอยู่บนฐานคิดว่า อาหารประเภทเนื้อนั้น มีคุณค่าของพลังชีวิตน้อยกว่า ต้นกำเนิดของพลังชีวิตมาจากดิน น้ำ ฯลฯ ซึ่งพืชผักมีพลังชีวิตมากที่สุด จากนั้นสัตว์กินพืช พลังชีวิตในสัตว์จึงเป็นระดับที่สอง จากนั้นสัตว์กินเนื้อก็กินสัตว์อีกทอดหนึ่ง พลังชีวิตก็ยิ่งถดถอยลงสู่ระดับที่สาม

วิวัฒนาการของมนุษย์นั้นผ่านทั้งการกินเนื้อ และการกินพืชผัก ซึ่งดูเหมือนเราจะพัฒนามาเป็นสัตว์กินพืชมากขึ้นๆ

คนจำนวนหนึ่งคุ้นเคยกับการกินเนื้อสัตว์จนเชื่อว่าจะไม่สามารถดำเนินชีวิตด้วยการกินแต่พืชผักได้ แพทย์ที่คิดอย่างนั้น ก็แนะนำผู้ป่วยไม่ให้กินแต่พืชผัก โดยลืมไปว่า มนุษย์จำนวนมากบนโลกนี้ ก็กินแต่พืชผัก โดยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ

ไข่ก็เป็นอาหารประเภทไม่ใช่เนื้อ อย่างไรก็ตาม โยคีไม่ค่อยกินไข่ ซึ่งคงเป็นเพราะมีโปรตีนสูง ในภาพรวม ผู้ฝึกโยคะจะกินโปรตีนน้อย เหตุผลก็เพราะในการฝึกโยคะนั้น เนื่องจากเทคนิคปราณายามะและเทคนิค โยคะอื่นๆ จะกระตุ้นระบบผ่อนคลาย (พาราซิมพาเทติก) ให้ทำงานเป็นหลัก ทำให้ระดับสารที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะตื่นตัว (อะดรีโนซิมพาเทติก) จะมีมากเกิน อย่างน้อยก็ในช่วงต้นของการฝึก เมื่อเวลาผ่านไปสักช่วงหนึ่ง ระบบจึงปรับสู่ความสมดุล

โยคีโบราณสังเกตพบว่าในการฝึกช่วงแรก การขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระจะลดลง กล่าวคือ มีการเก็บเกลือและน้ำไว้ในร่างกาย ระบบประสาทมีการรับรู้ที่ไวขึ้น มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกได้ดีขึ้น จึงได้มีการแนะนำว่า
1. กินอาหารโปรตีนต่ำ หลีกเลี่ยงการกินเกลือ หลีกเลี่ยงการกระตุ้นเกิน การรบกวนที่จะมีมาจากอาหาร
2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมากๆ
3. หลีกเลี่ยงการเดินทางไกล
การนั่งใกล้ไฟ กิจกรรมทางเพศ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสภาวะความเครียด ความกดดันต่างๆ
4. หลีกเลี่ยงการมีความสัมพันธ์ที่จะแนบแน่น จนรบกวนการเดินทางเข้าสู่ภายในของตน พัฒนาทัศนะทางจิตใจที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไร้สาระ กิจกรรมที่จะนำพาไปสู่ความเศร้าหมอง เห็นโทษภัยที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

ทั้งหมดนี้ ดูเหมือนจะช่วยรักษาความสมดุลของจิตใจ สมดุลของเคมีในร่างกาย ทั้งไม่เป็นการรบกวนจนเกินไป ขณะเดียวกันก็ยังเต็มไปด้วยความตื่นรู้

ดังนั้น ในเรื่องของอาหาร ผู้ฝึกตระหนักถึงหลักการ และเข้าใจถึงข้อแนะนำในช่วงเริ่มต้นของการฝึก ไม่จำเป็นจะต้องบังคับใช้ในกรณีผู้เรียนที่เป็นผู้ป่วย ผู้สนใจจริงจังก็เข้มงวดกับอาหารมากขึ้นๆ คำอธิบายข้างต้นเป็นหลักพื้นฐานทั่วไปของการพิจารณาในเรื่องอาหาร ซึ่งจะต้องพิจารณาเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลด้วย ขึ้นอยู่กับภาวะของร่างกาย พยาธิสภาพ ตลอดจนเป้าหมายในการฝึกโยคะของแต่ละคน
ข้อสังเกตก็คือ ในโยคะนั้นให้ความสำคัญกับความสมดุลกาย-ใจ มากกว่า ซึ่งในเรื่องของอาหารนี้ก็เช่นกัน เราคำนึงถึงความสมดุลกาย-ใจ มากกว่าการจำกัดกรอบความคิดในเรื่องของจริยธรรม ในเรื่องของความเชื่อทางศาสนา หรือในขนบธรรมเนียมทางสังคม

เป้าหมายของคำอธิบายข้างต้นนั้น เพื่อวางแนวทางที่เป็นหลักการ คงไม่เป็นการฉลาดนักที่จะนำไปใช้แบบตายตัว น่าจะขึ้นกับปัจจัยอื่นๆด้วย ได้แก่ มีอาหารที่ว่าในท้องถิ่นนั้นหรือไม่ สามารถเตรียมอาหารได้ตามนั้นหรือไม่ สภาพอากาศ วัย นิสัยการกิน ลักษณะเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น ชาวเอสกิโมคงไม่สามารถกินอาหารประเภทพืชผักเท่านั้น ครั้งหนึ่งในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เซอร์พอล ดุ๊กส์ พบว่า ชาวเอสกิโมที่ไปเปิดการแสดงที่นั่น มีอาการขาดสารอาหารอย่างรวดเร็ว จนเมื่อชาวเอสกิโมเหล่านั้น ได้กินเทียนไขที่ทำจากไขสัตว์ อาการขาดสารอาหารก็หมดไป ดังนั้น ในเรื่องของการกำหนดอาหาร จึงต้องพิจารณาถึงลักษณะเฉพาะของบุคคลด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

353-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์